Celeb Online

2 ศิลปิน ต่อ 1 แคนวาส การผจญภัยบนเฟรมผ้าใบเพื่อสร้าง “ภาพปริศนาธรรม”


ART EYE VIEW—เพิ่งจะมีงานศิลปะแสดงเดี่ยวชุด “ตีท้ายครัว” ให้ชมไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ต้นปีนี้ ตะวัน วัตุยา มีงานชุดใหม่มาให้ชมอีกครั้ง

แต่ครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกับศิลปินต่างชาติ ลูกครึ่งฮังการี – สวีเดน SI-LA-GI ผู้สนใจเลือกตะวันร่วมทำงานโปรเจกต์เดียวกับเขา

นั่นคือร่วมผจญภัยอย่างสนุกสนานไปกับการสร้างสรรค์ผลงานลงบนแคนวาสเดียวกัน หลังจากเคยร่วมทำงานในลักษณะนี้กับศิลปินต่างชาติมาแล้วหลายคน บ้างเป็นศิลปิน 2 คน หรือ 3 คน ต่อ 1 แคนวาส

“ก่อนหน้านี้ SI-LA-GI เคยมาเมืองไทยหลายครั้งแล้ว และต่อมาเมื่อ 8 ปีที่แล้ว เขาก็มาอีกครั้งและอยากจะหาศิลปินสักคนที่จะทำงานร่วมกัน จึงเริ่มต้นด้วยการค้นหาว่ามีแกลเลอรี่ไหนบ้างที่พอจะให้คำแนะนำ ซึ่ง ถัง แกลเลอรี่ ได้แนะนำผมไป และเขาก็ได้มาเยี่ยมสตูดิโอของผม เราก็เลยตกลงที่จะทำงานด้วยกัน

ครั้งแรกเรางานทำงานขึ้นมา 2 ชิ้นใหญ่ 1 ชิ้นเก็บไว้ที่ผม และอีก 1 ชิ้น เขานำกลับด้วย

หลังจากนั้นอีก 3 ปีถัดมา ผมไปแสดงงานที่ปารีส พอเปิดงานเสร็จผมไปหาเขาที่บูดาเปสต์ (เมืองหลวงของประเทศฮังการี) ไปเที่ยวและพักอยู่กับเขา และทำงานร่วมกันอีกนิดหน่อย

จนเมื่อปีที่แล้ว เขามางานแต่งงานเพื่อนฝรั่งที่เมืองไทย และมาพักอยู่ที่บ้านผม และพอดีผมมีแคนวาสเก็บไว้ในสตูดิโอเยอะ เราก็เลยทำงานร่วมกันอย่างเป็นจริงเป็นจังมากกว่าสองครั้งแรก โดย SI-LA-GI มาพักและทำงานอยู่กับผมที่สตูดิโอ ตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 56 จนถึงปลายมกราคมปีนี้ ประมาณสองเดือนเพื่อทำงานโปรเจกต์นี้

เมื่อทางผู้จัดการของถังแกลเลอรี่ไปที่สตูดิโอผม ได้ดูงานแล้วเกิดชอบและเห็นว่างานพร้อมแล้ว จึงเชิญมาแสดงงานช่วงต้นปีนี้เสียเลย จากที่เราแพลนกันไว้ว่าจะแสดงช่วงปลายปี 57”

ตะวันบอกเล่าถึงที่มาของการทำงานร่วมกันในวันเปิดนิทรรศการเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก่อนที่เช้าของอีกวัน SI-LA-GI จะบินกลับฮังการี



ด้าน SI-LA-GI กล่าวแนะนำตัวเองว่า เขาเรียนจบในระดับไฮสกูลที่ฮังการี กระทั่งอายุ 16 ปี จึงย้ายมาเรียนศิลปะ ในระดับมหาวิทยาลัย ที่กรุงสตอกโฮล์มประเทศสวีเดน ปัจจุบันนี้มีสตูดิโอสำหรับทำงานศิลปะอยู่ทั้งที่สวีเดนและฮังการี

SI-LA-GI เคยมีโอกาสแสดงงานกับ Ai Weiwei ศิลปินและนักเคลื่อนไหวชื่อดัง ผู้ทำงานวิจารณ์สังคมและวัฒนธรรมจีนมาแล้ว เขาบอกถึงเหตุผลที่สนใจทำงานร่วมกับศิลปินไทยอย่างตะวันว่า เป็นศิลปินที่ค่อนข้างมีความเป็นตัวของตัวเอง,มีอิสระทางความคิด รวมไปถึงคำจำกัดความง่ายๆที่ไม่ต้องเสียเวลาอธิบายให้มากความดังที่ตะวันบอกว่า “เคมีตรงกัน”

ขณะที่ตะวันได้ไขถึงเหตุที่ศิลปินสองคนนึกสนุกกับการทดลองเขียนภาพบนแคนวาสเดียวกัน พร้อมกับยกตัวอย่างผลงานบางชิ้นให้นึกภาพตามว่า

“สำหรับผมมันการคุยกันของศิลปินสองคนบนแคนวาส ยกตัวอย่างภาพหมาภาพนี้ มันเริ่มมาจาก SI-LA-GI วาดสีฟ้าขึ้นมา แล้วเขาก็นั่งดูมัน สักพักเขาก็มาเติมก้อนเมฆ พอเติมเสร็จแล้ว เราเองก็ไม่รู้ว่าเราจะไปต่อยังไง ผมนั่งอยู่สักพัก นึกถึงหมา ผมก็วาดหมาใส่เข้าไป จากนั้นเราทั้งสองคนมานั่งดูและคุยกัน ในที่สุดเราต่างรู้สึกว่าภาพชิ้นนี้มันจบแล้ว แต่บางภาพเราก็วาดทับกันไปทับกันมาหลายครั้ง

การทำงานในลักษณะนี้ ว่าไปแล้วมันเหมือนเป็นการผจญภัยไปด้วยกัน บางครั้งผมก็เริ่มวาดก่อน บางครั้งเขาก็เริ่มก่อน หรือบางครั้งมันก็จบง่ายๆ ขณะที่บางภาพเราต้องวาดทับกันนับสิบครั้ง”


บางคนอาจตั้งคำถามการทำงานในลักษณะนี้ ศิลปินสองคนสนใจเพียงผลสัมฤทธิ์คือภาพเขียนหนึ่งชิ้นที่มีองค์ประกอบลงตัวเท่านั้นหรือไม่ ตะวันบอกว่าไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะเรื่องราวที่อยากสื่อกับผู้ชมก็มีเช่นกัน เพียงแต่สิ่งที่ศิลปินสองคนซึ่งมีความคิดต่างกัน เมื่อสนทนากันผ่านแคนวาสอาจจะมองดูเป็นเรื่องนามนามธรรมสักหน่อย

“ผมจะชอบล้อเล่น และสนุกกับการที่อยากจะรู้ว่า SI-LA-GI จะทำอะไรต่อ

ภาพที่ปรากฏบนแคนวาส เป็นเหมือนบันทึกของการสนทนาแลกเปลี่ยน

เราค่อนข้างแฮปปี้กับการทำงานร่วมกันครั้งนี้ เหมือนว่าเรามีบางอย่างที่ลิงค์กันอยู่

เวลาทำงาน Painting ผมเป็นพวกดาบเดียวจบ SI-LA-GI เขาก็คล้ายๆกับผม คือมีการแสดงออกอย่างฉับพลัน”

นอกจากชิ้นงานศิลปะที่ทำร่วมกันบนแคนวาสเดียว ภาพเขียนหลายชิ้นในนิทรรศการครั้ง ยังมีชิ้นงานที่ศิลปินแต่ละคนต่างสร้างสรรค์ชิ้นงานของใครของมันมาร่วมแสดงด้วย ซึ่งตะวันได้บอกถึงความรู้สึกที่มีต่อภาพเขียนของ SI-LA-GI ว่า

“ผมว่างานของเขาจะมีความเป็นเซนอยู่ในงานค่อนข้างเยอะ อาจเพราะเขานับถือศาสนาพุทธด้วย เป็นลูกศิษย์ท่านดาไล ลามะ ค่อนข้างเคร่งกับการปฏิบัติธรรม ช่วงที่มาพักอยู่กับผม เขาจะมีนับลูกประคำ และนั่งสมาธิทุกวัน

ช่วงที่เขามาเมืองไทยคราวก่อน ผมก็เคยพาเขาไปวัด แต่การมาครั้งล่าสุด ส่วนใหญ่เราจะโฟกัสไปที่งานที่ทำร่วมกัน พอช่วงเบรคเขาก็จะปลีกตัวไปเที่ยวเกาะช้าง ไปสถานที่ๆเขาชอบเพื่อพักผ่อนบ้าง”


อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญในการทำงานร่วมกันครั้งนี้ ตะวันบอกว่า ถ้านับเวลาทั้งหมดของการทำงานตลอดทั้งโปรเจกต์ พวกเขาใช้เวลาไปกับการนั่งพินิจพิจารณามากกว่าการลงมือทำ

“ งานแต่ละชิ้นไม่ได้เสร็จภายในวันเดียว หลายชิ้นเราต้องผ่านการพูดคุย นั่งดู แก้ไข นั่นคือเราใช้เวลาไปกับการที่จะไม่ทำมากกว่าทำ”

เช่นกัน SI-LA-GI กล่าวว่า “ใครก็ได้ที่อาจจะเป็นคนเริ่มวาดก่อน จากนั้นอีกคนก็ค่อยมาวาดต่อ ภาพแต่ละภาพสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา บางทีภาพหนึ่งภาพ เราวาดแล้วหยุดพักไปก่อนคืนนึง แล้วค่อยมาเริ่มใหม่”

นอกจากนี้ ยังบอกถึงที่มาของ KOANS ชื่อของนิทรรศการว่า มีรากศัพท์มาจากภาษาญี่ปุ่น หมายถึง ปริศนาธรรม เพราะการชมนิทรรศการครั้งนี้ ทั้งเขาและตะวัน ต่างต้องการเปิดกว้างให้ผู้ชมได้มีโอกาสตั้งคำถามและตีความเองว่า ภาพเขียนแต่ละภาพ ศิลปินสองคนต้องการสื่อสารอะไรกับผู้ชม

“เวลาชมงานศิลปะ ความคิดของผู้ชมอาจโลดแล่นไปในหลากหลายเรื่องราว และบางครั้งก็อาจเกิดการตั้งคำถามกับภาพเขียนที่ชมอยู่ว่า ศิลปินคิดอะไร

ผมจึงอยากให้ผู้ชมค้นหาว่า อะไรคือสิ่งที่เราสองคน (ผมและตะวัน) สนทนากัน และอะไรคือสิ่งที่เราอยากสนทนากับผู้ชม” SI-LA-GI กล่าวทิ้งท้าย

KOANS นิทรรศการศิลปะ โดย SI-LA-GI และ ตะวัน วัตุยา ระหว่างวันที่ 5 กุมภาพันธ์ – 8 มีนาคม พ.ศ.2557

ณ Tang Contemporary Art เลขที่ 919/3 ชั้น 5 Silom Galleria ถ.สีลม 19 กรุงเทพฯ โทร.0-2630-1114

Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : ธัชกร กิจไชยภณ





ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews