Celeb Online

นักล่าตัวจ้อยในมาไซมาร่า : แอชลีย์ วินเซนต์

คอลัมน์ : Nature Impressions  โดย   แอชลีย์ วินเซนต์

ครั้งล่าสุดที่ผมไปท่องซาฟารีในประเทศเคนย่า ผมได้พักในแค้มป์ที่พักของเขตสงวนธรรมชาติมาไซมาร่าด้วยครับ แค้มป์ที่พักแห่งนั้น ตั้งอยู่บนทุ่งเปิดโล่งท่ามกลางธรรมชาติแบบดั้งเดิม ทำให้ผมมีโอกาสได้พบเจอกับสัตว์ประจำท้องถิ่นที่ออกมาเดินโชว์ตัวอย่างไม่ตั้งใจอยู่บ่อย ๆ

ป่าทุกแห่งในโลกนี้ล้วนเป็นบ้านเกิดของสัตว์ป่าทุกชนิด ผมเป็นเพียงแขกที่ไม่ได้รับเชิญที่ต้องพยายามอยู่ตรงนั้นอย่างสงบเสงี่ยมเจียมตัวอย่างที่สุด ผมคอยซุ่มมอง ชื่นชมความงามของเจ้าบ้าน และพยายามเก็บภาพความงามอันบริสุทธิ์ของธรรมชาติออกมา

ผมอยากจะให้คนนอกป่าได้ตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็นนกน้อยนานาชนิด หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลากหลายสายพันธุ์ เพื่อที่ว่าพวกเราจะเกิดความรู้สึก มีเมตตา อยากจะช่วยกันรักษาผืนป่า และคุ้มครองให้สัตว์ป่ามีที่อยู่อาศัยต่อไป


สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่ผมได้พบเห็นในทริปนั้นมีตั้งแต่ จีเน็ตแค็ท (Genet Cat) บูชเบบี้(Bush Baby) ลิงเวอร์เว็ท(Vervet Monkey) ดิกดิก(Dik-dik tiny Antelope) ร็อคไฮแรกซ์(Rock Hyrax)และอีกหลายชีวิตที่เคลื่อนไหวรวดเร็วจนผมมองไม่ทันว่าเป็นตัวอะไรกันแน่ มาจนถึงนายแบบตัวน้อยที่ผมยินดีจะนำภาพถ่ายของมันมาเสนอต่อทุกท่านในอาทิตย์นี้ครับ พวกมันคือ “พังพอนแคระ”(Dwarf Mongoose / Helogale Parvula)

ในการท่องซาฟารีทุกครั้ง หลังจากที่ออกเก็บภาพตั้งแต่เช้าตรู่ของทุกวันแล้ว โดยปกติแล้วผมจะหยุดพักในช่วงเที่ยงวันไปจนถึงเกือบบ่ายสามโมงเย็น เนื่องด้วยแสงแดดในขณะนั้นแรงจัดมากเกินไปไม่ค่อยเหมาะต่อการถ่ายภาพธรรมชาตินัก

บ่ายวันหนึ่ง ขณะที่ผมกำลังเดินเล่นรอบแค้มป์รอเวลาที่จะออกไปถ่ายภาพรอบบ่ายอยู่ หางตาของผมก็รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตบางอย่าง มันเกิดขึ้นอยู่ไม่ไกลจากถนนทางเดินนัก ผมจึงค่อย ๆ ย่องเข้าไปดู และได้เห็นสมาชิกของพังพอนแคระหกถึงเจ็ดตัวกำลังวิ่งไล่กันอยู่ พวกมันคลานสี่ขาผุด ๆ โผล่ ๆ ออกมาจากโพรงใต้ดิน แล้วบางตัวก็ลุกขึ้นยืนสองขาหันหัวมองไปรอบ ๆ เหมือนกำลังมองต้นทางให้แก่กัน

ผมรีบย่องกลับไปคว้ากล้องถ่ายรูปของผม แล้วอำพรางตัวอย่างเบาที่สุดกลับไปหาพวกพังพอนเจ้าถิ่น ผมค่อย ๆ นอนราบลงบนพื้นและคืบคลานช้า ๆ เพื่อหามุมกล้องในระดับเดียวกับสายตาของนายแบบที่ผมเลือก

จากภาพที่คุณเห็น คุณคงเห็นใช่ไหมครับว่า บางภาพเจ้าพังพอนมองสู้กล้องเป็นอย่างดี ผมรู้สึกว่า พวกมันรับรู้ถึงการปรากฏตัวของผมเป็นอย่างดี เพียงแต่พวกมันไม่ได้สัมผัสถึงความก้าวร้าว สัญชาตญาณของมันคงบอกว่า ผมไม่ได้เป็นตัวอันตรายต่อพวกมัน มันจึงดำเนินชีวิตกันต่อไปตามธรรมชาติ ทำในสิ่งที่มันต้องทำ และปล่อยให้ผมทำในสิ่งที่ผมต้องทำเช่นกัน

พังพอนมี 33 สายพันธุ์หลักครับ(แต่หากนับสายพันธุ์ย่อยที่อาศัยอยู่บนเกาะมาดากัสการ์ด้วยจะรวมเป็น 37 สายพันธุ์) พวกมันอาศัยอยู่ทั่วไปตลอดทั้งเอเชียใต้ อัฟริกา และยุโรป บางสายพันธุ์พบเห็นตามเกาะในแถบคาราเบียนและฮาวาย พวกที่พบเห็นในเกาะเกือบทั้งหมดเป็นพังพอนที่ถูกมนุษย์นำเข้าไปในเกาะนะครับ ไม่ใช่เพราะเกาะเป็นถิ่นกำเนิดของมัน เหตุผลที่คนเกาะนำพังพอนเข้าไป ก็เพื่อให้มันช่วยกำจัดสัตว์จำพวกหนูและงูทั้งหลาย

พังพอนเป็นสัตว์ที่กินเนื้อเป็นอาหารครับ อาหารจานโปรดของพวกมันคืองูที่มีพิษ ชีวเคมีในตัวของพังพอนบางอย่างช่วยให้พวกมันมีภูมิคุ้มกันต่อพิษของงู แต่ไม่ได้หมายความว่าพังพอนจะเป็นผู้ชนะเสมอไปนะครับ พังพอนจะต้องเลือกขนาดของคู่ต่อสู้ด้วยหากต้องการความได้เปรียบ พังพอนได้รับการยอมรับว่าเป็นสัตว์นักล่าตัวจ้อยที่เคลื่อนไหวได้รวดเร็ว และกล้ารับมือกับสัตว์เลื้อยคลานที่มีพิษได้ ในขณะที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเดียวกับมันเลือกที่จะถอยออกห่างมากกว่า

นอกจากงูแล้ว พังพอนยังกินอีกหลายอย่างเป็นอาหารด้วยครับ เช่น แมลงเต่าทอง ปลวก ตั๊กแตน จิ้งหรีด แมลงป่อง จิ้งจก นกขนาดเล็ก สัตว์จำพวกหนู และมันยังชอบกินผลเบอร์รี่อีกด้วย

พังพอนเป็นนักล่าที่ถูกล่าเช่นกันครับ นกอินทรีและนกเหยี่ยวเห็นพังพอนเป็นห่วงโซ่อาหารของมันเช่นกัน แต่ที่น่าสนใจมากก็คือ คุณเชื่อไหมครับ ว่านกเงือกบางชนิดกลับเห็นพังพอนเป็นพันธมิตร คงเป็นเพราะนกเงือกกับพังพอนกินอาหารคล้าย ๆ กัน และพวกมันยังหวาดกลัวต่อนกนักล่าชนิดเดียวกันอีกด้วย นกเงือกจะคอยส่งสัญญาณร้องเตือนให้พังพอนรู้ตัวหากมันได้เห็นหรือได้กลิ่นนกนักล่าบินวนเวียนเตรียมพร้อมจะจู่โจม

ขอบคุณทุกท่านมากครับ ที่กรุณาให้ความสนใจต่อคอลัมน์นี้ ขอบคุณเป็นพิเศษต่อท่านที่กรุณาฝากคอมเมนท์ไว้ในอาทิตย์ก่อน ผมขอให้ทุกท่านมีรอยยิ้มกับทุกวันในชีวิต และพบกันใหม่นะครับ

รู้จัก…แอชลีย์ วินเซนต์

ชาวอังกฤษเชื้อสายอิสราเอล ที่ผันตัวเองจากการทำธุรกิจด้านเรียลเอสเตท มาทำงานเป็นช่างภาพถ่ายภาพสัตว์ป่าอย่างเต็มตัว เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบัน นอกจากเปิดร้าน Nature Impressions จำหน่ายผลงานของตัวเอง ณ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่กล่าวกันว่า เป็นสวนสัตว์เปิดที่ใหญ่อันดับ 1 ของโลก เขายังทำงานให้กับสวนสัตว์แห่งนี้ ในฐานะอาสาสมัครเก็บภาพสัตว์ป่าไปพร้อมกันด้วย

ผลงานภาพถ่าย “บุษบา” เสือโคร่งเพศเมีย ถ่ายจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ของแอชลีย์ได้รับการประกาศให้เป็น สุดยอดภาพถ่าย National Geographic 2012

เสมือนบอกย้ำให้กำลังใจช่างภาพหลายๆ คนว่า “ภาพถ่ายสัตว์ป่าที่ดี ไม่ต้องไปถึงเคนยา”

ติดตามอ่าน …Nature Impressions โดย  แอชลีย์ วินเซนต์  ได้ทุกอาทิตย์ ทาง  ART EYE VIEW

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW www.astvmanager.com และ เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews