ART EYE VIEW—ย้ายบ้านมาหลายครั้ง ในที่สุด บ้านหลังล่าสุด ซึ่งนับเป็นหลังที่ 3 แล้ว ของ หอศิลป์ตาดู ในวัย 16 ปี มาปักหลักที่ สุขุมวิท 87 บนพื้นที่ 300 ตารางเมตร ชั้น 2 ของ บริษัท ไทยยานยนตร์ จํากัด
อีกยังมีชื่อใหม่ที่ยาวขึ้นว่า หอศิลป์ตาดูไทยยานยนตร์ ด้วยมีผู้สนับสนุนเป็น มูลนิธิไทยยานยนตร์
ก่อนหน้านี้บ้านหลังแรกของตาดูอยู่ที่ ย่าน RCA และหลังที่ 2 อยู่ที่ อาคารบาเซโลนา มอเตอร์ ถ.เทียมร่วมมิตร
เพลานั้น ยังใช้งบประมาณในการสนับสนุนจาก “กงสีใหญ่” คือ “ยนตรกิจกรุ๊ป” ของตระกูล “ลีนุตพงษ์”
หลังยุค “ปรับโครงสร้างบริษัท” หรือเรียกง่ายๆว่า “แบ่งสมบัติ” ตาดูจึงต้องติดตามผู้ที่เป็นหัวหอกสำคัญในการก่อตั้งตาดู อย่าง วิทิต ลีนุตพงษ์ ซึ่งปัจจุบันเป็น ประธานบริหารไทยยานยนตร์กรุ๊ป มาอยู่ใต้ชายคาของมูลนิธิฯ ดังที่กล่าวมา
การถือกำเนิดขึ้นของตาดูอาจจะแตกต่างจากหอศิลป์อีกหลายๆที่ตรงที่ผู้ก่อตั้งไม่ได้มีรสนิยมในการเสพงานศิลป์ชนิดคลั่งไคล้ ดังที่วิทิตออกตัวว่า
“ผมไม่ใช่นักสะสม แต่ว่าปัจจุบันผมเป็นกรรมการหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ด้วย ส่วนหนึ่งก็ได้ประสบการณ์จากตรงนั้นมาช่วยงานหอศิลป์ของเรา
งานศิลปะส่วนใหญ่ได้มาจากการประมูล เพราะก็ต้องมีไปช่วยๆงานโน้นงานนี้มาบ้างแหล่ะ ไม่มีศิลปินคนไหนที่ผมชอบงานเป็นการส่วนตัว แต่ว่างานศิลปะส่วนใหญ่ที่ผมมีอยู่ เป็นงานที่เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวค่อนข้างเยอะ อย่างภาพเขียนที่จัดแสดงในงานที่หารายได้เข้าโครงการต่างๆ”
และได้ย้อนความหลังถึงตาดู ในยุคตั้งไข่ว่า
“เมื่อ 16 ปีที่แล้ว เราไปได้ที่ๆหนึ่งที่ RCA สมัยนั้นแบงค์กรุงเทพเป็นคนจัดสรร เขาไปเช่าที่จากรถไฟมา แล้วก็มาสร้างเป็นตึกเต็มไปหมดเลย เดี๋ยวนี้ก็ยังเห็นอยู่
เนื่องจากเราสนิทกับแบงค์กรุงเทพเลยออกความคิดว่า ทำไมไม่สร้างโชว์รูมรถยนตร์หล่ะ แล้วเราก็ซื้อมาตึกนึง พูดง่ายๆ เพื่อเป็นการสนับสนุนกัน
และพอจะใช้ตึก ผมก็ไปดู สมัยนั้นตึกอยู่ในเส้นทางที่ยังไม่ค่อยเจริญเท่าไหร่ เป็นจุดที่คนจะมาซ่อมรถซื้อรถอะไรต่างๆ เราก็เลยร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ตึกนี้มันมีความน่าสนใจ เนื่องจากสถานที่มันใหญ่มาก
ก็เลยทำเป็นคอนเซ็ปต์ขึ้นมา โดยให้ลูกน้องคนหนึ่งไประดมความคิด ไปดำเนินการมา นอกจากจะเกิดโชว์รูมรถยนตร์และภัตตาคารอาหารฝรั่งเศส พื้นที่ส่วนหนึ่งยังเกิดเป็นหอศิลป์ชื่อว่า ตาดู
ซึ่งที่ผ่านมาเรามีความดีใจ ที่ได้มีส่วนช่วยเหลือศิลปินรุ่นใหม่ๆของไทย ที่อาจจะไม่มีโอกาสไปแจ้งเกิดที่ไหน มาแจ้งเกิดกับหอศิลป์อย่างเรา”
แต่วิทิตยอมรับว่าหลายปีที่ผ่าน ตาดูยังขาดงบประมาณในการสนับสนุนอย่างเต็มที่ แม้ว่าจะเคยมีกิจกรรมเกิดขึ้นบนพื้นที่มาแล้วกว่า 100 กิจกรรม
“เราล้มลุกคลุกคลานมาเยอะ มันเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวของเราที่มันมีการเปลี่ยนแปลงด้วย งานพวกนี้มันต้องมีเงินเข้าไปสนับสนุน รวมถึงเรื่องสถานที่ และอื่นๆ ถ้าเงินไม่มา หรือมากระปิดกระปอย กิจกรรมมันก็ไม่ราบรื่น
ที่ผ่านมาครอบครัวผมมีการปรับโครงสร้างการบริหารงานที่เปลี่ยนไป และมีคุณพ่อ(อรรถพร ลีนุตพงษ์)เสียไป กว่าจะผลักดันกันมา จนกระทั่งตอนนี้เริ่มลงตัว
ก่อนหน้านี้เราใช้เงินกงสีใหญ่มาสนับสนับ โดยมีผมเป็นหัวหอก ผมเป็นคนก่อตั้ง เป็นคนสนับสนุน เอาเงินกงสีใหญ่มาใช้ และก็ใช่ว่ากงสีใหญ่จะเห็นด้วยกับผมตลอด บางทีอาจจะไม่เห็นด้วย ให้เงินมาน้อย เงินมันก็เลยกระเด็นกระดอน
พอมาอยู่กับไทยยานยนตร์ ตอนนี้เรามั่นใจว่าเราสนับสนุนได้เต็มที่แล้วไง เพราะว่ามันเป็นเงินที่อยู่ในมือของครอบครัวผม ที่เรียกว่ากงสีเล็ก”
แถมในงานเปิดบ้านหลังใหม่ที่ผ่านไปเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งใช่ชื่อว่า เทศกาลตาดูมีขา (ด้วยต้องการล้อเลียนถึงการย้ายที่ประจำการของหอศิลป์มาหลายครั้งหลายครา และพร้อมจะมีสาขาเพิ่มขึ้นในอนาคต หากการดำเนินการของหอศิลป์ไปได้ดี) วิทิตยังได้ยืนยันกับบรรดาคอศิลปะที่ไปร่วมงานกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่งว่า
“เราปวารณาตัวว่าจะอยู่คู่กับตาดูตลอดไป”
ทว่าขอเน้นสนับสนุนคนรุ่นใหม่และกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับชุมชน ผ่านการทำงานอย่างมืออาชีพ
“ผมไม่ใช่คนประเภทสนใจซื้องานศิลปะเพื่อสะสม ไม่ได้มองศิลปะในลักษณะอยากจะซื้อชิ้นงานมาเก็บไว้ ผมมองสิ่งที่ผมสนับสนุนอยู่เป็นเรื่องของกิจกรรมมากกว่า ว่ามันจะไปส่งผลกับคนที่เกี่ยวข้องอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยาวชน ศิลปินรุ่นใหม่
เราทำหอศิลป์เพื่อที่เราจะสนับสนุนศิลปิน ไม่ใช่การโปรโมทศิลปะเพื่อไปอยู่ในมือนักสะสม
รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆที่เราจัด ไม่ว่าจะเป็นเวิร์คชอป ให้กับเด็ก ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้าเรา แต่เป็นเด็กในชุมชน เรามาตรงนี้เราอาจคุยกับชุมชนพระโขนง เด็กเหล่านี้ที่มาร่วมกับเราอาจจะไม่ถึงกับเป็นช้างเผือก ไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กเรียนเก่ง หัวดี ขอเพียงให้เขามีศิลปะในตัว
ที่ผ่านมาเขาอาจจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้ให้โอกาสเขา เราจะให้โอกาสเขามาร่วมกับเรา เพื่อแสดงความสามารถ เพื่อให้เขามีโอกาสที่จะได้ทำอะไรที่มันดีๆสำหรับชีวิตเขาต่อไป
16 ปีที่ผ่านมา อย่างที่ผมบอกว่าลุ่มๆดอนๆ ผมไม่กล้าพูดเลยว่า ผมทำอะไรได้มากมาย แต่ผมกล้าพูดได้ว่า สิ่งที่กำลังมองไปข้างหน้า ผมจะพยายามทำให้ได้มากกว่านี้
เราจะทำให้มันมีระบบมีระเบียบ มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ผมได้ให้คุณจิม(อภิศักดิ์ สนจด ผู้อำนวยการหอศิลป์ฯ) ไปวางแผนมาเลยทั้งปี ว่าคุณจะใช้งบประมาณเท่าไหร่ จะมีสปอนเซอร์จากที่ไหนอีกบ้าง ไทยยานยนตร์ช่วยเท่าไหร่ เราจะทำงานให้มันมีความเป็นมืออาชีพ มีระบบมีระเบียบมากขึ้น”
แม้ว่าสิ่งที่หว่านเพาะลงไปอาจจะยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมก็ตาม
“ของพวกนี้มันเป็นเรื่องของความรู้สึก เราคิดว่าเรามีความตั้งใจดี ที่จะอยากจะช่วยส่งเสริมกิจกรรมด้านนี้ในบ้านเมืองเรา
ผมคิดว่าในชนชาติใดก็ตาม ถ้าคุณไม่มีศิลปะในวัฒนธรรมของคุณ คุณก็เป็นวัฒนธรรมที่มันไม่เจริญหรอก เราก็เลยพยายามส่งเสริมตรงนี้ ถ้าเมืองไทยมีคนทำงานศิลป์ออกมามากๆ ผมมั่นใจว่าประเทศชาติของเรามันจะมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น
เรื่องของธุรกิจ ยังไงมันต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องของงานสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะออกแบบรถ หรือซอฟแวร์ ก็เป็นเรื่องงานสร้างสรรค์ ถ้าเราสามารถทำส่วนนี้ได้บ้าง หรือให้มากเท่าที่เราทำได้ จะทำให้คนของเรามีความสามารถมากขึ้น
ถ้าคุณคิดเลขเก่ง แต่คุณสร้างสรรค์ไม่เก่ง ผมยังถือว่าคุณไม่เก่งเท่าไหร่นะ โดยเฉพาะชนชาติไทยที่จะต้องไปต่อสู้กับอาเซียน ถ้าคุณมีการสร้างสรรค์อยู่ในตัวมากขึ้น คุณจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่น”
Text by ฮักก้า Photo by วารี น้อยใหญ่
>>>หอศิลป์ตาดูไทยยานยนตร์ เลขที่ 2225 ชั้น 2 อาคารไทยยานยนตร์ ถ.สุขุมวิท 87 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ 10250 โทร. 0-2311-4953
>>>วันนี้ – 31 ตุลาคม พ.ศ.2555 เปิดแสดงผลงานศิลปะชุด “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” โดย 2 ศิลปินต่างวัย อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ และ วิทยา จันมา
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art เซคชั่น Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail