ART EYE VIEW—ในยุคที่โปสเตอร์ภาพยนตร์ หรือ ใบปิดหนัง ประเภทเขียนด้วยมือถูกลดความนิยมลงไป และกลายไปเป็นของเก่าเก็บ ที่มากด้วยคุณค่าสำหรับใครบางคน
ได้ชมใบปิดหนัง รวมถึงตัวอย่างผลงานต้นฉบับก่อนจะพิมพ์เป็นใบปิดหนัง ผลงานของอดีต “มือฉมัง ใบปิดหนัง” คนหนุึ่งของเมืองไทย ที่หอภาพยนตร์ (องค์กรมหาชน) นำมาจัดแสดงให้ชมผ่าน นิทรรศการ “ ใบปิดจิตรกรรม ชวนะ บุญชู” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
หลายคนตั้งคำถามว่า ปัจจุบันเจ้าของผลงานใบปิดหนังไทยและต่างประเทศ กว่า 100 เรื่อง ที่มีทั้งแนวหนังผี หนังรัก หนังบู๊ และหนังตลก หันเหไปทำอาชีพอะไร
ไปสืบเสาะหาคำตอบของคำถามดังกล่าว จึงได้ทราบว่า หลังวางมือจากการเป็นคนเขียนใบปิดหนัง ไว้ที่หนังเรื่อง“ผีสำออย” เมื่อปี พ.ศ.2533 ชวนะ บุญชู ยังวนเวียนอยู่ในโลกศิลปะ
ทว่าเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นศิลปินที่สร้างงานศิลปะเพื่องานพาณิชย์ศิลป์ มาสร้างศิลปะบริสุทธ์อย่างเต็มตัว
ที่ต้องกล่าวเช่นนี้ เพราะระหว่างที่ทำงานเขียนใบหนังนั้น เขาได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งฝึกฝนเขียนภาพควบคู่กันมาโดยตลอด
ส่วนเหตุผลที่ต้องโบกมือลา อาชีพเขียนใบปิดหนังไปเมื่อหลายปีก่อน ชวนะกล่าวว่า
“เพราะเราอยากมีอิสระที่จะทำงานตามใจของเราเอง และเริ่มรู้สึกครียดกับการทำงานทางด้านนั้น รวมถึงเราเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพและสายตา
ยุคก่อน ผมทำงานหนักมาก และใช้สายตามาก บางครั้ง ทำยันสว่าง เมื่อสายตาไม่ปกติ เราก็เลยไม่สามารถที่จะทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ก็เลยหันมาทำงานทางด้าน FINE ART ซึ่งมันเป็นอิสระมากกว่า
ไม่ต้องมีใครมาขีดเส้นหรือว่าตั้งกรอบว่าเราจะต้องทำอย่างนั้นอย่างงี้ ตามที่เขาต้องการ ได้ทำงานอย่างที่เราอยากจะทำ”
เพราะความสุขที่สำคัญอันหนึ่งของคนทำงานศิลปะเช่นเขา ก็ไม่ต่างจากหลายๆคน นั่นคือการได้สร้างสรรค์ผลงานที่แสดงถึงความเป็นตัวของตัวเองขึ้นมา
จากผลงานใบปิดหนังที่ในอดีตเคยทำหน้าที่เชื้อเชิญให้ผู้คนอยากดูหนังเรื่องนั้นๆ ปัจจุบันภาพเขียนของเขาก็คงอยากจะเชื้อเชิญให้เราอยากไปสัมผัสธรรมชาติดังที่ปรากฎในภาพ
นอกจากจะชอบศิลปะ อีกด้านหนึ่ง ชวนะยังเป็นผู้ที่หลงใหล การท่องเที่ยวไปในธรรมชาติด้วย ป่าดงพงไพรหลายแห่งทั่วประเทศ สองเท้าของเขาเคยย่ำไปสัมผัสมาแล้วทั้งนั้น
“ผมชอบธรรมชาติ มันบริสุทธิ์ ไม่มีการเสเสร้ง เห็นความสวยของมันแล้วประทับใจ ก็เลยอยากจะถ่ายทอดลงในภาพเขียนของเราบ้าง”
ธรรมชาติที่ชวนะผ่านไปพบเห็นและมีความประทับใจ ระหว่างการเดินทาง ถูกนำมาถ่ายทอดไว้ใน ภาพเขียนแนว เหมือนจริง(Realistic) ที่เขียนขึ้นด้วย สีน้ำมัน,สีน้ำ และสีชอล์ค
เนื่องจากเป็นแนวที่เขาบอกว่า เข้าถึงผู้ชมได้ทุกเพศทุกวัย ทุกระดับชั้น และดูได้เรื่อยๆ
หลายครั้งที่เขานำภาพเขียนต้นฉบับ ของใบปิดหนัง ซึ่งสามารถเก็บรักษาไว้ได้ 30 กว่าชิ้น ไปจัดแสดงให้คนทั่วไปได้ชม พร้อมกับภาพเขียนธรรมชาติ เพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสถึงความแตกต่างของกาลเวลา
ชายวัย 69 ปี ชี้ให้เราเห็นจุดร่วมที่ปรากฎอยู่ในผลงานของศิลปินคนเดียวกัน แม้จะถูกเขียนขึ้นต่างยุคต่างสมัย และนำเสนอด้วยเรื่องราวที่ต่างกันก็ตามว่า
“อารมณ์ในภาพ และสีสัน ในภาพเขียนธรรมชาติของผม ว่าไปแล้วผมก็คงได้รับอิทธิพลมาจากการเขียนโปสเตอร์หนังนั่นเอง”
นับแต่หันมาสร้างงานศิลปะบริสุทธิ์ ชวนะมีผู้ที่ชื่นชอบและให้การสนับสนุนเพียงพอต่อการที่เขาจะสามารถดำรงชีพด้วยการทำงานศิลปะต่อไปได้
และคนเหล่านั้นก็ล้วนแต่เป็นผู้ที่ชื่นชอบในผลงานที่เขาทำอยู่ในปัจจุบัน โดยไม่มีปัจจัยเรื่องการเป็นมือฉมังในงานที่เคยทำในอดีต มามีอิทธิพลต่อความชื่นชอบ
“เพราะส่วนมากคนที่ซื้องานผมไปสะสม จะไม่ค่อยถามว่าผมทำงานอะไรมาก่อน และเขาไม่รู้ด้วยว่าผมเคยทำงานเขียนโปสเตอร์หนัง”
..อย่าฝืนความรู้สึก อย่าหลงกระแส จงเชื่อมั่นในตัวเอง.. คือสิ่งที่ชวนะเขียนติดไว้ที่ขาตั้ง canvas สำหรับเขียนภาพ ในห้องทำงานที่บ้านที่ย่านโชคชัย 4 ซึ่งเขาและครอบครัว อาศัยมากว่า 30 ปี
“เตือนสติเราว่า สังคมภายนอกเค้าเป็นยังไง เค้าฮือฮากันยังไง เราก็อย่าไปคล้อยตามเค้า ไม่ให้เราไปยึดติดตรงนั้น คอยเตือนสติ เราตลอด ว่าให้เราตั้งใจทำงานของเราให้ดีที่สุด”
>>ชวนะ บุญชู
เกิดเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2486 ที่ จ.สมุทรสงคราม เติบโตและเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย จ.สมุทรสาคร
ด้วยความรักในงานศิลปะมาตั้งแต่วัยเด็ก หลังเรียนจบมัธยมจึงขีดเส้นทางชีวิตตนเองให้เข้าสู่วงการนี้ แม้จะไม่มีทุนทรัพย์ในการเรียนต่อสถาบันทางศิลปะเหมือนกับเพื่อนร่วมรุ่นคนอื่นๆก็ตาม
ชวนะเริ่มต้นชีวิตศิลปินด้วยการเป็นลูกจ้างฝึกทาสีพื้นในร้านทำบล็อก เก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่หลายปี จึงผันตัวเองเข้าสู่บริษัทโฆษณา ระหว่างนี้มุมานะฝึกทักษะทางศิลปะจากตำราต่างประเทศในยามว่างด้วยตนเองอยู่เสมอ ทั้งการเขียนตัวอักษร วาดเส้น วางโครง และลงสี จนสามารถพัฒนาฝีมือไปอีกขั้น และได้เป็นคนเขียนหัวเรื่อง ภาพปก และภาพประกอบนิยายในนิตยสารนิวจักรวาล
ด้วยความชื่นชอบในผลงานใบปิดหนังของ ทนง วีระกุล เป็นพิเศษ จึงมักหาเวลาว่างไปดูการทำงานของนักเขียนใบปิดหนังรุ่นพี่ โดยฝันว่าสักวันจะได้เป็นนักเขียนใบปิดหนังอย่างนั้นบ้าง
แล้ววันหนึ่งฝันก็เป็นจริง เมื่อ แดน กฤษดา ญาติผู้อยู่ในวงการภาพยนตร์ ได้ชักชวนให้มาเขียนใบปิดหนังเรื่อง “กฎหมายป่า” (พ.ศ.2507)เป็นเรื่องแรกในชีวิต
นับจากวันนั้น ชวนะ บุญชู ก็ได้กลายเป็นนักเขียนใบปิดหนังที่มีงานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่อยู่วงการนี้ เขาจึงมีผลงานการเขียนใบปิดหนังมากมายนับร้อยเรื่อง
Text by ฮักก้า Photo by ธนารักษ์ คุณทน
>>หนึ่งเสียงของคุณมีความหมาย ใครคือศิลปินไทย ที่คุณชื่นชอบ ใน “ชีวิต” และ “ผลงาน”
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com,เซคชั่น LIVE ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการวัน และ M-Art เซคชั่น Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com