Celeb Online

รัฐภูมิ ผิวพันธมิตร ศิษย์ได้ดี ของ ครูสังคม ทองมี


ART EYE VIEW —ในบรรดาลูกศิษย์เป็นพันๆคนที่ได้รับการสนับสนุน จาก ครูสังคม ทองมี แห่ง ศูนย์ศิลป์สิริธร โรงเรียนศรีสงคราม อ.วังสะพุง จ.เลย

กล่าวตามจริงว่า “ได้ดีก็เยอะ เสียคนก็มาก”

ไม่ใช่คำพูดที่ซี้ซั้วสรุปเอง แต่เป็นคำยืนยันจากปาก  รัฐภูมิ ผิวพันธมิตร หนึ่งในจำนวนลูกศิษย์ของครูสังคม ผู้เคยได้ยินครูสังคมกล่าวกับ ผู้ปกครองหลายๆคน ที่ต้องการสิ่งการันตีว่า ลูกหลานของพวกเขาจะไปรอดหรือไม่ หากเลือกเดินบนเส้นทางศิลปะ

เช่นกันว่า เมื่อหลายสิบปีก่อน ครูสังคมก็เคยกล่าวทำนองเดียวกันนี้กับครอบครัวของรัฐภูมิ

อดีตเด็กชายผู้เคยได้รับรางวัลเรียนดีหลายปีซ้อนของจังหวัดเลย (จึงไม่แปลกอะไรที่ทั้งพ่อและแม่ของเขาจะคาดหวังให้ประกอบอาชีพอื่นที่ไม่ใช่การเขียนรูป) และครั้งหนึ่งเคยมาออกรายการ จันทร์กระพริบ ตอน ฝันของดาวดวงน้อย ในฐานะเด็กผู้มีความสามารถทางด้านศิลปะ และได้รับการสนับสนุนจากครูสังคมมาโดยตลอด

ถึงเวลานี้ ในวันที่เขาเติบโตเป็นอาจารย์หนุ่ม สอนศิลปะในรั้วมหาวิทยาลัย(คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และโรงเรียนระดับประถมศึกษา ย่านลาดพร้าว 48 (โรงเรียนสิริเทพ) อีกทั้งทำงานศิลปะ(อย่างมีความสุข) ควบคู่ไปด้วย ในสายตาของครูสังคมและใครหลายๆคน เขาจึงน่าจะถูกจัดเข้ากลุ่ม “ได้ดี” มากกว่า “เสียคน”

ล่าสุดรัฐภูมิมีผลงานศิลปะมาแบ่งปันให้เราได้ชม แต่ไม่ใช่ภาพวาดส่งประกวดเหมือนเมื่อครั้งวัยเด็ก ทว่าเป็นผลผลิตของความรู้สึกที่มีต่อสังคมในฐานะศิลปินคนหนึ่ง นำเสนอผ่านนิทรรศการที่ใช้ชื่อว่า “ซ่อนอยาก” (Conceal)  ทำไมต้องซ่อน และทำไมต้องอยาก ไปฟังคำตอบ

“ซ่อนอยาก คือความซ่อนเร้น บวกกับ ความปรารถนา งานชุดนี้ผมพูดถึงโลกเสรีนิยมที่มนุษย์เรามีความโลภ พยายามแสวงหาการครอบครอง เชื่อว่าการได้เป็นเจ้าของ การได้มาซึ่งวัตถุ เงินทอง อำนาจ บารมี มันคือความสำเร็จ เป็นความปรารถนาที่ไม่จบสิ้น จนต้องสูญเสียความเป็นตัวเองไปและซ่อนตัวตนที่แท้จริงเอาไว้”

เพื่อให้เห็นภาพชัด รัฐภูมิยกตัวอย่างภาพเป็ด “ฉันจะบิน” ที่ถูกนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตมนุษย์ว่า

“เป็ดของผม มันเปรียบได้กับคนๆหนึ่ง สมมุติว่าทำงานออฟฟิศ แล้ววันหนึ่งเกิดอยากได้ไอโฟน ที่มีราคาแพงกว่าเงินเดือนที่เค้าหามาได้ และเป็ดตัวนี้อยากจะบิน อยากจะมีไอโฟน เชื่อว่าการได้มีไอโฟนคือตัวตนของฉัน แต่ศักยภาพของเป็ดมันไม่ถึง ต้องตรากตรำทำงานเพื่อให้ได้ไอโฟน ต้องสูญเสียความเป็นตัวตน และความเชื่อทางจิตใจ เพื่อจะสนองความอยากของตัวเอง”

ผู้ชมมีสิทธิ์จะรู้สึกเป็นอื่น เพราะภาพทุกภาพของรัฐภูมิ เปิดกว้างให้ทุกคนรู้สึกกับมันแตกต่างกันไป ตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน

“งานผมไม่ใช่การบอกเล่า หรือการชี้แนะ แต่มันเป็นการสะท้อนออกเฉยๆว่า ผมเห็นแล้วผมรู้สึกอย่างนี้ สังคมเวลานี้ มันเป็นอย่างนี้นะ อย่างภาพหัวกะโหลกเวลาคุณเห็น คุณอาจจะคิดเพียงแค่ว่ามันคือภาพหัวกะโหลก ชอบ สวยดี หรือแค่นั้น ไม่เป็นไร

มันเหมือนกับทุกคนเดินไปเจอดอกไม้ดอกเดียวกัน บางคนอาจจะรู้สึกว่ามันก็แค่พืช ขณะที่บางคนบอกว่า มันช่างงดงาม ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ อยากได้ไปใส่แจกัน บางคนสวยดี แต่ไว้ตรงนี้แหล่ะ ทุกคนมองไม่เหมือนกัน

ผมใช้รูปทรงง่ายๆ แต่ผมซ่อนอะไรไว้บางอย่าง ที่มันไม่ปกติเอาไว้ในภาพ คุณจะรู้สึกมากน้อยแค่ไหน หรือคิดแตกต่างจากผม ไม่เป็นไร เพราะว่าศิลปะมันคือเรื่องปัจเจกของศิลปินในฐานะผู้สร้าง ขณะที่คนดูเขาก็มีปัจเจกของเขาเหมือนกัน บางคนอาจจะ ดูแล้วไม่เข้าใจ

มันขึ้นอยู่กับลักษณะของงานด้วย บางคนทำงานเพื่อถ่ายทอดความประทับใจ บางคนทำเพื่อวิพากสังคม ด่าทอการเมือง เขาก็ต้องชัดเจนว่าเขาด่าใคร พูดถึงใคร แต่ของผม เป็นการพูดเปรยๆขึ้นมา เป็นอุปมาอุปมัยมากกว่า คุณจะรู้สึก จะชื่นชมมันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แล้วแต่จะจินตนาการไป ไม่มีผิด ไม่มีถูก แต่ศิลปินเรามีประเด็นของเราแฝงไว้อยู่แล้วแหล่ะ ถ้าคนดูมีวุฒิภาวะ มีประสบการณ์ทางศิลปะพอสมควร เขาก็จะเข้าใจ เพราะว่ามันไม่ได้มีอะไรลึกซึ้งมากมายขนาดนั้นหรอก”

ทว่าภาพเขียนชุดนี้ได้สะท้อนตัวตนของรัฐภูมิในด้านหนึ่งว่า มีรสนิยมเช่นใด

“ผมชอบความเป็น POP ประมาณนึง แต่รูปแบบของงานยังติดกับการเขียนภาพเหมือนอยู่ งานของผมไม่ได้ใส่เรื่องราวอะไรเยอะแยะมากมาย และแตกต่างกับงานชุดก่อน ตรงที่มีสเปซมากขึ้น งานชุดนี้จะดูนิ่งลงเยอะ”

และมีเทคนิคการเขียนภาพด้วยการเว้นพื้นที่บนผ้าใบ แทนการระบายสีขาว

“สีขาวในผลงานของผมไม่ได้เกิดจากการระบายสี ผ้าใบที่เราใช้เขียนภาพมันเป็นสีขาวอยู่แล้ว ผมจึงใช้วิธีการเว้นเอาไว้ จึงได้ผลลัพธ์แตกต่างจากการระบายสีขาวตรงที่ มันมีความใส สังเกตตรงหน้าผากของภาพหัวกะโหลก ถ้าเราระบายสีขาว ความเป็นแป้ง มันจะสร้างให้เกิดความหนาที่ผมมองว่ามันไม่โปร่ง

ผมเลยเลือกที่จะเว้นสีขาวไว้ เป็นคล้ายๆ การวาดเส้น หรือดรออิ้งเพิ่มทีละนิดๆเข้าไป ส่วนแบรคกราวน์ก็ระบายสีธรรมดา แต่ว่าตัวที่เป็นวัตถุผมจะเว้นสีขาวเอาไว้ และไม่ใช่การปาดป้ายด้วยทีแปรง ผมใช้วิธีการถู ขยี้สีน้ำมันด้วยพู่กัน ค่อยๆถู ทีละนิดๆ ลงไปเบาๆ

ตอนที่เรียนช่างศิลป์ ผมเคยศึกษาภาพโมนาลิซ่า ที่ ดาวินชี เขียน ในส่วนของมุมปาก มันเนียนมาก ไม่มีทีแปรง และภาพดูมีมิติ อาจเพราะตรงนั้นใช้วิธีการขยี้พู่กัน และถูๆเอา”

รัฐภูมิบอกเล่าว่า ครูสังคมยังไม่มีโอกาสมาชมผลงานชุดนี้ เนื่องจากติดภารกิจอยู่ที่สเปน แต่เขาเชื่อว่าสิ่งที่ครูสังคมจะพูดกับเขาก็คงจะไม่แตกต่างจากทุกๆครั้ง

“ครูเขาไม่ได้มาสนใจหรอกว่างานของผมนำเสนอเรื่องราวอะไร ด้วยเทคนิคไหน แต่เขาจะมีความสุขตรงที่ว่า เราซึ่งเป็นคนที่เขาเคยสนับสนุน สามารถพัฒนาตัวเอง จนสามารถทำงานในระดับศิลปินได้

เพราะครูเขาสอนคนมาเป็นพันๆคน จบมหาวิทยาลัยไปแล้วก็ไม่รู้กี่ร้อยคน อีกทั้งให้ทุนไปก็ไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ แต่คนที่กลายมาเป็นศิลปิน ทำงานศิลปะเป็นจริงเป็นจัง นับแล้วมีไม่ถึงสิบคน

ดังนั้นเรื่องแนวคิด หรือว่าสไตล์การทำงาน เราจึงไม่เคยคุยกัน แต่ทุกครั้งที่เจอกัน ครูเขาจะชอบพูดว่า เฮ้ย..ดีใจด้วย

ผมว่าครูสังคมคือเรือจ้าง ที่ชัดเจนที่สุด เป็นเรือที่ไม่ใช่แค่ส่งเรา ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เราในเรื่องการทำเพื่อคนอื่น เราไม่กล้าที่จะทำอะไรที่ไม่ดี ไม่งาม เพราะกลัวว่ามันจะเสียไปถึงเขาด้วย กลัวยิ่งกว่าพ่อ ถ้าเขาเตือนอะไรมา จะฝังหัวไปเป็นเดือนเป็นปีเลย ครูไม่ใช่คนหวานๆ ค่อนข้างแข็ง ดุ มีประชดประชัน ”

แม้วันนี้รัฐภูมิจะมีอีกบทบาทหนึ่ง คือการเป็นเรือจ้าง เช่นกัน แต่เขาคิดว่า ตนเองยังเสียสละได้ไม่มากเท่าครูสังคม

“ผมเปิดคอร์สสอนศิลปะให้กับเด็กๆช่วงปิดเทอมเหมือนกัน กระบวนการสอนทุกอย่างก็เหมือนกับที่ครูสังคมเคยสอน เพราะเคยได้ความรู้จากตรงนั้นมา เน้นให้เด็กมีความสุขกับการทำงานศิลปะ

แต่ความดีที่ผมทำ ยังเทียบไม่ได้ แม้เพียงกระผีกหนึ่งที่ครูสังคมทำ ผมไม่ได้เสียสละอะไรมากมายขนาดนั้น เพราะครูสังคมไปอยู่ในหมู่บ้าน ในอำเภอ ที่ๆคนไม่รู้ว่า ต้องทำศิลปะไปทำไม ไปดึงเด็กบ้านนอก ลูกชาวบ้าน ที่พ่อแม่ทำไร่ทำนา มาสนับสนุนให้ได้รู้จักศิลปะ

ก่อนหน้านี้ ผมก็เป็นคนหนึ่ง ที่ไม่รู้อะไรมาก่อนเหมือนกัน ไม่รู้ว่าจะต้องมีการแสดงศิลปะ หรือมีนิทรรศการศิลปะอยู่บนโลกนี้ ก็แค่เด็กคนหนึ่งที่ชอบวาดรูป ถ้าไม่รู้จักครูสังคม ก็คงไม่รู้จักศิลปะ”

รัฐภูมิยอมรับว่า จนถึงวันนี้ครอบครัวยังรู้สึกเป็นห่วงในตัวเขาอยู่ แม้ความกลัวว่าจะไปไม่รอดในสายอาชีพที่ลูกชายเลือก จะลดน้อยลงไป

“แม่จะคอยถามอยู่เสมอว่า ลำบากไหมลูก ดึกๆดื่นๆยังทำอยู่เหรอเนี่ย ผมตอบว่า แม่ครับ กลางวันผมนอนมาทั้งวันแล้ว ผมไม่ได้ลำบากอะไร มีความสุขดี

 คนอื่นทำงาน มันเหนื่อย มันลำบากกว่านี้ และบางคนอาจจะเครียดด้วย แต่ของผมที่บอกว่ากำลังทำงาน มันคือการวาดรูป อยู่กับสิ่งที่เราชอบ

ตอนหลังเขาก็เริ่มเห็นความตั้งใจของเรา เพราะบทบาทที่เราแสดงออก มันเริ่มชัดขึ้น เริ่มมีคนมาสนใจเรา และดูไม่ได้เป็นทุกข์กับการทำงาน”

ในวันที่โลกศิลปะขยายอาณาเขตกว้างขวางมากกว่าโรงเรียนศรีสงคราม ทุกวันนี้รัฐภูมิมีบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับการทำงานศิลปะเพิ่มขึ้นอีกหลายคน

“คงไม่เรียกว่าเป็นต้นแบบ เพราะศิลปินทุกคนมีปัจเจก มีอัตลักษณ์ที่เป็นของตัวเอง

แต่คนที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับการทำงาน ผมชื่นชม นที อุตฤทธิ์ และชาติชาย ปุยเปีย ทำไมผมไม่มองไปถึง อาจารย์เฉลิมชัย(โฆษิตพิพัฒน์)หรืออย่าง อาจารย์ประเทือง(เอมเจริญ) เพราะผมมองว่าท่านเป็นคนละยุคกับเราแล้ว

การที่ผมจะไปเขียนภาพกลางทุ่งนา มันไม่ใช่สไตล์ที่ผมจะทำอย่างนั้น ผมมีบุคลิกของผม สไตล์งานเป็นอีกอย่างหนึ่ง ผมชอบศิลปินที่อยู่ร่วมสมัยกับผม สองคนนี้(นทีและชาติชาย)เป็นคนที่ผมชื่นชมมาก

แต่ทั้งสองแตกต่างกัน งานของ ชาติชาย แรงทั้งเรื่องการแสดงออกและการทำงาน วิพากวิจารณ์สังคม ส่วนงานของนทีจะดูแล้วนิ่งเงียบ และเป็นศิลปินที่เก็บตัว ไม่ค่อยออกงาน ทำงานจริงจัง วัดเวลาการทำงานศิลปะของตัวเองกับคนที่ทำงานออฟฟิศ

เพราะเขาเห็นว่าถ้าต้องการจะเป็นศิลปินอาชีพ ก็ควรจะมีวินัยในการทำงานเช่นกัน ดังนั้นในแต่ละวัน เขาจะกำหนดว่าต้องทำงานศิลปะวันละกี่ชั่วโมง เวลาที่เหลือก็ค่อยใช้ไปกับอย่างอื่น ไปรดน้ำต้นไม้ ไปเล่นดนตรี ฯลฯ

ส่วนชาติชาย เขาก็ทำงานศิลปะอย่างเอาจริงเอาจัง โดยที่ไม่แตะต้องงานอย่างอื่นเลย ตัวผมเหมือนเอาแรงบันดาลใจ จากคนนั้นคนนี้ มาใส่ในตัวเรา อะไรที่เราสามารถทำตามได้ เราก็ทำ”

>>>นิทรรศการศิลปะ ซ่อนอยาก (Conceal)โดย รัฐภูมิ ผิวพันธมิตร เปิดแสดงวันนี้ – 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2555  ณ นัมเบอร์วัน แกลอรี่  ชั้น B อาคารสีลม แกลอเรีย ซอยสีลม 19 ถนนสีลม

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art เซคชั่น Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com