Celeb Online

“พระแต๊งค์” พงศกร มหาเปารยะ และ พุทธศิลป์ เพื่อศาสนา ที่อยากฝากไว้


ห้องเรียนที่ดีไม่มีผนัง
เธอไปมาทั่วโลก ห้องเรียนเธอกว้างกว่าหลายคน
แต่การเดินทางของชีวิต มันไม่ใช่ระยะทางหรือสถานที่

ชีวิตต้องเดินทางผ่านเวลา
เธอต้องเรียนรู้และเข้าใจชีวิตด้วยตนเอง
ยังมีการทดสอบอีกมากรออยู่

เหตุการณ์ทั้งหลาย
จะเป็นประสบการณ์
เหมือนภาพถ่าย

หากสะเพร่าเลินเล่อตอนถ่าย
เราอาจล้างออกมาได้ภาพเสีย
แต่ถ้าตั้งใจ ภาพที่ได้ย่อมออกมาดี

ทุกวันที่ผ่าน คือฟิล์มที่กำลังหมดไป
ขอให้ตั้งใจถ่ายภาพ
ให้ทุกวัน ทุกชั่วโมง ทุกนาที
เป็นภาพถ่ายที่ดี

ART EYE VIEW– ปีใหม่ 2555 ญาติโยมหลายๆคนที่ไปทำบุญ ณ วัดยานนาวา เขตสาทร อาจได้รับของที่ระลึกอันเป็นมงคลจาก “พระพรหมวชิรญาณ”  ท่านเจ้าอาวาส เป็น “พระพุทธมงคลสัมฤทธิ์ประสิทธิโชค”
 
พระผงรุ่นนี้ ออกแบบโดย ไฮโซและอดีตนักแสดงหนุ่ม “แต๊งค์”  พงศกร มหาเปารยะ(บุตรชายของ กฤษณะพงษ์ มหาเปารยะ กับ วรกร จาติกวณิช และบุตรบุญธรรมของ กรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) ที่ยามนี้เปลี่ยนสถานภาพมาเป็น “พระพุทธิญาโณ” จำพรรษาอยู่ ณ วัดแห่งนี้มาตั้งแต่ต้นปี 53

แม้ “พระแต๊งค์” จะจบการศึกษาจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ทว่ากลับมาเรียนต่อที่เมืองไทย สาขาออกแบบจิวเวลรี่ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว.ประสานมิตร

โดยผลงานวิทยานิพนธ์ของ “พระแต๊งค์” ก่อนจบการศึกษา เป็นผลงาน “ศิลปะเครื่องประดับ” ที่นำเอาวิธีการระบายสีในงานของ ศิลปินที่มีความชื่นชอบเป็นพิเศษ คือ โยชิโตโมะ นาระ (Yoshitomo Nara) ศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลก และทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของญี่ปุ่น มาประยุกต์ใช้กับผลงาน

กระทั่ง “พระแต๊งค์” ได้เดินตามฝัน ที่อยากจะทำธุรกิจเครื่องประดับ ด้วยการมีแบรนด์คอสตูม จิวเวลรี่ เป็นของตัวเอง ในชื่อ THANK GOD ซึ่งเคยมีโชว์รูมตั้งอยู่ใน โซน Dress Code ชั้น 1 สยามพารากอน แต่เวลานี้ปิดตัวไปแล้ว เนื่องจากลูกค้าชาวต่างชาติลดลง เพราะเหตุการณ์ไม่สงบของบ้านเมืองในช่วงเวลาหนึ่ง

“ความชอบเรื่องเครื่องประดับที่เคยทำ ก็ยังมีอยู่ แต่ว่าตอนนี้อาตมาเป็นพระ จะไปติดกับความรักสวยรักงามไม่ได้ ”

พระแต๊งค์กล่าวขึ้น ในวันที่ผ่านการบวชมาใกล้จะครบ 1 ปี และขณะนี้ได้เปลี่ยนความสนใจที่เคยมีต่อศิลปะในทางโลก ไปศึกษาศิลปะที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา

“ส่วนหนึ่งสนใจศึกษาเกี่ยวกับเรื่องลายไทย รูปแบบของพระพุทธรูปปางต่างๆ รวมถึงการผสม การหล่อ การปั้น พระเครื่อง พระบูชา รวมถึงพระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆ อย่างพระประธาน ก็ได้ไปดูถึงโรงหล่อ

สมัยก่อนจะเป็นกษัตริย์กับพระใช่ไหมที่จะสร้างพระ มาสมัยปัจจุบันก็เป็นพระกับโยม แต่ไม่ว่าจะเป็นสมัยไหนก็แล้วแต่ ถ้าใครสักคนจะสร้างพระ ก็ต้องมีพระสงฆ์ร่วมด้วย

หลังๆมานี้ อาตมาเห็นว่า พระสงฆ์ไม่ได้สร้างพระตามตำรับโบราณ อย่างสมัย สมเด็จพระพุฒาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ท่านสร้างพระเอง ตกเย็นมาท่านก็ผสมเนื้อพระ ปั้นๆแปะๆแล้ว กดพิมพ์ จนทุกวันนี้ พระที่ท่านสร้าง มีราคาเป็น 10 ล้าน ทั้งที่เป็นดินปั้น

แต่สมัยนี้จะสร้างพระกันที พระก็แค่ไปสั่งคนรับทำว่า เอาแบบนี้นะ เหมือนของวัดนี้นะที่เคยทำ เอาเนื้อสีนั้นสีนี้ จำนวน 2 หมื่นองค์ แล้วเซ็นเช็ค นั่นคือวิธีสร้างพระสมัยปัจจุบัน อาตมาเห็นว่า มันไม่ดี เพราะของแบบนี้มันต้องมีครู มีประเพณี

และอาตมาก็เห็นว่า การสร้างพระ ไม่ใช่ความเชื่อที่งมงายนะ ถ้าสิ่งที่เราเชื่อมันเป็นสิริมงคลกับตัวเอง

เพราะอย่างน้อยมันได้สอนให้เรามีศรัทธา สอนให้เรามีความอ่อนน้อมถ่อมตน ขนาดปูนกับเหล็กเรายังไหว้ได้ แล้วทำไมเราจะไหว้เจ้านาย ไหว้ผู้หลักผู้ใหญ่ไม่ได้”


ด้วยความสามารถทางศิลปะที่พอมี และด้วยความศรัทธาที่มีต่อ ท่านเจ้าอาวาส พระแต๊งค์จึงได้ออกแบบพระผงขึ้นมาถวายท่านในที่สุด โดยท่านเจ้าอาวาสได้เป็นผู้ตั้งชื่อพระผงรุ่นนี้ให้ด้วย

“ก็ไม่ได้มีอะไรที่พิเศษมาก ออกแบบขึ้นมาตามพื้นฐานการออกแบบพระทั่วไป เพราะอาตมาจะสร้างพระที่เป็นรูปแบบของตัวเองมากไปก็ไม่เหมาะ เพราะอาตมายังไม่ใช่ครูบา ประเภทที่เห็นนิมิต เป็นนก เป็นผีเสื้อ แล้วเอาสิ่งเหล่านั้นมาใส่ในพระที่ตัวเองสร้าง

เป็นพระปางห้ามสมุทร ปางวันจันทร์ ตามวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และตามวันเกิดของพระอาจารย์ ท่านเจ้าอาวาส ด้านหลังออกแบบเป็นพระพักตร์ของพระพุทธรูป มีตา จมูก แล้วก็ปาก ซึ่งรูปแบบนี้ยังไม่มีใครทำ

และตอนนี้อาตมายังมีความสนใจศึกษาภาษาขอมด้วย เพราะอยากรู้ว่าอักษรที่เขียนในยันต์ ทำไมคนเขาเขียนกันแบบนี้ อยากอ่านได้ จึงไปขอยืมหนังสือเก่าๆของของพระอาจารย์ มาศึกษา อ่านได้หมดทุกตัวแล้ว แต่ถ้าเป็นคำๆบางคำอาจจะยังแปลไม่ได้”

หากว่าศิลปินหลายราย ที่เมื่อมีความศรัทธาในพุทธศาสนา เลือกที่จะฝากผลงานพุทธศิลป์ ในรูปแบบต่างๆ ฝากเอาไว้ตามวัด

พระแต๊งค์ก็เห็นว่า สิ่งเล็กๆน้อยๆที่ตนเองได้ทำในปัจจุบัน นั่นคือ การออกแบบพระ เพื่อให้คนได้นำไปบูชา ก็ถือได้ว่าเป็นการใช้ความสามารถที่มี สร้างผลงานเพื่อพุทธศาสนาฝากเอาไว้ เช่นกัน

“อาตมาก็ได้ออกแบบพระผงนี้ขึ้นมาแล้วไง อย่างน้อยชีวิตนี้ ได้ออกแบบพระหนึ่งองค์ก็ถือว่า ได้ฝากเอาไว้แล้วนะ”

และมันไม่น่าจะใช่สัญลักษณ์แทนการ THANK GOD (ขอบคุณพระเจ้า) ดังชื่อแบรนด์เครื่องประดับของพระแต๊งค์ เมื่ออดีต

แต่น่าจะเป็นสัญลักษณ์แทนการ THANK BUDDHA ขอบคุณและบูชาธรรมะของพระพุทธเจ้า ที่ช่วยชี้ทางสว่างให้ชีวิตในระหว่างนี้ ค้นพบ “พื้นที่ปลอดภัย” ไม่ต้องไปหมกมุ่น หรือครุ่นคิด ในเรื่องที่อาจทำให้ “จิตตก”
 
Text by ฮักก้า

ติดตามอ่าน… ชีวิตใหม่ ใต้ร่มกาใต้ร่มกาสาวพัตร์ ของ พระแต๊งค์ ได้ใน คอลัมน์ “คนดังมีดี” นิตยสาร ธรรมลีลา นิตยสารธรรมะ ในเครือ ASTVผู้จัดการ ฉบับเดือน มกราคม 2555