วรรณคดีชิ้นโบว์แดงแห่งสยาม เรื่อง ขุนช้างขุนแผน ซึ่งล่าสุดถูกนำมาแปลป็นภาคภาษาอังกฤษชื่อ The Tale of Khun Chang Khun Phaen โดย ดร.คริส เบเกอร์ และ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์ โดยได้รับทุนสนับสนุนบางส่วนจาก มูลนิธิเจมส์ เอช ดับเบิลยู ทอมป์สัน
ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของเพื่อนผู้เป็น นักเรียกร้องสิทธิสตรี(feminism)ของผู้แปลที่เห็นว่าเป็นวรรณคดีที่ดูถูกผู้หญิง แต่ผู้แปลก็ได้ให้เหตุผลว่า
ขุนช้าง ขุนแผน ถือเป็นขุมทรัพย์ทางวัฒนธรรมและทำให้เราได้สัมผัสกับโลกทัศน์แบบไทยในสมัยอดีต ไม่ใช่วรรณคดีที่ดูถูกผู้หญิง แต่สอนผู้หญิงให้รู้ว่าอำนาจอยู่ในมือผู้ชาย ดังนั้นผู้หญิงจึงต้องระวัง
ณ ตอนนี้ได้ต่อยอดมาเป็นนิทรรศการ มุมมองใหม่ขุนช้างขุนแผน (Re – Reading Khun Chang Khun Phaen) ณ หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน ที่ทำให้เราได้ทราบถึงพัฒนาการของวรรณคดีเรื่องนี้ ซึ่งถูกรวบรวมขึ้นครั้งแรกโดยกวีนิรนามในสมัยอยุธยา จากนั้นจึงมีการเรียบเรียง ปรับเปลี่ยน และขยายความโดย นักขับเสภาชาวบ้าน และกวีในราชสำนัก รวมถึงครูแจ้ง สุนทรภู่ รัชกาลที่ 2 และกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตามลำดับ
รวมถึงได้ทราบถึงอิทธิพลที่วรรณคดีเรื่องนี้ มีต่อสื่อต่างๆ อาทิ นวนิยาย,ละครโทรทัศน์,ภาพยนตร์,การ์ตูนและผลงานศิลปะด้านทัศนศิลป์ของศิลปินไทย และต่างชาติ
ได้แก่ ครูเหม เวชกร ผู้มีผลงานภาพวาดที่เกี่ยวกับวรรณคดีเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน มากที่สุด,อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต ที่อนุญาตให้ผู้แปลทั้งสอง นำผลงานภาพวาดของอาจารย์มาปรากฎบนปกของThe Tale of Khun Chang Khun Phaen,บรูซ กันเดอร์สัน จิตรกรชาวต่างชาติผู้เคยสร้างงานศิลปะที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับ “แม่นาคพระโขนง” และต่อมา เมื่อได้มาอ่านผลงานแปลของ ดร.คริสและดร.ผาสุก จึงเกิดแรงบันดาลใจสร้างงานศิลปะที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับวรรณคดี ขุนช้าง ขุนแผน แต่ผลงานของเขาแตกต่างผลงานของ ครูเหมและ อ.จักรพันธุ์ ตรงที่ นางพิมพิลาไลย(นางวันทอง)หรือตัวละครอื่นๆของเขา ไม่ได้รูปงามเหมือนมนุษย์ในอุดมคติของใครหลายคน
รวมถึง ผลงานผ้าปักไหมน้อยชื่อ ป่าหิมพานต์ ของสถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรลดา ที่ปักขึ้นตามบทเสภาเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน ตอน ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง และ เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย ผู้มีผลงานจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับ ขุนช้าง ขุนแผน ที่วัดป่าเลไลย์ จ.สุพรรณบุรี
ขณะที่ ช่างภาพหนุ่ม กรกฤช เจียรพินิจนันท์ ก็ได้ออกตามรอยเส้นทางงานวิจัยของผู้แปลและสถานที่ต่างๆที่ปรากฎในวรรณคดีเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน ได้แก่ สุพรรณบุรี,กาญจนบุรี,พิจิตร และอยุธยา จนเกิดเป็นผลงานภาพถ่าย ที่มีมาให้ชมภายในนิทรรศการ
และที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เตรียมไปชมผลงานสร้างสรรค์ของ ประดิษฐ ปราสาททอง ศิลปินรางวัลศิลปาธร ปี 2547 สาขาศิลปะการแสดง และหัวหน้ากลุ่มละคร มะขามป้อม ที่จะเปลี่ยน นางวันทอง ผู้สมควรตายไปเป็น เปรต ในความคิดของใครหลายคน ให้กลายเป็น นางฟ้า ผ่านผลงานละครเวทีเรื่อง The Return of Wanthong ซึ่งแสดงและกำกับโดยเขา
ประดิษฐ์ นำบทเสภาในเรื่อง ขุนช้างขุนแผน 2-3 บท มาเรียบเรียงและแต่งเพิ่มเข้าไป เพื่อเล่าเรื่องราวย้อนอดีตจากความทรงจำของ จมื่นไวยวรนาถ(ลูกของขุนแผน กับ นางวันทอง)
ซึ่งสิ่งที่ผู้ชมจะได้รับ นอกจากความไพเราะ เพราะเป็นการแสดงประกอบการขับเสภาทั้งเรื่อง ยังจะได้ร่วมสะเทือนใจและสัมผัสถึงความรักความผูกพันของแม่และลูก คือ นางวันทอง กับ จมื่นไวยวรนาถ ตลอดจนทราบถึงที่มาที่ไปของตัวละครเหล่านี้
วรรณคดีเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน เป็นหนึ่งในจำนวนผลงานวรรณกรรมที่คนละครเช่น ประดิษฐ์ ชื่นชอบและรักที่จะอ่านมาตั้งแต่วัยเด็ก โดยที่ครูไม่ต้องแนะนำให้อ่าน
“เวลาว่าง เข้าห้องสมุดก็จะอ่านเรื่องนี้ และอีกหนึ่งเรื่องที่ชอบอ่าน คือ อิเหนา เพราะในวัยเด็กผมเป็นคนที่ชอบอ่านกวี จะไม่ชอบอ่านร้อยแก้วเลย จะอ่านแต่ร้อยกรอง แล้วก็จะติดใจเรื่อง ขุนข้าง ขุนแผน มาก เพราะมันเป็นวรรณคดีที่นำเสนอเรื่องราวของชีวิตมนุษย์ ที่มีทั้งด้านมืดและด้านสว่าง ไม่มีตัวละครตัวไหนที่สมบูรณ์แบบเลย ทุกคนต่างมีทั้ง รัก โลภ โกรธ หลง และมีชะตากรรมที่ทำให้ชีวิตต้องพลิกผันอยู่ตลอดเวลา”
ประดิษฐ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ความรู้สึกที่ตนมีต่อนางวันทอง สิ้นสุดแค่เพียงตอนจบของวรรณคดีที่นางวันทองต้องเสียชีวิต ไม่ได้มีการจินตนาการเพิ่มเติมไปมากกว่านั้น
ที่ผ่านมาบางคนอาจตัดสินพฤติกรรมของนางวันทองในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ว่าเป็นบาป จึงนำเสนอให้นางวันทองต้องตายไปเป็นเปรต ผ่านสื่อต่างๆ
แต่สำหรับตน เมื่อต้องนำเสนอเรื่องราวของ นางวันทอง ผ่านละครเวที ในวาระนี้ นางจึงแตกต่างไปจากนางวันทองในสายตาของใครหลายคน
“ที่ผ่านมาใครจะแต่งเติมให้นางวันทองตายไปเป็นผี เป็นเปรต หรืออะไรอย่างโน้นอย่างนี้ เพราะเห็นว่าสิ่งที่นางวันทองทำ ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ว่าเป็นบาป แต่ในละครของผม แม้พระไวย จะได้รับฟังการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับแม่ของตัวเอง จากปากบุคคลนั้น บุคคลนี้ แต่วันหนึ่งพระไวยก็ย่อยสิ่งที่ได้รับฟังมาเหล่านั้น แล้วนึกถึงแม่ในมุมของตัวเอง ซึ่งแตกต่างไปจากที่คนอื่นๆรับรู้ นั่นคือไม่ได้มองในสิ่งที่แม่ทำว่าเป็นบาป ฉนั้น นางวันทองในสายตาของพระไวยจึงไม่ใช่เปรต”
ละครเวทีเรื่อง The Return of Wanthong แสดงให้ชม วันที่ 28 – 29 พฤษภาคม พ.ศ.2554 จำนวน 2 รอบ คือ 14.00 และ 19.30 น. ณ ห้องนิทรรศการ หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน บัตรราคา 350 บาท ชมตัวอย่างได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=ODY8VftnI60
และมีกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่
***การแสดงการขับเสภา เรื่อง นางวันทองขุนแผนช้างขุนออกตัว ตอน ขุนแผนพานางวันทองหนี โดย อาจารย์นพคุณ สุดประเสริฐ อาจารย์ด้านคีตศิลป์ไทย วิทยาลัยนาฎศิลป์ และ อาจารย์วาฑิตต์ ดุริยอังกูร หัวหน้างานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เวลา14.00 -15.30 น. (ไม่เสียค่าใช้จ่าย)
**ศิลปินเสวนา หัวข้อ การตีความขุนช้างขุนแผน (ใหม่) ในมุมมองฝรั่ง โดย บรูซ แกนเดอร์สัน วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2554 เวลา14.00 -15.30 น. (ไม่เสียค่าใช้จ่าย)
**การบรรยาย หัวข้อ ขุนช้างขุนแผนในสื่อสมัยใหม่: การผลิตซ้ำและการตีความใหม่ โดย อาจารย์ณรงค์ศักดิ์ สอนใจ วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา14.00 -15.30 น. (ไม่เสียค่าใช้จ่าย)
**การบรรยาย หัวข้อ คำ ผกา อ่านขุนช้าง ขุนแผน โดยนักเขียนผู้ใช้นามปากกา คำ ผกา วันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2554 เวลา 14.00 -15.30 น. (ไม่เสียค่าใช้จ่าย )
ส่วนผลงานอื่นๆในนิทรรศการจะจัดแสดงให้ชมตั้งแต่วันนี้ – 30 กันยายน พ.ศ.2554 ณ ห้องนิทรรศการ หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน สอบถาม โทร.0-2612-6741
Text by ฮักก้า
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ และ Celeb Online www.astvmanager.com โทร.0 -2629 – 4488 ต่อ 1530 Email: thinksea@hotmail.com