ART EYE VIEW — ภาพที่เผยให้เห็น หญิงชาวเอเชีย ผู้เรียบง่าย ดูใส และ ไร้สัมผัสจากยุคแห่งมินิสเกิร์ต บิกินี่ กางเกงยีนส์ลีวาย และสูทอาร์มานี่
คือภาพถ่ายที่ เท็ดดี้ – สภา ปาลเสถียร นำมาแบ่งปันให้ชม และแทนคำพูดที่อยากจะบอกทำนองว่า “เสียดาย”
ด้วยเขาเชื่อว่า อีกไม่นาน เราคงจะไม่ได้เห็นผู้หญิงเอเชีย นุ่งห่มเครื่องแต่งกายเช่นนี้อีกแล้ว เพราะทุกวันนี้ที่มีให้เห็น ก็น้อยเต็มที
“อยากจะให้คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะผู้หญิงรุ่นใหม่รู้จัก ไม่ใช่รู้จักแต่กระโปรงสั้น หรือแบบเกาหลีที่ใส่ให้เห็นกันทุกวัน เต็มท้องถนน ผมว่าผู้หญิงเดี๋ยวนี้ 99 หรือเกือบ 100 เปอร์เซ็น แต่งตัวเหมือนกันหมด ดูแล้วน่าเบื่อ ไม่มีสีสันในชีวิต
แต่เหตุผลที่บางคนยังนุ่งโสร่ง เพราะไม่มีเงินซื้อแฟชั่นฝรั่ง เศร้าไหม หรือแม้แต่คนไทย ตอนนี้จะใส่ก็ต่อเมื่อมีงานเทศกาล หรืองานพิเศษที่อยากจะให้ชาวต่างประเทศเขาได้เห็นวัฒนธรรมเก่าๆ”
แน่นอนว่าภาพถ่ายเหล่านี้ ไม่ได้เพิ่งถูกถ่ายขึ้นเมื่อไม่กี่เดือน หรือ เมื่อไม่กี่ปี ทว่าแต่ละภาพมีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป
หลายสิบปีก่อน ระหว่างท่องเที่ยวไปในประเทศต่างๆของเอเชีย เขาได้บันทึกภาพการแต่งกายของผู้หญิงเอเชียเหล่านี้ไว้
(หลังจากที่มีความประทับใจต่อโสร่ง เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อครั้งที่เดินทางมาเมืองไทยครั้งแรก บนเรือ วิลเลียม ไรซ สัญชาติฮอลแลนด์ ที่เขาโดยสารมาจากยุโรป เพื่อมายังสิงคโปร์ ก่อนจะโดยสารเรือจากสิงคโปร์มายังกรุงเทพฯ ซึ่งเขาได้เห็นลูกเรือคนหนึ่ง เป็นพนักงานเสิร์ฟหญิง นุ่งโสร่งผืนงาม)
มันเป็นส่วนหนึ่งของภาพถ่ายทั้งหมดที่ถูกเขาบันทึกด้วยกล้องฟิล์ม “เห็นของสวยก็อยากจะบันทึกไว้” ไม่ได้มีความคิดว่าวันใดวันหนึ่งจะนำมาจัดแสดงให้คนทั่วไปได้ชม
เมื่อไม่นานมานี้ ขณะที่เขาได้ตัดสินใจว่าจะนำฟิล์มและสไลด์ภาพถ่ายบางส่วนไปทำลายทิ้ง เนื่องจากเป็นภาระในการจัดเก็บ มานิต ศรีวานิชภูมิ ช่างภาพชื่อดังผู้เคยร่วมงานในวงการโฆษณา ได้ขอให้เขาคัดสรรฟิล์มและสไลด์บางส่วน มาล้างและอัดให้คนได้ชม เผื่อว่าเรื่องราวในอดีตที่กล้องของเขาบันทึกไว้ จะมีอะไรที่พอจะเป็นประโยชน์กับคนในยุคนี้
“คุณมานิตบอกว่า ก่อนที่จะทิ้งขอผมดูหน่อย แล้วผมก็เลือกภาพที่ผมคิดว่าแจ๋วให้แก แต่แกก็ไม่เอาภาพแจ๋วๆที่ผมชอบ แกบอกว่า มันดี มันสวย สำหรับการตีพิมพ์เป็นโปสการ์ด เป็นโบรชัวร์ เพื่อการท่องเที่ยว และโรงแรม มากกว่า แล้วแกก็คัดภาพที่ผมไม่ค่อยชอบมาจัดแสดง ปรากฏว่าเดี๋ยวนี้ผมชอบภาพเหล่านี้แล้ว เพราะคุณมานิตสอนผมให้ชอบ ว่าข้อดีในแต่ละภาพมันคืออะไร และอยู่ตรงไหน ซึ่งผมไม่เคยรู้มาก่อน”
เท็ดดี้ เกิดที่ประเทศอังกฤษ เป็นทายาทของ สมบูรณ์ ปาลเสถียร (อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ) และคุณหญิงประภา
วัยเด็กในต่างแดน เขาเคยทำงานเป็นคนเก็บผลไม้ และแสดงภาพยนตร์ ก่อนจะเข้าเรียนทางด้านกฎหมาย
ชายวัย 74 ปี บอกเล่าว่า ผ่านการทำงานมาหลายอาชีพ นับตั้งแต่ งานในกระทรวงการต่างประเทศ,ฝ่ายบริหาร บริษัทโฆษณา,อาจารย์สอนด้านการตลาด ที่ มหาวิทยาลัยมิซูเร สคูล ออฟ จูนาลิสซึม ประเทศสหรัฐอเมริกา,นักเขียน ฯลฯ และขณะนี้นอกจากจะใช้ขีวิต ทำงานเขียนหนังสือเป็นหลัก ที่ประเทศไทย ยังทำงานเป็น Barrister at Law กิตติศักดิ์ ให้กับเพื่อนที่ประเทศอังกฤษ
“ใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพบ้าง หัวหินบ้าง เวลาเขียนหนังสือ ต้องการที่เงียบๆก็จะไปหัวหิน”
ก่อนหน้านี้ เขาเคยมีผลงานหนังสือชื่อ ถิ่นที่แห่งชีวิต (Addresses) ซึ่งเป็น “บันทึกความทรงจำของเด็กชายชาวสยามในประเทศอังกฤษระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2” ตีพิมพ์ออกมา 1 เล่ม และเกริ่นบอกว่ากำลังจะมีงานเขียนเล่มที่ 2 ตีพิมพ์ประมาณปีหน้า
“เกี่ยวกับชาวสยามในอดีต ที่บางท่านก็มีชื่อเสียง เช่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม , พระองค์พีระ (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช) และบางท่านก็ไม่มีใครรู้จัก”
การแสดงงานภาพถ่ายครั้งนี้ของเขา จึงเป็นเสมือนกิจกรรมคั่นเวลา ตามคำเชื้อเชิญของอดีตคนเคยร่วมงาน (มานิต) และเจ้าของสถานที่ (ปิยทัต เหมทัต) ก่อนจะมีการเปิดตัวงานเขียนเล่มใหม่ และเจ้าตัวเองก็บอกว่า อยากจะเอาจริงเอาจังกับการเขียนหนังสือมากกว่า
“ไม่เกี่ยวกับอาชีพผมเลย ผมถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกจริงๆ คุณมานิตเห็นว่าเป็นภาพเก่าๆก็น่าจะเอามาให้คนดู เพราะว่าเรื่องราวในภาพ ต่อไปจะไม่มีให้ดูแล้ว
และผมก็คงไม่ได้ไม่ถ่ายอีกแล้วครับ เพราะผมชอบใช้กล้องฟิล์ม ไม่ได้ใช้ดิจิตอล สำหรับผม ดิจิตอลมันง่ายเหลือเกิน เหมือนว่าฟิล์มไม่รู้จักหมดซักที ถ่ายแล้วไม่สนุก
เมื่อก่อนนี้ เวลาถ่ายรูป พอฟิล์มหมดผมก็กลับบ้าน เปรียบเทียบกันระหว่างที่ผมเคยถ่ายรูปด้วยฟิล์ม 1 ใบ ดิจิตอลก็ถ่ายไปแล้ว 36 ใบ เท่ากับฟิล์มหนึ่งม้วนในสมัยก่อน”
วันเปิดนิทรรศการภาพถ่าย อำลาโสร่ง (FAREWELL TO THE SARONG) เท็ดดี้ได้นุ่งโสร่ง ซื้อหามาจากบาหลี มาร่วมงานพร้อมภรรยา (Manuela ),ลูกสาว(MaLina) และ ลูกเขย (2 สถาปนิกเจ้าของ บริษัท ดีไซน์กว่า จำกัด)
แขกที่มาร่วมแสดงความยินดีกับเขาในวันนั้น โดยเฉพาะที่เป็นชาวต่างชาติ จะเลือกนุ่งโสร่งผืนงามมาร่วมงานกันแทบทุกคน ขณะที่แขกชาวไทยมีให้เห็นบางตานัก
เท็ดดี้ แอบเหน็บสาวไทยบางรายพร้อมอารมณ์ขันว่า “ถ้ายังไม่มีแฟน ลองเปลี่ยนไปนุ่งโสร่งดูบ้างสิ แล้วคุณจะหา แฟนได้ทันที”
เพราะเขาเห็นว่า การแต่งกายของผู้หญิงทุกวันนี้ เปิดเผย จนแทบจะไม่เหลืออะไรให้น่าค้นหา
สิ่งที่เคยน่าค้นหา น่าเสน่หา ถูกมองเป็นเรื่องของเซ็กส์ ซึ่งไม่ใช่สิ่งอันเป็นนิรันดร์ในความรู้สึกของเขา ดังที่เขาถ่ายถอดความรู้สึกประกอบนิทรรศการภาพถ่ายครั้งนี้ว่า
ความน่าเสน่หานั้นเป็นนิรันดร์ เหมือนดอกไม้แสนสวย ที่เชิญชวนให้อยากจับต้อง เด็ดดม รัก สิ่งที่สวยงามนั้นตลอดไป
เหมือนกับโสร่งที่คลุมอยู่บนร่างหญิงสาว น่าชื่นชอบ ปรารถนาได้ปกคลุมและเปิดเผย ได้หยิบจับและดอมดม
โสร่ง สาหรี่ ผ้านุ่ง ฉ่องซำ อ่าวได๋ ล้วน “ปิดคลุม” “ซ่อนเร้น” “ดูลึกลับ” “ท้าทายโสดสัมผัสและความใฝ่รู้ของเรา”
มันเรียกร้องให้ถูกเปลื้องออกมา เพื่อการค้นพบสิ่งลึกลับภายใน
ไม่เชื่อถามคาสโนว่าดูสิครับ เขารู้ เขาอาจใช้เวลาเป็นวัน เป็นสัปดาห์หรืออาจถึงเดือน ที่เขาจะชักจูงผู้หญิงให้มาหลงรัก ความน่าเสน่หาของเธอนั่นเอง ที่กระตุ้นให้เขาสนใจค้นหามัน
เซ็กส์ในตัวมันเองใช้เวลาไม่กี่นาที หรือหลายชั่วโมง ถ้าเขาเอาไหว มีแต่คาสโนว่าเท่านั้นที่รู้
นิทรรศการภาพถ่าย อำลาโสร่ง (FAREWELL TO THE SARONG) วันนี้ – 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2555(ปิดวันจันทร์) เวลา 09.00-19.00 น. ณ RMA Institute ซอยสายน้ำทิพย์ 2 ถนนสุขุมวิท 22 คลองเตย กรุงเทพฯ โทร.0-2663-0809
By ฮักก้า
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art เซคชั่น Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com