ครบ 100 ปี เฟื้อ หริพิทักษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี 2528 ,เจ้าของรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ปี 2526 ผ่านไปอย่างเงียบเชียบเมื่อปีที่แล้ว ทว่าชื่อของเฟื้อ ยังคงดังก้องอยู่ในหัวใจและปลุกพลังให้กับใครหลายคน ไม่เฉพาะแต่คนที่ทำงานศิลปะ ยังรวมถึง วรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ สถาปนิกหนุ่ม เจ้าของ Supergreen Studio และ Samsen 5 Lodge
แรกเริ่มผลงานของ สวัสดิ์ ตันติสุข ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี 2534 ครั้งที่มีโอกาสไปชม ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถ.เจ้าฟ้า อาจมีส่วนทำให้ เด็กมัธยมปลาย ห้องสถาปัตย์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เช่นวรพันธ์ เปลี่ยนไปติววาดรูปเพื่อสอบเข้าเรียนด้านจิตรกรรม ในระดับ ปวส.ที่ วิทยาลัยช่างศิลป์ ลาดกระบัง
ทว่าในเวลาต่อมาศิลปินที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับวรพันธ์มากเป็นพิเศษ ,ส่งผลให้ชื่นผลงานของศิลปินอีกหลายๆ คน และคิดทำโครงการอีกหลายโครงการขึ้นมา คือ เฟื้อ หริพิทักษ์
“ระหว่างเรียนที่ช่างศิลป์ เป็นช่วงที่ผมได้รู้จักงานของอาจารย์เฟื้อ และทันเห็นอาจารย์สอนศิลปะไทยที่นั่น เห็นงานของอาจารย์ที่เป็นรูปสเกตซ์ด้วยสี รู้สึกว่าสวยดี ทำให้ต่อมา ผมชอบงานของศิลปินอย่าง จ่าง แซ่ตั้ง สุเชาว์ ศิษย์คเณศ หรือพวก Colorist ทั้งหลาย คือ พวกที่ชอบใช้สีจัดๆ ในการสร้างสรรค์งาน เช่น อองรี รุสโซและอีกหลายคน”
แต่ท้ายที่สุดวรพันธ์ก็ไม่เดินตามรอยเฟื้อด้วยการยึดอาชีพศิลปิน หากแต่สอบเข้าเรียนในระดับปริญญาตรีที่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
“ความจริงแล้วผมชอบทั้งสถาปัตย์และจิตรกรรม แต่ที่เลือกเรียนสถาปัตย์เพราะคิดว่าการเป็นสถาปนิกมันต้องมีใบประกอบอาชีพ ผ่านการรับรองจากสถาบันการศึกษา แต่การเป็นศิลปิน ถ้าเราชอบแล้วเราทำทุกวันมันก็เป็นได้ หรือทำเมื่อไหร่ก็ได้ จึงเปลี่ยนไปเรียนสถาปัตย์”
จนถึงวันนี้ แม้วรพันธ์จะยังไม่เคยใช้เวลาสร้างสรรค์งานศิลปะขึ้นมาสักชิ้น แต่ในงานออกแบบด้านสถาปัตย์ของเขาก็ยังมีสิ่งที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานของเฟื้อแทรกอยู่ในหลายๆส่วน
“ผมยังรักงานของเฟื้ออยู่ และมันเป็น Inspiration ของผม มันแฝงอยู่ในงานทุกอย่างที่ผมทำ เช่น การสเกตซ์รูปหรือ งานดีไซน์ จะเป็นงานที่ใช้สีค่อนข้างเยอะ”
เช่นกันกับครั้งที่เขาตัดสินใจไปเรียนต่อในระดับปริญญาโท ด้าน Urban Design ณ School of Planning and Architecture กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ด้วยทุนรัฐบาลอินเดีย นั่นก็เพราะได้เห็นงานของเฟื้อชุดหนึ่งที่สร้างขึ้นที่อินเดียมาก่อน (ปี2483 เฟื้อเดินทางไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยวิศวะ – ภารติ ประเทศอินเดีย)
“รูปชุดนั้นสีสันมันจัดจ้านมากทำให้ผมรู้สึกว่า โหย… อินเดียช่างสวยจริงๆ และช่วงที่ผมไปอยู่ที่นั่น แทนที่จะสเกตซ์รูปเป็นสไตล์สถาปัตย์ที่เป็นเส้นเขี่ยๆ ก็สเกตซ์เส้นเป็นขุยๆและมีสีจัดๆเหมือนสไตล์ที่อาจารย์เฟื้อสเก็ตซ์ ใครดูก็จะรู้ว่ารูปที่ผมสเกตซ์ไม่ใช่งานสถาปัตย์ แต่เป็นสไตล์ที่เป็นงานจิตรกรรม
ที่ผ่านมาสีที่อาจารย์เฟื้อใช้มักเป็นแรงบันดาลใจให้ผมทำงานและอยากจะเล่นกับสี เพราะว่าสีมันเป็นจุดเด่นของศิลปะในเมืองร้อน และเมืองร้อนมันก็มีสีในธรรมชาติอยู่เยอะ ดังนั้นในงานดีไซน์ เราควรจะเอาสีออกมาใช้เยอะๆ”
หลังจากที่เรียนจบ ทำงานที่อินเดียและศรีลังกาอยู่นานพอสมควร อีกทั้งยังเคยร่วมงานกับ เจฟฟรีย์ บาวา สถาปนิกชั้นนำของโลก แล้วกลับมาทำงานให้กับบริษัทที่เมืองไทยหลายแห่ง จากนั้นวรพันธ์จึงเปิดบริษัทรับทำงานด้านสถาปัตย์ชื่อ Supergreen Studio
“จากประสบการณ์ที่ผมเคยทำงานอยู่อินเดีย ศรีลังกา และเคยไปเที่ยว อินเดีย ญี่ปุ่น เนปาล มันทำให้ผมได้เห็นงานที่มีคุณค่าในราคาที่ไม่แพงมากนัก นั่นคืองานที่มีแปลนที่เรียบง่าย แต่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมสูง ก็เลยทำให้อยากมาเปิดบริษัทที่ดีไซน์งานที่เรียบง่าย ใช้วัสดุที่เรียบง่าย แต่มีคุณภาพของสเปชหรือแสงเงาที่ดี”
จาก Supergreen Studio ต่อยอดมาเป็น Samsen 5 Lodge บูติคโฮเต็ลขนาดเล็กที่สร้างขึ้นจากแนวคิดด้านสถาปัตย์ที่เขาต้องการนำเสนอดังกล่าว นั่นคือ “มีคุณค่าในราคาที่ไม่แพง” และ “เรียบง่าย แต่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมสูง”
ต่อเนื่องมาถึงเวิร์คชอป “เปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูติคโฮเต็ล” ที่เคยนำผู้ร่วมเวิร์คชอปไปเยือนบูติคโฮเต็ลสุดฮิป 6 แห่งในเขตพระนคร ได้แก่ สามเสน5ลอดจ์,สามเสน 3 เพลส, โอลด์บางกอกอินน์, เดอะ ภูธร, บ้านดินสอ และบ้านจักรพงษ์ ถึงสองครั้งสองคราว เมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา
ก่อนที่เวิร์คชอปครั้งที่ 3 กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม 2554 ซึ่งครั้งนี้ วรพันธ์จะพาไปเยือนตึกเก่าหลายๆแห่ง ที่ถูกปรับเปลี่ยนจากตึกโทรมๆและถูกทิ้งร้างมาเป็นโรงแรม เช่น เฟื่องนคร ,พระนครนอนเเล่น,PRAYA PALAZZO,อรุณเรสซิเด้นท์ และ ออรั่มเดอะริเวอร์เพลส ซึ่งต่างถือได้ว่าเป็นเพชรของตึกเก่าที่ถูกเปลี่ยนมาเป็นโรงแรมบนเกาะรัตนโกสินทร์
นอกจากช่วงเช้าผู้เข้าร่วมเวิร์คชอปจะได้รับฟังการบรรยาย เรื่อง การซ่อมตึกเก่าให้เป็นโรงแรม และสนทนากับเจ้าของโรงแรมที่ประสบความสำเร็จ ในช่วงบ่ายยังจะได้ไปเยือนโรงแรมแต่ละแห่ง ก่อนจะเข้าพักที่โรงแรมและตื่นเช้ามาเรียนรู้กระบวนการทำงานของโรงแรมแต่ละแห่งอย่างครบวงจร
เหตุที่แนวความคิด “เปลี่ยนบ้านเก่าและตึกเก่าเป็นบูติคโฮเต็ล” ควรจะถูกเผยแพร่ไปเพราะวรพันธ์เห็นว่าเป็นธุรกิจสีเขียวที่อนุรักษ์ทั้ง ธรรมชาติ พลังงาน วัฒนธรรมและชุมชน ไปด้วยในตัว
“เพราะว่าบูติคโฮเต็ลประเภทบ้านเก่าและตึกเก่า มันต้องอาศัยเสน่ห์ของพื้นที่ตั้งค่อนข้างเยอะ ดังนั้นนอกจากคุณจะต้องอนุรักษ์บ้านเก่าและตึกเก่า ยังต้องอนุรักษ์ ธรรมชาติ พลังงาน วัฒนธรรม ชุมชน หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ของเพื่อนบ้าน ไปด้วยในตัว”
วรพันธ์ย้ำบอกอีกว่า แม้แต่เวิร์คชอปที่เขาคิดทำขึ้นนี้ แรงบันดาลใจก็ไม่ได้มาจากใครที่ไหน ยังคงคือ เฟื้อ หริพิทักษ์ ที่เขาชื่นชมและศรัทธา
“อาจารย์เฟื้อเป็นแรงบันดาลใจให้ผมมาสนใจในสิ่งที่เรียกว่าเอกลักษณ์ของชาติด้วย เพราะช่วงสุดท้ายของชีวิต ท่านมาสนใจอนุรักษ์ศิลปะไทย ที่วัดระฆัง วัดใหญ่เมืองเพชร และวัดทั่วประเทศอีกหลายพันวัด
เวลาผมศึกษางานของอาจารย์เฟื้อมันทำให้ผมมีความรักในศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น ดังนั้นมุมมองในฐานะที่เป็นสถาปนิกของผม ส่วนหนึ่งก็จะเป็นไปในเชิงอนุรักษ์ เวลาเห็นบ้านเก่าและตึกเก่าก็อยากจะอนุรักษ์ให้มันอยู่ในสภาพที่ดีที่สวยงาม
แต่การอนุรักษ์อย่างเดียวมันไม่มีประโยชน์ มันต้องสร้างรายได้ด้วย บ้านเก่าและตึกเก่ามันควรจะถูกปรับเปลี่ยนเป็นอะไรก็ตามที่ทำให้เกิดรายได้ ซึ่งสำหรับในกรุงเทพก็คือการทำเป็นโรงแรม ผมจึงคิดว่า ควรจะนำความรู้ทางสถาปัตย์มาปรับปรุงการอนุรักษ์บ้านเก่าและตึกเก่าให้เป็นโรงแรม”
วรพันธ์คือส่วนหนึ่งของผู้ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากจิตรกรเอกของไทยท่านนี้ แล้วคุณล่ะ เฟื้อ หริพิทักษ์ เคยเป็นแรงบันดาลใจให้คุณอยากคิดทำสิ่งใดบ้าง และทำมันอย่างไร
Text by ฮักก้า Photo by Boat & Nut
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ และ Celeb Online www.astvmanager.com โทร.0 -2629 – 4488 ต่อ 1530 Email: thinksea@hotmail.com