Celeb Online

“ผีนาบัว” เจ้ย – อภิชาติพงศ์ ฉายโชว์ที่โตเกียว


เจ้ย – อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือ Joe ที่ชาวต่างประเทศเรียกขานกัน เจ้าของผลงานภาพยนตร์หลายเรื่องที่เคยได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (Cannes Film Festival) ประเทศฝรั่งเศส และเป็นผู้ที่ได้รับคำชื่นชมมากมายจากนานาชาติ อีกทั้งเคยได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัล ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2008 กำลังมีนิทรรศการแสดงเดี่ยวผลงานศิลปะชุด NATIVE LAND ณ SCAI THE BATHHOUSE แกลเลอรี่แสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยของโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันนี้ – 17 เมษายน พ.ศ.2553

ซึ่งงานศิลปะชิ้นสำคัญในนิทรรศการครั้งนี้ของเขาคือผลงานวีดีโออาร์ตชื่อ Phantoms of Nabua หรือ ผีนาบัว หนึ่งในผลงานที่เจ้ยสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อโครงการ Primitive  ที่เขาได้รับทุนมา และเคยตระเวนไปจัดแสดงมาแล้วในสถานที่สำคัญ 3 แห่ง ในยุโรป คือ Haus der Kunst พิพิธภัณฑ์ศิลปะในเมือง เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมณี, the Musée d' art moderne de la Ville de กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และที่ FACT (Foundation for Art and Creative Technology) เมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ

งานชิ้นนี้ของเจ้ยเขายังคงเลือกหยิบเรื่องราวของคนธรรมดาทั่วไปมานำเสนอ และเขามีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์มาจากช่วงเวลาที่ไปชีวิตอยู่ที่ “นาบัว” หมู่บ้านเล็กๆในจังหวัดหนึ่งของภาคอีสาน ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นหมู่บ้านเงียบๆ ชาวบ้านมีอาชีพทำเกษตรกรรม และไม่สนใจการเมือง แต่เป็นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของทหารอย่างเข้มงวด ในช่วงปี ค.ศ.1960 -1980 เพราะถูกต้องสงสัยว่าให้ที่พักพิงแก่กลุ่มคอมมิวนิสต์ ชาวบ้านส่วนหนึ่งต้องคอยต่อสู้กับอำนาจอันไม่ชอบธรรมของกองทัพ และมีชีวิตรอด โดยการหลบหนีเข้าป่า

สิ้นสุดยุคสงครามเย็น ลิทธิคอมมิวนิสต์ล่มสลาย ชาวบ้านในหมู่บ้านต่างลืมกันไปหมด ว่าเคยเกิดอะไรขึ้น ทั้งที่เหตุการณ์เพิ่งผ่านไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว แต่นาบัวมีตำนานอันเก่าแก่ ที่เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีแม่ม่ายที่คอยลักพาตัวพวกผู้ชายไปสู่อีกโลก และตำนานอันนี้เป็นแรงบันดาลใจสำคัญอันหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังผลงานวีดีโออาร์ตชิ้นนี้ของเจ้ย



Phantoms of Nabua ถูกเซ็ตฉากขึ้นในเวลากลางคืน กลางทุ่งนาของหมู่บ้านนาบัว ในบรรยากาศที่มือมิดนั้นมีแสงจากหลอดนีออนที่ริบหรี่ กระทั่งเคลื่อนสู่บรรยากาศที่มีแสงฟ้าผ่า ฟ้าแลบ วูบวาบ และมีบรรดาเด็กหนุ่มสนุกกับการแตะลูกบอลที่ลุกไหม้ไปรอบๆอาณาบริเวณ จนในที่สุดลูกบอลถูกเตะไปกระแทกกับจอที่ถูกเซ็ตไว้กลางทุ่งจนกระทั่งจอลุกไหม้ ดูราวกับว่าจอนั้นเป็นโกลฟุตบอลของพวกเขา

เด็กหนุ่มยืนเพ่งมองไปยังจอที่กำลังลุกไหม้และส่วนหนึ่งโยนลูกบอลเพลิงเพื่อกระตุ้นจอลุกไหม้เพิ่มขึ้นจนไม่เหลืออะไรนอกจากคานที่ใช้ขึงจอ แสงสุดท้ายที่เห็นคือแสงวูบจากแสงแฟลชที่ต่อจากนั้นก็ค่อยๆวูบหายตามไป จนทำให้ทุ่งนาบัวเหลือแต่ความมืดมิด

แสงและความมืดของทุ่งนาบัวเวลากลางคืน เป็นการบรรยายถึง ความจำทรงจำ ,ประวัติศาสตร์ และตำนานของหมู่บ้านนาบัวอย่างเงียบและมันเป็นสิ่งที่กำลังถูกทำลายลงไป

ปลายปีก่อนช่วงเวลาที่ A Letter to Uncle Boonmee หรือ จดหมายถึงลุงบุญมี หนังสั้นซึ่งเป็นหนึ่งผลงานในโครงการ Primitive เช่นเดียวกับ Phantoms of Nabua ฉายให้ชมในเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ ครั้งที่ 7

เจ้ยบอกเล่าว่าภาพรวมของโครงการ Primitive เป็นการเล่าถึงความทรงจำของเขาเองที่มีต่อภาคอีสานเพราะที่ผ่านมาเขาไม่เคยทำหนังที่โฟกัสไปที่ภาคอีสานโดยตรง อาจจะเคยนำเสนอเรื่องราว แต่ก็ไม่เคยนำเสนอสถานที่ในภาคอีสานอย่างจริงๆจังๆ

เขาเริ่มเดินทางจากขอนแก่นเรียบไปทางสกลนคร นครพนม สุรินทร์ ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนทำให้ผลงานที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการเดียวกันแตกแขนงออกไปมากขึ้น ประกอบด้วย หนังสั้น หนังยาว มิวสิควีดีโอ วีดีโอทดลอง และหนังสืออีก 1 เล่ม

ระหว่างที่ผ่านไปในพื้นที่หมู่บ้านนาบัวและได้ฟังคำบอกเล่าจากชาวบ้านในด้านที่เจ้ยไม่เคยรับรู้มาก่อนและคิดว่าอีกหลายคนก็อาจจะไม่เคยรู้ด้วยเหมือนกัน นอกจากเรื่องราวที่เคยรับรู้มาว่าเป็นพื้นที่สีแดง เป็นพื้นที่ซ่องสุมของคอมมิวนิสต์ และเป็นพื้นที่ที่รัฐต้องปราบปราม

“พอได้คุยกับคนที่นาบัวจริงๆ จึงได้พบว่า ชาวบ้านเขาก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมหลายอย่างมาก แต่ผมไม่ได้เข้าข้างว่าฝ่ายใดผิดหรือถูกนะ แต่ว่าเมื่อได้ฟังเรื่องราวแล้ว ก็เลยอยากจะบันทึกเรื่องราวนั้นไว้และถ่ายทอดมันออกมา

สิ่งที่คนดูจะเห็นจาก Phantoms of Nabua มันเป็นมุมจากคนนอก เพราะตัวผมเองก็ถือเป็นคนนอก และรู้สึกตระหนกตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และเมื่อได้ฟังเรื่องราวจากปากชาวบ้านแล้วรู้สึกว่ามันมีทั้งการข่มขืน การฆ่ากัน การถูกกระทำ และคนเหล่านั้นก็ยังมีชีวิตอยู่”

คำถามที่เกิดขึ้นระหว่างที่เจ้ยสร้างสรรค์ผลงานวีดีโออาร์ตชิ้นนี้คือ

“คนเรามักจะพยายามลืมจุดบอดในชีวิต เหมือนประวัติศาสตร์ทางการเมือง เราก็มีความตั้งใจที่จะพยายามลืมมันเหมือนกัน บ้านเราหมายถึงประเทศไทย ชอบขี้ลืมกัน มันถึงได้เกิดเรื่องซ้ำๆซากๆและมีการถูกเอาเปรียบมากขึ้น”

หากถามว่าผลงานของเจ้ยพยายามที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไหม เขาบอกว่าไม่ แต่มันดันเข้าไปอยู่บริบททางการเมือง เพราะช่วงเวลาที่เจ้ยเริ่มทำโครงการนี้ เป็นช่วงปี ค.ศ. 2008

“ที่อยู่ดีๆ สถาบันที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามคอมมิวนิสต์ก็แสดงตัวออกมา ผมเลยรู้สึกว่า มันเหมือนเรื่องลุงบุญมีระลึกชาติเลยหว่ะ คือมันเกิดขึ้นซ้ำๆอีก และคิดว่ามันคงจะเกิดขึ้นอีกต่อไป มันเหมือนกับว่าคนเรามักมองไม่เห็นค่าของคนกันเอง”

แต่อย่างไรก็ตามทั้ง งาน Phantoms of Nabua, A Letter to Uncle Boonmee และผลงานชิ้นอื่นในโครงการเดียวกัน มันเป็นงานบันทึกส่วนตัวของเจ้ย ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ทว่าเป็นการแสดงออกในแง่อารมณ์มากกว่า

และถ้าคนดูเรื่อง Phantoms of Nabua แล้วอยากรู้เรื่องประวัติศาสตร์ทางการเมืองมากขึ้น เจ้ยแนะนำว่าไปหางานวิจัยทางการเมืองอ่านเลยดีกว่า




ชม Phantoms of Nabua ได้ที่ http://www.animateprojects.org/films/by_date/2009/phantoms