>>>คอลัมน์ : 108-1000 – ศิลป์ โดย รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน
หลังจากที่การสร้างสรรค์งานศิลปะได้พัฒนาสูงขึ้นจนกลายเป็นศาสตร์ชั้นสูง ผู้ปกครองทั่วทุกมุมโลกและทุกยุคทุกสมัยในอดีต ซึ่งมักจะเป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปะรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ได้มองเห็นช่องทางในการนำศิลปะมาตอบสนองประโยชน์ทางการเมืองเชิงโฆษณาชวนเชื่อของตน
ดังจะเห็นได้จากภาพจิตรกรรม ประติมากรรมนูน และประติมากรรมลอยตัว ที่พบในอารยธรรมอียิปต์ เมโสโปเตเมีย เปอร์เซีย และโรมัน รวมทั้งประเทศต่างๆ ทั้งในทวีปยุโรปและเอเชีย ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเทิดพระเกียรติ การสรรเสริญบุญญาบารมี คุณความดี หรือความเก่งกล้าสามารถทางการศึกของกษัตริย์หรือองค์จักรพรรดิ เพื่อเป็นการป่าวประกาศให้มหาชนยอมรับสิทธิและความชอบธรรมในการปกครองแผ่นดินเหนือมนุษย์ทุกผู้ทุกนามซึ่งถือว่าเป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของตน
การเล็งผลเลิศในการปกครองคนหมู่มากให้อยู่ในความสงบและการป้องกันกระแสต่อต้านจากฝูงชนที่อยู่ภายใต้การปกครอง นำไปสู่การปลูกฝังความเชื่อที่ว่า ผู้ปกครองได้สิทธิอันชอบธรรมในการปกครองมวลมนุษย์จากพระเจ้า หรือผู้ปกครองคือโอรสแห่งเทพเจ้า หรือมีสถานะเป็นสมมุติเทพ แนวคิดดังกล่าวนำไปสู่การสร้างภาพผู้ปกครองให้งดงามแบบอุดมคติราวกับเทพเจ้า รวมทั้งการสรรเสริญบุญญาธิการให้สูงเลิศลอยเกินจริงและปิดบังความจริงบางอย่างเพื่อความสมบูรณ์แบบทางสุนทรียภาพ ดังเช่นภาพจักรพรรดินโปเลียนนำกองทัพข้ามภูเขาแอลป์ที่ช่องเขาเซ็นต์เบอร์นาร์ด ของ ฌาคส์ หลุยส์ ดาวิด์ (Jacques-Louis David / 1748-1825) ที่จะมาเล่าให้ท่านทั้งหลายได้ฟังในวันนี้
ดาวิด์เป็นจิตรกรที่เขียน ภาพเหมือนของจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) ไว้เป็นจำนวนมาก แต่ภาพจักรพรรดินโปเลียนกำลังนำทัพข้ามภูเขาแอลป์ที่ช่องเขาเซ็นต์เบอร์นาร์ด (Great St. Bernard) เพื่อไปตีอิตาลีเมื่อปี ค.ศ. 1800 (รูปที่ 1) เป็นภาพเหมือนแบบอุดมคติของจักรพรรดินโปเลียนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของดาวิด์ ภาพนี้เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1801 ขณะที่นโปเลียนยังทรงเรืองอำนาจอยู่ จิตรกรวัย 60 ปี นำเสนอภาพขององค์จักรพรรดิผู้ยิ่งยงในทุกสมรภูมิกำลังประทับนั่งอย่างสง่างามบนหลังอาชาสีหมอก พระองค์ทรงเครื่องแบบทหาร พระหัตถ์ซ้ายดึงบังเหียนม้าไว้ พระพักตร์ที่ผินออกสู่นอกภาพ ดวงเนตรที่ฉายแววมุ่งมั่นมายังผู้ชม และพระหัตถ์ขวาที่ทรงยกขึ้นชี้ไปเบื้องหน้ายังประเทศอิตาลี ราวกับจะทรงประกาศถึงคำมั่นสัญญาที่จะทรงนำชัยชนะกลับมาสู่ประเทศฝรั่งเศส
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเดินทัพข้ามช่องเขาแคบๆ บนเทือกเขาแอลป์เพื่อไปยังประเทศอิตาลี เป็นการเดินทางที่ยากลำบากมาก องค์จักรพรรดิมิได้ทรงม้าศึกสีหมอก ที่ยกขาหน้าทั้งสองขึ้นอย่างทะนงองอาจและคึกคะนองราวกับกำลังจะออกศึก แต่พระองค์ต้องทรงประทับนั่งบนหลังล่อ ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความทรหดอดทนสูงและเหมาะสมกว่าม้าในการเดินทางข้ามเทือกเขาอันสูงชันและทุรกันดาร ไม่เพียงเท่านั้น ดาวิด์ยังนำเสนอภาพองค์จักรพรรดิที่มีพระวรกายได้สัดส่วนงดงามราวกับเทพบุตร ซึ่งต่างจากพระองค์จริงโดยสิ้นเชิง (รูปที่ 2) ในท่าทางที่ถูกจัดวางไว้อย่างสง่างามแบบอุดมคติอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าศิลปินจะมีอิสระในการสร้างสรรค์งานตามจินตนาการและมโนคติของตนก็ตาม แต่บางครั้งก็ต้องขัดแย้งและยอมผ่อนปรนให้กับความต้องการและเหตุผลส่วนตัวของผู้ว่าจ้างด้วยเช่นกัน ซึ่งส่งผลให้ผลงานจำนวนมากจบลงแค่เพียงภาพร่างหรือแบบจำลองเท่านั้น ดังเช่นภาพนโปเลียนกำลังทรงสวมมงกุฎจักรพรรดิด้วยพระองค์เองต่อพระพักตร์สันตะปาปาพิอุสที่ 7 (Pope Pius VII) (รูปที่ 3) ซึ่งเป็นภาพร่างสำหรับโครงการเขียนภาพขนาดใหญ่เพื่อเป็นอนุสรณ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของจักรพรรดินโปเลียน เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1804 ณ มหาวิหารน็อตเตรอดาม (Notre Dame) แห่งนครปารีส แต่มิได้ถูกนำมาเขียนเป็นภาพจิตรกรรมดังที่ศิลปินได้ตั้งใจไว้ สาเหตุอาจเป็นเพราะนโปเลียนทรงพระราชดำริว่าเป็นภาพที่ดูอหังการมากเกินไปก็เป็นได้
ส่วนภาพพระราชพิธีสวมมงกุฎแต่งตั้งพระมเหสีโจเซฟฟิน (Josephine) เป็นจักรพรรดินี เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1805 ณ มหาวิหารแห่งเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ของดาวิด์ (รูปที่ 4 และ 5) กลับเป็นที่ทรงพอพระราชหฤทัยของจักรพรรดินโปเลียนมาก ถึงกับทรงมีพระบัญชาให้เขียนภาพพระราชมารดา ที่ไม่ทรงเสด็จเข้าร่วมในพระราชพิธีนี้ เนื่องจากไม่โปรดพระสุณิสา (ลูกสะใภ้) พระองค์นี้มาก ไว้ในภาพนี้ด้วย เมื่อพระราชมารดาได้ทอดพระเนตรภาพนี้ จึงกริ้วมาก แต่นโปเลียนกลับกราบบังคมทูลพระราชมารดาว่า สักวันหนึ่งพระราชมารดาจะต้องรู้สึกเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าฯ ที่มีพระฉายาลักษณ์ปรากฏในภาพนี้ด้วย
เช่นเดียวกับพระบรมรูปสลักด้วยหินอ่อนของจักรพรรดินโปเลียน ที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติกงสุลที่ 1 แห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส โดย อันโตนิโอ คาโนวา (Antonio Canova / 1757 – 1822) ประติมากรเอกแห่งยุคคลาสสิคใหม่ (Neo-Classicism) ของอิตาลีและยุโรป (รูปที่ 6) ขณะที่นโปเลียนต้องการให้ประติมากรนำเสนอพระบรมรูปของพระองค์ทรงชุดเครื่องแบบทหารในฐานะจอมทัพผู้ยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศส คาโนวากลับไม่เห็นพ้องด้วย เพราะเขาต้องการนำเสนอพระบรมรูปเปลือยเปล่าขององค์จักรพรรดิที่มีพระวรกายได้สัดส่วนงดงามและเคลื่อนไหวในท่าทางอันองอาจสง่างามเช่นเดียวกับมาร์ส (Mars) เทพเจ้าแห่งสงคราม อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่านโปเลียนจะยังทรงเห็นว่า การนำเสนอพระบรมรูปในลักษณะเปลือยเปล่าแบบเทพเจ้ากรีกเพื่อประกาศศักดานุภาพและพระราชอำนาจขององค์จักรพรรดิจะดูไม่ค่อยเข้ากับยุคสมัยก็ตาม แต่ก็ไม่อาจทรงปฏิเสธความประสงค์อันแน่วแน่ของประติมากรเอกแห่งยุคได้
แนวคิดในการสร้างพระบรมรูปเพื่อเฉลิมพระเกียรติของจักรพรรดิในลักษณะยกย่องเชิดชูบุญญาบารมีเสมอกับเทพเจ้าเช่นนี้เคยปรากฏมีแล้วในสมัยจักรวรรดิโรมัน ดังเช่น พระบรมรูปของจักรพรรดิออกุสตุส (Augustus / 63 BC-AD 14) ซึ่งเป็นประติมากรรมลอยตัวขนาดเท่าคนจริงสลักจากหินอ่อน สร้างประมาณปี ค.ศ. 12 และขุดพบที่เมืองพริมาปอร์ตา (Prima Porta) ใกล้กรุงโรม (รูปที่ 7) รูปเหมือนของจักรพรรดิออกุสตุสสร้างเลียนแบบประติมากรรมดอริฟอรอส (Doryphoros = ผู้ถือหอก) ของโพลิคีลตุส (Polycletus / ราวกลางศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล) ประติมากรเอกของกรีก (รูปที่ 8) องค์จักรพรรดิซึ่งทรงชุดเกราะแม่ทัพ มีพระวรกายได้สัดส่วนงดงามราวกับนักกีฬาหนุ่ม พระองค์ทรงเคลื่อนไหวในท่วงท่าอันสง่างามราวกับเทพบุตร พระหัตถ์ซ้ายทรงถือคทาแห่งจอมทัพ พระกรขวายกสูงขึ้น พระดัชนีชี้ไปข้างหน้าอย่างมุ่งมั่น การปรากฏกายของกามเทพน้อย ผู้ทรงประทับนั่งอยู่แทบพระบาทขององค์จักรพรรดิ เป็นการประกาศให้รู้เป็นนัยว่า พระองค์ทรงสืบเชื้อสายมาจากเทพธิดาวีนัสตามความเชื่อของราชสกุล
นอกจากนั้น บางครั้งศิลปินยังนำเสนอพระบรมรูปของจักรพรรดิในรูปเทพเจ้าด้วย เช่น พระบรมรูปของจักรพรรดิคลอดิอุส (Claudius / 10 BC-AD 54) เสมอมหาเทพซีอุส (Zeus) (รูปที่ 9) เป็นต้น
หมายเหตุ: ชื่อเฉพาะภาษาต่างประเทศในบทความนี้สะกดตามคำอ่านในภาษานั้นๆ
รู้จัก … รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน
จบมัธยมศึกษาตอนปลายจาก โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และปริญญาตรี อักษรศาสตร์บัณฑิต (Bachelor of Art) (ภาษาอังกฤษ) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม
จากนั้นจึงได้ไปศึกษาต่อยังประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ที่มหาวิทยาลัย Technische Universität Carolo-Wilhelmina แห่งเมือง Braunschweig จนจบหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต (Magistra Artium)
ต่อมาได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาต่อจนจบปริญญาดุษฎีบัณฑิต (Doktors der Philosophie/Dr. Phil.) (ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก) ด้วยระดับ “magna cum laude” จากมหาวิทยาลัย Osnabrück แห่งเมือง Osnabrück
ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2546 ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการหอศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. 2544 ได้รับทุนจากสถาบันเกอเธ่ ให้ไปเข้าร่วมการสัมมนาด้านวัฒนธรรม ณ เมือง Weimar และ Berlin ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 1 เดือน พร้อมทั้งได้นำเอาผลงานศิลปะของศิลปินไทย 3 คน คือ ดำรง วงศ์อุปราช อภิชัย ภิรมย์รักษ์ และ เด่น หวานจริง ไปเผยแพร่ในรูปการจัดแสดงนิทรรศการเป็นครั้งแรกในประเทศเยอรมนี ณ Kunstverein Talstrasse แห่งเมือง Halle ด้วย
พ.ศ. 2545 ได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ของทวีปยุโรป ณ กรุง Berlin ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 3 เดือน
พ.ศ. 2548 ดำรงตำแหน่งประธานสภาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2552 ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ปัจจุบันรับราชการในตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ ระดับ 9 ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
นอกจากงานประจำด้านการสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกในคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แล้ว ยังมีผลงานที่เป็นบทความทางวิชาการ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน ที่พิมพ์เผยแพร่อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี และผลงานสร้างสรรค์ศิลปะที่แสดงร่วมกับคณาจารย์ในคณะอีกด้วย
ผลงานอื่นๆ ได้แก่ การแต่งตำราประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก การออกแบบหนังสือและสูจิบัตร การกำกับและจัดวางรูปแบบนิทรรศการศิลปะ และการจัดทำ (การกำกับ) VCD
เมื่อ พ.ศ.2549 เคยมีผลงานหนังสือ “ศิลปะคลาสสิก” ซึ่งแต่งขึ้น จากการศึกษาและค้นคว้าตำราต่างประเทศหลายสิบเล่มเป็นเวลานานกว่าสิบปี
และ พ.ศ.2552 รศ.ดร.กฤษณา มีผลงานหนังสือ “เผยความลับที่ไม่ลับ ของ รหัสลับดาวินชี” ออกมาเปิดโปง ความจริงที่ถูกปิดบัง ซ่อนเร้น และบิดเบือนอย่างมโหราฬ ใน รหัสลับดาวินชี (The Da Vinci Code) นวนิยายอาชญากรรมเชิงสืบสวนสอบสวนของ แดน บราวน์ ที่โด่งดังและขายดีที่สุดเมื่อหลายปีที่ผ่านมา
ART EYE VIEW เชิญ รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา มาร่วมให้ความรู้แก่ผู้ชมงานศิลปะ ด้วยเห็นว่า ความรู้ที่มี ไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่ ในรั้วสถาบันการศึกษา
ติดตามอ่าน …108-1000 – ศิลป์ โดย รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน ได้ทุกอาทิตย์ ทาง ART EYE VIEW
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com