Celeb Online

เปิดเวที “หัตถศิลป์บัวหลวง ครั้งที่ 1” ต่อลมหายใจให้ “งานสลักดุนภาชนะโลหะ”


ART EYE VIEW —“เราฉุกคิดว่า ในการทำงานศิลปะต้องมีคนอยู่เบื้องหลัง คอยทนุบำรุงแสงเพลิงทางปัญญาของงานศิลปะเหล่านี้เอาไว้”

ณ ห้องโกมุท ชั้น 29 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถ.สีลม ศิลปินแห่งชาติ ถวัลย์ ดัชนี กล่าวขึ้นในงานแถลงข่าวการประกวด “หัตถศิลป์บัวหลวง” ในฐานะผู้จุดประกายให้ มูลนิธิธนาคารกรุงเทพ จัดการประกวดขึ้นเป็นครั้งแรก หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยร่วมเป็นกรรมการตัดสินรางวัล “จิตรกรรมบัวหลวง” มานานกว่า 30 ปี

ขณะที่ลูกชาย ดอยธิเบศร์ ดัชนี นำการแสดงชุด ไพรทมิฬ จากคณะนักแสดงจาก เดอะไทยโพรดักชั่น เชียงราย ที่สวมใส่เครื่องประดับ ซึ่งเป็นงานสลักดุนภาชนะโลหะแนวสร้างสรรค์ ฝีมือช่างศิลป์ อัฐพล คำวงษ์ มาสร้างสีสันให้กับงานแถลงข่าว ที่มีบรรดาผู้ถูกวางตัวให้เป็นกรรมการตัดสินการประกวดท่านอื่นๆมาร่วมงานด้วย อาทิ ทองร่วง เอมโอษฐ์,นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน,นคร พงษ์น้อย,วิถี พานิชพันธุ์,เผ่าทอง ทองเจือ

รวมถึง Mr.Rolf Von Bueren แห่ง Lotus Arts de Vive ที่นอกจากจะสวมเข็มขัดที่สร้างสรรค์ขึ้นเองมาร่วมงาน ยังให้หยิบยืม งานสลักดุนภาชนะโลหะแนวสร้างสรรค์ มาอวดตาผู้มาร่วมงาน พร้อม งานสลักดุนภาชนะโลหะแนวประเพณี ซึ่งเป็นสมบัติของ ธนาคารกรุงเทพ และ งานสลักดุนภาชนะโลหะแนวสร้างสรรค์ ผลงานของช่างศิลป์ อัฐพล คำวงษ์

 

>>ต่อลมหายใจ “งานสลักดุนภาชนะโลหะ”

งานช่าง หรือ งานหัตถศิลป์ ถือเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่แสดงเอกลักษณ์ทางศิลปะและวัฒนธรรมของชาติได้อย่างชัดเจน ควรค่าแก่การเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไปได้ชื่นชมและภูมิใจ

การที่ครั้งนี้ มูลนิธิธนาคารกรุงเทพ ได้ริเริ่มให้มีการจัดประกวด “หัตถศิลป์บัวหลวง” ก็เพื่อสนับสนุนให้
ช่างศิลป์ไทยประเภทต่างๆ ได้แสดงฝีมือสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบของงานหัตถศิลป์อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเปิดเวทีให้แสดงผลงาน อันจะก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนางานฝีมือออกมาอย่างสม่ำเสมอ ก่อนที่จะสูญหายไปด้วยการแทนที่ของงานพาณิชย์ศิลป์

คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช กรรมการมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า

“ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราจัดกิจกรรมประกวด หัตถศิลป์บัวหลวงขึ้นมา เราคิดอยู่ตลอดเวลาว่าทำอย่างไรที่จะช่วยอนุรักษ์ศิลปะของไทย ดิฉันคิดว่าศิลปะอยู่ในจิตวิญญาณของคนไทยเราทุกคน ถ้าเราเปรียบเทียบกับคนทั่วโลก ดิฉันคิดว่า เราเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชาชนที่มีฝีมือมากๆเลย ซึ่งทำอย่างไรเราจะช่วยอนุรักษ์สิ่งนี้เอาไว้

เราหวังว่าการประกวดนี้จะทำให้ฝีมือช่างของเราได้แพร่หลายไปทั่วประเทศ อยากให้ประชาชนคนไทยทุกคนสนใจที่จะมาอนุรักษ์และช่วยเหลือสังคม เพื่อที่จะได้ช่วยกันสร้างอาชีพใหม่ๆให้กับประชาชนทั่วไปของเรา

และกรรมการตัดสินการประกวดครั้งนี้ ล้วนแต่มีความรู้ความสามารถในด้านนี้ทั้งหมด เราก็หวังว่า ท่านจะไปช่วยส่งเสริมให้ช่างที่รู้จักอยู่แล้วเข้ามาร่วมประกวดกับเรา”

โดยการประกวด “หัตถศิลป์บัวหลวง ครั้งที่ 1 ” มูลนิธิฯ ได้เลือกงานช่างประเภท งานสลักดุนภาชนะโลหะ เช่น ขัน โตก เตียบ ตะลุ่ม พาน คนโท กล่อง ฯลฯ มาเป็นหัวข้อในการประกวด และแบ่งการประกวดเป็น 2 ประเภท ได้แก่
 

งานสลักดุนภาชนะโลหะแนวประเพณี ซึ่งมีกระบวนการสร้างสรรค์ แนวความคิด และลวดลาย ที่ดำรงค์เอกลักษณ์แบบไทยประเพณี และ งานสลักดุนภาชนะโลหะแนวสร้างสรรค์ ซึ่งมีกระบวนการสร้างสรรค์ แนวความคิด เทคนิค ลวดลาย เรื่องราว และเนื้อหาสาระที่มีการแสดงออกถึงความเป็นไทยได้อย่างอิสรเสรี ก่อนที่จะเปลี่ยนไปประกวดงานหัตถศิลป์ประเภทอื่นๆ ในการประกวดหัตถศิลป์บัวหลวง ครั้งต่อๆ ไป

“เราต้องการให้งานสลักดุนอยู่ในประเทศไทยเรา ให้คนไทยเห็นความสำคัญ ให้ช่างของเรามีโอกาสในการคิดสร้างสรรค์ผลงาน

แม้ว่าในส่วนที่สร้างโดยยึดตามแบบโบราณหรือแนวประเพณี ก็เป็นสิ่งที่เราควรอนุรักษ์เอาไว้ หรือจะเป็นงานแนวสร้างสรรค์ แบบสมัยใหม่ ที่เราสามารถนำไปใช้สอยได้ ล้วนแต่เป็นการส่งเสริมให้เยาวชนหรือประชาชนทั่วไปที่อยากจะสะสมงานพวกนี้เอาไว้

งานในแนวโบราณ ถ้าทำออกมาสวยงามจริงๆ เราก็ต้องเอาไปเก็บตู้เซฟ หรืออะไร แต่ถ้าเป็นงานแนวสมัยใหม่เราก็สามารถเอาไปใช้ได้ อย่างเข็มขัดที่คุณ Rolf สวมมาในวันนี้

เพราะฉะนั้นเราอยากจะส่งเสริมให้ประชาชนหันมาสนใจทางด้านนี้ เพื่อที่จะให้ช่างของเรามีโอกาสคิดสร้างสรรค์ผลงานไปเรื่อยๆ เราคิดว่าถ้ามีการเผยแพร่ออกไป และคนเห็นความสวยงามแล้ว ชาวต่างชาติเค้าก็จะหันมาสนใจงานของเราด้วย”

>>ประวัติศาสตร์ฉบับย่อ งานสลักดุนภาชนะโลหะในเมืองไทย
 โดย อ.เผ่าทอง ทองเจือ
 

ด้าน อ.แพน – เผ่าทอง ทองเจือ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินการประกวด ในฐานะที่เป็นผู้รอบรู้หลายด้าน ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ งานสลักดุนภาชนะโลหะในเมืองไทย เพื่อให้เราทราบถึงที่มาและเห็นถึงความสำคัญของงานหัตถศิลป์ประเภทนี้

“มันเป็นจารีตสำหรับประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดเลย ในเรื่องของงานสลักดุน เราผ่านยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์มา เมื่อสัก 8,000 ปีเนี่ย หลังจากนั้นเราก็จะเริ่มมีงานสลักดุนเกิดขึ้น เราพบงานสลักดุนทั้งในวัฒนธรรมมอญที่ทราวดี ทั้งในพม่า และประเทศในเอเชียอื่นๆ เราพบกับการสลักดุนในวัฒนธรรมเขมร ซึ่งทั้งสองวัฒนธรรมทั้งมอญกับเขมรให้อิทธิพลกับการสลักดุนในประเทศของเรามาก รวมไปถึงทั้งอินเดียแล้วก็จีนด้วย
 

ในสมัยโบราณชิ้นงานสลักดุน ที่เราพบส่วนใหญ่แล้วจะเป็นชิ้นงานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นแผ่นทองสลักดุนเป็นพระพุทธรูป หรือแผ่นทองสลักดุนเป็นรูปเทพเจ้าของฮินดู เราพบงานสลักดุนทั้งในศาสนาพุทธและฮินดู

งานสลักดุนค่อยๆพัฒนามาจนถึงในสมัยสุโขทัย เราเริ่มพบวัตถุเครื่องใช้เป็นของมีค่าต่างๆในวัฒนธรรมของสุโขทัยของเราเป็นจำนวนมาก ของกัมพูชาจะพบงานสลักดุนในข้าวของถวายองค์เทพเจ้า พระอิศวรก็ดี พระนารายก็ดี พระพรหมก็ดี ซึ่งเป็นประติมากรรมหิน

ในพิธีกรรมของเค้าเวลาจะมีการถวายสักการะเต็มรูปแบบเนี่ย ก็จะทำเครื่องสลักดุนด้วยทองคำ โลหะที่ถูกยอมรับว่ามีค่าที่สุด ไม่ว่าจะเป็นมงกุฎ ตุ้มหู กำไลต้นแขน กำไลข้อมือ หรือแหวนทั้งหลายเนี่ย รวมไปถึงเข็มขัดต่างๆ ในประติมากรรมเขมรเป็นต้นแบบซึ่งทำให้เราได้เห็นว่ามีการใช้ทองคำสลักดุน ประดับเป็นเครื่องประดับจริงๆถวายองค์เทวรูป นุ่งผ้าให้ และยกผ้าไหมจริงๆถวายให้กับองค์เทวรูป เหมือนกับว่าเป็นมนุษย์จริงๆ

เพราะฉะนั้นงานสลักดุนจะอยู่ในวิถีชีวิตของเราทั้งในลักษณะของเป็นเทพและเป็นลักษณะของเครื่องใช้พระมหากษัตริย์ เพราะถือว่าทรงเป็นสมมุติเทพเหมือนกัน

ต่อมาเครื่องสลักดุนทองหรือเงินต่างๆ ได้พัฒนามากระทั่งอยู่ในวิถีชีวิตของเสนาบดี ข้าราชการ และสามัญชน ในสมัยอยุธยาก็ดี รัตนโกสินทร์ก็ดีเนี่ย เราพบลักษณะของการสลักดุนโลหะมีค่าต่างๆเนี่ยเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างพระปรางค์วัดราชบูรณะที่พระนครศรีอยุธยา เป็นกรุที่แสดงให้เห็นถึงฝีมือของการสลักดุนอย่างเต็มรูปแบบ

เรื่อยมาจนสมัยรัตนโกสินทร์ ชิ้นงานที่สำคัญที่สุดก็น่าจะเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นพระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขันธ์ไชยศรี พระแส้จามรี ฉลองพระบาทเชิงงอน ไม้เท้า หรือทานพระกร วัตถุทั้ง 5 สิ่งนี้ถือเป็นตัวแทนของงานสลักดุนในยุครัตนโกสินทร์ที่สมบูรณ์ที่สุด
  

จากงานสลักดุนสมัยรัชกาลที่ 1 2 3 พอมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 งานสลักดุนของเราจะเริ่มตกต่ำลง หลังจากเราเปิดประเทศไปคบหาตะวันตก ชิ้นงานต่างๆที่เป็นงานจากต่างประเทศ เป็นตะวันตกพัฒนาเข้ามาเยอะ ประกอบกับเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึง สงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจของโลกจะตกต่ำลงมาเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นองค์อุปถัมภ์ในเรื่องของการทำงานสลักดุนก็เริ่มเปลี่ยนมือไป
 

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 สถาบันพระมหากษัตริย์ลดบทบาทในการเป็นองค์อุปถัมภ์ในด้านศิลปะทุกแขนง ทำให้งานสลักดุนและงานศิลปะแขนงต่างๆลดน้อยถอยลงไปเป็นจำนวนมาก

เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ธนาคารกรุงเทพ เริ่มมาทำงานประกวดศิลปะต่างๆ ถือเป็นการฟื้นฟูศิลปกรรมครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศเกือบจะทุกแขนงแม้จะยังไม่ครบในขณะนั้น

ในเชิงการวิเคราะห์ของเราก็จะมองว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะว่าธนาคารเข้ามาทำบทบาทหน้าที่ในส่วนที่ขาดหายไปในด้านศิลปวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นต้องถือว่าธนาคารกรุงเทพเป็นองค์กรแรกที่ทำในเรื่องนี้ ในเรื่องของการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม ในปัจจุบันก็จะมีหน่วยงานต่างๆของราชการก็ดี ของเอกชนก็ดี พยายามที่จะเข้ามาช่วยฟื้นฟูในเรื่องนี้

แต่งานสลักดุนมันต้องใช้โลหะวัตถุที่ต้องมีราคามาก เพราะฉะนั้นคนที่จะอุปถัมภ์ มีกำลังทรัพย์ที่จะจัดจ้างหรือจัดซื้อก็ลดน้อยลง โอกาสครั้งนี้ก็เป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะฟื้นฝีมือขึ้นมา

ในการประกวดครั้งนี้เราจะมี 2 รูปแบบคือแบบประเพณีนิยม ซึ่งประโยชน์ใช้สอยจะน้อยลง เพราะเกี่ยวข้องกับราชสำนัก พิธีกรรมต่างๆ ซึ่งคนทั่วไปก็ไม่สามารถเป็นผู้บริโภคชิ้นงานเหล่านี้ได้

แต่งานสลักดุนอีกประเภทที่เราจัดประกวดด้วยในครั้งนี้ คืองานที่ออกแบบให้ร่วมสมัย คนทั่วไปสามารถบริโภคได้ และสามารถนำไปเป็นประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นในการประกวดครั้งนี้เรามี 2 รูปแบบ ช่างศิลป์ หรือศิลปินที่สันทัดด้านไหน ก็สามารถส่งชิ้นงานเข้าประกวดได้ และการประกวดครั้งนี้เรามีเวลาให้ศิลปินมีเวลาร่วมปีสำหรับการสร้างชิ้นงาน”

>>หลักเกณฑ์การส่งผลงานเข้าประกวด หัตถศิลป์บัวงหลวง ครั้งที่ 1

ผลงานสลักดุนภาชนะโลหะทั้ง 2 ประเภทที่ส่งเข้าประกวด ต้องเป็นงานขึ้นรูปสลักดุน ที่มีขนาดผลงานสูงไม่น้อยกว่า 30 ซม. และกว้างไม่เกิน 150 ซม. ทำจากโลหะต่างๆ เช่น ทองคำ เงิน ทองแดง หรือโลหะอื่นๆ โดยชิ้นงานสามารถใช้วัสดุอื่นเป็นส่วนประกอบได้ไม่เกิน 40 เปอร์เซ็นต์ ของชิ้นงาน ติดตั้งอุปกรณ์เรียบร้อย พร้อมที่จะนำไปจัดแสดงนิทรรศการได้

ช่างศิลป์เดี่ยว หรือ กลุ่ม มีสิทธิ์ส่งผลงานเข้าประกวดได้ไม่เกิน 3 ชิ้น และเป็นผลงานที่ไม่เคยส่งเข้าประกวดเวทีอื่นมาก่อน

ผลงานของผู้ชนะเลิศทั้ง 2 ประเภท จะได้รับรางวัลเป็นเงิน 200,000 บาท,รองชนะเลิศ อันดับหนึ่ง 150,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับสอง 100,000 บาท

ผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวด สามารถส่งผลงานได้ระหว่างวันที่ 15 – 18 สิงหาคม พ.ศ.2556 เวลา 10.00 – 15.30 น. ณ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ชั้น 29 ถ.สีลม กรุงเทพฯ โทร.0-2230-2560,0-2230-2567 โดยสามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.bangkokbank.com

จากนั้นพิธีมอบรางวัลและจัดแสดงผลงานสู่สาธารณชน จะมีขึ้นประมาณเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2556 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถ.ราชดำเนิน

Text by ฮักก้า Photo by ธัชกร กิจไชยภณ


ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com, และ M-Art เซคชั่น Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail