Celeb Online

The Night Watch บทความส่งท้าย 108-1000-ศิลป์ โดย รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน

>>>คอลัมน์ : 108-1000 – ศิลป์  โดย  รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน

สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้ดิฉันใคร่ขอนำเสนอจิตรกรรมภาพเหมือนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดภาพหนึ่งในโลกศิลปะ นั่นคือ กองรักษาการณ์ยามค่ำคืน หรือ The Night Watch (ภาพที่ 1) ของ เรมบรันท์ ฮาร์เมนซ์ ฟาน ไรน (Rembrandt Harmensz van Rijn / ค.ศ. 1606-1669) ยอดจิตรกรเอกของเนเธอร์แลนด์ แห่งคริสต์ศตวรรษที่ 17 หรือ สมัยบาโรก มาให้ท่านได้ชม

ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นว่า การตั้งชื่อภาพว่า The Night Watch ของนักประวัติศาสตร์ศิลป์สมัยก่อนได้นำไปสู่ความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวง เพราะภาพนี้เป็นเพียงภาพเหมือนกลุ่มของสมาชิกสมาคมยิงปืนแห่งอัมสเตอร์ดัม หาใช่ภาพเหมือนของกองร้อยอาสาสมัครป้องกันเมืองดังที่เข้าใจกันแต่เดิมไม่

ภาพเหมือนกลุ่มสมาชิกของสมาคมยิงปืนที่นำโดย นายร้อยเอก Frans Banning Cocq ซึ่งรู้จักกันในนามของ The Night Watch หรือ The Company of Captain Frans Bannig Cocq and Lieutenant Willem van Ruijtenburch ได้รับการยกย่องว่าเยี่ยมยอดมากในด้านการนำเสนอ การจัดวางองค์ประกอบภาพ รวมทั้งการกระจายแสงเงาและสีภายในภาพ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าภาพนี้จะได้รับการยกย่องมากในยุคสมัยของเรา แต่กลับเป็นภาพที่ทำให้ศิลปินมีปัญหากับผู้ว่าจ้างมากที่สุดเช่นกัน เพราะสมาชิกส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้มีความรู้สึกว่า ภาพเหมือนนี้ไม่ได้เขียนในแนวประเพณีนิยมตามแบบที่พวกเขาต้องการ

ประมาณ ค.ศ. 1632 เรมบรันท์ได้ตัดสินใจย้ายถิ่นฐานจากเมืองไลเดน (Leiden) บ้านเกิดเพื่อไปตั้งรกรากที่เมืองอัมสเตอร์ดัม ในช่วงปีแรกๆ ที่เขาอาศัยอยู่ในเมืองนี้ผลงานส่วนใหญ่ของเรมบรันท์มักจะเป็น ภาพเหมือนของบุคคลสำคัญ หรือ พ่อค้าที่ร่ำรวยในอัมสเตอร์ดัม รูปแบบการเขียนภาพเหมือนในช่วงนี้จะเหมือนจริงราวกับภาพถ่าย ทั้งรูปร่างหน้าตา เสื้อผ้าอาภรณ์ และเครื่องประดับ ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมเขียนกันมากในอัมสเตอร์ดัมขณะนั้น (ภาพที่ 2)


เรมบรันท์ไม่เพียงจะมีฝีมือยอดเยี่ยมมากในการเขียนภาพเหมือนบุคคลได้อย่างเหมือนจริงตามธรรมชาติเท่านั้น แต่เขายังสามารถถ่ายทอดเอกลักษณ์ส่วนบุคคล พลังแห่งชีวิต จิตวิญญาณ และอารมณ์ความรู้สึกของผู้เป็นแบบออกมาได้อย่างมีชีวิตชีวาอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ชื่อเสียงของเรมบรันท์จึงขจรไกลไปในไม่ช้า และกลายเป็นศิลปินยอดนิยมที่สุดในอัมสเตอร์ดัม ในช่วงระยะเวลาเพียงปีเดียวคือ ระหว่างปี ค.ศ. 1632-1633

เรมบรันท์ เขียนภาพเหมือนไว้ถึงเกือบ 50 ภาพ ภาพเหมือนซึ่งมีชื่อเสียงที่สุดของเขาในระยะเวลานี้คือ ภาพเหมือนกลุ่มที่มีชื่อว่า การบรรยายเรื่องกายวิภาคของนายแพทย์นิโคเลส ทูล์ป (ภาพที่ 3)

หลังจากที่ประเทศเนเธอร์แลนด์สามารถปลดแอกตนเองจากประเทศเสปนได้เป็นผลสำเร็จเมื่อปี ค.ศ. 1648 นอกจากจะประเทศจะได้รับเอกราชแล้ว ประชาชนยังสามารถนับถือคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ สาขาแคลวินิสม์ (Calvinism) ได้อย่างอิสรเสรีอีกด้วย หลังจากนั้นไม่นาน ประเทศเนเธอร์แลนด์ก็ร่ำรวยขึ้นมาอย่างมหาศาลจากการค้าขายทางทะเลกับทวีปเอเชีย ด้วยเหตุนี้ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 จึงถือกันว่าเป็นยุคทองของประเทศเนเธอร์แลนด์


ในสมัยนี้ภาพจิตรกรรมนับเป็นศิลปะสาขาที่ได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษในประเทศนี้ เพราะชนชั้นกลางที่ร่ำรวยขึ้นมาจากการค้าขายทางทะเลต่างนิยมตกแต่งบ้านเรือนด้วยภาพเขียนหรืองานศิลปะเพื่อยกสถานะทางสังคมของตนให้สูงขึ้นด้วยความมั่งคั่งร่ำรวยและรสนิยมทางศิลปะ นอกจากนั้น ภาพเขียนยังกลายมาเป็นวัตถุมีค่าที่พวกเศรษฐีนิยมซื้อหามาเก็บไว้เพื่อเก็งกำไรอีกด้วย ดังนั้นจึงทำให้ผู้ที่พอมีพรสวรรค์ทางด้านการเขียนภาพและเขียนภาพด้วยใจรักมากมายหลายคนประสบความสำเร็จในอาชีพการเขียนภาพ และได้หันมายึดอาชีพนี้เป็นหลัก

ระหว่างสงครามปลดปล่อยตนเองจากประเทศเสปนได้มีการจัดตั้งกองร้อยอาสาสมัครป้องกันเมืองขึ้นในประเทศเนเธอร์แลนด์ ต่อมา ถึงแม้ว่าสงครามจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่อดีตอาสาสมัครเหล่านี้มักจะหาโอกาสมารวมกลุ่มพบปะกันและฝึกซ้อมตามสมาคมของตนด้วยความภาคภูมิใจอยู่เนืองๆ คนเหล่านี้มักนิยมว่าจ้างจิตรกรให้มาวาดรูปหมู่ของตนเองไว้เป็นที่ระลึกด้วยเช่นกัน

ภาพเหมือนหมู่ของอดีตกองร้อยอาสาสมัครป้องกันเมืองจะมีขนาดใหญ่โตมาก เพราะเป็นภาพที่มักนำไปแขวนไว้บนผนังห้องประชุมขนาดใหญ่ แน่นอนที่สุด ทุกคนต่างก็ต้องการให้ภาพเหมือนของตนเองมองเห็นได้ชัดเจนเท่ากับของคนอื่นๆ ไม่ว่าจะอยู่ตรงส่วนไหนของภาพ เพราะทุกคนถือว่า เมื่ออยู่ร่วมกันในกลุ่ม พวกเขาต่างมีสิทธิเท่าเทียมกันเสมอ และที่สำคัญที่สุด ทุกคนต้องเฉลี่ยเงินกันจ่ายเป็นค่าจ้างเขียนภาพให้แก่ศิลปินในจำนวนเงินที่เท่าๆ กันอีกด้วย ดังนั้น สิ่งที่ทุกคนต้องการมากที่สุดก็คือ ให้ภาพของตนเองปรากฏอยู่ท่ามกลางแสงสว่างที่แจ่มชัดเช่นเดียวกับคนอื่นๆ และความนิยมในภาพเหมือนหมู่ของชาวเนเธอร์แลนด์ในขณะนั้นมีมากจนแม้กระทั่งกลุ่มผู้บริหารองค์กรต่างๆ ก็ยังนิยมว่าจ้างศิลปินให้เขียนภาพเหมือนหมู่ของตนเองไว้ด้วยเช่นกัน

โดยทั่วไป ภาพเหมือนหมู่ที่เขียนตามแนวประเพณีนั้นจะมีการจัดวางองค์ประกอบโดยให้บุคคลภายในภาพนั่งหรือยืนเรียงแถวแบบหน้ากระดานหรือจัดแถวเป็นรูปครึ่งวงกลม (ภาพที่ 4 และ 5) และจะกำหนดให้แสงสว่างส่องกระจายเฉลี่ยเท่ากันทั่วทั้งภาพเพื่อให้ผู้ชมสามารถมองเห็นภาพของทุกคนได้อย่างชัดเจน การจัดวางองค์ประกอบภาพที่เป็นแบบแผนเดียวกันในลักษณะนี้ ทำให้ภาพเหมือนหมู่เหล่านี้ดูแข็งทื่อ ไม่เป็นธรรมชาติ ไม่มีชีวิตชีวา และน่าเบื่อ แต่เมื่อเป็นความต้องการของผู้ว่าจ้าง ศิลปินก็ไม่อาจขัดได้

เรมบรันท์ ซึ่งเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงและความเชี่ยวชาญทั้งในด้านการเขียนภาพเหมือนเดี่ยวและภาพเหมือนหมู่ ก็ได้รับการว่าจ้างให้เขียนภาพเหมือนหมู่ในลักษณะนี้ด้วยเช่นกัน แต่การนำเสนอภาพของเรมบรันท์มักจะอยู่ในลักษณะตามใจศิลปินอยู่เสมอ

ความเป็นอัจฉริยศิลปินของเรมบรันท์ทำให้เขารักอิสระทางความคิด และต้องการสลัดตนให้หลุดพ้นจากพันธนาการของระเบียบกฎเกณฑ์และหลักการเขียนภาพที่มีแม่แบบตายตัวและน่าเบื่อหน่าย ด้วยเหตุนี้เขาจึงพัฒนาวิธีการเขียนภาพเหมือนที่เน้นลักษณะอันเป็นปัจเจกบุคคลโดยใช้หลักความแตกต่างระหว่างแสงสว่างและความมืดมาเป็นตัวช่วย (ภาพที่ 6)

ดังนั้น อิทธิพลของบรรยากาศในภาพเขียนของศิลปินผู้นี้จึงเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์ความรู้สึกและสภาวะทางจิตของผู้เป็นแบบได้เป็นอย่างดี เทคนิคการจัดแสงสว่างในภาพเขียนแบบแสงจัดเงาจัดในลักษณะนี้เผยให้เห็นอิทธิพลของ คาราวัจโจ (Caravaggio) จิตรกรเอกสมัยบาโรกของอิตาลี ในผลงานของเรมบรันท์อย่างชัดเจน นอกจากนั้นเรมบรันท์ยังใช้จินตนาการในการสร้างเรื่องราวหรือสถานการณ์ให้เข้ากับอาชีพหรือบุคลิกภาพของผู้ว่าจ้างเพื่อทำให้การนำเสนอภาพเหมือนบุคคลของเขาน่าสนใจมากขึ้น ดังเช่นภาพเหมือนคู่ของตัวศิลปินเองและภรรยา (ภาพที่ 7)

เรมบรันท์เลือกนำเสนอภาพเหมือนกลุ่มของสมาชิกสมาคมยิงปืนให้ดูราวกับเป็นภาพกองร้อยอาสาสมัครป้องกันเมืองกำลังเตรียมรวมกำลังพลออกไปรบกับผู้รุกราน ศิลปินกำหนดให้บริเวณฉากหลังของภาพ The Night Watch เป็นสีดำเกือบสนิทเพื่อเน้นภาพบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพผู้นำกลุ่ม ที่จิตรกรกำหนดให้แสงสว่างอันเจิดจ้ามากระทบเพื่อให้การปรากฏกายของพวกเขาเด่นชัดมากยิ่งขึ้น (ภาพที่ 8 และ 9) ด้วยวิธีนี้จึงทำให้ภาพนายร้อยเอกฟรันส์ เบนนิง ค็อค และ นายร้อยโทวิลเลม ฟาน รุยเทนบรูค ในชุดเครื่องแบบที่ประดับประดาด้วยเหรียญตราประจำตำแหน่งอย่างเต็มยศ ซึ่งปรากฏในบริเวณฉากหน้าของภาพ จึงดูราวกับกำลังจะเดินออกมานอกภาพ ในขณะที่ภาพขบวนแห่ของกลุ่มนักยิงปืนที่เคลื่อนไหวอยู่ในเงามืดของฉากหลัง ดูราวกับกำลังเคลื่อนตัวตามออกมาติดๆ (ภาพที่ 1)

เรมบรันท์ให้ความสำคัญกับการจัดวางองค์ประกอบภาพที่เน้นการเคลื่อนไหวที่มีชีวิตชีวาของบุคคลภายในภาพเป็นสำคัญ จนไม่ใส่ใจกับความต้องการหลักของผู้ว่าจ้าง ไม่ว่าใบหน้าของใครจะจมอยู่ในเงามืด หรือ ภาพของใครบางคนจะปรากฏให้เห็นแต่เพียงส่วนของศีรษะที่โผล่ออกมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้นก็ตาม (ภาพที่ 10-12)

พลังแห่งการสร้างสรรค์และจินตนาการอันกว้างไกลเหนือขีดจำกัดทำให้ผลงานชิ้นนี้หลุดพ้นจากรูปแบบการเขียนภาพเหมือนจริงที่เป็นแบบแผนตามแนวประเพณี ด้วยอัจฉริยภาพในการจัดวางองค์ประกอบภาพและพลังแห่งชีวิตในทุกอาการเคลื่อนไหวของบุคคลภายในภาพ ทำให้ภาพ The Night Watch กลายมาเป็นตราประทับแห่งความเป็นอมตะของเรมบรันท์

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการจัดวางองค์ประกอบภาพในลักษณะนี้ของ Rembrandt จะเผยให้เห็นอัจฉริยภาพของศิลปินผู้นี้อย่างชัดแจ้ง แต่ผลงานชิ้นนี้กลับไม่ได้รับการยอมรับจากผู้คนในสมัยนั้น อีกทั้งยังไม่เป็นที่พอใจของบรรดาสมาชิกหลายคน เพราะพวกเขาเห็นว่าไม่ยุติธรรม และพากันแย้งว่า ในเมื่อภาพของพวกเขาบางคนจมอยู่ในเงามืด บางคนแทบจะมองไม่เห็นหน้าด้วยซ้ำ แต่ทำไมพวกเขาต้องออกเงินเป็นค่าจ้างเขียนภาพจำนวน 1,600 เหรียญเท่ากันทุกคน โดยจ่ายเฉลี่ยที่คนละประมาณ 100 เหรียญ

เมื่อนำภาพที่ 1 และ ภาพที่ 13 มาเปรียบเทียบกัน จะสังเกตเห็นว่า ภาพ The Night Watch ในปัจจุบันมีขนาดเล็กกว่าในอดีต (ขนาดดั้งเดิม 440×500 ซม. ปัจจุบัน 363×437 ซม.) สาเหตุเพราะ เมื่อปี ค.ศ. 1715 ได้มีการขนย้ายภาพเขียนนี้จากสมาคมยิงปืนไปไว้ในศาลากลางจังหวัด แต่เนื่องจากประตูทางเข้าห้องโถงใหญ่มีขนาดเล็กกว่าภาพ ทำให้ต้องมีการตัดขอบของภาพออกทุกด้านคือ ด้านบน 25 ซม. ด้านล่าง 50 ซม. ด้านซ้าย 30 ซม. และด้านขวา 10 ซม. หลังจากนั้นภาพนี้ก็ถูกลืมและทอดทิ้งโดยปราศจากการเอาใจใส่เป็นเวลานานกว่าร้อยปี

หมายเหตุ: ชื่อเฉพาะภาษาต่างประเทศในบทความนี้สะกดตามคำอ่านในภาษานั้นๆ

ปัจฉิมลิขิต: ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน สุดท้ายนี้ ดิฉันมีความเสียใจอย่างยิ่ง ที่ต้องขอเรียนว่า บทความนี้จะเป็นบทความสุดท้ายใน 108-1000-ศิลป์ ความจำเป็นอันเนื่องมาจากเงื่อนไขของเวลาในการปฏิบัติภารกิจด้านการวิจัยของนักวิชาการ ทำให้ต้องขอยุติการพบกันในทุกสัปดาห์ โดยหวังว่าจะเป็นการชั่วคราว ขอขอบพระคุณในไมตรีจิตและมิตรภาพของทุกท่านที่สนใจติดตามคลิกเข้ามาอ่าน หากท่านผู้อ่านยังคงสนใจใคร่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะในลักษณะนี้ต่อไป ดิฉันและ 108-1000-ศิลป์ ก็ยินดีจะกลับมารับใช้ทุกท่านในโอกาสต่อไป ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ท่านผู้อ่านทุกท่าน

ด้วยความรักและผูกพันฉันนักเขียนที่มีต่อผู้อ่าน

รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน







รู้จัก … รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน

จบมัธยมศึกษาตอนปลายจาก โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และปริญญาตรี อักษรศาสตรบัณฑิต (Bachelor of Art) (ภาษาอังกฤษ) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม

 จากนั้นจึงได้ไปศึกษาต่อยังสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ที่มหาวิทยาลัย Technische Universität Carolo-Wilhelmina แห่งเมือง Braunschweig จนจบหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต (Magistra Artium)

ต่อมาได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาต่อจนจบปริญญาดุษฎีบัณฑิต (Doktors der Philosophie/Dr. Phil.) (ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก) ด้วยระดับ “magna cum laude” จากมหาวิทยาลัย Osnabrück แห่งเมือง Osnabrück

ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2546 ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการหอศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร

พ.ศ. 2544 ได้รับทุนจากสถาบันเกอเธ่ ให้ไปเข้าร่วมการสัมมนาด้านวัฒนธรรม ณ เมือง Weimar และ Berlin สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 1 เดือน พร้อมทั้งได้นำเอาผลงานศิลปะของศิลปินไทย 3 คน คือ ดำรง วงศ์อุปราช อภิชัย ภิรมย์รักษ์ และเด่น หวานจริง ไปเผยแพร่ในรูปการจัดแสดงนิทรรศการเป็นครั้งแรกในประเทศเยอรมนี ณ Kunstverein Talstrasse แห่งเมือง Halle ด้วย

พ.ศ. 2545 ได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ของทวีปยุโรป ณ กรุง Berlin สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 3 เดือน 

พ.ศ. 2548 ดำรงตำแหน่งประธานสภาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2552 ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปัจจุบันรับราชการในตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ ระดับ 9 ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

นอกจากงานประจำด้านการสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกในคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว ยังมีผลงานที่เป็นบทความทางวิชาการ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน ที่พิมพ์เผยแพร่อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี และผลงานสร้างสรรค์ศิลปะที่แสดงร่วมกับคณาจารย์ในคณะอีกด้วย

ผลงานอื่นๆ ได้แก่ การแต่งตำราประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก การออกแบบหนังสือและสูจิบัตร การกำกับและจัดวางรูปแบบนิทรรศการศิลปะ และการจัดทำ (การกำกับ) VCD

เมื่อ พ.ศ. 2549 เคยมีผลงานหนังสือ “ศิลปะคลาสสิก” ซึ่งแต่งขึ้นจากการศึกษาและค้นคว้าตำราต่างประเทศหลายสิบเล่มเป็นเวลานานกว่าสิบปี

และ พ.ศ. 2552 รศ.ดร.กฤษณา มีผลงานหนังสือ “เผยความลับที่ไม่ลับ ของ รหัสลับดาวินชี” ออกมาเปิดโปง ความจริงที่ถูกปิดบัง ซ่อนเร้น และบิดเบือนอย่างมโหราฬใน รหัสลับดาวินชี (The Da Vinci Code) นวนิยายอาชญากรรมเชิงสืบสวนสอบสวนของ แดน บราวน์ ที่โด่งดังและขายดีที่สุดเมื่อหลายปีที่ผ่านมา

ART EYE VIEW เชิญ รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา มาร่วมให้ความรู้แก่ผู้ชมงานศิลปะ ด้วยเห็นว่าความรู้ที่มีไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่ในรั้วสถาบันการศึกษา

ติดตามอ่าน …108-1000 – ศิลป์  โดย  รองศาสตราจารย์  ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน  ได้ทุกอาทิตย์

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ www.facebook.com/arteyeviewnews