ART EYE VIEW—เป็นระยะเวลา 8 ปีแล้ว ที่ เจ้าพ่อออกาไนเซอร์ จก – เสริมคุณ คุณาวงศ์ แห่ง บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) ได้ก่อตั้ง ศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ หน่วยงานส่งเสริมด้านศิลปะของเอกชน ที่ไม่แสวงหาผลกำไร ขึ้นบนเนื้อที่ 4 ไร่ ณ ถนนนวลจันทร์
จนยามนี้ ศูนย์ฯ มีผลงานประติมากรรมของประติมากรไทย นับตั้งแต่งานพุทธศิลป์ไปจนถึงงานร่วมสมัย ให้ผู้สนใจเข้าไปเยี่ยมชม มากถึง 200 ชิ้นแล้ว และเจ้าของสถานที่เองก็หมดเงินไปหลายร้อยล้าน สำหรับการซื้องานประติมากรรมเหล่านั้นมาสะสมไว้ในคอลเลคชั่นของศูนย์ฯ
“95 เปอร์เซ็นต์ เป็นงานประติมากรรมที่เราซื้อมา และอีกเพียงน้อยเปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เราขอยืม เนื่องจากว่าศิลปินไม่ขาย แต่ให้ยืมมา เช่นงานของมูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต ที่ให้ยืมงานประติมากรรมเจ้าเงาะ ทำจากปาสเตอร์
วงเงินของเงินที่ใช้ไปซื้อมาไม่ได้คำนวณเป็นตัวเลขไว้ชัดเจน แต่น่าจะหลายร้อยล้าน ซึ่งชิ้นที่ซื้อมาแพงที่สุด ราคาใกล้ๆ 10 ล้าน เปิดเผยไม่ได้ว่าเป็นของใคร เรามีสะสมตั้งแต่งานประติมากรรมที่เป็นพระพุทธรูป สมัยทราวดี ,พระพุทธรูป สมัยสุโขทัยที่มีองค์หน้าตักกว้างมาก, ประติมากรรมช้างขนาดเท่าตัวจริง, ประตูขนาด 2 เมตรขึ้นไป, ครุฑขนาดยักษ์ ฯลฯ”
เสริมคุณสะสมงานศิลปะหลากหลายประเภท แต่เหตุที่ทำให้เขามีความหลงใหลในงานประติมากรรม จนสะสมไว้มากชิ้นกว่างานศิลปะประเภทอื่น เพราะว่า
“อาจเพราะ เราเป็นช่างภาพด้วย แล้วการถ่ายภาพก็เป็นการทำงาน กับงาน 3 มิติ ต้องดูมุมนั้นมุมนี้ หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งงานประติมากรรม มันเป็นงาน 3 มิติ ก็เลยสะสมประติมากรรมเยอะหน่อย
แต่ความจริงสะสมอย่างอื่นด้วยนะครับ Painting ก็มี งานฝีมือไทยก็เยอะ หุ่น หัวโขน ชฎา และหนังใหญ่ด้วย
งานเหล่านี้ เก็บไว้ในที่ต่างกัน งานประติมากรรมส่วนใหญ่เก็บไว้ที่ศูนย์ฯ ,Painting เก็บไว้ที่สำนักงาน และที่บ้าน ส่วนงานฝีมือและงานศิลปะไทยเก็บที่บ้าน”
ระยะเวลา 8 ปีของศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ เขาบอกว่าค่อนข้างพอใจกับผลตอบรับ
“ปัจจุบันศูนย์ฯ ถือเป็นที่เรียนรู้ด้านประติมากรรมที่สำคัญ ของคนกลุ่มแรก คือ ประชาชนทั่วไป ที่สนใจมากๆ ไปเยี่ยมชม ต้องใช้คำว่าสนใจมากๆ เพราะว่าศูนย์ฯตั้งอยู่ไกล ดังนั้นใครจะไปต้องสนใจมากๆจริง ทั้งที่เป็นชาวไทย และชาวต่างประเทศ อย่าง อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน แต่คนจีนมีน้อย
และกลุ่มที่ 2 เป็นนักศึกษาศิลปะ จากมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนด้านศิลปะ เข้าไปเยี่ยมชมเป็นประจำ ปีหนึ่งเป็นพันคน หมายถึงว่า คลาสหนึ่งประมาณประมาณ 100 กว่า ไปเยี่ยมมาแล้วหลายมหาวิทยาลัย เพราะศูนย์ฯถือเป็นแหล่งหนึ่งที่เขาสามารถไปศึกษา ตัวอย่างงานศิลปะ ด้านประติมากรรม
ถือเป็นห้องรับแขกของศิลปินไทยที่ทำงานด้านประติมากรรม เพราะทุกคนสามารถแวะไปศึกษาได้ว่า งานประติมากรรมของประติมากรไทย มีอะไรให้ดูบ้าง และมีคุณภาพขนาดไหน”
บ่อยครั้งที่ชอบเลือก วันคล้ายวันเกิด ของตนเอง (5 กรกฎาคม)เป็นฤกษ์ดีในการจัดกิจกรรมที่สำคัญ
ล่าสุด เสริมคุณก็ได้เลือกฤกษ์เดียวกันนี้ เปิด ศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ สาขาหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ให้ผู้สนใจเข้าไปเยี่ยมชม
“เมื่อหอศิลป์ฯ เปิดโอกาสให้เราเสนอโครงการ เราจึงอยากจะมีสาขา ของศูนย์ฯ ขึ้นกลางเมือง ที่ซึ่งผู้คนจำนวนมาก สามารถแวะไปศึกษางานประติมากรรมไทย
เรามีระบบมัลติมีเดียที่แสดงคอลเลคชั่นของศูนย์ใหญ่ที่ นวลจันทร์ มีข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างงานประติมากรรมแบบต่างๆ ว่าขึ้นตอนอย่างไร เป็นซอฟแวร์ที่เราทำขึ้นมาเอง เพื่อส่งเสริมความรู้เรื่องประติมากรรม
และมีหนังสือเกี่ยวกับประติมากรรมที่เรารวบรวมมาจากทั่วโลก และกำลังจะซื้อเข้ามาเพิ่มอีกเรื่อยๆ ที่นี่จึงเป็นเหมือนห้องสมุดให้คนมาค้นคว้าด้านประติมากรรม
และเรายังเลือกงานประติมากรรมจากคอลเลคชั่นที่ศูนย์ฯสะสมไว้มาให้ชม 3 เดือน ต่อ 1 นิทรรศการ หรือ 1 ปี ต่อ 4 นิทรรศการ จัดเป็นนิทรรศการเล็กๆ เพื่อเป็นเหมือนหนังตัวอย่างให้คนได้ชม แต่ก็ใช่ว่าเราไม่นำเสนอแบบรอบด้าน
อย่างเช่นนิทรรศการครั้งแรกนี้ เรานำเสนองานประติมากรรมของ มานพ สุวรรณปิณฑะ ซึ่งเป็นประติมากรที่ทำงานประติมากรรมว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับรูปร่างของมนุษย์ไว้เยอะ
เราก็ได้ยกตัวอย่างผลงานประติมากรรมของเขาหลายชิ้นมาจัดแสดง พร้อมกับมีข้อมูลเกี่ยวกับประติมากรและผลงาน มาให้ศึกษาแบบเจาะลึก ระยะเวลา 3 เดือนเต็ม จากนั้นจึงเปลี่ยนไปนำเสนอผลงานของประติมากรท่านอื่น ต่อไปเรื่อยๆ”
อะไรคือสิ่งที่ เจ้าพ่อออกาไนเซอร์คาดหวัง กับพื้นที่เล็กๆ ที่เน้นให้เป็นพื้นที่เพื่อการศึกษา และการันตีว่า ไม่มีการซื้อขายเกิดขึ้นที่นี่
“อยากให้ผู้คนได้มาศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับงานประติมากรรมไทย ส่วนจะนำไปต่อยอดอย่างไรก็เป็นเรื่องของแต่ละคน มาแวะแล้ว อาจจะอยากไปพบปะประติมากรด้วยตัวเองก็ได้ เพราะเรามีที่อยู่ให้
หรือมาชมแล้วชอบอยากจะไปชมต่อที่ ศูนย์ใหญ่ เพื่อศึกษาเพิ่มเติมก็ได้ ขอเพียงให้เขามีความสนใจในงานประติมากรรมไทยเพิ่มขึ้น เราก็สำเร็จแล้ว”
และเขาหวังว่านี่จะอีกช่องทาง ที่ช่วยต่อลมหายใจให้กับผลงานประติมากรรมไทย
“ทุกวันนี้ แม้แต่งานประติมากรรมในระดับนานาชาติ มันก็ค่อนข้างที่จะสูญเสียความสำคัญไปบ้าง เพราะว่ามีศิลปะสมัยใหม่ อย่างงานVideo Art, Conceptual Art,Performing Art ฯลฯ เกิดขึ้นมา จึงอาจทำให้มนต์ขลังของงานประติมากรรมลดลงไปเหมือนกัน
และมองไปยังประติมากรผู้สร้างงานประติมากรรมเอง ส่วนใหญ่จะเป็นศิลปินที่อยู่ในกลุ่มของการประกวดต่างๆ เรียนมาทางด้านประติมากรรม มีสถาบันสอนมา
แล้ว กลุ่มนี้จะสร้างงานประติมากรรม ไปในแนวเพื่อสังคม หรือประติมากรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ เรียกว่าดูแล้วค่อนข้างลึกซึ้งและน่ากลัว แล้วก็มีขนาดใหญ่ 3 เมตรขึ้นไป
คนจะเอาไปอยู่ในบ้านก็อยู่ไม่ได้ เพราะว่าอาจจะเท่ากับห้องบางห้อง ซึ่งผมเห็นว่างานประติมากรรมถ้าอยู่ในลักษณะนั้นมากๆ มันจะอยู่ในแวดวงเฉพาะกลุ่ม แล้วจะมีชีวิตต่อไปอีกไม่นาน
งานประติมากรรมมันควรจะรับใช้ผู้เสพ หรืออาจจะต้องมีการพัฒนาไปสู่การเป็นประติมากรรมสาธารณะ ประติมากรรมที่คนประชาชนทั่วไป สามารถมองเห็นได้จากการจัดภูมิทัศน์ ในสวนสาธารณะ หรือตามท้องถนน ให้มากกว่านี้ เพื่อเป็นการต่อชีวิตให้ประติมากรรม
การมาเปิดศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ สาขานี้ขึ้น จึงเป็นเหมือนกับการมาสร้างพื้นที่ให้งานประติมากรรม ที่จะได้แสดงตัว หรือปรากฎกายขึ้นในสังคมศิลปะสมัยใหม่”
คลิกอ่าน… เหมือนฝัน คุณาวงศ์ เด็กหญิงนักประวัติศาสตร์ศิลป์ ทายาทเจ้าพ่อออกาไนเซอร์
>>หนึ่งเสียงของคุณมีความหมาย ใครคือศิลปินไทย ที่คุณชื่นชอบ ใน “ชีวิต” และ “ผลงาน”
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com,เซคชั่น LIVE ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการวัน และ M-Art เซคชั่น Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com