เรื่องโดย ฮักก้า ภาพโดย วรงกรณ์ ดินไทย
………………………………………………………..
เป็นเวลา 30 ปีแล้ว ที่เวที “จิตรกรรมบัวหลวง” ซึ่งถูกริเริ่มขึ้นโดย มูลนิธิธนาคารกรุงเทพ เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ศิลปินรุ่นใหม่ส่งผลงานจิตรกรรมเข้าประกวด เพื่อชิงรางวัลที่จะช่วยการันตีถึงความเป็นที่หนึ่งในผลงาน 3 ประเภท ได้แก่ จิตรกรรมไทยแบบประเพณี,จิตรกรรมไทยแนวประเพณี และจิตรกรรมร่วมสมัย
ก่อนหน้านี้ผลงานที่ได้รับรางวัลจิตรกรรมบัวหลวง ในช่วงทศวรรษแรก (ระหว่างปี พ.ศ.2517 – 2529) ได้ถูกนำมาจัดแสดงให้คนทั่วไปได้ชมไปแล้ว เมื่อปี พ.ศ.2551 และได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นอย่างดี
ล่าสุด เป็นคิวที่ผลงานรางวัลจิตรกรรมบัวหลวง ในช่วงทศวรรษที่ 2 (ระหว่างปี พ.ศ.2530 – 2539) ถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ “ทศวรรษที่ 2 จิตรกรรมบัวหลวง” บนพื้นที่ของ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ธนาคารกรุงเทพ สาขาผ่านฟ้า ระหว่างวันที่ 12 กุมภาพันธ์ – 30 มีนาคม พ.ศ.2553 โดยในวันแรกของนิทรรรศการ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปทรงเปิดนิทรรศการ และมี หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล กรรมการธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน),ชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ,คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช,ณินทิรา โสภณพนิช,โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์,อภิชาต รมยะรูป กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ และศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เฝ้ารับเสด็จและถวายเงินเพื่อทรงใช้สอยตามพระอัธยาศัย
นอกจากนิทรรศการครั้งนี้ จะทำคนทั่วไปได้ชื่นชมผลงานที่ได้รับรางวัลในช่วงปีดังกล่าว ยังเป็นโอกาสดีที่ศิลปินเจ้าของผลงาน 78 ท่าน อาทิ ประสงค์ ลือเมือง,พิษณุ ศุภนิมิตร,พรชัย ใจมา,เนติกร ชินโย,สมพงษ์ สาระทรัพย์,สันติ ทองสุข,วัชรินทร์ รอดนิตย์,จินตนา เปี่ยมศิริ,สาครินทร์ เครืออ่อน,เกรียงไกร วงษ์ปิติรัตน์,ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ,สุพจน์ สิงห์สาย,นาวิน เบียดกลาง,จันทนา แจ่มทิมทรงเดช ทิพย์ทอง,วิชัย นุ่นพันธ์ เริงศักดิ์ บุญยวนิชกุล,ชาติชาย ปุยเปีย, มณเฑียร ชูเสือหึง ฯลฯ
ที่ขณะนี้พวกเขาหลายคนต่างมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับ ได้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่มาจัดแสดงร่วมกับผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นในช่วงเวลาที่พวกเขายังไม่มีชื่อเสียง และเวทีจิตรกรรมบัวหลวง ได้มีส่วนสนับสนุนให้พวกเป็นกลายเป็นดาวเด่นประดับวงการศิลปะในเวลาต่อมา
พรชัย ใจมา ศิลปินชนะเลิศรางวัลจิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 17,18 และ 19 (พ.ศ.2536-2538) และศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี พ.ศ.2548 เป็นหนึ่งในศิลปินที่ยอมรับว่ารางวัลจิตรกรรมบัวหลวงมีส่วนเปลี่ยนชีวิตเขา
“ ง่ายๆคืออาจจะมีคนรู้จักเรามากขึ้น และรางวัลก็สามารถการันตีให้คนเชื่อว่าเรามีความสามารถ และคณะกรรมการที่ตัดสินผลงานของเราก็ต่างเป็นที่ยอมรับของสังคม
ตอนนั้นเราเองก็ยังเป็นเด็ก ยังสงสัยอยู่ว่า…งานเรามันดีตรงไหน ทำไมถึงได้รับรางวัล เหรียญทองเลยเหรอ แต่กรรมการคือผู้ที่บรรลุก่อนเรา เขาจึงมองเห็นสิ่งที่ซ่อนในตัวเรา และมองเห็นลึกกว่าฝีมือ กว่าผลงานของเรา”
แต่ไม่ว่าเขาจะได้รับรางวัลจากเวทีนี้หรือไม่ แต่อย่างน้อยๆ เขาก็เชื่อว่า เวทีนี้ได้เปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้มีส่วนร่วมติชมผลงานของศิลปินรุ่นใหม่ โดยเฉพาะศิลปินที่ร่ำเรียนมาทางด้านศิลปะไทย และศิลปินก็จะได้นำข้อติชมเหล่านั้นไปพัฒนาผลงานของตัวเองต่อไป
“ตอนที่ได้รับรางวัลผมยังเป็นนักศึกษา ปีที่ 4 – 5 – 6 ของภาควิชาศิลปะ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในขณะที่เราเรียน เวทีประกวดของนักศึกษาศิลปะไทย ก็มีเวทีบัวหลวงนี่แหล่ะที่ให้ความสำคัญ เพราะฉะนั้นเวลาเราสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา นอกจากส่งให้อาจารย์ตรวจแล้ว เราก็เอามาส่งประกวด พอได้รับรางวัล หรือถูกคัดเลือกให้ร่วมแสดงในนิทรรศการ คนทั่วไปก็จะได้ช่วยวิเคราะห์วิจารณ์ และทำให้เราได้เห็นผลงานของคนอื่นๆที่ส่งประกวดพร้อมกับเราด้วย”
หรือแม้ผ่านไปแล้วหลายปี ในวันที่ผลงานรางวัลจิตรกรรมบัวหลวงของศิลปินหลายท่าน ถูกนำมาจัดแสดงใหม่ ยังมีผลทำให้ผลงานชิ้นใหม่ๆที่ศิลปินสร้างสรรค์ขึ้น มีนักสมงานศิลปะ ซื้อหาไปครอบครอง เพราะมีผลงานชิ้นที่ได้รับรางวัลช่วยการันตี ซึ่งส่งผลให้ศิลปินมีทุนรอนไว้สำหรับสร้างสรรค์งานศิลปะต่อไป
เนติกร ชินโย ศิลปินรางวัลจิตรกรรมบัวหลวง และศิลปินผู้มีส่วนร่วมเขียน ภาพประกอบในพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก” ใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นอีกท่านที่เห็นไม่ต่างไปจากนี้
“จริงๆแล้วไม่ว่าเวทีประกวดเวทีไหนก็ส่งผลต่อตัวเราเหมือนกัน มันทำให้คนสนใจดูงานเรา และมีความมั่นใจในคุณภาพของงานเรามากขึ้น อย่างการแสดงครั้งนี้ รูปใหม่ที่ผมนำมาร่วมแสดงก็มีคนซื้อไป เป็นเพราะว่าผลงานของเราเคยผ่านการตัดสินจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแล้วว่ามีมาตรฐานดีพอที่จะได้รับรางวัล
และพอเราได้รับรางวัลจากหลายๆเวทีมากขึ้น ก็จะมีคนตามไปซื้องานเรา เป็นการสนับสนุนศิลปินให้ได้ทำงานศิลปะต่อไป โดยที่ไม่ต้องไปหารายได้จากทางอื่นและเสียเวลากับสิ่งอื่นเพื่อจะได้มีเงินมาทำงานศิลปะ”