ART EYE VIEW—หากเอ่ยชื่อ ‘เป้า วัดพระทรง’ หรือ พระอาจารย์เป้า ญาณปัญโญ แห่งวัดพระทรง เชื่อว่าชาวเมืองเพชรบุรีและคนรักศิลปะรุ่นเก่าคงคุ้นเคยเป็นอย่างดี ด้วยว่าเป็นพระอาจารย์ชื่อดังแห่งจังหวัดเพชรบุรี ในช่วงปี พ.ศ.2461
ผลงานศิลปะของพระอาจารย์เป้า ถูกยกย่องว่ามีคุณค่าสูงและเทียบชั้นบรมครู ควรค่าแก่การสงวนรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ เป็นภาพเขียนที่มีความงดงามและมีการจัดองค์ประกอบภาพที่ลงตัว มีเอกลักษณ์เฉพาะตรงที่ใช้สีเน้นรูปและพื้นแบบภาพไทยโบราณตามผนังโบสถ์ และเรื่องราวในวรรณคดีต่างๆ มิใช่การให้แสงและเงาแบบศิลปะในยุคปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ อารี สุทธิพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี 2555 จึงร่วมกับ บริษัท นานมี จำกัด จัดเวิร์คชอปหัวข้อ ‘สีสันการลากและระบาย’ โดยการนำภาพลายไทยรูปพระ-นาง ของ อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ผู้สืบทอดเอกลักษณ์ของพระอาจารย์เป้า วัดพระทรง มาถ่ายทอดให้แก่คนรุ่นใหม่และผู้สนใจ ณ นานมี อาร์ตแกลเลอรี่
ศาสตราจารย์พิเศษ อารี กล่าวว่า ศิลปะไทยในสมัยก่อนรัตนโกสินทร์นั้น หากไปดูตามวัดวาอาราม ภาพจิตรกรรมฝาผนังตามผนังโบสถ์ ล้วนแสดงออกมาในลักษณะรูปและพื้น หากต้องการความเคลื่อนไหว ก็ใช้การเขียนซ้อนๆกันเพื่อให้เกิดมิติ แต่มิใช่การวาดและระบายโดยการให้เแสงและเงาตามอย่างตะวันตกเช่นผลงานศิลปะในยุคปัจจุบัน
“ผมจึงต้องการจะสอนให้คนรุ่นใหม่ได้รู้ถึงแนวคิดของทฤษฎีรูปและพื้น ซึ่งเป็นศิลปะไทยแท้และมีมานานตั้งแต่บรรพบุรุษ จริงๆแล้วการเรียนรู้การสร้างสรรค์ผลงานแบบรูปและพื้นเป็นเรื่องง่ายๆที่ใครทำก็ได้ โดยไม่ต้องมีความรู้ด้านศิลปะ กล่าวได้ว่า เป็นการเรียนตามวิถีธรรมชาติ โดยใช้ธรรมชาติที่อยู่ในตัวเราเรียนรู้ผ่าน การลาก และระบายที่ผสานกับสื่อวัสดุที่หาได้ในปัจจุบัน เช่น แผ่นพลาสติกสำหรับปาดสี ลูกกลิ้งขนาดเล็ก ซึ่งหาง่ายและมีราคาถูก ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้ ผลงานเมื่อสร้างสรรค์แล้วเสร็จนอกจากมีความงามยังมีเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละบุคคล”
ขั้นตอนในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะตามแนวคิดรูปและพื้น ศาสตราจารย์พิเศษ อารี มีคำแนะนำดังนี้
“เมื่อได้รูปต้นแบบแล้ว ให้ลองจดจำภาพที่เห็น แล้วใช้การปิดตาหรือไม่มองภาพนั้น จากนั้นให้ลงมือวาดภาพในใจด้วยวิธีการลากเส้นแบบต่อเนื่องโดยไม่ยก และไม่ต้องคำนึงถึงความละเอียดหรือความเหมือน หลังจากนั้นเลือกใช้สีน้ำมาระบายโดยใช้เทคนิคการปาดสี กำหนดภาพให้มีความชัดเจนแตกต่างจากพื้น ขั้นตอนการใช้สีนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้ภาพมีความเด่นชัดมากขึ้น หลังจากนั้นลองตัดขอบด้วยการลากเส้นแบบต่อเนื่อง จะได้รูปและพื้นที่ชัดเจนมากขึ้น และเพื่อให้ได้รูปที่แตกต่างอาจจะใช้ลูกกลิ้งจุ่มสีทับบนรูปเพื่อให้เกิดเทกเจอร์ที่สวยงามมากขึ้น”
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews