ART EYE VIEW—“ผมเป็นศิลปินชนบท” เหตุใดจึงต้องนิยามตนเองว่าเช่นนี้ สำหรับ ศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(ประติมากรรม) ปี พ.ศ.2541 วัย 84 ปี
เมื่อไปอยู่ท่ามกลางผลงานศิลปะของเขา ที่มีตั้งแต่ผลงานยุคแรกจนถึงยุคปัจุบัน มาจัดแสดงให้คนทั่วไปได้ชมในขณะนี้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เชื่อว่าทุกคนน่าจะพอคาดเดาถึงที่มาของนิยามดังกล่าว
>>>จิตรกรรมฝาผนัง ของ ชะลูด นิ่มเสมอ
เพราะเมื่อเดินเข้าสู่ “จิตรกรรมฝาผนัง” ส่วนแรกของนิทรรศการ ที่มีผลงานจิตรกรรมบนกระดาษ(สร้างสรรค์เมื่อปี 2553 – 2556) หลายร้อยชิ้นมาติดเรียงรายเต็มฝาผนัง นอกจากจะพอทำให้รู้เหตุผลว่า ทำไมนิทรรศการครั้งสำคัญของศิลปินอาวุโสท่านนี้ จึงมีชื่อว่า “จิตรกรรมฝาผนัง ของ ชะลูด นิ่มเสมอ”
ภาพของผู้หญิงและเด็กหญิงผมสั้นในชุดแต่งกายแบบหญิงชาวบ้านในชนบทที่ปรากฎอยู่ในภาพเล็กๆแต่ละภาพก็น่าจะเป็นส่วนสนับสนุนนิยามที่ศิลปินมีให้กับตัวเองได้เป็นอย่างดี
รวมไปถึงผลงานในชุด “ประติมากรรมชนบท” (สร้างขึ้นเมื่อ ปี 2525) ส่วนที่ 4 ของนิทรรศการ ที่เมื่อครั้งอดีตศิลปินได้รับแรงบันดาลใจมาจากสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตชนบทไทย มีการหยิบจับวัตถุและวัสดุจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทั้งวัสดุจากธรรมชาติ และวัสดุสังเคราะห์ที่อยู่ในชีวิตประจำวันมาเป็นสื่อในการแสดงออก จนถือได้ว่าเป็นผู้หนึ่งที่บุกเบิกการทำงานศิลปะเชิงความคิด (conceptual art)
ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะได้รับเชิญให้เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมขนาดใหญ่ ติดตั้งนอกอาคารหลายแห่ง อาทิ ผลงานประติมากรรมชื่อ “องค์สาม” พ.ศ.2524 และ “อินทรีย์ 5” (พ.ศ.2541) สำหรับธนาคารกสิกรไทย
“พระบรมโพธิสมภาร” (พ.ศ.2531) สำหรับมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และ “โลกุตระ” (พ.ศ.2534)สำหรับศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งผู้ที่ผ่านไปผ่านมาตามสถานที่เหล่านี้คงพอจะคุ้นตาอยู่บ้าง
นอกจากนี้นิทรรศการในส่วนที่ 2,3,5 และ 6 ยังมีผลงานศิลปะอื่นๆของชลูดให้ชมได้แก่
ผลงานชุด “ธรรมศิลป์” (สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2530-2539)โดยมิได้มีเจตนาสื่อแสดงความหมายธรรมะในพุทธศาสนา แต่ถ่ายทอดออกมาจากสภาวะจิตใจที่มีธรรมะเป็นเครื่องกล่อมเกลา ด้วยรูปแบบผลงานที่เรียบง่าย รูปทรงอันสงบนิ่ง และสีสันที่นุ่มนวลสะอาดตา สะท้อนความบริสุทธิ์ของจิตใจที่สงบนิ่งและปล่อยวาง อันเป็นผลมาจากภาวะของสมาธิ ซึ่งเกิดขึ้นในขณะทำงาน และจากการศึกษาปฏิบัติธรรม
ผลงานชุด “วาดเส้น” ซึ่งเป็นเทคนิคการสร้างสรรค์ที่ศาสตราจารย์ชลูดมีความชื่นชอบเป็นพิเศษ และได้สร้างสรรค์ผลงานด้วยเทคนิคนี้ไว้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นเทคนิคที่เรียบง่าย แต่สามารถถ่ายทอดและแสดงออกซึ่งอารมณ์ความรู้สึกได้เป็นอย่างดี แบ่งออกเป็น 4 ชุด ด้วยกัน คือ ผลงานชุด “บทกวี” (พ.ศ.2525-2526) ผลงานชุด“ลูกสาว” (พ.ศ.2528) ผลงานชุด “ประติมากรรมในทิวทัศน์” (พ.ศ.2550) และผลงานชุด “วาดเส้นภาวนา” (พ.ศ.2554) ซึ่งสร้างขึ้นในระหว่างหนีภัยน้ำท่วมไปอยู่ที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
ผลงาน “วาดเส้นจากโรมและภาพพิมพ์นามธรรม” โดยในช่วงเวลาที่เดินทางไปศึกษาเทคนิคภาพพิมพ์กลวิธีร่องลึก (intaglio) ที่ประเทศอิตาลี ประมาณปี พ.ศ.2499-2501และศึกษาเทคนิคภาพพิมพ์หิน (lithograph) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.2507 นั้น ศาสตราจารย์ชลูดได้เดินทางไปวาดภาพทิวทัศน์ตามสถานที่ต่างๆ ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี และกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กล่าวได้ว่าเป็นผลงานที่ยังไม่เคยจัดแสดงที่ใดมาก่อน นอกจากนี้ยังมีผลงานภาพพิมพ์นามธรรม ซึ่งมีเทคนิคที่น่าสนใจอีกจำนวนหนึ่งด้วย
ปิดท้ายด้วย “ผลงานยุคแรก” (สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2498-2505) เป็นผลงานเทคนิคภาพพิมพ์แบบแกะลายเส้น (engraving)ที่สะท้อนภาพวิถีชีวิตชนบทไทย โดยศิลปินทดลองนำเมโซไนท์ (mesonite)หรือกระดาษอัดแข็งมาใช้แทนไม้เป็นคนแรกของไทย ต่อมาได้สร้างสรรค์ผลงานด้วยเทคนิคภาพพิมพ์แกะไม้ (wood cut) ซึ่งมีทั้งภาพพิมพ์ขาวดำและภาพพิมพ์สี เป็นการค้นพบเทคนิคที่มีความกลมกลืนกับอารมณ์การแสดงออก ด้วยเรื่องราวและรูปทรงที่เรียบง่าย แสดงออกถึงความเป็นไทย นอกจากนี้ในส่วนผลงานยุคแรกยังมีผลงานจิตรกรรมชุด “ชีวิตชนบทปิดทอง” (พ.ศ.2499) ซึ่งศิลปินทดลองติดทองคำเปลวลงบนจิตรกรรมร่วมสมัยเป็นคนแรก
>>>“แบกะดิน” ศิลปะกระแนะกระแหน เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
วันเปิดนิทรรศการ มีลูกศิษย์ลูกหาและผู้ชมงานศิลปะไปให้กำลังใจอย่างคับคั่ง เนื่องจากที่ผ่านมานอกจากทำงานศิลปะในฐานะศิลปิน ที่มีเหรียญทองศิลปกรรมแห่งชาติ การันตีหลายรางวัล ศ.ชลูด ยังมีอีกบทบาทหนึ่งคือการเป็นอาจารย์สอนศิลปะ เคยดำรงตำแหน่งคณบดี,จัดตั้งภาควิชาภาพพิมพ์ (พ.ศ.2508) และจัดตั้ง ภาควิชาศิลปะไทย(พ.ศ.2519) คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ดังนั้นงานนี้ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) ปี 2554 ผู้เป็นนักศึกษารุ่นแรกของภาควิชาศิลปไทย จึงถือโอกาสทำหน้าที่นำชมนิทรรศการของผู้เป็นอาจารย์ด้วยตนเอง
เมื่อมาหยุดอยู่ที่งานศิลปะชุด “แบกะดิน” ผลงานประติมากรรมชิ้นเล็กๆหลายชิ้นหลากเทคนิค ซึ่งตั้งให้ชมอยู่บนพื้นห้องในส่วนของงานชุด “จิตรกรรมฝาผนัง” ศ.ชลูด เจ้าของผลงานได้กล่าวขึ้นว่า
“เคยจัดแสดงมาบ้างแล้วแต่ไม่เยอะเท่าครั้งนี้ ผมจัดแสดงเพื่อกระแนะกระแหนเฉลิมชัย เพราะงานเขามีราคา แต่งานผมแบกะดิน เลหลัง”
>>>ศ.ประหยัด พงษ์ดำ “ผมไม่ได้ก๊อปปี้ อ.ชลูด”
และเมื่อไปหยุดอยู่ที่หน้าผลงานศิลปะเทคนิคภาพพิมพ์แกะไม้ในส่วนของผลงานยุคแรกของ ศ.ชลูด
เฉลิมชัยได้บรรยาย ณ จุดนี้ ให้ทุกคนได้ฟัง รวมทั้งถือโอกาสกระแนะกระแหน ศาตราจารย์ประหยัด พงษ์ดำ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(ภาพพิมพ์) ปี 2541 ผู้เป็นรุ่นน้อง ศ.ชลูด เพียง 2 ปี ที่เดินชมตามไปติดๆว่า
“อาจารย์ชลูดเป็นผู้นำในด้านการทำภาพพิมพ์ wood cut และอาจารย์ประหยัดก็ได้อานิสงค์นี้ จนทำตามและขายดี”
ทำเอาอาจารย์ประหยัดหัวเราะไม่เต็มเสียงแต่ก็อธิบายถึงที่มาที่ไปว่า
“คืออย่างนี้ครับ ความคิดเผอิญเหมือนกัน ผมเป็นคนบ้านนอก และก็ทำงานภาพพิมพ์ wood cut ที่เป็นรูปผู้หญิงไทยอารมณ์ใส่เสื้อคอกระเช้าด้วย และเผอิญว่าอาจารย์ชลูดท่านก็ทำเรื่องผู้หญิงคล้ายๆกัน แต่ผู้หญิงของอาจารย์ชลูดจะดูสงบ ขณะที่ผู้หญิงของผมจะออกแอคชั่น และอยู่ในภาพที่มีสีฉูดฉาดหน่อย
เทคนิคที่เราใช้นำเสนอ ก็ได้มาจากอาจารย์ศิลป์(พีระศรี) ด้วยกัน ตอนอาจารย์ชลูดเรียนอยู่ปี 5 ผมอยู่ปี 3 แล้วตอนผมขึ้นปี 4 ผมเริ่มทำ wood cut และได้เห็นแบบอย่างว่าอาจารย์ชลูดทำ wood cut ฟีลลิ่งออกมาจึงอาจจะใกล้เคียงกัน หลายคนบอก ผมก็ยอมรับ เพราะว่า เรียนจากครูบาอาจารย์คนเดียวกัน เห็นพี่เค้าทำเราก็ทำตาม ไม่ใช่ copy แต่เป็นเรื่องความรู้สึกที่เราอาจจะชอบเหมือนๆกัน
อย่างไรก็ตาม ผมยอมรับว่าเรามีอาจารย์ชลูดเป็นแบบอย่าง แล้วตอนหลังเราก็มาคลี่คลายเป็นตัวของเราเอง”
>>>อ.ชลูด เปิดรับความคิดเห็นใหม่ๆจากนักศึกษาอยู่ตลอดเวลา
อนุพงษ์ จันทร ศิลปินรุ่นใหม่ผู้มีผลงานเป็นที่ยอมรับ อดีตนักศึกษาภาควิชาศิลปะไทย ผู้เคยเรียนกับ ศ.ชลูดเมื่อครั้งเรียนในระดับปริญาตรีและโท และตอนนี้ผันตัวเองไปเป็นอาจารย์สอนศิลปะด้วย กล่าวถึง ศ.ชลูดในมุมมองของตนว่า
“ตอนแรกก็คิดว่าอาจารย์เป็นคนที่ดุมาก แต่พอได้ไปเรียนด้วยจึงได้พบว่าอาจารย์เป็นคนที่ใจดีมากๆ และเป็นศิลปินที่ทำงานศิลปะอยู่ตลอดเวลาและต่อเนื่องอย่างที่เราได้เห็นผ่านผลงานที่นำมาแสดงในนิทรรศการ อาจารย์เป็นต้นแบบในด้านนี้ และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงความคิดเห็นพร้อมทั้งเปิดรับความคิดเห็นใหม่ๆจากนักศึกษาอยู่ตลอดเวลา และยังค้นคว้าเกี่ยวกับศิลปะที่มันเคลื่อนไหวในวงการศิลปะโลกควบคู่ไปกับสิ่งที่สอนในสาขาวิชาศิลปะไทย และพยายามดึงเอาแก่นหรือสาระของความเป็นไทยที่อยู่ในวิถีชีวิตของนักศึกษาแต่ละคนออกมา”
>>>นิทรรศการ จิตรกรรมฝาผนัง ของ ชลูด นิ่มเสมอ (CHALOOD'S MURAL PAINTING – RETROSPECTIVE)
วันนี้ – 18 สิงหาคม พ.ศ.2556 ณ ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน โทร.0-2214-6630
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews