Celeb Online

ธ ทรงจับมือไทยให้สนเข็ม ท่านผู้หญิงอินทิรา พลธร เชิญชมภาพปักจากศิลปินชาวนา ชาวไร่ ทั่วประเทศ


ธ ทรงจับมือไทยให้สนเข็ม

แต้มไหมเต็มละเอียดยิบหลายสิบสี

เนรมิตภาพฝันวรรณคดี

ประเพณี วัฒนธรรม และตำนาน

จิตที่จรดกำหนดไหมจึงไร้ทุกข์

บอกความสุขด้วยเรื่องราวของชาวบ้าน

เป็นภาพปักแห่งศิลปินโดยวิญญาณ

ซึ่งเล่าขานพระเมตตาตราบฟ้าดิน


ART EYE VIEW — บทกลอนเพียงไม่กี่บรรทัด ซึ่งประพันธ์โดย คุณหญิงอุไรวรรณ สวัสดิศานต์ ได้นำเอาพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ด้านที่น้อยคนนักจะทราบ มาถ่ายทอดให้เราได้ร่วมซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ

เช่นเดียวกับสิ่งที่ ท่านผู้หญิงอินทิรา พลธร ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ กล่าวขึ้นท่ามกลาง “ภาพปัก” หลายร้อยชิ้นที่ถูกนำมาจัดแสดงเต็มพื้นที่ของ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เคียงข้างภาพวาดต้นแบบ ในนิทรรศการ “งานปักศิลปาชีพ”

“พระราชกรณียกิจในสมเด็จพระนางเจ้าฯ เกี่ยวกับงานศิลปหัตถกรรมหลายด้าน หลายคนเคยเห็นผ่านโทรทัศน์และสื่อต่างๆมามากแล้ว แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่า ด้านงานปักผ้า สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงงานทางด้านนี้มานานแล้ว”

นิทรรศการครั้งนี้ นอกจาก มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ จะจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษา 5 ธันวาคม 2555, เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 12 สิงหาคม 2555 และ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 28 กรกฎาคม 2555

ยังเพื่อเป็นกำลังใจให้แก่สมาชิกปักผ้าที่เป็นชาวนาชาวไร่ทั่วประเทศ ที่ได้รับพระราชทานอาชีพเสริมจากสมเด็จพระนางเจ้า ฯ จนสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับครอบครัว กระทั่งมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น และให้มีความตั้งใจพัฒนาผลงานให้งดงามยิ่งขึ้น

>>>จาก “ภาพปักโบราณ” สู่ “ภาพปักสะท้อนแนวพระราชดำริ”

ย้อนไปเมื่ออดีต สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงพบภาพปักโบราณในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นภาพเรือสุพรรณหงส์ปักด้วยไหมน้อย ฝีมือช่างหลวงสมัยสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระบรมราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งภาพปักนั้นสวยงามและยังคงสภาพสมบูรณ์อยู่มากแม้จะผ่านกาลเวลามาแล้วเนิ่นนาน

เมื่อยังมีข้าราชบริพารฝ่ายในที่ปักผ้าแบบโบราณคือปักซอยแบบไทยได้อยู่ จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้คัดเลือกคุณข้าหลวงบางรายไปเรียนวิชาปักผ้าจากข้าราชบริพารฝ่ายในเพื่อสืบทอดวิชาฝีมือชั้นเยี่ยมนี้ไว้

พ.ศ. 2518 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ ทักษิณราชนิเวศน์ จ.นราธิวาส เพื่อทรงเยี่ยมราษฎรในภาคใต้ เมื่อทรงทราบว่าราษฎรส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างกรีดยางพารา และหลังจากกรีดยางแล้วยังมีเวลาว่างอีกมาก สมเด็จพระนางเจ้าฯ จึงมีพระราชดำริริเริ่มให้ราษฎรฝึกหัดงานหัตถกรรมหลายประเภทเพื่อเพิ่มรายได้ ซึ่งเป็นงานฝีมือที่ชาวบ้านคุ้นเคยอยู่แล้ว รวมทั้งให้ฝึกหัดงานฝีมือชนิดใหม่คือ “งานปักผ้า”

เนื่องจากทรงสังเกตเห็นสตรีไทยมุสลิมคลุมศีรษะด้วย “ผ้าฮิญาบ” ปักเป็นลวดลายต่างๆ ทรงคำนึงว่าสตรีไทยส่วนใหญ่มีพื้นฐานทางเย็บปักถักร้อยอยู่แล้ว คงจะเรียนรู้ขั้นตอนการปักผ้าได้ไม่ยาก จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้ ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค นางสนองพระโอษฐ์ จัดหาลายปักง่ายๆ เริ่มจากลายดอกไม้เล็กๆ ให้ชาวบ้านจังหวัดนราธิวาสทดลองปักดู ทรงส่งคุณข้าหลวงที่เคยเรียนวิธีปักซอยแบบไทยโบราณไปสอนชาวบ้าน พระราชทานอุปกรณ์ในการปักทุกอย่าง และทรงรับซื้อผลงานของสมาชิกทุกคนเพื่อเป็นกำลังใจ

จากนั้น ชาวบ้านเริ่มพัฒนาฝีมือปักขึ้นตามลำดับ จากลายดอกไม้เล็กๆ เป็นลายปักขนาดใหญ่ มีรายละเอียดมากขึ้น ไปจนถึงภาพจิตรกรรมที่มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ขออนุญาตจากจิตรกรเจ้าของภาพนำมาเป็นภาพต้นแบบ

ในเวลาต่อมาสมาชิกปักผ้าได้ทวีจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ พ.ศ. 2544 สมเด็จพระนางเจ้าฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง แผนกจิตรกรรมต้นแบบภาพปัก ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ขึ้นในสวนจิตรลดา

คณะจิตรกรที่ได้รับคัดเลือกมาเป็นผู้วาดภาพต้นแบบภาพปัก (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาทางด้านศิลปะ)จะปฏิบัติงานตามแนวพระราชดำริคือสอดแทรกความตระหนักในคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทย ความรู้เรื่องเมืองไทย ประวัติศาสตร์ ศาสนา และวรรณคดีไทย เป็นต้น ลงในภาพต้นแบบ

ท่านผู้หญิงอินทิรา กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ งานปักผ้าศิลปาชีพ จึงแตกต่างกับงานปักผ้าในส่วนภาคประชาชนอื่นๆ

“ เนื่องจากมีภาพวาดต้นแบบที่สะท้อนแนวพระราชดำริเป็นหลัก ทรงระลึกได้ว่า เนื้อเรื่องในวรรณคดีไทยต่างๆ จะมีวิถีชีวิตของคนไทยที่แฝงอยู่ในเนื้อเรื่องอันนั้น

ยกตัวอย่างเช่น ขุนช้างขุนแผน แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนไทยแท้ๆ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา อีกทั้งภาพวาดที่เกี่ยวกับธรรมชาติ เพราะทรงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องป่า เรื่องน้ำ ทรงเห็นความสำคัญมาก

เคยมีรับสั่งว่า ประเทศของเราเนี่ย น้ำที่เราใช้ดื่มใช้กินจาก ปิง วัง ยม น่าน ต้นน้ำมาจากป่าของเราทั้งนั้น ไม่ใช่น้ำที่มาจากหิมะที่ละลายแล้ว เพราะฉนั้นเราจะต้องรักษาต้นน้ำลำธารของเราไว้ นั่นคือต้องรักษาป่า”


>>>ปักผ้าคือช่วงเวลาของความสุข

ทุกวันนี้ เมื่อแผนกจิตรกรรมต้นแบบภาพปัก วาดภาพต้นแบบแล้ว ภาพจะถูกส่งไปให้ทางแผนกปักผ้า ของทางมูลนิธิฯ เป็นผู้ดูในเรื่องของการจัดหาอุปกรณ์ต่างๆสำหรับปักผ้า รวมทั้งทำสำเนาภาพสีให้เหมือนจริงกับภาพต้นแบบ แล้วจัดเป็นชุดๆ ส่งไปให้ชาวบ้านที่ต่างจังหวัด

ทว่าเมื่อครั้งที่สำเนาภาพวาดต้นแบบยังไม่ถูกส่งถึงชาวบ้านโดยตรง ในทุกครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยือนราษฎรตามจังหวัดต่างๆ จะมีการจัดเตรียมสำเนาภาพวาดต้นแบบและชุดอุปกรณ์ในการปักผ้า ตามเสด็จฯไปด้วย

“เมื่อเสด็จฯ ไปจุดใดจุดหนึ่ง ที่จะพระราชทานความช่วยเหลือราษฎร จะทรงเลือกด้วยพระองค์เองว่า ราษฎรแต่ละคน เหมาะกับภาพอะไร ยิ่งมีความทุกข์มาก ก็จะเลือกทรงเลือกภาพที่สวย”

ด้วยทรงหวังพระราชหฤทัยว่าเวลาที่ชาวบ้าน ปักผ้าจะเป็นช่วงเวลาที่มีความสุข และซึมซับคุณค่าที่แฝงอยู่ในภาพเหล่านั้นไว้ในจิตใจ นอกจากนี้ยังพระราชทานเงินค่าตอบแทนล่วงหน้าด้วย

“เพราะทรงคิดว่าสมาชิกปักผ้าจะต้องใช้จ่าย ดูแลครอบครัวของเขา ในยามที่คนในครอบครัวเจ็บไข้ได้ป่วยจะได้มีเงินเป็นค่ารถไปหาหมอ”


>>>ปักใจภักดิ์ รักพระราชินี

เกือบ 3 เดือนเต็ม ที่ผลงานภาพปักอันงดงามและบ่อยครั้ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงพระราชทานเป็นของขวัญให้แก่แขกบ้านแขกเมือง จะถูกนำมาจัดแสดงเต็มพื้นที่ของหอศิลป์ทั้ง 5 ชั้น และถือเป็นครั้งแรกที่ทุกคนจะได้ชมผลงานจำนวนมากชิ้นที่สุด

มากไปกว่า ภาพปักและภาพวาดต้นแบบ นิทรรศการยังมีกิจกรรมให้ผู้สนใจได้ไปร่วมอีกมากมาย อาทิ

กิจกรรมปักผ้าผืนยาว “ปักใจภักดิ์ รักพระราชินี” ที่เปิดให้บุคคลทั่วไปร่วมปัก, กิจกรรมสอนปักผ้าแบบปักซอยขั้นพื้นฐาน โดยผู้สนใจสามารถซื้ออุปกรณ์การฝึกในราคาชุดละ 50-100 บาท ,กิจกรรมการประกวดผลงานการปักผ้าแบบปักซอย โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนอายุระหว่าง 9 – 15 ปี ที่สมัครเรียนปักผ้าแบบปักซอยสามารถส่งผลงานเข้าร่วมประกวดได้อีกด้วย โดยจะมีการจัดประกวดทุกสิ้นเดือน

ตลอดจนกิจกรรมพิเศษในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ เช่น วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 13.30 – 15.30 น. เสวนาเรื่อง“จากพระมหากรุณาสู่ผ้าปัก” โดย ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานกรรมการ มูลนิธิธรรมดีและสำนักงานทูตความดีแห่งประเทศไทย ดำเนินการเสวนาโดย นิธิ สมุทรโคจร

กิจกรรม สอนวาดภาพสีน้ำขั้นพื้นฐาน วันเสาร์ที่ 18,25 สิงหาคม, วันเสาร์ที่ 1,29 กันยายน และวันเสาร์ที่ 6,13 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 13:30-15:30 น. โดย อ.พรชีวินทร์ มลิพันธุ์ และคณะช่างวาดภาพต้นแบบงานผ้าปักศิลปาชีพ,กิจกรรมการแสดง โดย คณะผู้แสดงจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ตลอดจนการจำหน่ายผลงานภาพปักและของที่ระลึกอื่นๆที่ได้รับการรังสรรค์ให้งดงามมากขึ้นด้วยงานภาพปัก


“ดิฉันคิดว่า ใครมาที่นี่จะได้ความสุขกลับไป ความสุขที่เห็นของสวยๆงามๆ และได้เห็นว่า คนไทย ซึ่งเป็นพี่น้องของเราทุกคนเนี่ย มีความสามารถมาก ดังที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงมีพระราชดำรัสว่า คนไทยทุกคน มีศิลปะอยู่ในตัว สุดแต่ว่าพวกเขาจะมีโอกาสได้แสดงออกหรือเปล่า ทรงได้พระราชทานโอกาสนั้นให้พวกเขา และที่สุดก็เป็นจริงดังที่ทรงมีพระราชดำรัสไว้ เพราะว่าภาพปักแต่ละชิ้นสวยงามมาก”

ท่านผู้หญิงอินทิรากล่าวชื่นชมในฝีมือของศิลปินชาวนา ชาวไร่ และเชิญชวนให้เราไปประจักษ์ด้วยสายตาตัวเอง

นิทรรศการ “งานปักศิลปาชีพ” เปิดแสดง วันนี้ – 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2555 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ย่านผ่านฟ้า โทร. 0-2281-5360-1

Text by ฮักก้า Photo by วารี น้อยใหญ่
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com,เซคชั่น LIVE ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการวัน และ M-Art เซคชั่น Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com