หลังการสิ้นพระชนม์ของ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
“พระหน่อนาถ” ถือเป็นเพลงที่เราคุ้นหูเป็นอย่างดี แต่ในความคุ้นหูนื้ มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนหลายประการรวมอยู่ด้วย บ้างบอกว่าเป็นเพลงซึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6 ) ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นทั้งเนื้อร้องและทำนอง และบ้างบอกว่า ทรงเป็นผู้พระราชทานชื่อเพลงนี้ว่า “พระหน่อนาถ” มาตั้งแต่ต้น
ความจริงเกี่ยวกับเนื้อหาและทำนองเพลง ทฤษฎี ณ พัทลุง ผู้ซึ่งหากเราคลิกไปฟังเพลงนี้ใน You Tube นอกจากการทำหน้าที่อันสอดประสานกันของนักดนตรีท่านอื่นๆ และเสียงร้องจาก ธีรนัยน์ ณ หนองคาย ท่ามกลางบรรยากาศอันสวยงามของพระราชวังพญาไท จะเห็นเขาทำหน้าที่เป็นผู้บรรเลงเปียโน
แต่ที่มากไปกว่านั้น ความเกี่ยวข้องที่เขามีกับบทเพลงนี้ คือ เขาเป็นคนอัญเชิญ “บทกล่อม” ของ ร.6 มาใส่ทำนองเพลงซึ่งประพันธ์ขึ้นโดยเขา
ในช่วงเวลาที่ว่างเว้นจากการทำอาชีพหลักคือ การเป็น “วาทยกร” อำนวยเพลงให้วงออร์เคสตราในต่างประเทศ และล่าสุดเพิ่งกลับจากการไปอำนวยเพลงให้กับวงออร์เคสตราของอิตาลี และกำลังเตรียมไปอำนวยเพลงให้กับโอเปร่าเรื่อง “แม่นาก” ที่ สมเถา สุจริตกุล จะนำไปแสดงที่ลอนดอน ในเดือนกันยายนนี้
ทฤษฎีได้ช่วยไขให้เรากระจ่างถึงที่มาที่ไปของ “บทเพลง” ที่ทำให้เราได้ร่วมโศกเศร้าอาดูรไปกับคนทั้งแผ่นดิน หลังจากที่ทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
วาทยกรหนุ่มบอกเล่าว่า แต่เดิม ร.6 ทรงพระราชนิพนธ์บทกล่อมบทหนึ่งขึ้น (แต่ไม่ได้ทรงพระราชทานชื่อกำกับไว้แต่อย่างใด) เพื่อสำหรับใช้ขับลำนำกับทำนอง “ปลาทอง” ซึ่งเป็นทำนองๆหนึ่งของดนตรีไทยเดิมที่มีมาแต่โบราณกาล
ทรงเตรียมการไว้สำหรับการสมโภชรับพระหน่อ หรือ พระราชโอรส ที่ใกล้ประสูติ จากนั้นในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้มีพระประสูติกาล หากแต่เป็นพระราชธิดา( สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี) หาใช่พระราชโอรสไม่ และหลังจากวันประสูติของพระราชธิดา เพียง 1 วัน ร.6 เสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน บทกล่อม ขับลำนำ “ปลาทอง” ดังกล่าว จึงมีอันต้องระงับไป
ราว 80 ปีต่อมา วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2548 ครูเลื่อน สุนทรวาทิน ธิดาของพระยาเสนาะดุริยางค์(แช่ม สุนทรวาทิน) ครูดนตรีไทยคนสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งขณะนั้น อายุ 96 ปี (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว)ได้อัญเชิญบทกล่อมดังกล่าวมาขับร้อง ที่สวนเบญจสิริ ในวโรกาสที่ กรุงเทพมหานคร จัดงานเฉลิมฉลอง การประสูติของ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ
“ช่วงเวลาที่ ร.6 ทรงพระราชนิพนธ์บทกล่อม ดังกล่าว ไว้สำหรับการสมโภชรับพระหน่อ ครูเลื่อนท่านอยู่ในเหตุการณ์ด้วย ซึ่งท่านถูกมอบหมายให้ต้องเป็นคนเป่าขลุ่ย และน้องสาวของท่านถูกมอบหมายให้ต้องเป็นคนร้องบทกล่อม
หลังจากบทกล่อมถูกระงับไป เวลาผ่านไป 80 ปี จนพระองค์ทีฯ ประสูติ ครูเลื่อนจึงอัญเชิญบทกล่อมที่ ร.6 พระราชนิพนธ์ไว้ มาขับร้อง นั่นเป็นจึงเป็นครั้งแรกที่ประชาชนมีโอกาสได้ยิน บทกล่อม ขับลำนำ “ปลาทอง” ดังที่ ร.6 เคยมีพระราชประสงค์มาตั้งแต่ต้น”
กระทั่ง ปี 2552 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงเจริญพระชนมายุ 7 รอบ ทฤษฎี ได้อัญเชิญบทกล่อม มาแต่งเป็นเพลง โดยประพันธ์ทำนอง ซึ่งมีการผสมผสานระหว่างดนตรีไทยและสากล ขึ้นมา และร่วมกับคณะทำงาน อัญเชิญวรรคแรกของบทกล่อม มาตั้งเป็นชื่อเพลงว่า “พระหน่อนาถ”
เนื่องจากตัวเขาเป็นผู้หนึ่งที่มีความซาบซึ้งและรับรู้ถึงพระมหากรุณาธิคุณของ ร.6 และเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ เป็นอย่างดี เนื่องจากตัวเขาสืบเชื้อสายมาจากตระกูล “ณ พัทลุง” มีคุณแม่(สุชาวดี) สืบเชื้อสายมาจากตระกูล “บุนนาค” และคุณย่า(สุชา)อดีตอาจารย์ของโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย สืบเชื้อสายมาจากตระกูล “ณ นคร” ซึ่งทั้งหมดต่างเป็นนามสกุลพระราชทานจาก ร.6
“ผมอยากจะแต่งเพลงถวายท่าน เมื่อค้นพบว่ามีบทกล่อม ที่ ร.6 พระราชนิพนธ์เอาไว้ เลยคิดว่าอยากจะอัญเชิญบทกล่อมมาแต่งเป็นเพลง และใส่ทำนองที่ประชาชนทั่วไปสามารถฟังและ ซาบซึ้งได้ง่าย โดยได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ
เวลาแต่งเพลงผมจะชอบใช้เครื่องดนตรีไทยมาผสมกับสากลให้กลมกลืนที่สุด โดยที่พยายามคงอรรถรสของดนตรีไทยและสากลเอาไว้ นี่คือสิ่งที่ผมจะพยายามทำเวลาที่ผมแต่งเพลง
เช่นตรงเนื้อร้องที่เกี่ยวกับดอกไม้ ดอกจำปา…. จริงๆแล้วการร้องเวลาชมดอกไม้ ทางดนตรีไทยเขาเรียกการร้องนี้ว่าการ “ว่าดอก” ดังนั้นหากใครอยากทราบว่าลักษณะการว่าดอกเป็นอย่างไร ก็จะมีลักษณะคล้ายกับที่ได้ยินในเพลงพระหน่อนาถ เพราะในเพลงผมต้องการคงลักษณะ ของรูปแบบการร้อง ที่เป็นเอกลักษณ์ของดนตรีไทยเอาไว้ด้วย แม้ทำนองโดยรวม ผมจะแต่งขึ้นมาใหม่ ทว่าในส่วนว่าดอก ผมยังคงใช้ทำนองว่าดอกจริงๆ ตามแบบดนตรีไทย แล้วเอามาใส่เสียงประสานแบบสากล”
ดังนั้นนอกจากเสียงของเครื่องดนตรีไทย อาทิ ซอสามสาย ขลุ่ย โทนรำมะนา ฉิ่ง พิณ ฯลฯ ผู้ฟังจึงได้ยินเสียงของเครื่องดนตรีสากล อาทิ ไวโอลิน, วิโอลา,เชลโล, เบส ,เปียโน ฯลฯ ในบทเพลงอันไพเราะนี้อีกด้วย
คนจำนวนไม่น้อยที่ได้ยินเพลงนี้ ก่อนที่จะทราบว่าเป็นเพลงอะไรและแต่งขึ้นเพื่อใคร ต่างบอกว่ารู้สึกเศร้า ทั้งที่ในความเป็นจริงทฤษฎีแต่งเพลงนี้ขึ้นด้วยความรู้สึกที่ตรงกันข้าม แต่มีความเป็นไปได้ที่ผู้ฟังจะรู้สึกไปเช่นนั้น เพราะได้ฟังเพลงนี้ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในภาวะของการสูญเสีย และในความคิดของทฤษฎี บทเพลงหนึ่งๆ สามารถมอบทั้งอารมณ์สุขและเศร้าให้กับผู้ฟัง
“เพลงพระหน่อนาถที่ผมแต่ง ถือเป็นเพลงเฉลิมพระขวัญ หรือเป็นเพลงมงคล เนื่องจาก เนื้อหาของเพลงเอามาจากบทกล่อม เพลงจึงมีความรู้สึกเป็น lullaby (เพลงกล่อมเด็ก) ไปในตัว เพื่อที่คนฟังจะรู้สึกถึงความเบาสบาย และเข้ากับความเป็น บทกล่อม ที่ ร.6 ทรงพระราชนิพนธ์ไว้
แต่พอคนทั่วไปมาฟังเพลงนี้ ตอนนี้ ในตอนที่เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ ทรงสิ้นพระชนม์ เพลงจึงฟังคล้ายเป็นเพลงส่งเสด็จ ผมเข้าใจครับ เนื่องจากเนื้อหาของเพลงนำมาจากบทกล่อมและมีเสียงของเครื่องดนตรีไทยในเพลงด้วย เลยอาจจะเข้ากับเหตุการณ์ในตอนนี้ และอีกอย่างเพลงมันมีสองอารมณ์ปนอยู่ในเพลงเดียวกัน”
เพลงที่ทฤษฎีแต่งขึ้นด้วยอารมณ์เศร้าอย่างแท้จริง คือเพลง Eternity (นิรันดร์) คีตาลัย นั่นต่างหาก ซึ่งเป็นเพลงที่เขาแต่งขึ้นเพื่อถวายแด่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และเพลงดังกล่าวถูกนำไปบันทึกเสียงในชุด “ประโคมเพลง ประเลงถวาย” เพื่อเป็นของที่ระลึก และบรรเลงในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ณ ท้องสนามหลวง
“สองเพลงนี้มันแตกต่างกันพอสมควร เพราะเพลงที่ผมแต่งถวายแด่พระพี่นาง ผมแต่งด้วยความรู้สึกที่เศร้าจริงๆ และต้องการสื่อถึงความรู้สึกที่เศร้าโศกของทุกคนออกมาให้ชัดเจน อีกทั้งในเรื่องของการเลือกใช้เครื่องดนตรีในเพลง ผมใช้ปี่ชวา ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่อยู่ใน วงปี่พาทย์นางหงษ์ ซึ่งใช้ในงานศพ เพลงจึงให้ความรู้สึกเศร้าและหดหู่ ขณะที่เพลง พระหน่อนาถ ผมแต่งขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ในช่วงเวลาที่ เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ ยังมีชีวิตอยู่”
ในฐานะผู้ประพันธ์เพลง “พระหน่อนาถ” ขึ้น ทฤษฎีหวังเพียงว่า เพลงจะเป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้คนทั่วไป ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
ไม่ว่าเพลงจะถูกเปิดขึ้นในช่วงเวลาไหน และผู้ฟังกำลังตกอยู่ในห้วงอารมณ์ใด
Text by ฮักก้า
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ และ Celeb Online www.astvmanager.com โทร.0 -2629 – 4488 ต่อ 1530 Email: thinksea@hotmail.com