Celeb Online

“ปัญหาคอรัปชั่นมาก เพราะสังคมไม่ให้ความสำคัญกับศิลปะ” สว.รสนา โตสิตระกูล


ART EYE VIEW — นับจากที่ “ไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” นิทรรศการซึ่งนำผลงานศิลปะกว่า 300 ชิ้นมาจัดแสดง ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้กลายเป็นนิทรรศการฉาว

หลังจากที่เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ศิลปิน เอกชัย ลวดสูงเนิน และเพื่อนศิลปิน ได้ออกมาให้ข่าว พร้อมเรียกร้องให้ผู้จัดคือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เปิดเผยถึงรายละเอียดของการใช้งบประมาณที่มากกว่า 20 ล้าน เพื่อความโปร่งใส

ผ่านมาจนถึงวันสุดท้าย(4 พฤศจิกายน)ของการจัดนิทรรศการแล้ว ยังไร้วี่แววที่ทางผู้จัด จะออกมาชี้แจงในเรื่องนี้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม วันสุดท้ายของนิทรรศการ ก็ได้มีศิลปินหลายท่านเดินทางมารวมพลกันที่ หอศิลป์ฯ เพื่อระดมความคิดเห็นว่าควรจะเดินหน้าเรียกร้องให้มีการตรวจสอบอย่างไรบ้าง

นับตั้งแต่ ทิพย์ แซ่ตั้ง ทายาทของศิลปิน จ่าง แซ่ตั้ง ผู้เห็นด้วยกับการเรียกร้อง ที่ขนป้ายมารอประท้วงแต่เช้า นับตั้งแต่หอศิลป์ยังไม่ถึงเวลาเปิดทำการ

หลังจากนั้น ทิพย์รวมถึงศิลปินหลายท่าน นำทีมโดย หงส์จร เสน่ห์งามเจริญ ก็ได้เคลื่อนพลไปที่ห้องประชุม ชั้น 4 หอศิลป์ฯ

>>>ปัญหาคอรัปชั่นมาก เพราะสังคมไม่ให้ความสำคัญกับศิลปะ

ซึ่งก่อนที่ศิลปินจะมีการปรึกษาหารือกัน รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุมิสภา และ มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ได้มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานที่ตนเองกำลังขับเคลื่อนอยู่แก่ศิลปิน นั่นคือ การตรวจสอบการทุจริตด้านพลังงานของประเทศ ที่ดูจะเป็นเรื่องใหญ่กว่า งบประมาณ 20 กว่าล้านของนิทรรศการไทยเท่ฯ ที่เหล่าศิลปินตั้งข้อสงสัยหลายเท่านัก เช่น คนไทยจ่ายค่าก๊าซ แพงกว่าอเมริกา 3 เท่า ด้วยหวังใจว่าศิลปินจะได้ช่วยเป็นกระจกสะท้อนปัญหาด้านพลังงานอีกทาง

ศิลปินนั้นจะเป็นผู้ที่ช่วยสื่อสารสาระต่างๆให้กับสังคมได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ดิฉันและคณะได้ใช้บริการหอศิลป์ฯมาตั้งแต่เดือนกันยายน เพื่อพูดเรื่องเกี่ยวกับพลังงานให้คนฟัง เรื่องที่มีความสำคัญสำหรับชีวิตประชาชนทุกคน เพียงแต่ว่าสื่อส่วนใหญ่ไม่เปิดพื้นที่ ให้เราทำในเรื่องนี้ได้

ก็เคยคุยกับกับหงส์จรว่า จริงๆแล้วอยากให้ศิลปินที่มีความรู้ความเข้าใจในการออกแบบศิลปะมารับรู้ข้อมูลในส่วนนี้ แล้วก็ไปช่วยกันผลิตศิลปะขึ้นมา ซึ่งศิลปะจะช่วยทำให้ กระบวนการในการสื่อสารกับสังคมนั้นง่ายขึ้นเพราะพวกเราเวลาสื่อสารอาจจะเป็นข้อมูลทางวิชาการ ขาดสีสัน ขาดรสชาติที่สำคัญ

สำหรับดิฉันเองคิดว่า งานศิลปะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งจากการที่ได้ไปดูงานในหลายๆประเทศ ได้ไปเห็นหอศิลป์หลายๆที่ เห็นพิพิธภัณฑ์ในหลายๆที่ ก็สะท้อนใจว่าประเทศเราให้ความสำคัญกับงานศิลปะค่อนข้างน้อย

ซึ่งการที่ประเทศใดที่ให้ความสำคัญกับศิลปะน้อย การที่สังคมที่จะมีโอกาสเติบโตทางจิตใจ ทางจิตวิญญาณก็จะน้อยลง

ดิฉันคิดว่าเวลานี้สังคมที่มีปัญหาคอรัปชั่นมาก อาจจะเกิดขึ้นจากการที่สังคมไม่ได้ให้ความสำคัญกับศิลปะก็ได้ เพราะว่าการเสพศิลปะมันเป็นเรื่องที่เราสามารถใช้จิตใจในการเสพ และช่วยยกระดับจิตใจของเราให้สูงขึ้น แต่เวลานี้เราให้ความสำคัญกับการเสพวัตถุ เพื่อช่วยให้ท้องอิ่ม

ดิฉันนึกถึงคำพูดของ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ว่า  ชีวิตเราสั้น แต่ศิลปะนั้นยืนยาว แต่ปรากฏว่าสังคมทั้งสังคมในเวลานี้ ส่งเสริม ทนุบำรุงชีวิตที่แสนสั้นของเรา โดยส่งเสริม การกิน นอน และสืบพันธุ์ เท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้นการทุจริตคอรัปชั่น มันเกิดจากการที่สังคมมันขาดไร้ซึ่งการให้ความสำคัญกับศิลปะ เราจึงไปให้ความสำคัญกับชีวิตที่แสนสั้นเหล่านี้ แล้วก็ทะนุบำรุงมัน นำไปสู่การที่คนมันอยากจะแสวงหาทรัพย์สินให้มากขึ้น แล้วก็เอาเปรียบสังคมให้มากขึ้น สิ่งเหล่านี้ ทำให้เราเห็นว่า สังคมเราที่มันฟอนเฟะเพราะเกิดขึ้นจากการที่สังคมไม่ได้ให้ความใส่ใจกับงานศิลปะ”

ขณะที่ มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี แสดงความเห็นว่า “สังคมไทยบูชาเงิน ไม่ได้บูชานักปราชญ์”

ซึ่งเมื่อทั้ง สว.รสนา และ มล.กรกสิวัฒน์ ให้ข้อมูลการทุจริตด้านพลังงานแล้ว สว.รสนา ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการที่เหล่าศิลปินเรียกร้องให้ กทม. มีการเปิดเผยการใช้งบประมาณของนิทรรศไทยเท่ฯ และชี้แนะแนวทางในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจการทุจริตหลายเรื่องในสังคมว่า

“เมื่อศิลปินเห็นว่า ผลงานกับงบประมาณไม่สอดคล้องกัน เขาก็มีสิทธิที่จะขอรับทราบข้อมูลเหล่านี้ แต่ที่ผ่านมาดิฉันก็ไม่ทราบว่า ก่อนหน้านี้ศิลปินเพียงไปถามขอทราบข้อมูลแต่เพียงวาจาหรือเปล่า

ศิลปินสามารถที่จะทำเรื่องขอข้อมูลจากผู้ที่รับผิดชอบโครงการนี้ และถ้าต้องการจะตรวจสอบจริงจัง ดิฉันคิดว่ามันก็สามารถที่จะเจอะลึกได้ ดิฉันคิดว่าประชาชนที่เป็นเจ้าของภาษี เขาก็มีสิทธิที่จะขอรับทราบเรื่องเหล่านี้ และคิดว่าการเปิดเผยดีกว่าปิดบัง

 และถ้าต่อจากนั้น ยังไม่มีการให้ข้อมูล ดิฉันคิดว่ากลุ่มศิลปินก็สามารถที่จะอาศัยพรบ.ข้อมูลข่าวสาร ทำจดหมายไปถึงหน่วยงานต้นสังกัด ขอให้เขาเปิดเผยข้อมูล ขั้นตอนต่อไปคือการร้องไปที่ สำนักงานข้อมูลข่าวสาร ของทางราชการ ซึ่ง พรบ.ข้อมูลข่าวสาร จุดมุ่งหมายก็คือ เปิดเผยเป็นหลัก

ดิฉันคิดว่าข้อมูลเหล่านี้มันไม่ใช่ความลับ หรือเป็นเรื่องความมั่นคงอะไร ถ้าการใช้งบประมาณนั้นเป็นไปโดยความถูกต้อง มันก็ย่อมเปิดเผยได้ ดิฉันคิดว่าไม่น่าที่จะไม่เปิดเผยนะ”

>>>เดินหน้าขอตรวจสอบ

ด้าน หงส์จร เสน่ห์งามเจริญ หนึ่งในศิลปินผู้ร่วมเรียกร้องให้มีการเปิดเผยงบประมาณนิทรรศการไทยเท่ห์ฯ กับศิลปิน เอกชัย ลวดสูงเนิน มาตั้งแต่ต้น บอกถึงการเคลื่อนไหวขั้นต่อไปของกลุ่มศิลปิน แม้ว่านิทรรศการจะสิ้นสุดลงแล้วตามว่า

“หลังจากนี้ น่าจะมีทนายที่เขาจะเข้ามาช่วยเราตรวจสอบเรื่องนี้ ดูแลเรื่องเอกสาร ว่าเราควรจะรวบรวมหลักฐานอะไรบ้างที่เราจะต้องทำเป็นหนังสือ เพี่อไปยื่นต่อ ปปช.และอีกหลายหน่วยงาน

เพราะเรายัง อยากให้ทางกทม. ออกมาชี้แจงว่า เงิน 20 กว่าล้าน มันใช้ไปในทางไหน ทำไมมันใช้เงินมากขนาดนี้ และเราอาจจะต้องส่งเอกสาร ไป 2-3 หน่วยงาน

แต่สิ่งสำคัญ การที่เราออกมาเคลื่อนไหว เราอยากกระตุ้นให้ทาง กทม.ออกมาชี้แจงมากกว่า เพราะวันนี้วันสุดท้ายของนิทรรศการแล้ว
 

และสมัชชาศิลปินเพื่อการปฏิรูป ซึ่งมี อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นประธาน อาจารย์เนาว์ได้พูดคุยกับผมว่าให้ช่วยกันรวบรวมหลักฐานส่งไปให้ เพื่อที่จะได้ช่วยเป็นอีกหน่วยงานหนึ่ง ที่จะช่วยตรวจสอบ”

ธวัชชัย สมคง ศิลปินและบรรณาธิการนิตยสาร FINE ART กล่าวว่า นับตั้งแต่ช่วงเวลาที่เอกชัยออกมาให้ข่าวกับสื่อ แวดวงศิลปินที่ทราบข่าวนี้ เสียงส่วนใหญ่ต้องการให้ กทม.ออกมาชี้แจง

“มีคนไม่เห็นด้วยเยอะ(เรื่องงบประมาณ) แต่บางคนที่ไม่เห็นด้วยแล้วไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหว เค้าอาจมีงานยุ่ง หรือมีธุระอื่นที่ต้องทำ

อีกอย่าง มันเป็นเรื่องที่ศิลปินจะไม่ค่อยนิยมทำกัน กับการที่จะออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องว่า ใครมีส่วนได้ส่วนเสีย เราจะไม่ค่อยนิยม

นอกจากถึงจุดสุกงอมแล้วจริงๆทุกคนถึงจะแสดงตัว เพราะถ้าต้องเอาหน้าตาออกมาโชว์ แล้วอาจจะทำให้ต้องเสียประโยชน์หรือเปล่า

ผมก็ไม่ได้อยู่ข้างไหนนะครับ แต่ผมคิดว่าประชาชนในฐานะเจ้าของเงินก็สามารถตั้งคำถามได้”

เช่นเดียวกับที่ ไพฑูรย์ ไหลสกุล หรือ อั๋น แห่งคณะละครใบ้ “คนหน้าขาว” แสดงความเห็นว่า กทม.ควรออกมาชี้แจงให้เรื่องจบ เพราะการที่เหล่าศิลปินออกมาเรียกร้องให้เปิดเผยนี้ ไม่ได้มีจุดประสงค์ในทางที่ไม่ดี หรือต้องการให้แตกหักไปข้างหนึ่ง

“ถ้ากทม.ออกมาชี้แจงแล้ว มันสมเหตุสมผล ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่สมเหตุสมผลเราก็แค่จะถามต่อว่า ค่านั้น ค่านี้ โดยมาตรฐานมันเป็นอย่างนี้จริงๆหรือเปล่า”

>>>ศิลปินรุ่นใหญ่ติง ข้อมูลศิลปะตกหล่น

ด้านศิลปินรุ่นใหญ่ สุรพล ปัญญาวชิระ กล่าวว่า รู้สึกตกใจกับงบประมาณที่ใช้เพื่อนิทรรศการนี้ ยิ่งเมื่อเทียบกับงบประมาณอันน้อยนิดที่ตนใช้เพื่อกิจกรรมด้านศิลปะที่เคยทำแล้ว

“ผมเคยจัดงานศิลปะเด็กชาวเขา กับทิพย์ เราใช้เงินแค่ 8 แสน แต่เราสามารถจัดได้ทั่วประเทศ ทั้ง เชียงใหม่ โคราช ภูเก็ต แถมจะต้องเอาส่วนหนึ่งของเงินนั้น ไปซื้อสี ซื้อวัสดุ แล้วก็ต้องลำบากขี่มอเตอร์ไซด์ไปตามดอยต่างๆ ไปสอนเด็กชาวเขา 6 เผ่า แล้วเอาผลงานมาลงมา เพื่อนำไปจัดแสดงทั่วประเทศ มีสูจิบัตรด้วยพิมพ์อย่างดี 4 สี ออกมาสวยมาก ใช้เงินไปแค่ 8 แสน แต่นิทรรศการนี้ ผมสงสัยว่าไอ้ 27 ล้าน ซึ่งมันไม่ต้องขึ้นดอยเลย มันเอาไปทำอะไรบ้าง”

และเมื่อถามถึงรูปแบบและเนื้อหาการจัดนิทรรศการในสายตาเขาว่า มีความน่าสนใจเพียงใด เป็นความเท่ ที่พร้อมจะสู่อินเตอร์ได้หรือไม่ สุรพลผู้มีผลงานศิลปะมาร่วมแสดงนิทรรศการนี้ด้วยเช่นกัน ตอบว่า

“ถ้าถามผม อะไรที่เป็นงานศิลปะ ผมเป็นคนที่สนใจทุกงานอยู่แล้ว ยิ่งงานนี้ ผมมีมาร่วมแสดง 2 ชิ้น ผมก็ยิ่งสนใจ ตอนแรกแม้จะไม่รู้ว่าใช้งบเท่าไหร่ แต่เราก็สนใจอยู่แล้ว ตอนนี้ยิ่งเมื่อรู้ว่างบที่ใช้มัน 27 ล้าน ยิ่งสนใจหนักขึ้น พยายามมองหาว่ามัน 27 ล้านตรงไหน

ผมว่ารายละเอียดของนิทรรศการ ยังไม่มีความครอบคลุม มานั่งพิจารณาดูข้อมูลดีๆ ไล่ประวัติศาสตร์ดู มีข้อมูลของหลายคนในวงการศิลปะตกหล่น และหายไป”

ทิพย์ แซ่ตั้ง ก็มีความเห็นสอดคล้องกับศิลปินรุ่นใหญ่ ในเรื่องนี้ด้วย

“สำหรับผมการแสดงงานศิลปะที่ดีที่สุดของบ้านเราก็คือศิลปะ ร.9 ที่เคยแสดงที่ศูนย์สิริกิติ์ และครั้งนั้นไม่สร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้น มีศิลปินจาก 76 จังหวัด เข้าร่วม ทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นเล็ก ศิลปินบางคนเพิ่งกลับมาจากเมืองนอกเพียงปีเดียวก็ได้เข้าร่วม

แต่ครั้งนี้คนหลายๆคนหายไป มีศิลปินผู้ใหญ่บางคนบอกว่า ทำไมเค้าไม่เชิญกูวะ มันตกหล่น ทุกเจนเนเรชั่นของศิลปินมันตกหล่น จะมีเฉพาะไม่กี่คน เมื่อเทียบกับงานนั้น งานมาสเตอร์พีช หลายๆชิ้น ของศิลปินสมัย ร. 9 มันไม่มี มันขาดไป แล้วก็ไม่ครอบคลุม”

นิทรรศการสิ้นสุด แต่ศิลปินยังไม่สิ้นสุด(ข้อสงสัย) ผู้ที่ติดตามข่าวนี้มาโดยตลอด โปรดติดตามการเคลื่อนไหวของศิลปินในลำดับต่อไป

 
  ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 27 ล้าน งบประมาณเว่อร์ กับ คุณภาพ “ไม่เข้าท่า” ของนิทรรศการ “ไทยเท่”

http://www.manager.co.th/CelebOnline/ViewNews.aspx?NewsID=9550000126304