Celeb Online

March: เดือนแห่งเทพเจ้ามาร์ส

>>>คอลัมน์ : 108-1000 – ศิลป์  โดย  รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน เดือนนี้เป็นเดือนมีนาคม เดือนที่ 3 ของปฏิทินสากล ซึ่งยูลิอุส ซีซาร์ (Julius Caesar / 100 – 44 ปีก่อนคริสตกาล) ได้วางระบบไว้เมื่อ 46 ปีก่อนคริสตกาล ดังนั้นจึงเรียกปฏิทินนี้ว่า ปฏิทินยูเลียน (Julian Calendars)

ปฏิทินนี้ปีหนึ่งมี 365 วัน แบ่งเป็น 12 เดือน เดือนละ 30 วัน หรือ 31 วัน ยกเว้นเดือน กุมภาพันธ์ มี 28 วัน แต่ทุก 4 ปี หรือ “ปีอธิกสุรทิน” เดือน กุมภาพันธ์ จะมี 29 วัน ต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1582 สันตะปาปาเกรกอรีที่ 13 (Pope Gregory XIII / ค.ศ.1502-1585 / ดำรงตำแหน่งสันตะปาปาระหว่าง ค.ศ.1572-1585) ทรงแก้ไขเปลี่ยนแปลงปฏิทินยูเลียนเล็กน้อย ซึ่งก็คือปฏิทินสากลที่เราใช้ในปัจจุบัน ดังนั้นจึงเรียกปฏิทินนี้ว่า ปฏิทินเกรกอเลียน (Gregorian Calendars)

ความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับปฏิทินสากลอีกประการหนึ่งคือ ชื่อของเดือนบางเดือน เช่น เดือนที่ 7 “July” ตั้งชื่อตามนามของ ยูลิอุส ซีซาร์ ผู้วางระบบปฏิทินยูเลียน เดือนที่ 8 “August” ตั้งชื่อตามพระนามของ ออกุสตุส (Augustus) จักรพรรดิพระองค์แรกแห่งอาณาจักรโรมัน ส่วนเดือนที่ 3 “March” ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแด่ เทพเจ้ามาร์ส (Mars) เทพแห่งสงครามของชาวโรมัน “March” ย่อมาจาก “Martius mensis” ซึ่งเป็นภาษาลาติน แปลว่า “เดือนแห่งเทพเจ้ามาร์ส”

เทพเจ้ามาร์ส ทรงเป็นราชโอรสแห่ง เทพเจ้าจูปีเตอร์ (Jupiter) อันประสูติจากเทพนารียูโน (Juno) เทพเจ้ามาร์สโปรดการต่อสู้ การสงคราม และการหลั่งเลือดยิ่งนัก ทุกสมรภูมิที่พระองค์ก้าวพระบาทเหยียบย่ำไปจะตามติดไปด้วยพระราชโอรสฝาแฝด โฟบอส (Phobos) เทพแห่งความหวาดกลัว และ ไดมอส (Deimos) เทพแห่งความตื่นตระหนก อีกทั้ง พระราชธิดาเบลโลนา (Bellona) เทพกัญญาแห่งสงคราม ผู้ทรงปลุกใจนักรบให้ฮึกเหิมและกล้าแข็ง

เทพและเทพีทั้ง 3 พระองค์นี้ประสูติจากเทพธิดาวีนัส นอกจากนั้นยังมี เอริส (Eris) เทพีแห่งความบาดหมาง พระขนิษฐาของเทพเจ้ามาร์ส เสด็จร่วมขบวนไปด้วยทุกครั้ง ด้วยเหตุนี้ เทพเจ้ามาร์สจึงเป็นที่เกลียดชังของเหล่าทวยเทพและมนุษย์

จินตกวีโฮเมอร์ (Homer) กล่าวถึงเทพเจ้ามาร์สใน มหากาพย์อีเลียด (Iliad) ซึ่งว่าด้วยเรื่องราวในเจ็ดสัปดาห์สุดท้ายของสงครามกรุงทรอย ที่รบกันนานถึง 10 ปี ว่า ทรงเป็นเทพผู้ยินดีในการประหัตประหาร ทรงมีมลทินด้วยเลือด และทรงเป็นเทพอุบาทว์แห่งมนุษย์ทั้งปวง ภาพลักษณ์ของเทพเจ้ามาร์สที่เหี้ยมโหดอำมหิต กระหายเลือด และขี้ขลาดตาขาวในมหากาพย์นี้ แสดงให้เห็นความเกลียดชังของชาวกรีกที่มีต่อเทพเจ้าองค์นี้

ขณะที่ชาวโรมันซึ่งเป็นชาตินักรบ กลับยกย่องสรรเสริญสดุดีพระองค์ในฐานะนักรบผู้กล้าแกร่ง เหล่านักรบชาวโรมันต่างรู้สึกฮึกเหิมทุกครั้งที่ก้าวสู่สนามรบอันยิ่งใหญ่เกรียงไกรของเทพเจ้ามาร์ส และพร้อมที่จะกระโจนเข้าหาความตายในสมรภูมิอันรุ่งโรจน์และหวานปานน้ำผึ้ง ดังนั้น ภาพลักษณ์ของเทพเจ้ามาร์สในสายตาชาวโรมันจึงกล้าหาญ สง่างาม น่าเกรงขาม และไร้ผู้ต่อกร เทพแห่งสงครามไม่มีพระมเหสี แต่ทรงมีชู้รักมากหน้าหลายตาทั้งที่เป็นเทพนารีและมนุษย์เดินดิน โดยเฉพาะสัมพันธ์สวาทอันร้อนแรงระหว่างพระองค์และเทพธิดาวีนัส มเหสีของ วัลแคน (Vulcan) เทพเจ้าแห่งไฟ ซึ่งฉาวโฉ่ไปทั้งยอดเขาโอลิมปัส

สำหรับวันนี้ขอนำภาพจิตรกรรมที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเทพเจ้าแห่งสงครามมาร์สมาให้ท่านผู้อ่านชมสัก 2-3 ภาพ สองภาพแรกเป็นผลงานสร้างสรรค์ของ ปีเตอร์ พอล รูเบน (Pieter Paul Rubens) จิตรกรเอกสมัยบาโรคแห่งแคว้นแฟลนเดิส (Flanders) ซึ่งนอกจากจะเป็นภาพบันทึกทางประวัติศาสตร์ของทวีปยุโรปแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นสถานภาพทางสังคมอันสูงส่งของศิลปิน ที่ได้รับการยกย่องและไว้วางพระราชหฤทัยจากกษัตริย์ให้ดำรงตำแหน่งราชทูตเพื่อเจรจาหาทางหลีกเลี่ยงสงครามและหาลู่ทางนำสันติภาพให้กลับคืนสู่ทวีปยุโรปอีกครั้ง

มิเนอร์วาปกป้องสันติภาพจากเงื้อมมือของเทพพระเจ้ามาร์ส (รูปที่ 1) รูเบนนำเสนอภาพเชิงเปรียบเทียบให้เห็นยุคทอง ที่มีแต่ความสุขสงบและความอุดมสมบูรณ์ยามบ้านเมืองปราศจากศึกสงคราม วีนัส เทพนารีแห่งความรัก ประทับนั่งเป็นองค์ประธานในภาพ ท้าวเธอทรงบีบปทุมถันเพื่อประทานน้ำนมแก่ทารกน้อยที่อยู่ข้างพระวรกาย ฟอนส์ (Fauns) เทผลไม้หลายหลากชนิด อันเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ออกถวายแด่คิวปิดน้อย หญิงสาวคนหนึ่งทางด้านซ้ายของภาพเดินกระเดียดภาชนะทองคำที่ใส่เครื่องประดับและสิ่งของอันมีค่า ซึ่งหมายถึงความร่ำรวยและความมั่งคั่งของนคร ส่วนหญิงสาวอีกคนหนึ่งกำลังร่ายรำตามจังหวะการสั่นของแทมบุริน (Tambourine) ที่เธอถืออยู่ในมือ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความสุขสนุกสนานรื่นเริงของปวงประชา

ในยุคแห่งความสงบสุขนี้ แม้กระทั่งสัตว์ร้ายเช่นเสือดาว ที่นอนเล่นอยู่ใต้แทบพระบาทของเทพธิดาวีนัสก็ยังเชื่องเหมือนแมว ในฉากหลัง มิเนอร์วา (Minerva) เทพนารีแห่งปัญญาและผู้พิทักษ์บ้านเกิด กำลังขับไล่เทพเจ้าแห่งสงครามและฟิวรีส์ อเล็กโต (Furies Alecto) เทพีแห่งการแก้แค้น ออกจากอาณาจักรแห่งความสงบสุขนี้ รูเบน ใช้ภาพจิตรกรรมนี้แทนสาสน์แห่งสันติภาพเพื่อโน้มน้าวพระทัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ (Charles I / 1600-1649 / ขึ้นครองราชย์ 1625) ให้ทรงเห็นแก่ความสุขสงบของแผ่นดินด้วยการยุติสงครามและสร้างสันติภาพไปทั่วทุกสารทิศ

ผลแห่งสงคราม (รูปที่ 2) รูเบน เขียนภาพเปรียบเทียบบ้านเมืองยามศึกสงครามภาพนี้ หลังจากภาพแรก 8 ปี และหลังจากที่เขาขอลาออกจากตำแหน่งราชทูตอันทรงเกียรติ รูเบน เขียนภาพนี้ราวกับต้องการจะย้ำเตือนถึงความล้มเหลวในการเจรจาทางการทูตของตนและความหวังอันสิ้นสลายในการสร้างสันติภาพ เพราะเวลานั้นสงคราม 30 ปีกำลังแผ่ขยายวงกว้างไปทั่วทั้งทวีปยุโรป บ้านเมืองทุกหัวระแหงลุกเป็นไฟ ประชาชนอดอยากยากแค้น แผ่นดินแห้งแล้งไร้พืชพันธุ์ธัญญาหาร

ในคราวนี้ไม่มีใครสามารถหยุดยั้งเทพเจ้าแห่งสงครามได้อีกต่อไป แม้กระทั่งเทพธิดาแห่งความรัก ที่ทรงพยายามใช้เสน่ห์อันรัดรึงใจของพระนางหว่านล้อมและออดอ้อนด้วยคำหวานให้เทพเจ้ามาร์สยั้งหยุดในอ้อมแขนอันอบอุ่นและนุ่มนวลแห่งพระนาง ในขณะเดียวกันเทพนารีแห่งความพยาบาทก็พยายามฉุดลากและเชิญชวนเทพเจ้าแห่งสงครามให้เสด็จออกสู่สมรภูมิรบอันหอมหวานด้วยหัตถ์ข้างหนึ่ง ส่วนหัตถ์อีกข้างหนึ่งทรงถือคบเพลิงที่โชติช่วงด้วยไฟแห่งความพยาบาท บริเวณมุมขวาในฉากหลังของภาพ ปรากฏร่างของโรคระบาดและความหิวโหย ที่กำลังเร่งรุดล่วงหน้าไปยังจุดหมายก่อนโดยไม่รอช้า

เทพแห่งสงครามทรงกำพระแสงดาบเปื้อนโลหิตไว้แน่น พระบาทเหยียบย่ำทำลายศิลปะ วัฒนธรรม และทุกสิ่งที่ยุโรปเคยสรรค์สร้างความเจริญไว้หลายร้อยปี ไม่ว่าจะเป็นวิทยาการ ซึ่งแทนค่าด้วยหนังสือ ชีวิตครอบครัวอันอบอุ่น ซึ่งแทนค่าด้วยความหวาดกลัวของมารดาและบุตร ความอุดมสมบูรณ์แห่งผืนแผ่นดินและความมั่งคั่งแห่งมหานคร ซึ่งแทนค่าด้วยการเผาทำลายเมืองในฉากหลัง และวิจิตรศิลป์ อันได้แก่ ดนตรีแทนค่าด้วยหญิงสาวและลูท (เครื่องดนตรีดีดชนิดหนึ่งคล้ายน้ำเต้า) จิตรกรรมแทนค่าด้วยภาพร่างรูปเทพธิดากราซีสทั้ง 3 (The Three Graces) ที่อยู่ใต้พระบาทของเทพเจ้ามาร์ส และสถาปัตยกรรมแทนค่าด้วยความตายของสถาปนิก (ชายหนุ่มที่ถือวงเวียนไว้ในมือ) ภาพหญิงสาวทางด้านซ้ายของภาพที่ร่ำไห้และชูแขนสองข้างขึ้นสู่ฟากฟ้า ราวกับกำลังกล่าวอุทธรณ์ร้องทุกข์ขอให้เทพเจ้าทรงเมตตา คือสัญลักษณ์แห่งเสียงคร่ำครวญหวนไห้ของยุโรปในยามที่บ้านเมืองอยู่ท่ามกลางสภาวะศึกสงคราม

เทพเจ้ามาร์สและเทพธิดาวีนัส (รูปที่ 3) ซานโดร บอตติเชลลี (Sandro Botticelli) จิตรกรเอกสมัยเรอเนสซองซ์ตอนต้นของอิตาลี นำเสนอภาพเทพแห่งสงครามขณะประทับอยู่กับยอดชู้ของพระองค์ หลังจากเสด็จกลับมาจากสมรภูมิ ความอ่อนเพลียจากการกรำศึกหนักทำให้พระองค์ทรงดำดิ่งในห้วงนิทรารมย์จนไม่ทรงรับรู้ถึงความสับสนวุ่นวายรอบพระวรกายจากความซุกซนของเหล่าแซตเตอร์น้อย ที่นำอาวุธคู่กาย เสื้อเกราะ และหมวกเหล็กของพระองค์มาเล่นอย่างสนุกสนาน แซตเตอร์น้อยตนหนึ่งแสดงความทะลึ่งและซุกซนอย่างเต็มที่ด้วยการแกล้งเป่าหอยสังข์ใส่พระกรรณของเทพเจ้ามาร์สเพื่อให้พระองค์ทรงตกใจตื่น ขณะที่เทพกัญญาแห่งความรักทรงกังวลว่าเทพแห่งสงครามจะทรงตื่นขึ้นมา และอาจเสด็จออกสู่สมรภูมิรบอีกครั้งหนึ่งก็ได้

บอตติเชลลีนำเสนอภาพความสงบของแผ่นดิน เมื่อเทพเจ้าแห่งสงครามทรงประทับอยู่กับเทพธิดาแห่งความรัก

หมายเหตุ: ชื่อเฉพาะภาษาต่างประเทศในบทความนี้สะกดตามคำอ่านในภาษานั้นๆ

เรียนรู้ศัพท์ศิลปะกับ 108-1000-ศิลป์

Vulcan / Hephaestus วัลแคน หรือ ฮีฟีสทัส ในภาษากรีก เทพเจ้าแห่งไฟ
Flanders แฟลนเดิส ในอดีตเคยเป็นแคว้นอิสระ ปัจจุบันคือดินแดนทางตอนใต้ของประเทศเบลเยียม

Minerva / Athena มิเนอร์วา หรือ เอธีนา ในภาษากรีก เทพีแห่งปัญญา ศิลปะ งานช่าง เกษตรกรรม และศึกสงคราม ราชธิดาแห่งเทพเจ้าซุส

Fauns / Satyrs ฟอนส์ หรือ แซตเตอร์ ในภาษากรีก อมนุษย์ มีขาและเท้าเป็นแพะ มีขนดกเต็มตัว และมีเขาสั้นๆ บนหน้าผาก บริวารของเทพเจ้าแบคคุส

Bacchus / Dionysus แบคคุส หรือ ดิโอนิซุส ในภาษากรีก เทพเจ้าแห่งเหล้าองุ่นและความปลื้มปีติ

Cupid / Amor / Eros คิวปิด / แอเมอร์ หรือ อีรอส ในภาษากรีก เทพบุตรน้อยแห่งความรัก โอรสแห่งเทพธิดาวีนัสและเทพเจ้ามาร์ส หรือ เมอร์คิวรี (Mercury) เทพเจ้าแห่งการสื่อสาร

Thirty Years War สงคราม 30 ปี (1618 – 1648) เริ่มจากความขัดแย้งระหว่างคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกและโปรแตสแตนต์เยอรมัน ต่อมาได้กลายเป็นสงครามการเมืองระหว่างฝรั่งเศส สวีเดน และเดนมาร์กกับอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และเสปน

รู้จัก … รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน

จบมัธยมศึกษาตอนปลายจาก โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และปริญญาตรี อักษรศาสตร์บัณฑิต (Bachelor of Art) (ภาษาอังกฤษ) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม

 จากนั้นจึงได้ไปศึกษาต่อยังประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ที่มหาวิทยาลัย Technische Universität Carolo-Wilhelmina แห่งเมือง Braunschweig จนจบหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต (Magistra Artium)

ต่อมาได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาต่อจนจบปริญญาดุษฎีบัณฑิต (Doktors der Philosophie/Dr. Phil.) (ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก) ด้วยระดับ “magna cum laude” จากมหาวิทยาลัย Osnabrück แห่งเมือง Osnabrück

ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2546 ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการหอศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร

พ.ศ. 2544 ได้รับทุนจากสถาบันเกอเธ่ ให้ไปเข้าร่วมการสัมมนาด้านวัฒนธรรม ณ เมือง Weimar และ Berlin ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 1 เดือน พร้อมทั้งได้นำเอาผลงานศิลปะของศิลปินไทย 3 คน คือ ดำรง วงศ์อุปราช อภิชัย ภิรมย์รักษ์ และ เด่น หวานจริง ไปเผยแพร่ในรูปการจัดแสดงนิทรรศการเป็นครั้งแรกในประเทศเยอรมนี ณ Kunstverein Talstrasse แห่งเมือง Halle ด้วย

พ.ศ. 2545 ได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ของทวีปยุโรป ณ กรุง Berlin ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 3 เดือน 

พ.ศ. 2548 ดำรงตำแหน่งประธานสภาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2552 ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปัจจุบันรับราชการในตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ ระดับ 9 ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

นอกจากงานประจำด้านการสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกในคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แล้ว ยังมีผลงานที่เป็นบทความทางวิชาการ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน ที่พิมพ์เผยแพร่อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี และผลงานสร้างสรรค์ศิลปะที่แสดงร่วมกับคณาจารย์ในคณะอีกด้วย

ผลงานอื่นๆ ได้แก่ การแต่งตำราประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก การออกแบบหนังสือและสูจิบัตร การกำกับและจัดวางรูปแบบนิทรรศการศิลปะ และการจัดทำ (การกำกับ) VCD

เมื่อ พ.ศ.2549 เคยมีผลงานหนังสือ “ศิลปะคลาสสิก” ซึ่งแต่งขึ้น จากการศึกษาและค้นคว้าตำราต่างประเทศหลายสิบเล่มเป็นเวลานานกว่าสิบปี

และ พ.ศ.2552 รศ.ดร.กฤษณา มีผลงานหนังสือ “เผยความลับที่ไม่ลับ ของ รหัสลับดาวินชี” ออกมาเปิดโปง ความจริงที่ถูกปิดบัง ซ่อนเร้น และบิดเบือนอย่างมโหราฬ ใน รหัสลับดาวินชี (The Da Vinci Code) นวนิยายอาชญากรรมเชิงสืบสวนสอบสวนของ แดน บราวน์ ที่โด่งดังและขายดีที่สุดเมื่อหลายปีที่ผ่านมา

ART EYE VIEW เชิญ รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา มาร่วมให้ความรู้แก่ผู้ชมงานศิลปะ ด้วยเห็นว่า ความรู้ที่มี ไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่ ในรั้วสถาบันการศึกษา

ติดตามอ่าน …108-1000 – ศิลป์  โดย  รองศาสตราจารย์  ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน  ได้ทุกอาทิตย์ ทาง  ART EYE VIEW

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ www.facebook.com/arteyeviewnews