Celeb Online

“สรวลสรร จำนรรจ์ชา” รื่นรมย์ในวิถีแห่งชา



อีกครั้งที่ ชุดชา ทั้งกาและถ้วย ผลงานของช่างปั้น ปานชลี สถิรศาสตร์ จะนำเราไปสู่ความรื่นรมย์ในวิถีแห่งชา

กาน้ำชาเข้าชุดกัน กว่า 30 ชุด อีกทั้งถ้วยชาหลากหลายหน้าตา กว่า 300 ใบ นับตั้งแต่ใบเล็กกระจ้อยร่อยไปจนถึงใบโตๆ ในนิทรรศการ TEA TALK – สรวลสรร จำนรรจ์ชา

ไม่เพียงแต่เจ้าของผลงานอยากจะเชื้อเชิญผู้หลงใหลและสงสัยในเสน่ห์ถ้วยชา ไปชมด้วยตา ยังอยากชวนให้ไปหยิบจับ ลูบๆคลำๆ ก่อนจะเลือกใบที่ถูกใจ ใส่ชาที่เธอเตรียมชงให้ดื่ม

ความงามในความเงียบ ตลอดจนความสุขสงบที่ชุดชาแต่ละชุดและถ้วยชาแต่ละใบ ส่งแรงดึงดูดถึงผู้ชม และการที่ผู้ชมได้ลองใช้มือสัมผัส จับต้อง อย่างทะนุถนอมและมีสติ เธอเชื่อว่าจะก่อให้เกิดความรื่นรมย์ในหัวใจ จนสามารถเขยิบเข้าใกล้ศิลปะแห่งการชงชาที่มีความเรียบง่าย ทว่าลุ่มลึก

ก่อนมาเป็นช่างปั้นถ้วยชา ปานชลีหลงใหลในการดื่มชาและศิลปะแห่งการชงชา มาก่อน เริ่มมาจากวัยเด็กได้ใช้เวลาดื่มชาเงียบๆกับสมาชิกในครอบครัว ความสุขที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่ต้องมีการพูดคุย ทดแทนคำพูดเป็นล้านๆคำ

จนเมื่อโตขึ้น ผ่านการดื่มชามามากชนิด กระทั่งได้สัมผัสกับพิธีชงชาของญี่ปุ่น อันเป็นความงามที่เชื่อมโยงกับทุกสิ่งในจักรวาล เธอก็ยิ่งหลงรัก

“ในขณะที่พระพูดถึงการมีสติ เรื่องของการทำสมาธิเพื่อที่จะลด ละ กิเลส พิธีชงชาก็เป็นเช่นนั้น เรียบง่าย ไม่รุงรัง อยู่บนความงามที่เลือกสรรแล้ว

พิธีชงชา เป็นความงามที่ถ่อมตัว ถ่อมใจ กระท่อมชา มีประตูที่ต่ำ เพื่อจะโค้งตัว ต้องลอดเข้าไป เป็นอุบายที่ทำให้ลดอัตตา แม้แต่ผู้มีศักดิ์สูง ก็ยังต้องนั่งเสมอกับผู้ชงชา เสมือนไม่มีนาย ไม่มีบ่าว

นิทรรศการครั้งนี้ แม้จะมีผลงานให้ชมมากชิ้นกว่าเดิม ปานชลี ผู้มีอีกหนึ่งบทบาทคือการเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง “ชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ” กล่าวว่า ยังคงเป็นการนำเสนอความงามที่ให้คุณค่ากับความเงียบ

“งานที่นำมาแสดงคราวนี้ เหมือนเป็นการรวมมิตรผลงาน บางชิ้นปั้นและเผาไว้เป็นเป็น 10 ปี แล้ว เพิ่งเอามาเคลือบ

ดิฉันชอบทำงานที่ทำให้นึกถึงความสงบร่มเย็นของธรรมชาติ ผลงานที่ออกมาจึงให้ความรู้สึกเหมือนตะไคร่ที่มีสีหม่นๆ หมองๆ มืดๆ (หัวเราะ)แต่คราวนี้มีสีฟ้า สีคราม มาให้ชมด้วย ยังคงเป็นสีที่เชื่อมโยงกับเรื่องของธรรมชาติ

นอกจากอยากให้คนมาจับมาสัมผัสงาน สิ่งที่ดิฉันปรารถนาในทุกครั้งที่จัดนิทรรศการ คือการชวนคนมาคุยกันเบาๆ

ชาเป็นเรื่องของความสุนทรีย์ การดื่มชาเกี่ยวข้องกับความงามในความเงียบ เป็นช่วงเวลาที่คนได้คุยกันในเรื่องที่ผ่อนคลาย ไม่ใช่เรื่องที่จะนินทากาเล”


ในช่วงเวลาของการจัดแสดงนิทรรศการ อีกหนึ่งกิจกรรม ที่ชวนคนมาคุยกันคือ สรวลสรรเสวนา หนังสือแห่งชา (The Book of Tea) แต่งโดย คะคุโซ โอคะคุระ

ปานชลีกล่าวถึง “หนังสือแห่งชา” ที่เพิ่งถูกนำมาแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกโดย ประวิตร โรจนพฤกษ์,กรินทร์ กลิ่นขจร และพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ openbooks ว่า

“เป็นหนังสือที่พูดถึงประวัติศาสตร์ของชา ความงามของถ้วยชา กระท่อมชา การจัดดอกไม้ ความงามของดอกไม้ ที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีชงชา ความซาบซึ้งในศิลปะ เป็นหนังสือที่มีโวหารครบทุกรส

ได้รับความชื่นชมจากคนทั่วโลก และเคยแปลไปแล้วหลายภาษา ถูกเขียนขึ้นมาเป็น 100 ปีแล้ว แต่ยังทันสมัย วิพากษ์วิจารณ์สังคมทุนนิยมแบบตะวันตกที่ผลิตอะไรซ้ำๆ หรือมีความงามที่ฟุ้งเฟ้อ ฟูมฟาย 

ศิลปะเกี่ยวกับชา คือความลุ่มลึก งอกงามมาจากความคิดที่ให้คุณค่ากับเรื่องสติ ความเป็นมาของลัทธิเต๋าและนิกายเซน  งอกมาจากศาสนาพุทธ การดื่มชาเริ่มต้นมาจากพระจีนดื่มเพื่อทำสมาธิ แล้วไปงอกงามที่ญี่ปุ่น จนเกิดเป็นพิธีชงชา

ส่วนหนึ่งของหนังสือจะพูดถึงประวัติศาสตร์ว่า ทำไมชาวญี่ปุ่น ถึงได้ให้คุณค่ากับพิธีชงชามาก เพราะว่าเป็นการทั้งฝึกสติ การให้คุณค่าของความงามที่ไม่ฟุ่มเฟือยและน้อมนำไปสู่ และความสงบในจิตใจ”

หนังสือเล่มนี้ จึงค่อนข้างจะมีความเชื่อมโยงกับสิ่งที่ปานชลีเชื่อและต้องการจะสื่อสารกับสังคมเสมอมา




นิทรรศการ   TEA TALK – สรวลสรร จำนรรจ์ชา โดย ปานชลี สถิรศาสตร์ วันที่ 17 -25 กันยายน พ.ศ.2554 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ สุขุมวิท 55 โทร.0-2381-8360-1

สรวลสรรเสวนา หนังสือแห่งชา (The Book of Tea) โดย อู่ทอง โฆวินทะ,สุวรรณา สถาอานันท์, ดวงใจ หล่อธนะวณิชย์, ประวิทย์ โรจนพฤกษ์, กรินทร์ กลิ่นขจร ดำเนินรายการโดย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

ศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ.2554 เวลา 16.00 -18.00 น. ณ บริเวณลานน้ำพุ สถาบันปรีดี พนมยงค์ สอบถาม โทร.089-146-4848





“เป็นเรื่องเศร้าอยู่มากว่าความกระตือรือร้นต่อศิลปะ ณ ปัจจุบันนี้ มากมายเหลือเกิน มิได้มีรากฐานอยู่ในความรู้สึกอย่างแท้จริง ในยุคประชาธิปไตยของเรานี้ ผู้คนแซ่ซ้องให้กับสิ่งที่ว่าดีที่สุดตามที่นิยมกันทั่วไป โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของตนเอง พวกเขาต้องการของราคาแพง มิใช่ของอันประณีต ของที่เป็นสมัยนิยม หาใช่ของอันสวยงาม”

บางตอนจากบท “การซาบซึ้งศิลปะ”