Celeb Online

“อยู่เมืองทุจริต ชีวิตต้องม็อบ” เมื่อเสียง “ออกมาๆ“ ดังทั่วเมือง


ART EYE VIEW— ไม่น่าจะเป็นการกล่าวเกินจริง หากจะบอกว่า เหตุการณ์ชุมนุมตามจุดต่างๆของกรุงเทพมหานคร และความเคลื่อนไหวต่างๆ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจนกระทั่งเวลานี้

ถือเป็นการชุมนุมที่มีคนในแวดวงศิลปะจำนวนไม่น้อยกระโดดเข้าร่วม ไปในทิศทางที่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากที่สุดครั้งหนึ่ง

เพราะพวกเขาส่วนใหญ่ต่างมีเป้าหมายอันเดียวกัน นั่นคือ คัด พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และโค่นล้มระบอบทักษิณ ให้สูญสลายไปจากสังคมไทย(เสียที)

เมื่อคนโกงชาติ หมดแผ่นดิน ศิลปะย่อมเจริญรุ่งเรือง

นับตั้งแต่การแสดงออกผ่านโลกออนไลน์ ด้วยการเปลี่ยนภาพโปร์ไฟล์และภาพหน้าปกบน facebook ส่วนตัวเพื่อแสดงให้รู้ว่าพวกเขาคัดค้าน ไม่เห็นด้วย ผ่านผลงาน และสัญลักษณ์ที่ออกแบบขึ้นเอง

ไปจนถึงการพาตัวเองออกไปสู่ท้องถนน เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับสถานที่ชุมนุมที่มีคนหลากเพศ หลายวัย หลากสถานะทางสังคม

กระทั่งมีศิลปินคนอื่นๆ ค่อยๆ ทยอยออกไปแสดงตัว มากขึ้นและมากขึ้น แม้แต่ศิลปินที่ไม่เคยคิดเข้าร่วมการชุมนุมครั้งไหนมาก่อน ก็ยังอดไม่ได้ที่จะต้องออกมา

ทำให้คนที่รับรู้ส่วนหนึ่ง รู้สึกไม่ต่างจากสิ่งที่ ศาสตราจารย์ ดร.สันติ เล็กสุขุม ศิลปินอาวุโสและอาจารย์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้แสดงออกผ่านป้ายข้อความบนหน้า facebook ของตัวเองว่า

“การที่คนรุ่นเก่า รุ่นกลาง รุ่นใหม่ ออกมาที่ถนนครั้งนี้ ทำให้เกิดความหวังว่า ประเทศของเราต่อไปนี้จะไม่อับจน”



ขณะที่ศิลปินรุ่นใหญ่บางท่าน แม้จะต้องยุติการแสดงผลงานครั้งสำคัญของตัวเองลงกลางคัน เนื่องจากนิทรรศการถูกจัดแสดงอยู่ใกล้สถานที่ชุมนุม แต่เขาก็มองว่าไม่ใช่เรื่องที่ต้องเสียใจ เพราะเรื่องสำคัญของชาติย่อมมาก่อนเสมอ

ดังเช่น นิทรรศการ In Amsterdam with Chavalit Soemprungsuk โดย ชวลิต เสริมปรุงสุข ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดําเนิน ที่ศิลปินได้บอกกล่าวเล่าแจ้งว่า ขอปิดการแสดงก่อนกำหนด จากกำหนดการเดิมคือวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เนื่องจากศิลปินมีความจำเป็นต้องทำการขนย้ายผลงานศิลปะทั้งหมดออกจากพื้นที่ หอศิลป์ฯ เพื่อความปลอดภัยของผลงานศิลปะ ที่ก่อนหน้านี้ ศิลปินได้ขนย้ายมาจากสตูดิโอ ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อยกให้เป็นสมบัติของประเทศไทย

“ต้องขออภัยอีกครั้งที่จำเป็นต้องปิดงาน ย้ายงานศิลป์ออกจากราชดำเนินด่วน เพื่อความปลอดภัย ประเทศชาติต้องมาก่อนเสมอ เมื่อคนโกงชาติ คนเลวหมดแผ่นดินแล้ว ศิลปะย่อมเจริญรุ่งเรืองอีกแน่นอน คอยไหวไหม ? ”

กูเกลียดคนแดกชาติ

ด้านศิลปินแห่งชาติ และผู้สร้างวัดร่องขุ่น จ.เชียงราย อย่าง เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ก็มีชื่อเข้ามามีเอี่ยวกับความเคลื่อนไหวครั้งนี้ด้วย

เมื่อเสื้อยืดสีขาวที่ปรากฎประโยค “กูเกลียดคนแดกชาติ” พร้อมด้วยลายเพ้นท์ซึ่งเป็นภาพคนกำลังกินชาติ และมีลายเซ็นกำกับไว้ด้วย ผลงานการเพ้นท์ของเขาเอง อยู่ๆได้ถูกลูกศิษย์นำมาโพสต์ขึ้นหน้าแฟนเพจ “กลุ่มคนรักอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์” ในช่วงเวลานี้ แม้จะอ้างว่าได้เพนต์ขึ้นมาหลายปีแล้ว นับแต่ช่วงเวลาของการเริ่มแบ่งสีเสื้อของประชนชนคนไทย

แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เจ้าตัวจะถูกตั้งคำถามว่า นี่เป็นการประกาศจุดยืนชัดเจนแล้วใช่ไหมว่า เฉลิมชัยก็ขอเป็นหนึ่งเสียงที่ร่วม คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และเห็นด้วยกับการชุมนุมครั้งนี้

แม้จะออกตัวว่าไม่ได้มีเจตนาด่าคนเสื้อสีใดโดยเฉพาะ แต่ต้องการด่า “คนโกงชาติทุกคน” แถมประกาศย้ำจุดยืนว่า ไม่ได้อยู่ฝ่ายไหน แต่ “อยู่ฝ่ายประเทศไทย”

จนทำให้มีจำนวนไม่น้อย แสดงความเห็นต่อจุดยืนของเขาไปในทำนองที่ว่า “จุดยืนมั่น แต่ขาสั่นนะ”

แต่ก็ต้องยอมรับว่า ประโยคสั้นๆ ที่ได้ใจความและไม่รักษาจริต บนเสื้อที่มีอยู่เพียงตัวเดียวนี้ โดนใจคนเป็นจำนวนมาก จนอยากจะให้ทำขึ้นมาขาย เพื่อหารายได้ไปช่วยผู้ชุมนุม เพราะมีหลายคนอยากจะซื้อใส่ไปม็อบ


 “ปิดซอย” เนรเทศนิรโทษกรรม “เหมาเข่ง”

ตามติดมาด้วย ศิลปินจำนวนมาก จากหลากหลายสาขา นำโดยศิลปินแห่งชาติ,นักเขียนรางวัลซีไรต์, นักแสดง ฯลฯ ได้ร่วมลงชื่อเพื่อร่วมเป็น “กลุ่มศิลปินเพื่อประชาธิปไตย” และได้เปิดคำแถลงการณ์ คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

“เราผู้มีรายชื่อแนบท้ายนี้ ขอร่วมแสดงเจตนาคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรม “เหมาเข่ง” “สุดซอย” อย่างถึงที่สุด และขอเรียกร้องให้รัฐบาลได้รับฟังแห่งมโนธรรมสำนึกของประชาชนก่อนจะกลายเป็นรัฐบาลที่ไร้ซึ่ง “ความชอบธรรม” โดยสิ้นเชิง”

จนเกิดเป็นกิจกรรม “ปิดซอย” ครั้งใหญ่ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับเครือข่ายโซเชียลมีเดีย

ขณะที่หลายสถาบันการศึกษา รวมทั้งมหาวิทยาลัยทางด้านศิลปะอย่าง มหาวิทยาลัยศิลปากร, ช่างศิลป์, เพาะช่าง, มศว ฯลฯ ก็ได้เริ่มประกาศจุดยืนชัดเจนว่า คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิการบดี คณาจารย์ รวมทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ได้เปิดโต๊ะแถลงหน้ามหาวิทยาลัย โดยมีภาพกราฟฟิตี้ที่ถูกพ่นบนกำแพง พร้อมด้วยประโยค “ม.ศิลปากร คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” เป็นสีสัน



อยู่เมืองทุจริต ชีวิตต้องม็อบ

จากนั้นกระแสของการเคลื่อนไหว ได้ทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่านายกรัฐมนตรี จะออกมาแถลงว่า จะไม่ นำ พ.ร.บ. ฉบับนี้ กลับมาพิจารณาอีก และก็เป็นเช่นทุกครั้งที่ประชาชนมักจะรู้สึกไปในเชิงขำขันมากกว่า

ยิ่งเมื่อฤกษ์ของวันที่ 11 เดือน 11 (11 พ.ย. 2556) มาถึง ไม่เพียงแต่จะเป็นวันเดียวกับที่ วุฒิสภาประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และศาลโลกอ่านคำพิพากษา คดีเขาพระวิหาร ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

แต่ยังเป็นวันที่ผู้เห็นด้วยกับการชุมนุม ขอประกาศล้างบางระบอบทักษิณ และขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์

นับแต่เช้าจรดเย็นของวันศุกร์,เสาร์และอาทิตย์ที่ 8- 9-10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 จึงมีข่าวแจ้งเพื่อทราบ ที่เป็นการบอกให้รู้ว่า หลายสถาบัน หลายองค์กร หลายกลุ่มคน และหลายศิลปิน พร้อมสนับสนุนให้ทุกคนออกไปร่วมชุมนุมในวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2556

ดังตัวอย่างเช่น คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่คณบดีของคณะคือ อํามฤทธิ์ ชูสุวรรณ ได้ส่งสารผ่านโลกออนไลน์ไปยังทุกคนว่า

“ขอย้ำอีกที เพื่อยืนยันว่าไม่ได้ทำเพราะกระแส แต่เราทำจริง ไม่หยุด จากการหารือของคณบดีวังท่าพระ สรุปว่าวันจันทร์ นี้บ่ายโมงเป็นต้นไป เราจะทำกิจกรรมร่วมกันที่หน้าหอศิลป์ ศิลปากร วังท่าพระ ให้นศ. ทุกๆคณะ เข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งเจ้าหน้าที่และอาจารย์ และศิษย์เก่าที่ มีอุดมการณ์เหมือนกัน สี่โมงเย็นจะเดินไปราชดำเนิน แบบมีดุริยางค์นำหน้า แบบศิลปากร เพื่อสร้างกิจกรรมร่วมกับประชาชนอีกครั้งที่เวทีประชาธิปไตย เชิญทุกคน และฝากแชร์ต่อนะครับ รัฐบาลเอา พ.ร.บ.สุดซอย เราก็ต้องต้านสุุดซอย เปิดป้ายรณรงค์ชุดใหม่ที่หน้ามหา'ลัยด้วยครับ” ซึ่งทุกคนก็ได้เห็นไปแล้วว่า ป้ายรณรงค์ชุดใหม่สวยสดงดงามเพียงใด

ขณะที่ สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และคณาจารย์ ก็ได้ส่งสารเช่นกันว่า

“ขอเชิญชวนศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ร่วมงานแถลงการณ์คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ณ บริเวณลานประติมากรรม หอศิลป์วังหน้า ข้างโรงละครแห่งชาติ”

และสารจาก ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ได้ใจนักศึกษาผู้เห็นด้วยกับการชุมนุมเป็นอย่างมาก ผ่านประกาศที่ว่า

“ประกาศ!! อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ประกาศหยุดการเรียนการสอน ในวันที่ 11พฤศจิกายน 2556 เพื่อให้นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย โดยสมัครใจ

หยุดเรียนจะเปิดเรียนเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ถ้าไม่มีชาติเราจะอยู่ได้อย่างไร”

และอีกตัวอย่างที่ได้ใจพนักงาน คือสารจากศิลปิน วัฒนโชติ ตุงคะเตชะ ผู้มีหมวกอีกใบเป็น กรรมการผู้จัดการบริษัท

“ประกาศ บริษัท ครอเตตกราฟิกส์ จำกัด วันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 หากพนักงานในบริษัทฯ คนใด ต้องการเข้าร่วมการชุมนุมเพื่อคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทางบริษัทฯ อนุญาตให้หยุดงานได้ โดยไม่ต้องลาหยุด และไม่ถือว่าเป็นการขาดงาน เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความรักชาติ”

ขณะที่หลายร้านค้า หลายบริษัทเล็กและใหญ่ ก็ทยอยแจ้งข่าวว่า วันนี้ปิดร้าน ปิดกิจการ บ้างครึ่งวัน บ้างเต็มวัน เนื่องจากเจ้าของมีภารกิจสำคัญต้องไปชุมนุมตามจุดต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ก่อนจะเคลื่อนพลมารวมกันที่มัฆวาน และราชดำเนิน

ออกมาๆ

ปิดท้ายที่เมื่อช่วงเย็นย่ำของวันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กลุ่มศิลปินรักชาติ นำโดย วสันต์ สิทธิเขตต์ และอีกหลายคน ได้รวมตัวกันวาดภาพผู้ที่พวกเขานิยามว่า “รัฐโจร” ตามจุดต่างๆของการชุมนุมอย่างคึกคัก ส่วนใครที่ไม่ถนัดแสดงฝีมือ ก็ตระเวนดูงามศิลปะที่งอกมาจากความรู้สึกที่ต้องการจะล้างบางระบอบที่ตนไม่เชื่อถืออีกแล้ว

และเป็นส่วนหนึ่งของการชักชวนให้ทุกคน “ออกมา ๆ” ด้วยเหตุผลเดียวกับที่มีผู้กล่าวว่า “อยู่เมืองทุจริต ชีวิตต้องม็อบ”

ซึ่งทุกคนก็ได้เห็นไปแล้วว่า ภาพถ่ายในมุมมองแบบ Bird Eye View ของผู้เข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 11 เดือน 11 ที่ปรากฏผ่านสื่อต่างๆนั้น เป็นที่ตื่นตาตื่นใจเพียงใด





ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews