Celeb Online

เมื่ออาหารจากรสมือเชฟ หล่นบน “ภาชนะบำบัดความเครียด” ของศิลปิน …ที่บ้านอาม่า


ART EYE VIEW — เก๋ไม่เบา.. งานเปิดนิทรรศการ Bakewares & Begwares โดย ปรัชญา รักตะบุตร และ พิม สุทธิคำ ที่ RMA (อาม่า)Institute เมื่อเย็นวันเสาร์ที่ผ่านมา

เพราะ ผู้ไปร่วมงานไม่ได้ไปชมแค่ชิ้นงานเซรามิกอาร์ต ที่ตั้งโชว์และติดผนังให้ชมอยู่ภายในแกลเลอรี่ แต่ยังได้ชิมอาหารอร่อยๆจากรสมือของ 2 เชฟ ชื่อดัง โบ- ดวงพร ทรงวิศวะ และ Dylan Jones แห่งคาเฟ่่ Gastro 1/6 และ ร้านอาหารไทย โบ.ลาน ที่เสิร์ฟมาในภาชนะที่เป็นผลงานของ 2 ศิลปินนั่นเอง


ผลงานเซรามิกอาร์ตของทั้งปรัชญาและพิม ไม่ได้ถูกทำขึ้นเพื่อเจาะจงใส่อาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น เพราะศิลปินต้องการเปิดกว้างให้ 2  เชฟ สนุกกับการใช้ความคิดทำอาหารที่เหมาะกับภาชนะที่มีอยู่ แถมได้ทดลองใช้เตาที่ปรัชญาเป็นคนออกแบบขึ้นเอง

เพราะโดยส่วนตัว นอกจากปรัชญาจะเป็นคนที่ชื่นชอบกับการจุดเตาเผาเซรามิกส์ ยังชื่นชอบการจุดเตาทำอาหารอีกด้วย

เขาเห็นว่า ถ้าไม่นับรวมบรรดาร้านพิซซ่าเตาถ่าน การที่จะแสวงหาร้านอาหาร ที่ทำให้คนรับประทานได้สูดดมกลิ่นหอมๆของอาหารที่ประกอบขึ้นจากเตาถ่าน เป็นเรื่องยาก

จึงถือโอกาสยกเตามาจุด เพื่อให้ผู้ชมงานได้สัมผัสกับเสน่ห์ ของสิ่งเล็กๆน้อยๆ ของชีวิต ในแบบที่เขาหลงใหล พร้อมกับงานเซรามิกส์อาร์ตที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากความหงุดหงิดใจในช่วงน้ำท่วมและภาชนะบางชิ้นที่ทำให้เราจินตนาการถึง หม้อหูฉลาม และชามปู-กุ้งอบวุ้นเส้น ที่ได้เปลี่ยนรูปไป


ขณะที่ผลงานของพิม เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่คิดงานสร้างสรรค์ไม่ออก แต่เมื่อพาตัวเองกลับเข้าสู่สตูดิโอสร้างงาน ขลุกอยู่กับการขึ้นรูปผลงานด้วยแป้นหมุน ในที่สุดขบวนการของการทำงานเครื่องปั้นดินเผาที่ดูเหมือนต้องทำอะไรอยู่ซ้ำๆ ทั้งการปั้น ตกแต่ง ประกอบชิ้นส่วน และเผา ได้นำเธอไปสู่ความสงบสุขในโลกส่วนตัวได้อย่างไม่ยากเย็น

เช่นเดียวกันกับรูปแบบของผลงาน ที่เธอไม่ต้องการนำเสนออะไรที่ซับซ้อน ขอเพียงผู้ชมสัมผัสถึงความสบายใจ สวยงาม และน่ารัก ในแบบที่เรียบง่าย

เพราะเป้าหมายสูงสุดของเธอคือ อยากเป็นช่างปั้น และสร้างผลงานที่สื่อสารกับผู้ชมว่า

“สิ่งนี้ถูกทำมาขึ้นด้วยมือมนุษย์ ไม่ใช่เครื่องจักร ไม่สามารถที่จะมีซ้ำกัน และเป็นสิ่งที่คนหนึ่งทำเพื่อให้อีกคนเอาไปใช้”


ภายหลังจากที่หลายเมนูได้ถูกเสิร์ฟให้กับผู้ชมงาน เราจึงถือโอกาสในช่วงคั่นเวลา ถามเชฟว่า แรกที่เห็นผลงานของทั้งสองศิลปิน ที่พวกเขานิยามมันว่า “ภาชนะบำบัดความเครียด” แล้วนึกถึงอาหารเมนูไหนบ้าง เชฟโบ ตอบว่า

“ตอนเห็นงานของอาจารย์พิม จะนึกถึงขนม ด้วยสีที่หวาน และด้วยรูปทรงที่ค่อนข้าง feminine(เป็นผู้หญิง) จะคิดถึงขนมซะเยอะ พวกทาร์ต พวกพาย

หรือในส่วนของผลงานชิ้นที่ทำให้มีรูขึ้นมา ก็จะอยากจะเอาไปใส่ครีม แต่ที่จะเสิร์ฟวันนี้เป็นซุป เพราะอาจารย์พิมบอกว่าเป็นรูที่ใช้ดูดได้ โบก็เลยอยากจะทำซุปฝรั่งมาใส่

ส่วนผลงานของอาจารย์หนึ่ง(ปรัชญา) เห็นครั้งแรกนึกถึงกุ้งอบวุ้นเส้นและอาหารจำพวก Bake Egg เห็นแล้วก็อยากทำเลย(ยิ้ม)”

งั้นขอเสิร์ฟให้ชิมผ่านสายตา สักเมนูเลยแล้วกัน Bake Egg ฝีมือเชฟโบ ในภาชนะของอาจารย์หนึ่ง

นิทรรศการ Bakewares & Begwares วันนี้ -6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 ณ RMA Institute สุขุมวิท 22 ซ.สายน้ำทิพย์ 2 และ วันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2555 อย่าลืมไปร่วม เวิร์คชอป การทำอาหารและการบรรยายของศิลปิน เกี่ยวกับผลงาน โทร 0-2663-0809

Text by ฮักก้า

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ และ Celeb Online www.astvmanager.com โทร.0 -2629 – 4488 ต่อ 1530 Email: thinksea@hotmail.com

>> อัปเดตข่าวในแวดวง สังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม ศิลปะ และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net