ART EYE VIEW—ไม่ใช่การกล่าวเกินจริงที่ อาณาจักรแห่งความฝัน ของ อดีตเจ้าพ่อดีแทค บุญชัย เบญจรงคกุล จะมีมูลค่าเป็นพันๆล้าน
เพราะเพียงทุ่มเงินซื้อที่ดินผืนใหม่ ใกล้กับ อาคารเบญจจินดา บน ถ.วิภาวดี รังสิต ออฟฟิศเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว เพื่อสร้างอาคารที่มีความสูงเท่ากับตึก 10 ชั้น สำหรับติดตั้งผลงานศิลปะของศิลปินไทยชื่อดัง กว่า 200 ท่าน ที่เจ้าตัวเริ่มสะสมมาตั้งแต่ 35 ปีก่อน
เราควรจะกล่าวว่า ประเมินค่ามิได้ด้วยซ้ำไป สำหรับ อาณาจักรแห่งความฝันแห่งนี้ ที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (Thai Contemporary Art Museum) หรือ MOCA BANGKOK
***จากภาพเขียนชิ้นแรก สู่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะมาตรฐานนานาชาติ
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งได้ครอบครองผลงานศิลปะชิ้นแรก (ภาพเขียนเทคนิคสีน้ำมันบนผืนผ้าใบชื่อ Lady ผลงานของ อนันต์ ปาณินท์) ซึ่งซื้อมาจาก เฮียเช็ง – ชัชวาล บุญยรังสฤษฎ์ แห่งสุริวงศ์ แกลเลอรี่ กระทั่งมีผลงานศิลปะสะสมอยู่ในคอลเลกชันส่วนตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เวลาต่อมาบุญชัยยังเกิดความคิดที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวเล็กๆไว้แบ่งบันกับผู้คน
“เริ่มต้นก็คิดแค่ว่า อยากมีงานศิลปะมาประดับบ้าน ประดับออฟฟิศก่อน กระทั่งมีเก็บเป็นคอลเลกชันส่วนตัว และเพิ่มมากขึ้นมาเรื่อยๆ
ที่ผ่านมา ผมมีความหงุดหงิดเหมือนนักสะสมทุกคน ที่เวลาอยากจะดูงานศิลปะคนนั้น คนนี้ หรือ อยากจะดูผลงานของศิลปินชื่อดัง ตอนที่ราคาผลงานของเขายังไม่แพงมาก แต่ไม่มีที่ให้เราได้ไปดู นอกจากต้องรอให้ศิลปินแสดงงาน
และผมคิดว่าคนในสังคมไทยหงุดหงิดเหมือนกันหมด ที่ประเทศเราไม่มีพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่แสดงผลงานอย่างถาวร หอศิลป์เรามีเยอะแยะ เปิดมาแล้วก็ดับไป และเป็นการแสดงแบบหมุนเวียน
จากจุดนั้นก็เลยคิดว่าวันหนึ่ง เราจะมีพิพิธภัณฑ์ของเราเล็กๆ ซักที่หนึ่ง เพื่อเอาไว้แบ่งปันกับผู้คน และน่าจะทำให้สังคมเรามีความงดงามมากขึ้น”
เมื่อความฝันถูกร่างขึ้นแล้ว จากนั้นเขาจึงใช้เวลาที่เหลือไปกับการเก็บเกี่ยวแรงบันดาลใจ
“เวลาเดินทางไปต่างประเทศ ก็พยายามหาโอกาสไปดูทั้งของยุโรปและของเอเชีย ส่วนของอเมริกาก็เคยได้ไปดูอยู่บ่อยๆ เพราะผมเคยเรียนไปหนังสือที่นั่นอยู่แล้ว และเลือกเรียนวิชาโท ทางด้านศิลปะด้วย(ยิ้ม)
มีช่วงเวลาเยอะแยะที่เราได้ไปนู่นไปนี่ ไปหอศิลป์เจ้าฟ้า ผู้จัดการหอศิลป์ฯ ซึ่งเวลานี้เปลี่ยนมาหลายคนแล้ว เคยเล่าให้ฟังว่า บางทีคิดค่าเข้าชมแค่ 25 บาท ฝรั่งขึ้นไปดูแล้วลงมา บอกว่า ขอเงินคืนทำให้ผมคิดว่า ผู้ชมเอาอะไรเป็นมาตรวัดว่าสิ่งที่ชมคุ้มกับราคาของค่าตั๋ว ช่วง 10 ปี หลัง ผมจึงเริ่มออกทัวร์มากขึ้น และพูดกับหมู่คณะ พูดกับคนในแวดวงศิลปะว่าผมอยากจะเป็นคนริเริ่มก่อน”
นั่นคือ ริเริ่มทำพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ที่มีมาตรฐานทัดเทียมนานาชาติ แต่ไม่เคยคิดฝันว่าอาณาจักรแห่งความฝันจะมาจบลงที่ไซส์ขนาดใหญ่อย่างที่เห็น ณ ปัจจุบัน
“พื้นที่นี้ ประมาณ 20,000 ตารางเมตร การทำพิพิธภัณฑ์ ต้องลงทุนสูงมาก สมัยก่อนก็ไม่ได้คิดว่า เราจะต้องมาทำพิพิธภัณฑ์มูลค่าเป็นพันๆล้าน หมู่คณะที่ส่งเสริมกัน ส่วนหนึ่งก็เป็นศิลปินด้วย นักสะสมด้วย นักวิชาการด้วย ที่ยุผมให้ทำ แต่ยุไซส์เล็กกว่านี้เยอะ(หัวเราะ)
คือการทำอะไรก็ตามทุกคนเห็นพ้องว่า มันเป็นเรื่องหน้าตาของชาติเลย แล้วเราต้องทำดีในขนาดที่ผู้ชมไม่มาทวงเงินค่าบัตร ที่ผ่านมาผมจึงต้องเดินทางไปดูว่า พิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ดี คุณภาพมันต้องเป็นอย่างไร”
***พื้นที่ของศิลปะไทยร่วมสมัย
ก่อนที่ตัวพิพิธภัณฑ์จะถูกออกแบบขึ้น บุญชัยได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า ศิลปะที่จะควรจะนำมาติดตั้งในพิพิธภัณฑ์น่าจะมุ่งเน้นไปที่ ศิลปะไทยร่วมสมัย
“เพราะหลักการของผมคือ ถ้าต่างชาติมาดู เขาไม่ได้มาดูที่ความเก่าของภาพ และราคาของภาพว่าภาพนี้ราคามันถึงพันล้าน หรือหมื่นล้านไหม สำหรับผมมันไม่ใช่ ยูไม่ได้มาดูตรงนั้น ยูมาดูศิลปะ มาดูความงดงามของศิลปะที่สร้างขึ้นโดยคนไทย
ผมเลือกศิลปะหมวดร่วมสมัย เพราะผมจะคุ้นกับงานศิลปะร่วมสมัยมากกว่า ผมไม่คุ้นกับงานศิลปะสมัยใหม่ หรือว่าศิลปะไทยแบบประเพณี ไม่ค่อยคุ้นกับพวกลายไทยต่างๆ”
เมื่อรู้ถึงความต้องการของตัวเองแล้ว จากนั้นจึงเริ่มต้นหาซื้อที่ทางเพื่อทำการจัดสร้าง
“ผมวางแผนสร้างพิพิธภัณฑ์มา 10 ปี โดยเริ่มต้นที่การซื้อที่ก่อน ถ้าไปซื้อที่ในย่านใจกลางเมืองมันแพงไป จะสร้างตึกก็แพง ผมคิดว่า เอาเงินมาซื้องานศิลปะไม่ดีกว่าหรือ บังเอิญเราสามารถซื้อที่ติดกับออฟฟิศเราได้”
***วรรณพร พรประภา สถาปนิกผู้ออกแบบ MOCA BANGKOK
แล้วจึงมอบหน้าที่ให้สถาปนิกได้เป็นผู้ทำหน้าที่ออกแบบมันขึ้นมา และไม่ใช่สถาปนิกรุ่นเดอะที่ไหน ทว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไว้วางใจ นั่นคือ ปุ้ย – วรรณพร พรประภา (แห่ง บริษัท พี แลนด์สเคป จำกัด เรียนจบปริญญาโท ด้านภูมิสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา บุตรสาวของ โพธิพงษ์ ล่ำซำ และน้องสาวของ นวลพรรณ ล่ำซำ)
“พิพิธภัณฑ์ทั่วโลก ถ้าไม่จ๊าบไปเลย อย่างของซัมซุง หรือที่ญี่ปุ่น ก็จะเป็นวังเก่า อย่างในยุโรป หรืออย่างที่ สิงคโปร์ จะเป็นอาคารโคโลเนียลเก่า มีเพดานสูงโปร่ง
ผมคิดว่าบ้านเราร้อน จะทำเป็นเรือนกระจกคงไม่ได้ แล้วแถวนี้ลมก็มีไม่เยอะ ผมอยากให้คนที่มาที่นี่เพื่อมาเสพศิลปะ อยู่ในบรรยากาศที่สบาย
บ้านเราสถาปนิกที่ทำตึกสวยๆมีเยอะ แต่ไม่ค่อยมีสถาปนิกที่ทำพิพิธภัณฑ์ ก่อนหน้านี้ก็มีนึกถึงผู้ใหญ่หลายๆท่านในแวดวงสถาปนิกของเมืองไทย แต่ในที่สุดผมนึกถึงคุณปุ้ย เพราะคิดว่า อยากคุยกับเพื่อน กับคนรุ่นใกล้ๆกันมากกว่า เพราะคิดว่า อาจจะได้อะไรใหม่ๆ ที่คนรุ่นเราสร้างขึ้นมา
ผมไม่ต้องการตึกที่เป็นแบบทรงไทย หรือตึกสี่เหลี่ยมทันสมัย จากนั้นคุณปุ้ยก็พยายามมาดูความต้องการของผมก่อน ว่าผม ต้องการนำเสนออะไรบ้าง ผมอยากให้คนมาดูงานศิลปะรู้สึกดื่มด่ำ แทนที่จะดูแล้วเริ่มเบื่อ”
ตัวอาคารซึ่งมีลักษณะเป็น 3 เหลี่ยม มีพื้นที่ทางด้านทิศใต้กับทิศเหนือของตัวอาคาร ไม่เท่ากัน มีความสูงเท่ากับตึก 10 ชั้น แต่ถูกแบ่งเป็น 5 ชั้นๆ ละ 6 เมตร
เพื่อไม่ให้อาคารมองดูเป็นโกดังเก็บของ บุญชัย เลือกใช้วิธีโปรย “ลายก้านมะลิ” ลงบนผนังด้านนอกของอาคารบางจุด ซึ่งโรงสกัดหินอ่อนของประเทศจีนเป็นผู้ประมูลงานในส่วนนี้ไปได้
และเพื่อให้มีแสงจากทิศตะวันออกและทิศตะวันตก พาดผ่านไปมา จนเกิดเป็นการแสดงของแสงภายในตัวอาคาร และเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาต่างๆ เขาจึงเลือกวิธีเจาะช่องให้มีแสงส่องลงมา
ด้านนอกอาคาร มีส่วนของ โรงละครกลางแจ้ง สำหรับการแสดง ก่อนเปิดนิทรรศการศิลปะ หมุนเวียน ซึ่งมีห้องจัดแสดงอยู่ชั้นล่าง 2 ห้อง และมีการติดตั้งผลงานประติมากรรมขึ้นในสวน เพื่อดึงความสนใจของคนที่ชอบนั่งทอดหุ่ย หรือสูบบุหรี่ อยู่ในสวน มากกว่าการเข้าไปเสพงานศิลปะในตัวอาคาร
“ผมนึกไปถึงคุณอาของผมด้วย ที่เป็นคนไม่ชอบดูงานศิลปะ แต่ชอบไปนั่งสูบบุหรี่อยู่ข้างนอก คุณน้าของผมก็เหมือนกัน ถ้าเป็นแบบนี้นะ ผมจะเอางานศิลปะไปอยู่ใกล้ๆเขา
ฉะนั้นในส่วนของ Out Door นอกจากจะเป็นที่นั่งเล่นได้ น่าจะเป็นส่วนที่ทำให้คนที่นั่งอยู่แถวนั้น ไม่รู้สึกว่าตัวเองนั่งอยู่ใน Park แต่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ เป็นส่วนหนึ่งของศิลปะ”
***บ้านหลังที่ 2 ของ ถวัลย์ ดัชนี
เมื่อเดินผ่านประตูทางเข้า ผ่านส่วนจำหน่ายบัตรเข้าชม ผ่านห้องที่มีการแสดงของแสงธรรมชาติ และมีการติดตั้งรูปปั้นของ ศ.ศิลป์ พีระศรี ก่อนไต่บันไดเลื่อน ขึ้นสู่ห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวรอีก 4 ชั้น พื้นที่ชั้นล่างนี้ ยังถูกแบ่งเป็นห้องนิทรรศการหมุนเวียน ,ร้านกาแฟ ซึ่งมีมุมจัดแสดงภาพถ่ายของนักแสดงหญิงชื่อดัง
และเมื่อหมุนไปรอบๆ ก็จะได้เห็นผลงานประติมากรรมของประติมากรหลายท่าน ตัวอย่าง เช่น ซัลวาดอร์ ดาลี ขณะกำลังวาดภาพ ผลงานของ วัชระ ประยูรคำ ซึ่งจุดนี้บุญชัยต้องการมีไว้ให้คนที่แวะเวียนมาชมหอศิลป์ได้ใช้เป็นจุดถ่ายภาพที่ระลึก
ขณะที่ ชั้น 2,3 ,4 และ 5 เป็นส่วนของนิทรรศการถาวร ที่จะทำให้ผู้ชมรับรู้ว่า รสนิยมในการเสพงานศิลปะของบุญชัยเป็นอย่างไร และมีผลงานของศิลปินคนใดบ้างที่อยู่ในคอลเลกชันส่วนตัวของเขา
บางภาพเขาได้ขอให้ศิลปินวาดขึ้นใหม่ เพื่อให้มีขนาดใหญ่ เหมาะกับผนังของห้องนิทรรศการ ตัวอย่างเช่น ผลงานของ ช่วง มูลพินิจ ที่ศิลปินตัดสินใจวาดภาพให้ทันที เมื่อเห็นพื้นที่ของผนังจริง
หรือหากอยากจะชมผลงานของศิลปินบางรายที่มีให้ชมมากชิ้นและชิ้นใหญ่เป็นพิเศษ เรียกว่าจัดแสดงกันแบบยกห้องยกผนังให้ อาทิเช่น ผลงานของ เหม เวชกร,เขียน ยิ้มศิริ,ประพันธุ์ ศรีสุตา,กมล ทัศนาญชลี,เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์,ประทีบ คชบัว, ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ,สุขี สมเงิน ฯลฯ
แต่ที่ตั้งชื่อห้องเพื่อเป็นเกียรติให้โดยเฉพาะและมีผลงานให้ชมอย่างหลากหลาย คือ ห้อง ถวัลย์ ดัชนี อย่างที่ทราบกันดีว่า บุญชัย ถือเป็นผู้ที่สะสมผลงานศิลปะของ ถวัลย์ เก็บเอาไว้มากที่สุด
“ถ้าจะดูงานของ ถวัลย์ ดัชนี ไม่ใช่ว่าไปดูที่บ้านของถวัลย์ แต่ต้องมาดูที่บ้านของถวัลย์ ที่นี่ ผมถือว่าที่นี่เป็นบ้านหลังที่สองให้ท่าน มีจัดแสดงทั้งงานออกแบบอาวุธ,ดรออิ้ง,เพ้นท์ติ้ง,แกะสลัก ฯลฯ”
ซึ่งนั่นรวมถึงภาพชิ้นประวัติศาสตร์ของถวัลย์ ที่เคยโดนกรีด ณ ศูนย์นักศึกษาคริสเตียน และ 2 ภาพ ขนาดใหญ่ยักษ์ ที่ถวัลย์วาดเพื่อเป็นกำลังใจให้กับบุญชัยเมื่อครั้งประสบวิกฤติต้มยำกุ้ง
พร้อมส่งอารมณ์ขัน ผ่านสายโทรศัพท์มาว่า “ทราบว่ากำลังมีปัญหาใช่ไหม ถ้ามีปัญหา แล้วทำไมเราไม่ลองมาทายกัน….”
***ไฮไลท์ ภาพไตรภูมิ สูง 7 เมตร และภาพเขียนอายุกว่า 270 ปี
และไฮไลท์สำคัญของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ที่พลาดไปชมไม่ได้ คือ ห้องจัดแสดง ภาพไตรภูมิขนาดใหญ่ 3 ภาพ ผลงานของ สมภพ บุตราช,ปัญญา วิจินธนสาร,ประทีป คชบัว ที่พาเราท่องไปรู้จักทั้ง โลกของสวรรค์,โลกของมนุษย์ และโลกของนรก ซึ่งถ้าเมื่อยกับการยืนแหงนหน้าภาพที่มีความสูงขนาด 7 เมตร ก็จงหย่อนก้นลงบนเก้าอี้ไม้ ผลงานของนักออกแบบรุ่นบรมครูอย่าง ไสยาสน์ เสมาเงิน
ขึ้นชื่อว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย ใช่ว่าจะไม่มีของนอกให้ได้ชมกันเลย ผลงานของศิลปินต่างชาติที่บุญชัยมีสะสม ถูกคัดสรรมาจัดแสดงไว้ที่ชั้นสุดท้ายร่วมกับผลงานของศิลปินไทยชื่อดัง หลายท่าน
นอกจากนี้ห้องกลางของชั้น ยังจัดแสดง ภาพเขียนอายุกว่า 270 ปี ผลงานของศิลปินชาวฮอลแลนด์และภาพแนวโรแมนติคในยุคสมัยของพระนางเจ้าวิคตอเรีย ท่ามกลางบรรยากาศ ที่ทำให้ผู้ชมเสมือนได้ชมงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ของยุโรป ซึ่งบุญชัยบอกว่าเป็นของแถมให้กับผู้ชมที่ยังไม่ได้โอกาสไปชมงานศิลปะในต่างประเทศ
แต่หากถามว่า เจ้าของอาณาจักร โปรดปรานพื้นที่ซึ่งจัดแสดงผลงานของศิลปินรายใดมากเป็นพิเศษ เจ้าตัวตอบว่า
“น่าจะเป็นชั้นที่จัดแสดงงานแนวเซอเรียลลิสม์ของพี่สมพงษ์ อดุลย์สารพันธ์ กับ ประทีป คชบัว เพราะผมซี้กับสองคนนี้มาก ตอนผมเรียนวาดรูป ผมก็วาดรูปแบบเค้านี่แหล่ะ เพียงแต่ผมไม่ได้หันมาเอาดีทางนี้ ผมไปเอาดีทางโทรคม พี่เค้าก็เลยไม่มีคู่แข่ง ถ้าผมยังวาดอยู่ ไม่ได้มาทำดีแทค เค้าทั้งสองต้องหนักใจมาก เพราะว่าผมต้องวาดได้ร้ายกาจเกือบเท่าเค้า(หัวเราะ)”
***คนไทยหัวใจเป็นอาร์ตติสต์
บุญชัยกล่าวว่า มีโอกาสที่พิพิธภัณฑ์จะมีการขยายไซส์ออกไปอีก ตามกระแสตอบรับของผู้ชมงานศิลปะ
“อีก 10 ปีผ่านข้างหน้า ถ้าตรงนี้ไปได้ดี มีคนมาวันนึงหลายพันคน หรือเป็นหมื่นคน มันจะใหญ่กว่านี้อีกเท่านึง โดยผมจะรื้อออฟฟิศชั่วคราวออก แล้วสร้างตึกที่สองเพิ่ม
เพราะว่าที่นี่เราก็ยังแขวนภาพที่ผมมีสะสมไว้ได้ไม่หมด แขวนได้แค่ 400 กว่าภาพเอง ถ้าเดินดูแบบสบายๆ โดยไม่หยุดดู ใช้เวลาชั่วโมงกว่า
แต่ถ้าหยุดดู ดื่มด่ำกับแต่ละภาพ และฟังคำอธิบาย ใช้เวลา 2 ชั่วโมง แต่ถ้าต้องการจะศึกษาเลย ต้องครึ่งวัน ต่อไปเราจะมี ข้อมูลบนกำแพงด้วย และอีกหน่อยถ้าแวะที่ออดิทอเรียม ก็จะรู้สึกเสมือนว่าได้มานั่งฟังผมพูด”
เจ้าอาณาจักรไม่กลัวว่า ในอนาคตพิพิธภัณฑ์จะถูกลดความสนใจลงไป เพราะความไม่สนใจในศิลปะของคนไทย และในที่สุดก็หนีไม่พ้นต้องปิดตัวและล้มหายตายจาก
“คนที่วิจารณ์แบบนั้น วิจารณ์บนพื้นฐานของความไม่ยุติธรรม เราไม่เคยมีให้เค้าดู แล้วจะมาบอกว่า เค้าจะไม่สนใจ มันไม่ใช่
คนบ้านเราหัวใจเป็นอาร์ตติสต์ทั้งนั้น ขอให้เค้าได้ดูก่อน แล้วค่อยไปบอกว่า เค้าเป็นคนไม่มีสีสันในหัวใจ”
Text by ฮักก้า Photo by ศิวกร เสนสอน
พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย
ที่ตั้ง…..499/50 ถ.วิภาวดีรังสิต (ติดกับอาคารเบญจจินดา) แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
วันและเวลาทำการ.…. อังคาร – อาทิตย์ เวลา 10.00 – 18.00 น. (หยุดวันจันทร์)
ค่าเข้าชม….. ผู้ใหญ่ 180 บาท ,นักเรียน 80 บาท, พระภิกษุ สามเณรผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทุพพลภาพ ไม่เสียค่าเข้าชม
เข้าชมเป็นหมู่คณะ กรุณาติดต่อล่วงหน้า โทร.0 -2953 -1005-7 โทรสาร 0 -2953 -1008 อีเมลล์ info@tcamoffice.com
ห้องแสดงผลงานของ เหม เวชกร และ สุขี สมเงิน
+
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ และ Celeb Online www.astvmanager.com โทร.0 -2629 – 4488 ต่อ 1530 Email: thinksea@hotmail.com
>> อัปเดตข่าวในแวดวง สังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม ศิลปะ และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net