ART EYE VIEW—สร้างความตื่นเต้นดีใจให้คนไทยจำนวนไม่น้อย เมื่อทราบว่าผู้เป็นเจ้าของรางวัลสุดยอดภาพถ่าย National Geographic 2012 คือ แอชลีย์ วินเซนต์ ช่างภาพชาวอังกฤษเชื้อสายอิสราเอล ที่มาปักหลักใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยกว่า 20 ปี
ไม่เพียงเท่านั้น เสือที่ถูกนำเสนอผ่านภาพถ่ายของเขาก็ไม่ใช่เสือที่ถูกเลี้ยงไว้ในสวนสัตว์หรือสถานที่อนุรักษ์สัตว์ชื่อดังแห่งอื่นๆ ของโลกที่แอชลีย์ต่างเคยไปท่องเที่ยวและตระเวนถ่ายภาพมาแล้วแทบทุกแห่ง
แต่เป็น “บุษบา” เสือโคร่งอินโดจีน หรือเสือโคร่งคอร์เน็ตเพศเมีย จาก สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
ทันทีที่ทราบว่าแอชลีย์ปฏิเสธที่จะเดินทางไปรับรางวัลด้วยตัวเอง ณ สำนักงานใหญ่ของเนชันแนล จีโอกราฟิก ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา
ART EYE VIEW จึงเดินทางไปพบกับแอชลีย์ที่ เขาเขียว พื้นที่ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นสวนสัตว์เปิดใหญ่ที่สุดในโลก และไม่เพียงแต่เป็นสถานที่ได้มาซึ่งภาพถ่ายรางวัลระดับโลก แต่ยังเป็นสถานที่ที่แอชลีย์ทำงานให้ในฐานะอาสาสมัครบันทึกภาพสัตว์ และเปิดร้าน Nature Impressions เพื่อจำหน่ายผลงานของตัวเองไปด้วย
>>>รักแรกกับ “เสือชีตาห์”
จากคำบอกเล่าของแอชลีย์ ทำให้รู้ว่าเขาไม่ได้กระหายที่จะเป็นช่างภาพมาตั้งแต่แรก แต่เพราะนิสัยที่เป็นคนรักสัตว์ ชอบเปิดนิตยสารดูภาพสัตว์ต่างๆ มาตั้งแต่เด็ก จนวันหนึ่งทำให้อยากแบ่งปันความน่ารักของสัตว์กับผู้คน
โดยเฉพาะ “เสือชีตาห์” สัตว์ที่เขาชอบมากเป็นพิเศษเมื่อวัยเด็ก เนื่องจากเขาเป็นเด็กชายที่ตัวเล็กมาก และมักจะเป็นเป้าของการถูกรังแก
ความที่เป็นสัตว์ตัวเล็ก แต่มีลักษณะแคล่วคล่องว่องไวของเสือชนิดนี้ จึงเป็นที่ประทับใจสำหรับเขา เพราะเวลานั้นเขาอยากจะเป็นเหมือนกับมัน ที่แม้จะตัวเล็กแต่ก็สามารถหนีเอาตัวรอดได้ดี
“ผมพยายามที่จะวาดรูปมัน แต่เพราะนิสัยที่ติดกับความสมบูรณ์แบบ พอวาดไม่ได้ดั่งใจก็ได้แต่เขวี้ยงทิ้งๆ และรู้สึกอัดอั้นตันใจว่าจะมีวิธีไหนอีกบ้างที่ผมจะสามารถแบ่งปันความสวย ความน่ารักของสัตว์ต่างๆ ให้คนอื่นได้ชม”
ค.ศ. 1990 แอชชีย์ในวัย 27 ปี เดินทางมาเที่ยวเมืองไทยครั้งแรก นอกจากจะจัดทริปพาตัวเองไปเยือนสวนสัตว์เปิดเขาเขียว เขายังตัดสินใจซื้อกล้องถ่ายภาพตัวแรกเพื่อใช้บันทึกภาพสัตว์
“ความต้องการของผม คือ บันทึกภาพสัตว์เอาไปให้คนอื่นดู เพราะอยากจะทำให้คนอื่นเกิดความรู้สึกรักและอยากจะดูแลสัตว์เหมือนกับผม”
>>> จากนักธุรกิจเรียลเอสเตท สู่ช่างภาพสัตว์ป่า
หลายปีที่แอชลีย์ประกอบอาชีพด้วยการทำธุรกิจด้านเรียลเอสเตทในไทย และเสาะหาเครื่องเงินไปขายที่ยุโรป รวมทั้งตกหลุมรักและตัดสินใจสร้างครอบครัวกับสาวไทย โดยเลือกถ่ายภาพสัตว์ป่าเป็นงานอดิเรก และทุกครั้งที่เดินทางไปท่องเที่ยวตามที่ต่างๆ ทั่วโลก การได้พาตัวเองไปเที่ยวชมสัตว์ตามแหล่งสำคัญๆ คือสิ่งที่เขาโปรดปราน
จนเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เขาผันตัวเองมาเป็นช่างภาพอย่างเต็มตัว
“เมื่อตอนที่ได้มาเยี่ยมชมสวนสัตว์เปิดเขาเขียวครั้งแรก มีความคิดว่าวันหนึ่งอยากจะมาทำงานใกล้ชิดกับสัตว์ และมีส่วนช่วยทำให้ชีวิตของสัตว์ป่าเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นบ้าง
ตอนแรกก็ทำงานเก็บเงิน ทำอย่างอื่นไปก่อน เพิ่งมา 2 ปีที่แล้ว ที่ผมตัดสินใจมาถ่ายภาพสัตว์ป่าอย่างจริงจัง เพราะการที่จะปลูกฝังให้คนรักสัตว์ป่าอย่างที่ผมรัก มันต้องมีภาพถ่ายประกอบ
ผมเดินทางไปหลายที่ ทั้งเกาะบอเนียว, แอฟริกาใต้, มาดากัสการ์, มาเลเซีย ฯลฯ ตามวนอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง และเกือบทุกแห่งในประเทศไทย เพื่อตามเก็บภาพสัตว์ป่า”
ต่อมา แอชชีย์เริ่มนึกถึงการส่งภาพถ่ายเข้าประกวด เพราะเห็นว่าลำพังการเผยแพร่ผลงานอยู่ในวงแคบๆ ไม่อาจทำให้สิ่งที่เขาต้องการสะท้อนออกไป เดินทางไปสู่คนจำนวนมากได้อย่างทั่วถึง
“เพราะการเป็นช่างภาพสำหรับผม คือหนทางที่ต้องการกระตุ้นให้มีการอนุรักษ์สัตว์ป่า”
>>>นอกจากความสามารถ คือโชคช่วย
ที่ผ่านมาแอชลีย์เคยได้รับรางวัลจากการส่งภาพถ่ายเข้าประกวดเพียงสองครั้งเท่านั้น และเป็นเวทีประกวดเดียวกัน แต่คนละปี ซึ่งจัดโดยร้านจำหน่ายกล้องถ่ายรูปในอังกฤษ ที่เปิดโอกาสให้ช่างภาพทั่วโลกส่งผลงานเข้าประกวดทางอินเทอร์เน็ต
เขาเคยได้รับรางวัลที่ 1 จากภาพ “ซิฟิการ์ลิเมอร์” ถ่ายจากทางตอนใต้ของเกาะมาดากัสการ์ และรางวัลที่ 3 จากภาพเสือโคร่ง “บุษบา” ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายมาเป็นสุดยอดภาพถ่ายของการประกวด National Geographic 2012
เพราะเป็นภาพไม่ผิดเงื่อนไขของ National Geographic ที่เปิดโอกาสให้ส่งภาพถ่ายที่ไม่เคยได้รับรางวัลใหญ่จากเวทีอื่นเข้าประกวดได้
แอชลีย์พูดถึงภาพถ่ายที่หลายเสียงบอกว่า งดงามราวภาพวาดว่า
“ทุกครั้งเวลาที่จะถ่ายภาพสัตว์ป่า หรือภาพธรรมชาติ ในใจผมจะคิดเสมอว่าอยากจะให้ภาพที่ได้มีความเป็นศิลปะที่สุด มีมุมมองที่แตกต่าง และใกล้เคียงกับพฤติกรรมของตัวนั้นๆ ที่ผมได้เห็น แต่ว่ามันก็ไม่ใช่ทุกครั้งที่จะได้ภาพอย่างที่ใจคิด มันต้องอาศัยโชคช่วยด้วย”
และวันที่แอชลีย์สามารถบันทึกภาพของบุษบาภาพนี้เอาไว้ได้ กลับเป็นวันพักผ่อนของครอบครัววันที่เขาขับรถพาแม่ยายและลูกสาวมาเที่ยวเขาเขียว ไม่ได้มีความตั้งใจที่ออกไปถ่ายภาพสัตว์เหมือนเช่นทุกครั้ง
“เพราะปกติเวลาที่ถ่ายภาพ ผมชอบไปรอถ่ายอยู่คนเดียว แต่วันนั้นเป็นวันที่พาครอบครัวออกไปเที่ยว ขณะผมกำลังดูแม่ยายและลูกสาวที่กำลังให้อาหารเสืออยู่นั้น พอบุษบากระโดดลงน้ำเพื่อไปงับอาหารที่ตกลงไป (เสือโคร่งเป็นเสือพันธุ์ที่ชอบเล่นน้ำ) ผมจึงเกิดไอเดียปิ๊งขึ้นมาว่าน่าจะถ่ายได้ภาพที่สวย จึงตั้งกล้องรอ แล้วกดชัตเตอร์ถ่ายภาพตอนที่บุษบาสะบัดน้ำออกจากตัวขณะที่ตัวส่วนหนึ่งยังแช่อยู่ในน้ำ กดเยอะมาก”
แอชลีย์กล่าวอย่างถ่อมตัวว่า การได้ภาพนี้มาไม่อยากจะบอกว่าเป็นฝีมือของตัวเองล้วนๆ แต่ถือเป็นความโชคดี ที่พระแม่ธรณีมอบให้ด้วย และหลังจากที่ได้ภาพมาแล้ว เขาได้กลับไปตั้งกล้องเพื่อรอถ่ายภาพบุษบาอีกสามครั้งสามครา เพราะอยากรู้ว่าจะสามารถถ่ายได้ภาพที่สวยกว่านี้อีกไหม แต่ก็ไม่เป็นผล
“ภาพที่ได้มาเหมือนเป็นวันที่บุษบายอมเล่นด้วย และหันมามองกล้อง ถ้าเขาไม่หันหน้ามาหรือมองกล้อง มันก็อาจจะไม่ได้ภาพนี้ แต่ ผมก็ไม่รู้หรอกนะว่าเปอร์เซ็นต์เปรียบเทียบระหว่างความสามารถกับโชคช่วย อันไหนมากกว่ากัน(หัวเราะ)
พอเห็นภาพผมรู้เลยว่าภาพนี้มันเหมาะที่จะส่งเข้าประกวด เพราะผมรู้ว่าการประกวดทุกๆ ครั้ง กรรมการพยายามมองหาภาพที่มีความแปลกใหม่ แปลกตา แม้ผมจะรู้ว่าภาพถ่ายสัตว์สะบัดน้ำมีส่งประกวดหลากหลายภาพ ไม่ว่าจะปีไหนก็มีคนส่งประกวด แต่ภาพนี้มันแตกต่างจากภาพอื่นโดยสิ้นเชิง มีเอกลักษณ์ เหมือนบุษบา ยอมที่จะเป็นแบบให้ผม มันจึงเป็นภาพที่สร้างความประทับใจให้กับผมเป็นการส่วนตัวด้วย”
>>>อันดับหนึ่งในดวงใจ “เสือลายเมฆ”
แต่ “เสือโคร่ง” ก็ยังไม่ใช่เสือพันธุ์ที่เขาชอบมากที่สุด เขาอาจเคยมีใจให้กับ “เสือชีตาห์” ในวัยเด็ก แล้วเปลี่ยนใจมารัก “เสือดาว” ในช่วงเวลาหนึ่ง ทว่าเวลานี้เขากำลังหลงใหลใน “เสือลายเมฆ” เป็นที่สุด
“ผมจัดให้มันเป็นอันดับหนึ่งในดวงใจ เพราะว่าเป็นสัตว์ที่มีต้นกำเนิดอยู่ในเมืองไทย แต่ไม่ได้หาดูได้ง่ายๆ เพราะว่าเป็นเสือที่ชอบเก็บตัว ก่อนหน้านี้ผมมีข้อมูลเกี่ยวกับเสือลายเมฆน้อยมาก จนวันหนึ่งได้รู้ว่าเขาเขียว มีโครงการแพร่พันธุ์เสือลายเมฆที่ประสบความสำเร็จมาก ผมก็เลยอยากเข้ามาทำงานในนี้ เพื่อที่จะได้ไปใกล้ชิด และถ่ายภาพ เพราะอยากจะมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สัตว์สายพันธุ์นี้เอาไว้ ให้คนได้รู้จักกว้างขวางกว่านี้”
>>>เหตุผลที่ไม่อยากโนเนม
แอชลีย์กล่าวว่าประโยชน์ที่เขาได้รับมากที่สุด หลังการถูกประกาศให้เป็นเจ้าของผลงานสุดยอดภาพถ่าย National Geographic 2012 ทั้งประเภทสัตว์ป่า และยังเป็นภาพชนะเลิศของภาพถ่าย 3 ประเภทรวมกัน (การประกวดแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ภาพคน,ภาพสัตว์ป่า และภาพสถานที่) นั่นคือ ต่อไปนี้สิ่งที่เขาทำจะได้รับความสนใจมากขึ้น
“ผมหวังว่ามันจะทำให้ผมเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นจากคนไทย หรือคนทั่วไป เพราะความใฝ่ฝันของผมตั้งแต่ได้มาเที่ยวสวนสัตว์เปิดเขาเขียว มาอยู่เมืองไทย รักเมืองไทย และได้มาเห็นสวนสัตว์ที่เมืองไทยที่มีศักยภาพมาก พื้นที่ก็มากมาย แต่ว่าสัตว์บางตัวยังอยู่ในกรงเล็กๆอยู่เลย ไม่สะดวกสบาย และผมก็รู้ว่าสัตว์จำนวนมากที่เกิดและโตอยู่ในสวนสัตว์จำนวนหนึ่ง ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตหรือนำคืนสู่ป่าตามธรรมชาติได้ เพราะไม่มีป่าให้กลับและไม่สามารถหากินได้เอง ผมก็เลยตั้งความหวังว่า สักวันหนึ่ง ถ้าเป็นไปได้ ผมจะช่วยเขาเขียว สร้างที่พักเพื่อให้สัตว์พวกนี้ ได้อยู่ในที่ๆกว้างขวางขึ้น สบายขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ นี่คือความฝันของผม
ผมคิดว่าการที่เป็นคนโนเนม แม้จะมีความตั้งใจดี การจะไปขอความช่วยเหลือจากใคร คงไม่มีใครช่วยมาก ผมก็เลยส่งภาพเข้าประกวด แล้วก็หวังว่าการชนะ จะทำให้ผมเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น เวลาจะจัดนิทรรศการ หรือหาทุนช่วยสร้างกรง หรือขยายพื้นที่ให้สัตว์ น่าจะมีคนอยากช่วย และให้ความร่วมมือมากขึ้น”
>>>ภาพถ่ายสัตว์ป่าที่ดี ไม่ต้องไปถึงเคนยา
แม้แอชลีย์จะมีเรื่องการอนุรักษ์สัตว์เป็นเป้าหมายหลัก แต่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่ชอบถ่ายภาพและอยากส่งภาพเข้าประกวดจำนวนไม่น้อย เขามีกำลังใจส่งไปถึงคนกลุ่มนี้ว่า
“บางคนรักการถ่ายภาพ แต่ก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะพัฒนาได้ หรือบางทีเห็นภาพสวยๆ ของช่างภาพที่มีประสบการณ์มากๆ ก็มักจะถอดใจ ผมอยากจะให้การถ่ายภาพของผมเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนที่รักการถ่ายภาพทุกคนว่า ถึงผมจะมีประสบการณ์แค่ 2 ปี แต่เป็น 2 ปีที่ผมทำด้วยใจรัก ทำด้วยความตั้งใจจริง แล้วก็ฝึกฝนบ่อยๆ จนสามารถมีวันที่ส่งภาพเข้าประกวดและได้รับรางวัล
ผมอยากให้คนที่รักการถ่ายภาพ อย่าถอดใจ หรือคิดว่าต้องรอให้มีประสบการณ์มาก มันไม่ใช่สิ่งสำคัญว่าคุณใช้เวลาเท่าไหร่ แต่สำคัญที่ว่าคุณทำอย่างไรกับเวลาที่มีอยู่มากกว่า ถ้าคุณรักการถ่ายภาพแล้วคุณฝึกฝน คุณก็สามารถประสบความสำเร็จเหมือนผม อยากให้รู้ว่า ถ้าผมทำได้ คุณก็ทำได้เหมือนกัน
ผมอยากเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่รักสัตว์ แต่ก็ไม่เคยคิดว่าจะเริ่มทำอะไรเลย และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่ชอบถ่ายภาพสัตว์ แต่มักจะรู้สึกว่า โอ๊ย… ถ้าถ่ายรูปสัตว์ ต้องไปถ่ายเคนยา ไปแอฟริกาใต้ เมื่อไม่สามารถไปได้ ก็เลยพักความฝันไว้ก่อน
อยากให้ฝึกถ่ายภาพสัตว์ โดยเริ่มจากสวนสัตว์ใกล้บ้านก่อนก็ได้ ผมเดินทางมาหลายประเทศ แต่ภาพที่ชนะการประกวด คือภาพจากสวนสัตว์ที่อยู่ใกล้บ้าน และใช้เวลาในการเดินทางเพียงแค่ 30 นาทีเท่านั้นเอง”
>>>บอกย้ำ …สัตว์คือเพื่อนร่วมโลก
แอชลีย์ได้แบ่งปันวิธีสร้างความคุ้นเคยกับสัตว์ป่า เพื่อให้ได้ภาพถ่ายที่ดีว่า
“ สัตว์แต่อย่างมันมีพฤติกรรมแตกต่างกัน เราต้องใกล้ชิดกับมัน เฝ้าสังเกตมัน และทุกครั้งที่ถ่ายภาพสัตว์ป่า ผมอยากจะให้ภาพทีได้ออกมา ไปสะดุดใจใครสักคนนึง
ผมคิดว่าเด็กทุกคน ไม่ว่าเด็กคนไหนก็ตาม เมื่อสมัยเป็นเด็ก เวลาเจอภาพสัตว์ ความแปลกของสัตว์จะไปเปิดดวงตาและเปิดหัวใจให้เห็นว่ามันมหัศจรรย์ หรือมันแปลกอะไรอย่างนี้ แต่คนเราพอเริ่มโตขึ้น ไอ้ความรู้สึกเหล่านั้นมันหายไป
ผมจึงอยากจะให้ภาพของผมไปปลุกความเป็นเด็กในตัวของผู้ใหญ่เหล่านั้น เพื่อเรียกเอาความน่ารัก ความแปลก ความน่าทะนุถนอมของสัตว์ ที่พวกเขาเคยรู้สึกเมื่อตอนเป็นเด็กกลับคืนมา
และอยากให้ทุกคนที่ชมภาพถ่ายของผม รู้ว่าสัตว์ทุกตัวก็เหมือนเป็นเพื่อนร่วมโลกของเรา อยากให้คนมองมัน แล้วเห็นภาพสะท้อนของความเป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน เหมือนเวลาที่เราเห็นภาพสัตว์ แม่กับลูก หรือสัตว์บางตัวที่กำลังอยู่ในท่าทางครุ่นคิด กำลังแฮปปี้ กำลังโกรธกำลังมีกังวล อยากให้ความรู้สึกที่แสดงออกจากสัตว์แต่ละตัวสื่อไปถึงคน ให้รู้ว่ามันก็เป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน
ผมคิดว่าเวลาเราเห็นสัตว์มันก็เหมือนเวลาที่เราเห็นคนต่างชาติที่มาจากประเทศที่ยังไม่พัฒนาด้วย เหมือนกับเวลาเราเห็น คนเขมร คนลาว หรือแม้แต่คนที่มาจากบ้านนอกของประเทศเรา บางครั้งคนเหล่านั้นจะแสดงออกถึงความกลัว ความไม่ไว้ใจ ออกมาให้เราได้เห็น เพราะเราต่างก็ยังไม่คุ้นเคยกัน ไม่รู้ใจกัน แต่ถ้าเราได้พูดคุยได้ใกล้ชิด เราก็จะรู้สึกเข้าใจ อยากที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเรา
เมื่อได้มาใกล้ชิดกับสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ประเภทไหน ถ้าเราให้เวลาใกล้ชิดกับมันสักนิดนึง มองมันอย่ากลัวมัน คุณก็จะเกิดความรัก และอยู่ร่วมกับมันได้
ผมหวังว่าภาพถ่ายของผมจะไปจับใจใครสักคน แล้วทำให้อยากรู้จักสัตว์พวกนี้มากขึ้น รู้สึกสงสาร รู้สึกว่าสัตว์มันน่ารัก ทุกครั้งที่ผมถ่ายภาพ ผมตั้งใจที่จะดึงเอาจุดเด่นของสัตว์แต่ละตัวออกมา”
ไม่ว่าคนที่มองสัตว์ในภาพถ่ายของเขา จะมองด้วยความน่ารัก น่าเอ็นดู แปลกตา แปลกใจ หรือแม้แต่มองด้วยความขำขันก็ตามที
เร็วๆ นี้ …ทุกอาทิตย์ เตรียมพบกับภาพถ่ายและเรื่องราวใน Nature Impressions ทาง ART EYE VIEW แห่งนี้
เพราะ แอชลีย์ วินเซนต์ ตกปากรับคำจะมาบอกเล่าเบื้องหลังของการได้มาซึ่งภาพถ่ายสัตว์ แต่ละภาพของเขา
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com