คอลัมน์ : Nature Impressions โดย แอชลีย์ วินเซนต์
เมื่อกล่าวถึงนกที่มีสีสันสวยงามแล้ว ผมชอบสีของ “นกกินปลี” ครับ ในเมืองไทยเรามีนกกินปลีอยู่หลายสายพันธุ์มาก ยกตัวอย่างเช่น กินปลีหัวม่วง กินปลีคอแดง กินปลีหางยาวคอสีฟ้า กินปลีหัวทับทิม และพันธุ์อื่นอีกมากมาย ส่วนตำแหน่งนกที่มีขนสีสวยที่สุดผมต้องขอยกให้ “นกตะขาบทุ่ง” เนื่องจากผมยังไม่เคยเห็นนกชนิดใดที่มีสีสันสวยสะดุดสายตาของผมได้มากไปกว่านี้ อาทิตย์นี้ผมจึงนำตัวอย่างความสวยงามของนกตะขาบทุ่งมาแบ่งปันกับทุกท่านครับ
นกตะขาบทุ่ง(Indian roller / Coracias benghalensis) หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า“นกขาบ” มีอยู่หลายสายพันธุ์เช่นกันครับ ภาพสองใบแรกเป็นตะขาบทุ่งที่ผมถ่ายได้ในเมืองไทย ส่วนในทวีปอัฟริกา ผมเข้าใจว่ามีนกขาบอยู่หกสายพันธุ์ พันธุ์ที่มีมากที่สุดเรียกว่า“นกขาบอกม่วง” (lilac- breasted roller / Coracias caudatus)และมันถูกยกย่องให้เป็นนกประจำชาติของเคนย่าด้วยครับ นกตะขาบทุ่งมีความสามารถในการบินม้วนตัวกลางอากาศได้ ชาวตะวันตกจึงเรียกมันว่า“Roller”ซึ่งแปลว่าลูกกลิ้งหรือผู้กลิ้งม้วนตัว มันเป็นนกนักล่าครับ ตัวอย่างอาหารของนกขาบคือ ตั๊กแตน จิ้งหรีด ผีเสื้อกลางคืน บุ้ง ต่อ ด้วง แมงมุม และสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังตัวเล็ก ๆ เช่น กิ้งก่า คางคก งู และหนู
ผมเชื่อว่า ช่างภาพที่ชอบถ่ายรูปนกทุกคนคงอยากจะเก็บภาพตอนที่นกกำลังบินอยู่ หรือตอนที่นกกำลังสยายปีกอยู่ให้ได้ ตอนที่ผมเห็นนกขาบขยับปีกเป็นครั้งแรก ผมตั้งปณิธานไว้ในใจเลยล่ะครับ ว่าผมจะต้องเก็บภาพความงามของสีขนบนตัวของพวกมันออกมาให้ชาวโลกได้เห็นกับตาผ่านภาพถ่ายของผมให้ได้
มันไม่ได้ง่ายเลยนะครับ ที่จะกดชัดเตอร์ให้ทันกับจังหวะโผบินของนก ผมต้องไปซุ่มดูเฝ้ามองและคอยสังเกตพฤติกรรมของพวกมันอยู่เป็นเดือน กว่าที่ผมจะเดาทางมันถูกและสามารถเก็บภาพออกมาได้อย่างที่ใจต้องการ
ผมรู้ว่าความทุ่มเทของผมไม่เสียเปล่าเมื่อเห็นภาพที่ตัวเองถ่ายได้ เทคนิคเล็กน้อยที่ผมได้เรียนรู้ก็คือ หากคุณต้องการจะถ่ายภาพนกตอนสยายปีก คุณจะต้องเตรียมกล้องให้พร้อมและคอยรอจังหวะตอนที่มันกำลังจะบินลงเกาะกิ่งไม้หรือตอนที่มันกำลังจะบินออกจากที่เดิม แต่ตอนบินออกนี่ถ่ายเก็บรายละเอียดได้ง่ายกว่าตอนร่อนลงมากครับ
นกส่วนใหญ่มีพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกัน พวกมันชอบทำความสะอาดตัวเองด้วยการไซ้ขน สลัดปีก เหยียดปีก และพอขี้ออกปั๊บมันก็จะบินออกจากทีเดิมทันที พวกนกนี่ไม่ค่อยอยู่นิ่ง ๆ หรอกครับ พวกมันจะเคลื่อนไหวขยับตัวอยู่ตลอดเวลา หน้าก็หันไปหันมารอบทิศทาง เผลอนิดเดียวพวกมันก็โผไปเกาะกิ่งไม้อื่นอีกแล้ว คุณจะต้องมีความอดทนไม่น้อยหากต้องการจะเก็บภาพนกให้ออกมาได้สวยแปลกตา
ภาพใบที่สามผมถ่ายได้ที่ “อุทยานแห่งชาติกรูเกอร์” อัฟริกาใต้ครับ ผมเห็นเจ้านกขาบอกม่วงตัวนี้โผไปบินมาอยู่ข้างทาง ผมรีบบอกให้คนขับรถจอดรถและรีบส่องกล้องไปทางที่มันบินวนเวียนอยู่ ตาผมติดแน่นอยู่ที่กล้อง หายใจอย่างเบาที่สุดเพราะไม่อยากให้มือสั่น นกขาบมองตรงมาที่ผม ผมนึกอธิษฐานในใจว่า“บินสยายปีกเข้ามาหาฉันด้วยเถิดเจ้านกน้อย”
และเมื่อมันเริ่มขยับตัว ผมก็กดชัดเตอร์แบบไม่เสียดายนิ้ว แต่ดูเหมือนว่าจังหวะที่ผมกระพริบตาจะเป็นตอนเดียวกับตอนที่ปีกสยายทุกครั้ง ผมนึกว่าผมต้องพลาดโอกาสแน่ ๆ เพราะเจ้าขาบพร้อมจะจากไปแล้ว แต่เหมือนพระแม่ธรณีจะเห็นใจผม ผมรู้สึกเหมือนมีลมวูบใหญ่พัดเข้ามา เจ้าขาบที่กางปีกเต็มที่เหมือนถูกสะกดให้ค้างนิ่งชั่วหนึ่งเสี้ยววินาที และนั่นเป็นเสี้ยววินาทีทองของผมด้วยครับ
ภาพใบสุดท้ายถ่ายได้ที่ “เขตสงวนธรรมชาติมาไซมาร่า”เคนย่า และผมขอใช้โอกาสนี้แบ่งปันประสบการณ์การถ่ายภาพนกของผมกับทุกท่าน เผื่อว่าใครอาจจะนำไปใช้ประโยชน์ได้บ้างนะครับ ผมสังเกตเห็นว่าพวกนกกินแมลงส่วนใหญ่ มักจะหากินในถิ่นเดิม ๆ เมื่อจับอาหารได้แล้ว พวกมันมักไปกินเหยื่อบนกิ่งไม้ที่มันเลือก เมื่อเลือกกิ่งไม้สุดโปรดได้แล้ว ดูเหมือนว่าเจ้าตัวเดิมจะออกไปหาเหยื่อและกลับมานั่งกินที่เดิมอีกหลายครั้ง
หากคุณเห็นมันบินจากไปแล้วอย่าเพิ่งถอดใจนะครับ อดใจรอสักนิด เตรียมตัวและเตรียมกล้องให้พร้อม ผมอยากให้คุณตั้งโฟกัสไว้ตรงกิ่งไม้ที่เจ้านกเคยอยู่นั่นแหล่ะครับ กล้องควรจะวางอยู่บนขากล้องเพื่อบรรเทาความสั่นไหว เมื่อเห็นการเคลื่อนไหวเข้ามาในมุมกล้อง ให้คุณรีบกดชัดเตอร์เลยหลาย ๆ ครั้ง หากคุณมีผู้ร่วมเดินทางด้วย วิธีที่ดีที่สุดคือดวงตาของคุณต้องแนบอยู่ที่กล้องตลอดเวลา ให้เพื่อนคอยบอกคุณเมื่อเจ้านกบินใกล้เข้ามาในมุมกล้องแล้ว และคุณก็กดชัดเตอร์รอไปเลย ตั้งแต่ก่อนที่มันจะร่อนลงไปจนถึงเวลาที่มันสยายปีกจากไป
ภาพนกที่คุณถ่ายได้อาจเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่คุณหรือใครก็คาดไม่ถึง ตราบใดที่คุณมีใจรักที่จะถ่ายภาพนกต่อไป มีความอดทนที่จะรอ และต้องยอมรับได้ว่า กว่าจะสร้างผลงานที่น่าประทับใจได้สักชิ้นมันอาจจะต้องก้าวข้ามความผิดหวังหลายครั้ง สำหรับตัวผมเอง เมื่อสามารถถ่ายภาพเด็ด ๆ ได้สักใบ ผมจะรู้สึกเป็นปลื้มอย่างที่สุด เพราะผมรู้ดีว่าจะไม่มีใครอื่นในโลกนี้ที่จะเก็บภาพแบบนี้ได้ในสถานที่เดียวกันและอารมณ์เหมือนกันอีกเป็นครั้งที่สอง ภาพนั้นจะเป็นภาพชีวิตจากธรรมชาติฝีมือของผมคนเดียวตลอดกาล
เช่นเคยครับ ขอบคุณทุกท่านที่กรุณาติดตามคอลัมน์นี้ ขอบคุณเป็นพิเศษต่อท่านที่กรุณาฝากคอมเม้นท์ให้กำลังใจต่อผมในอาทิตย์ที่ผ่าน ๆ มา ผมขอให้ทุกท่านมีวันและคืนที่สวยงาม พบกันใหม่อาทิตย์หน้าครับ
รู้จัก…แอชลีย์ วินเซนต์
ชาวอังกฤษเชื้อสายอิสราเอล ที่ผันตัวเองจากการทำธุรกิจด้านเรียลเอสเตท มาทำงานเป็นช่างภาพถ่ายภาพสัตว์ป่าอย่างเต็มตัว เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา
ปัจจุบัน นอกจากเปิดร้าน Nature Impressions จำหน่ายผลงานของตัวเอง ณ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่กล่าวกันว่า เป็นสวนสัตว์เปิดที่ใหญ่อันดับ 1 ของโลก เขายังทำงานให้กับสวนสัตว์แห่งนี้ ในฐานะอาสาสมัครเก็บภาพสัตว์ป่าไปพร้อมกันด้วย
ผลงานภาพถ่าย “บุษบา” เสือโคร่งเพศเมีย ถ่ายจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ของแอชลีย์ได้รับการประกาศให้เป็น สุดยอดภาพถ่าย National Geographic 2012
เสมือนบอกย้ำให้กำลังใจช่างภาพหลายๆ คนว่า “ภาพถ่ายสัตว์ป่าที่ดี ไม่ต้องไปถึงเคนยา”
ติดตามอ่าน …Nature Impressions โดย แอชลีย์ วินเซนต์ ได้ทุกอาทิตย์ ทาง ART EYE VIEW
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW www.astvmanager.com และ เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews