Celeb Online

น้ำ: ตำนานรักแสนโรแมนติกและปริศนาแห่งสวนลอยในมหานครบาบิโลน 2

>>>คอลัมน์ : 108-1000 – ศิลป์  โดย  รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน

สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้เรายังคงอยู่ที่บาบิโลน มหานครอันรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่เกรียงไกรที่สุดบนพื้นพิภพในอดีต แต่กลับต้องจมอยู่ภายใต้ธรณีอย่างเงียบสงบและถูกหลงลืมจากโลกเป็นเวลานานนับพันปี (รูปที่ 1-3)

 จนกระทั่งเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 โรเบิร์ต โคลเดไว (Robert Koldeway / ค.ศ. 1855-1925) สถาปนิกและนักโบราณคดีชาวเยอรมัน (รูปที่ 4) ได้ขุดพบ ประตูอิชตาร์ (Ischtar Gate) ที่ตั้งชื่อตามพระนามของ เทพนารีอิชตาร์ เทพธิดาแห่งสงครามและความรัก อีกทั้งถนนราชดำเนิน (Procession Street) อันกว้างขวางงดงามที่ทอดตัวยาวเหยียดจากประตูอิชตาร์ตรงไปยังพระราชวัง ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เทพเจ้ามาร์ดุ๊ค (Marduk) เทพเจ้าผู้ปกปักรักษาพระนคร (รูปที่ 5-8) รวมทั้งพระราชวังที่อยู่ทางทิศเหนือและทิศใต้ของพระเจ้าเนบูคัดเนซซาร์ที่ 2 และฐานรากอันมหึมาของหอคอย 6 ชั้นแห่งนครบาบิโลน (รูปที่ 9-11) นอกจากนั้น โคลเดไวยังขุดพบฐานรากของอาคารในเขตพระราชวังทางทิศใต้ใกล้กับประตูอิชตาร์ (รูปที่ 3 และ 12) ซึ่งเขาสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นฐานรากของสวนลอยแห่งนครบาบิโลน สิ่งมหัศจรรย์ 1 ใน 7 ของโลกโบราณ

ถึงแม้ว่าฐานรากของอาคารแห่งนี้จะเป็นโครงสร้างระบบเพดานโค้งที่เหมาะกับการรับน้ำหนักอาคาร อีกทั้งยังมีการขุดพบบ่อน้ำ และสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะคล้ายกว้าน ซึ่งน่าจะใช้สำหรับทดน้ำขึ้นไปบนสวนแบบขั้นบันได รวมทั้งเศษดินเผาแตกๆ อีกจำนวนมากมาย ซึ่งอาจจะเป็นเศษกระถางต้นไม้ดินเผาก็ตาม แต่ก็มีข้อโต้แย้งหลายประการที่ทำให้นักโบราณคดีในปัจจุบันไม่อาจปักใจเชื่อได้ เนื่องจากฐานรากของสิ่งก่อสร้างนี้มีความยาวเพียง 45 เมตร ซึ่งแม้จะมีขนาดใหญ่ไม่น้อย แต่ก็เล็กกว่าที่กล่าวไว้ในบันทึกทางประวัติศาสตร์มาก

นั่นคือ ต้องมีความยาวถึงด้านละ 120 เมตร อีกประการหนึ่ง สิ่งก่อสร้างนี้ ถึงแม้จะอยู่ในเขตพระราชฐาน แต่ก็ตั้งอยู่ในส่วนที่เป็นสำนักราชวัง ไม่ได้อยู่ในเขตพระราชวังชั้นใน ที่สำคัญยังไม่ได้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยูเฟรติสตามที่สตาร์โบบันทึกไว้ อีกทั้งยังอยู่ห่างจากแม่น้ำค่อนข้างมาก ซึ่งทำให้ยากต่อการบริหารจัดการเรื่องระบบน้ำ

นักโบราณคดีบางคนสันนิฐานว่า บางทีสวนลอยแห่งบาบิโลนอาจไม่เคยมีอยู่จริง เพราะผู้ที่เขียนบันทึกเกี่ยวกับสวนลอยแห่งบาบิโลนทุกคน ไม่เคยมีใครเห็นอุทยานนี้ด้วยตาตนเองแม้แต่คนเดียว แม้กระทั่งเบรอสโซส ผู้เขียนบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับสวนลอยแห่งบาบิโลนเป็นคนแรก ก็ยังมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลา 350 ปีก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 250 ปีหลังจากได้มีการสร้างสวนแห่งนี้ และที่น่าประหลาดใจคือ แม้กระทั่ง เฮโรโดตุส (Herodotus) บิดาแห่งประวัติศาสตร์โลกชาวกรีก ผู้มีชีวิตระหว่าง 484-424 ปีก่อนคริสตกาล ก็ยังไม่เคยกล่าวถึงสวนลอยแห่งบาบิโลนเลย ดังนั้นจึงอาจเป็นไปได้ว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพียงจิตนาการของผู้เขียนบันทึกเท่านั้น เพราะแต่เดิมสวนลอยแห่งนี้ผูกพันกับตำนานเกี่ยวกับ ราชินีเซมิรามิส (Semiramis) จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สวนลอยของเซมิรามิส

อย่างไรก็ตาม นักโบราณคดีส่วนใหญ่ยังคงเชื่อว่าสวนลอยแห่งนครบาบิโลนมีอยู่จริง เพราะในดินแดนอียิปต์และเมโสโปเตเมียการสร้างอุทยานขนาดใหญ่ที่งดงามไปด้วยไม้ดอกไม้ประดับหลากหลายสายพันธุ์รวมทั้งพันธุ์ไม้หายากจากทั่วทุกสารทิศในลักษณะสวนพฤกษชาติ เป็นประเพณีนิยมของทุกราชสำนักในดินแดนแห่งนี้ จากจารึกของ พระเจ้าทิกลัทไพลเซอร์ (Tiglath-Pileser / 1115-1076 ปีก่อนคริสตกาล) ทำให้เราทราบว่า ทุกครั้งที่เสด็จกลับมาจากการศึกสงคราม พระองค์จะทรงนำเอาพืชพันธุ์ไม้แปลกๆ จากดินแดนที่พระองค์ทรงยึดครองได้กลับมายังอัสซีเรียเพื่อนำมาเพาะปลูกไว้ในพระราชอุทยานของพระองค์ ดังปรากฏในจารึกว่า

 …พืชพรรณไม้มีค่า ซึ่งไม่มีในดินแดนของข้า ข้าได้ปลูกมันไว้ในอุทยานแห่งอัสซีเรียน

 นอกจากนั้นประติมากรรมนูนต่ำจาก นครคอร์ซาบัด หรือ ดูร์ชาร์รูคิน (Khorsabad / Dur-Sharrukin) (รูปที่ 13) และเมืองเกายูนจิค (Kouyunjik) (รูปที่ 14 และ 15) ยังแสดงภาพอุทยานของอัสซีเรีย ที่สร้างบนเนินสูง มีธารน้ำ ไม้ดอกไม้ประดับนานาพรรณ และนกนานาชนิด บนยอดเนินปรากฏสิ่งก่อสร้างที่สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเทวาลัยหรือแท่นบูชาสำหรับบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประติมากรรมนูนนี้ทำให้นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า สวนลอยแห่งบาบิโลน ที่มีลักษณะก่อตัวสูงขึ้นไปเป็นชั้นๆ แบบขั้นบันได น่าจะสร้างตามแบบพระราชอุทยานใน นครนิเนเวห์ (Nineveh) ซึ่งพระเจ้าเซนนาเชริบ (Sennacherib) ผู้ปกครองอาณาจักรอัสซีเรียระหว่าง 705-681 ปีก่อนคริสตกาล ทรงมีพระบัญชาให้สร้างขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำไทกริส เพื่อถวายแก่พระราชินีธาสเมทูนซาร์รัท (Tasmetun-Sarrat) พระมเหสีของพระองค์ (รูปที่ 16 และ 17) สำหรับการบริหารจัดการเรื่องระบบน้ำคงจะใช้ระหัดสูบน้ำของอาร์คิมิดิส ที่ใช้กันแพร่หลายในดินแดนอัสซีเรีย ทดน้ำจากแม่น้ำไทกริสขึ้นไปบนอุทยาน

ถึงแม้ว่าฐานรากของอาคารที่มีโครงสร้างระบบเพดานโค้ง ซึ่งโคลเดไวขุดพบ จะไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นของสวนลอยอันเลื่องชื่อ แต่นักโบราณคดีส่วนใหญ่ก็ยังไม่ปักใจเชื่อว่า อุทยานซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ 1 ใน 7 ของโลกนี้ จะเป็นเพียงจินตนาการอันพิสดารพันลึกของผู้เขียนบันทึกยุคโบราณเท่านั้น สาเหตุเพราะสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศอิรักที่ผ่านมาหลายปีจนถึงปัจจุบัน ทำให้การขุดค้นทางโบราณคดีในดินแดนพระจันทร์เสี้ยวต้องหยุดชะงักลงอย่างไม่มีกำหนด บางทีสวนลอยแห่งนครบาบิโลนอาจยังรอคอยผู้ค้นพบอย่างสงบภายใต้แผ่นดินอันร้อนระอุของประเทศอิรักอยู่ก็เป็นได้

พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับ น้ำ มาเล่าให้แฟนๆ ที่รักทุกท่านฟังอีก อย่าลืมคลิกเข้ามาอ่านต่อในวันพฤหัสบดีหน้านะคะ
















รู้จัก … รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน

จบมัธยมศึกษาตอนปลายจาก โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และปริญญาตรี อักษรศาสตร์บัณฑิต (Bachelor of Art) (ภาษาอังกฤษ) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม

 จากนั้นจึงได้ไปศึกษาต่อยังประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ที่มหาวิทยาลัย Technische Universität Carolo-Wilhelmina แห่งเมือง Braunschweig จนจบหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต (Magistra Artium)

ต่อมาได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาต่อจนจบปริญญาดุษฎีบัณฑิต (Doktors der Philosophie/Dr. Phil.) (ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก) ด้วยระดับ “magna cum laude” จากมหาวิทยาลัย Osnabrück แห่งเมือง Osnabrück

ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2546 ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการหอศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร

พ.ศ. 2544 ได้รับทุนจากสถาบันเกอเธ่ ให้ไปเข้าร่วมการสัมมนาด้านวัฒนธรรม ณ เมือง Weimar และ Berlin ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 1 เดือน พร้อมทั้งได้นำเอาผลงานศิลปะของศิลปินไทย 3 คน คือ ดำรง วงศ์อุปราช อภิชัย ภิรมย์รักษ์ และ เด่น หวานจริง ไปเผยแพร่ในรูปการจัดแสดงนิทรรศการเป็นครั้งแรกในประเทศเยอรมนี ณ Kunstverein Talstrasse แห่งเมือง Halle ด้วย

พ.ศ. 2545 ได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ของทวีปยุโรป ณ กรุง Berlin ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 3 เดือน 

พ.ศ. 2548 ดำรงตำแหน่งประธานสภาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2552 ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปัจจุบันรับราชการในตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ ระดับ 9 ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

นอกจากงานประจำด้านการสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกในคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แล้ว ยังมีผลงานที่เป็นบทความทางวิชาการ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน ที่พิมพ์เผยแพร่อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี และผลงานสร้างสรรค์ศิลปะที่แสดงร่วมกับคณาจารย์ในคณะอีกด้วย

ผลงานอื่นๆ ได้แก่ การแต่งตำราประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก การออกแบบหนังสือและสูจิบัตร การกำกับและจัดวางรูปแบบนิทรรศการศิลปะ และการจัดทำ (การกำกับ) VCD

เมื่อ พ.ศ.2549 เคยมีผลงานหนังสือ “ศิลปะคลาสสิก” ซึ่งแต่งขึ้น จากการศึกษาและค้นคว้าตำราต่างประเทศหลายสิบเล่มเป็นเวลานานกว่าสิบปี

และ พ.ศ.2552 รศ.ดร.กฤษณา มีผลงานหนังสือ “เผยความลับที่ไม่ลับ ของ รหัสลับดาวินชี” ออกมาเปิดโปง ความจริงที่ถูกปิดบัง ซ่อนเร้น และบิดเบือนอย่างมโหราฬ ใน รหัสลับดาวินชี (The Da Vinci Code) นวนิยายอาชญากรรมเชิงสืบสวนสอบสวนของ แดน บราวน์ ที่โด่งดังและขายดีที่สุดเมื่อหลายปีที่ผ่านมา

ART EYE VIEW เชิญ รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา มาร่วมให้ความรู้แก่ผู้ชมงานศิลปะ ด้วยเห็นว่า ความรู้ที่มี ไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่ ในรั้วสถาบันการศึกษา

ติดตามอ่าน …108-1000 – ศิลป์  โดย  รองศาสตราจารย์  ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน  ได้ทุกอาทิตย์ ทาง  ART EYE VIEW

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ www.facebook.com/arteyeviewnews