Celeb Online

สุดสัปดาห์นี้ แวะชม ‘ปูทะเล’ ภาพมาสเตอร์พีซ ของ ชัยวุฒิ เทียมปาน


ART EYE VIEW —เก็บภาพบรรยากาศนิทรรศการ The reality of simple life style ซึ่งแสดงผลงาน จิตรกรรมเหมือนจริงแบบภาพถ่าย( Photorealism ) ของ ชัยวุฒิ เทียมปาน มาให้ชม

ศิลปินเป็นชาวจังหวัดเพชรบุรี จบการศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยศิลปากร มีทักษะฝีมือมือด้าน ‘งานจิตรกรรมวาดภาพเหมือนวัตถุ'

ล่าสุด ผลงานหลายชิ้น อาทิ ปลาทู ,ปลาเค็มทอด และปูทะเล ที่ศิลปินบอกว่าชอบมากที่สุดถูกนักสะสมจับจองไปเรียบร้อยแล้ว

สุดสัปดาห์นี้ถ้ายังไม่มีสถานที่ใดเป็นเป้าหมาย ถือเป็นอีกหนึ่งนิทรรศการที่น่าแวะไปชมอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังถือป็นนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกในชีวิตและในรอบ 10 ปีของศิลปินอีกด้วย

นิทรรศการเปิดแสดงไปจนถึง วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2556 ณ Subhashok The Arts Centre สุขุมวิท 31 แยก 2 สอบถาม โทร.0-2662- 0299

คำเตือน : ระหว่างชมนิทรรศการ ท้องคุณอาจร้องจ๊อกๆ เป็นสัญญาณบอกว่า 'หิว'

หลังการบรรยายหัวข้อ 'การสร้างสรรค์จิตรกรรมเหมือนจริงแบบภาพถ่าย' (Photorealist ) หนึ่งกิจกรรมเสริมเพื่อให้ความรู้กับคนรุ่นใหม่และผู้ที่สนใจ ชัยวุฒิ กล่าวถึงผลงานในนิทรรศการว่า

“เรื่องราวที่ผมนำเสนอผ่านนิทรรศการครั้งนี้ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตง่ายๆ และเป็นมุมมองของเราเองในบ้าน เช่น มุมมองบนโต๊ะอาหารอะไรพวกนี้ ซึ่งมันสามารถบอกเล่าวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของเรา เมื่อมันมีเนื้อหาเพียงพอที่จะนำมาสร้างสรรค์เป็นงาน ผมก็เลย กำหนดมุมมองโดยใช้มุมมองแบบภาพถ่าย มาสร้างสรรค์เป็นงานจิตรกรรม

อะไรที่เป็นเรื่องใกล้ตัว เราจะรู้สึกกับมัน เข้าใจมัน เพราะเราเห็นมันทุกวัน กว่าที่ผมจะหยิบกล้องมาถ่ายภาพปลาทู แล้วเขียนมันออกมาเป็นภาพ ผมได้ผ่านการกินการอยู่กับมันมา จนมันแสดงคุณค่าอะไรบางอย่างออกมากระตุ้นให้เราอยากจะทำมันเป็นงานศิลปะ

และผมก็มารู้ว่าเราสามารถเขียนงานในลักษณะนี้ได้ ก็ตอนเขียนภาพชิ้นปลาทูสองตัว ที่แสดงอยู่บริเวณชั้น 1 ของห้องนิทรรศการ และสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกสนุกกับการสร้างงานรูปแบบนี้ ตรงที่ผมสามารถเอาชนะความยากไปที่ละขั้น การเขียนรูปสำหรับผม มันท้าทายนะ เวลาที่เห็นอะไรแล้ว สิ่งที่ทำให้อยากเขียนมันคือ หนึ่งมันสวย และสองมันท้าทาย”







Step by Step >>>ผมมีวิธีการเขียนแบบดั้งเดิมทั่วไป ไม่ได้ใช้เทคนิคหรืออุปกรณ์พิเศษ มีเพียงเสกลที่กำหนดขึ้นง่ายๆ แทนการเขียนจากโปรเจคเตอร์ที่นิยมกันในปัจจุบัน เพราะต้องการให้เป็นงานที่เกิดจากมือเราเองทั้งหมด วิธีการเขียนจากพื้นเข้ม คัดออกมาหาสว่างสุดจากฉากหลัง มาตรงส่วนสำคัญด้านหน้าการจัดวางองค์ประกอบแบบวัตถุชิ้นเดียว ที่ต้องการเน้นที่เหลือกลืนไปกับฉากหลัง แบบเดียวกับการโฟ้กัสของกล้องถ่ายภาพ”



จากสูจิบัตรนิทรรศการ The reality of simple life style >>>บางคนดำเนินชีวิตได้ตามที่วาดฝันไว้แต่วัยเด็ก แต่สำหรับผมนั้นไม่ได้คิดเอาไว้แต่แรกเลยว่าจะมาเป็นศิลปิน เป็นจิตรกรวาดภาพ ในวัยเด็กด้วยความคิดแบบเด็กๆ ผมกลับมองว่าศิลปินแทบจะไม่มีหน้าที่อะไรในสังคม เป็นหมอก็ช่วยรักษาคนไข้ เป็นครูก็ให้ความรู้เด็กๆ หรือเป็นทหารก็ช่วยป้องกันประเทศ ฯลฯ แต่ผมรู้แค่ว่า…ศิลปะนั้นให้ความสุขใจแก่ผม

ผมได้ก้าวเข้ามาสู่อาณาจักรของศิลปะแบบไม่ได้คาดฝัน “Still Life” หรือ หุ่นนิ่ง คือโจทย์แรกที่ผมต้องเจอ การเรียน study จากหุ่นจริง นอกจากจะช่วยให้ได้ศึกษารายละเอียดจากของจริงแล้ว ยังช่วยให้เราได้เข้าถึง “ความรู้สึก” โดยอาจารย์ท่านสอนไว้ว่า “เราจะเขียนผลไม้ ก็ต้องให้มันดูสด และน่ากิน เขียนขวดแก้วก็ต้องให้ดูใส หรือเขียนดอกไม้ก็ต้องให้ดูนุ่มนวล การเขียนภาพนอกจากความเหมือนแล้ว ต้องให้ดูแล้วรู้สึกด้วย” และนอกจากนี้การศึกษาผลงานจากศิลปินระดับ Master ก็ช่วยให้เราค้นพบ Style หรือรูปแบบของ Painting ที่เราชอบ ผมได้พัฒนาภาพหุ่นนิ่งมาจนถึงช่วงศึกษาปริญญาโท โดยเขียนหุ่นนิ่งจากวัตถุสิ่งของใกล้ๆตัว นำมาจินตนาการเป็นเรื่องราวความรู้สึกของตนเอง ที่มีต่อบ้าน ครอบครัว และวิถีชีวิต ความพลัดพราก ลูกหลานจากบ้านเกิดเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ มันทำให้ภาพบรรยากาศของบ้าน ที่มีความสุขอยู่กันพร้อมหน้า กลับกลายเป็นบรรยากาศของความเงียบเหงา

ช่วงเวลาของการทำงาน มาถึงจุดหนึ่งซึ่งเราไม่ได้รู้สึกอะไรในเรื่องราวแบบเดิมอีกต่อไป มีแค่การเปลี่ยนองค์ประกอบไปมา จินตนาการนั้นเป็นเรื่องที่ดีในทางศิลปะ แต่สำหรับผมแล้วมันดูเคว้งคว้าง ล่องลอย ปรุงแต่งไปเรื่อยๆ และผมก็เริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายกับแนวคิดแบบเดิมๆ การเดินทางของ “Still Life” จึงมาถึงจุดที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบและแนวความคิดของตนเอง

ผมได้ทดลองเขียน ‘หุ่นนิ่ง’ ที่ไม่ค่อยมีใครนิยมเขียนกัน คือ “ปลาทูทอด” โดยเอาเฟรมเก่ามารองพื้นทับด้วยสีเข้มๆ แล้วตั้งหุ่น เขียนปลาทูทอดให้มีขนาดใหญ่กว่าของจริง เพราะต้องการเก็บรายละเอียดให้มากที่สุด แต่ก็พบว่ามันเป็นไปได้ยาก ถ้าเราเขียนจากของจริงแล้วต้องการเน้นไปที่รายละเอียดของวัตถุ ทั้งสีสันไม่แน่นอนตายตัว ทุกอย่างในหุ่นเปลี่ยนแปรสภาพไปเร็วกว่าที่เราจะเขียนเสร็จ และมุมในการมองที่ไม่แน่นอน จึงต้องเปลี่ยนวิธีการโดยนำภาพถ่ายเข้ามาใช้จริงๆ ถ่ายรูปแล้วก็นำมาเป็นแบบวาด ลดทอนจินตนาการในเรื่องราวลงไป หันมาเน้นที่คุณค่าของการใช้ทักษะที่เชี่ยวชาญในทาง Painting อีกทั้งยังได้ค้นคว้าจากผลงานและแนวความคิดของศิลปิน Photorealist อย่างจริงจัง ดังนั้น ‘ภาพปลาทู’ จึงถือได้ว่า เป็นงานชิ้นครูของผม โดยท่านอาจารย์ผู้สอน มักจะเรียกผมติดปากกันในชั้นเรียนว่า “ศิลปินปลาทู”

สมัยนั้นการเขียนเหมือนภาพถ่ายเป็นเรื่องที่ไม่น่าทำ ถูกหยันว่าไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ดีแต่ลอกรูป ซึ่งผมเองก็ได้รับผลตอบรับมาแบบนี้เช่นกัน แต่ก็ยังคงเชื่อมั่นในสิ่งที่เรานำเสนอว่า “คุณค่าจะสะท้อนตัวมันเอง ถ้าเราพยายามทำให้ถึงที่สุดของมัน” ด้วยมุมมองจากวัตถุสิ่งของที่เป็นจริงตามธรรมชาติของมัน ร่องรอยต่างๆที่ปรากฏอยู่ในภาชนะที่ใส่อาหาร บนพื้นโต๊ะ หรือแสงสะท้อนบนโลหะ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ได้บอกถึงเรื่องราว ระยะเวลา และบริบทต่างๆ ในวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมได้มากมาย ซึ่งการใช้มุมมองแบบภาพถ่าย ระยะชัดลึก อันเป็นผลมาจากคุณสมบัติของเลนส์กล้อง สามารถที่จะดึงเอาสาระและความงาม สามารถเน้นในจุดที่เราต้องการ และลดทอนความชัดเจนในส่วนที่เป็นฉากหลังจากมุมมองที่เราต้องการนำเสนอ ส่วนเทคนิควิธีการนั้นได้ใช้สเกลที่กำหนดขึ้นง่ายๆ แทนการเขียนจากโปรเจคเตอร์ที่นิยมกันในปัจจุบัน เพราะต้องการให้เป็นงานที่เกิดจากแฮนด์เมดทั้งชิ้น ถึงแม้จะใช้ภาพถ่ายเป็นต้นแบบ

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมแบ่งเวลาให้กับการทำงานเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบของกิจกรรมชมรมต่างๆ เข้าป่าถ่ายรูป ศึกษาธรรมชาติ และจัดแสดงผลงานตามงานนิทรรศการที่เกี่ยวกับงานการอนุรักษ์ธรรมชาติ เช่น งานดูนก เพราะปัจจัยหลายๆอย่างที่ยังไม่ลงตัว ภาระต่างๆ กับการเป็นศิลปินในต่างจังหวัด มันประสบความสำเร็จได้ยาก มีข้อจำกัด มีช่องว่างมากมายระหว่างศิลปินกับผู้ชมงาน และต่อมาผมได้กลับมาสร้างสรรค์ผลงานในแนวคิดนี้อีกครั้งหนึ่ง ด้วยความอนุเคราะห์ของ S.A.C. Subhashok The Arts Centre . โดยเป็นการรวบรวมเอาผลงานทั้งหมดจากภาพแรกที่ได้เริ่มต้นในแนวทางนี้ มาจนถึงปัจจุบัน ร่วม 30 ภาพ

ผมไม่ได้วาดฝันไว้ว่า ผลงานของผมมันจะพาผมไปถึงจุดไหน แต่ก็ได้ทำลงไปเพราะศรัทธา เชื่อมั่นในสิ่งที่ได้ตั้งใจทำ และมีการพัฒนามาเป็นลำดับ ผมรู้สึกภูมิใจเมื่อครั้งที่มีนักศึกษาคนหนึ่งที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน เข้ามาดูงานและบอกกับผมแบบจริงใจว่า “งานของพี่ ทำให้ผมคิดถึงบ้าน” การที่งานศิลปะนั้นสะท้อนสังคม เรื่องราว และคุณค่าในสิ่งต่างๆ มันทำให้ผมย้อนกลับไปตอบคำถามตอนสมัยเด็กได้ว่า ศิลปิน… มีหน้าที่อย่างไรในสังคม

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews