ART EYE VIEW—ถ้าไม่ใช่เพราะโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ค เราคงต้องใช้เวลานานกว่านี้ที่จะได้รู้จักกับ ‘พี่น้องสองเมือง’ เมืองไทย และเมืองธีร์ พิทักษ์ศฤงคาร
และถ้าไม่ใช่เพราะ ธีระพงษ์ พิทักษ์ศฤงคาร อาจารย์ประจำสาขาวิชา ดิจิตอลอาร์ต คณะมนุษยศาสตร์และ สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย
คุณพ่อของเด็กทั้งสอง ที่พยายามหาพื้นที่ให้ลูกๆได้แสดงออก หมั่นคอยไปรับไปส่งจากบ้าน ณ บ้านพักอาจารย์ และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฎเลย ในตัวจังหวัด ไปยังถนนคนเดิน ที่ อ.เชียงคาน เป็นระยะทางไปกลับรวม 90 กิโลเมตร ในทุกเย็นวันศุกร์และเสาร์ และขยันถ่ายภาพของลูกๆขึ้นหน้าเพจ
เราก็คงไม่รู้ว่าท่ามกลางบรรยากาศของถนนคนเดินที่เริ่มแออัดด้วยร้านรวงมากขึ้นเรื่อยๆตามจำนวนคนที่มุ่งหน้าไปท่องเที่ยวเชียงคานเพิ่มมากขึ้น มีลมหายใจของศิลปะเด็กซุกซ่อนอยู่
“ศิลปะเด็ก” จากบ้านพักอาจารย์ สู่ ถนนคนนเดินที่เชียงคาน
คุณพ่อเล่าว่าก่อนหน้านี้พื้นที่ในการทำงานศิลปะของลูกๆ จำกัดอยู่แค่เพียงบ้านพักอาจารย์ ขณะที่คุณพ่อ(ซึ่งเป็นอดีตลูกศิษย์ของครูสังคม ทองมี แห่งโรงเรียนศรีสงคราม อ.วังสะพุง จ.เลย, ศิษย์เก่าคณะศิลปกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหนึ่งในกลุ่มศิลปินอีสาน ) นั่งทำงานศิลปะของตัวเอง ลูกๆก็จะนั่งวาดภาพอยู่ใกล้ๆ
จนวันหนึ่งเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้เองคุณพ่อถูกเลือกให้เป็นหนึ่งกรรมการตัดสินการประกวดผลงานศิลปะของนักเรียนใน 20 จังหวัดอีสาน ซึ่งมาจัดกิจกรรมที่ อ.เชียงคาน จึงเกิดความคิดนำผลงานศิลปะของลูกๆมาให้คนได้ชม โดยการปูผ้าวางโชว์ผลงานไว้กับพื้นหน้าโรงแรมและเกสต์เฮ้าส์ที่เช่าให้คณะกรรมการพักตลอด 4 คืนนั่นเอง และเด็กๆทั้งสองก็นั่งวาดภาพไปด้วย
เพราะที่ผ่านมาคุณพ่อเก็บรวบรวมผลงานของลูกๆมานานและพยายามหาพื้นที่เพื่อที่จะจัดนิทรรศการให้ แต่ถูกปฏิเสธหมด
“สะสมผลงานของลูกมาตลอด ตั้งแต่พวกเขาอายุ 3 ขวบ ตั้งแต่ภาพลายเส้นอาจารย์เก็บหมดเลย งานเยอะมาก 100 กว่าชิ้น อาจารย์รอมานานมาก อยากให้ลูกมีพื้นที่ เพื่อที่จะแสดงให้คนได้เห็นว่า เด็กสองคนนี้ถูกสร้างมาจากการบ่มเพาะ ไม่ใช่พรสวรรค์ รวมทั้งครูสอนศิลปะที่มาจาก 20 จังหวัด
จากที่อาจารย์เลี้ยงลูกสองคน มันไม่ใช่เรื่องพรสวรรค์เลย แต่เป็นเรื่องของการสร้างบรรยากาศ เพื่อให้เค้าได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง
4 วันที่เอางานไปวาง คนผ่านมาเห็นก็แปลกใจ ทำไมเด็กเก่งมีพรสวรรค์จังเลย ซึ่งมันไม่ใช่ ก่อนหน้านี้เราถูกบ่มเพาะมาว่าคนที่วาดภาพเป็นต้องมีพรสวรรค์ แต่อาจารย์ไม่เชื่อ เพราะจากประสบการณ์ของตัวเองด้วย เราไม่ได้เป็นคนที่มีพรสวรรค์เลย แต่เป็นเพราะเราวิ่งไปหามันไง ไปเรียนหนังสือ ไปดูวงการศิลปะ สมัยเรียนช่างศิลป์ นั่งรถจากลาดกระบัง ออกไปดูงานศิลปะ เพื่อจะได้เจอศิลปิน เพราะอยากรู้ว่าศิลปินเขาดำรงชีวิตแบบไหน”
และส่วนหนึ่งคุณพ่อเคยผ่านช่วงเวลาของการล้มป่วยเพราะโรคหัวใจและเส้นเลือดในหัวใจตีบ จนเกือบเอาชีวิตไม่รอด จึงคิดว่าอยากจะใช้ช่วงเวลาที่เหลืออยู่นี้ปูทางให้กับชีวิตของลูกๆ เพราะไม่สามารถบอกได้ว่าตนเองจะมีชีวิตอยู่ได้อีกนานเท่าไหร่ และเชื่อว่า ถ้าฝึกฝนฝีมือไปเรื่อยๆ ลูกๆจะสามารถเลี้ยงตัวเองได้ด้วยงานศิลปะ อีกทั้งเชื่อว่าเส้นทางศิลปะนั้นงดงาม ดังเช่นที่เคยเปลี่ยนแปลงชีวิตของคุณพ่อมาก่อน
“ครั้งหนึ่งอาจารย์รอคอยเวลามานานมากเลยที่จะออกไปจากบ้าน ออกไปจากชีวิตของครอบครัวค้าขาย จนอายุ 18 ครั้งแรกที่อาจารย์ไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ อาจารย์ไม่อยากกลับมาเมืองเลย เพราะรู้ว่าถ้ากลับมาบ้านก็คือค้าขาย ก็เลยได้ไปเรียนศิลปะ แต่ตอนเรียนมัธยมเราก็ไม่รู้หรอกว่าเราชอบศิลปะ
ท้าวความไปเมื่อก่อน ช่วงที่ครูสังคมยังไปจีบแฟนแก หรือภรรยาในปัจจุบัน ซึ่งเป็นพนักงานธนาคารออมสิน สาขาวังสะพุง ใกล้ตลาด บขส. แล้วครอบครัวอาจารย์ค้าขายอยู่ในตลาด ทุกเย็นของวันธรรมดา ที่ครูสังคมต้องไปรับแฟน แม่ของอาจารย์จะคอยบอกว่า เมี๊ยะเอาเก้าอี้ไปให้ครูสังคมนั่ง ซึ่งตอนนั้นเราก็แปลกใจว่าคนนี้เป็นครูได้ไง ใส่กางเกงยีนไว้หนวดไว้เครา งงมาก เพราะว่าความเป็นเด็ก และเคยเห็นแต่ครูที่ใส่ชุดสีกากี แต่งกายสุภาพ
แต่เมื่อแม่บอกให้เอาเก้าอี้ไปให้ครูสังคม เราก็ต้องยกไปให้ทุกครั้งพอจบ ป.6 ก็เลยได้ไปเรียนต่อมัธยมที่โรงเรียนศรีสงคราม จนจบ ม.6 เพราะว่าเป็นโรงเรียนมัธยมแห่งเดียวในอำเภอวังสะพุง
อาจารย์เคยเขียนไว้เลยนะว่าศิลปะมันเปลี่ยนแปลงอาจารย์จากลูกแม่ค้ามาเป็นคนทำงานศิลปะ
พอมีลูกอาจารย์ก็อยากให้ลูกมีวิถีของคนทำงานศิลปะ ตอนนี้คนอาจไม่เข้าใจในสิ่งที่พวกเขาทำ แต่อาจารย์เชื่อว่าศิลปะมันสามารถเลี้ยงตัวมันเองได้”
ด.ญ.เมืองไทย ผู้เป็นพี่เล่าว่ายังจำความรู้สึกในช่วง 4 วันที่เอาผลงานไปโชว์และวาดภาพนอกสถานที่ได้ดี
“สนุก เพราะได้เจอและได้รู้จักคนมากมาย และหลายประเทศ เพราะวาดอยู่ที่บ้านมันเหมือนวาดให้ดูกันเองแค่คนในครอบครัว แต่ไปวาดที่เชียงคานคนอื่นได้เห็นงานของเราด้วย”
ผู้ใหญ่ ไม่เข้าใจ เข้าไม่ถึง ปิดกั้นเด็ก
นับแต่นั้นเป็นต้นมา จึงกลายเป็นเรื่องที่ปฎิบัติจนเป็นปกติทุกสัปดาห์ว่า ทุกเย็นวันศุกร์และเสาร์เด็กทั้งสองจะต้องเอาผลงานไปโชว์และวาดภาพ ณ ถนนคนเดินที่เชียงคาน
“พออาจารย์สอนนักศึกษาเสร็จ และเขาเลิกเรียน เย็นวันศุกร์ ก็จะไปรอรับเขาที่หน้าโรงเรียนสาธิต แล้วไปแวะพาเขากินข้าวระหว่างทาง
บางทีอาจารย์เตรียมกระดาษไปด้วย เพื่อให้เด็กลูกของคนอื่นๆที่ผ่านมาเห็นได้มานั่งวาดด้วยกัน แต่อาจารย์ขอตำหนิพ่อแม่ของเด็กบางคน ที่จะคอยบอกลูกว่า ไม่ๆ ลูก เดี๋ยวต้องไปแล้ว อันนี้คือตัวอย่างของคนที่ไม่เห็นคุณค่าของศิลปะ ไม่เห็นคุณค่าในความคิดของเด็ก ปิดกั้นจินตนาการของเด็ก อาจเพราะกลัวไง กลัวไปเหยียบงานมั่ง กลัวไปทำงานเปื้อน กลัวเลอะ กลัวไปหมด แต่สิ่งที่อาจารย์สอนลูกคือ ไม่มีอะไรน่ากลัวเลย เราต้องผ่านมันให้ได้ทุกอย่าง
อาจารย์สอนเค้าว่าโลกศิลปะมันไม่มีผิดหรอก แต่ที่ผ่านมาครูศิลปะบ้านเราสอนผิด เพราะว่าไปสอนแบบวาดภาพเหมือน คน 99 คน ใน 100คน คิดเหมือนกันคือ ถ้าฉันวาดภาพไม่เหมือนคือวาดภาพไม่เป็น แต่อาจารย์บอกว่าไม่ใช่ เด็กเค้าจะเขียนอะไร มันมีความงามอยู่แล้ว เป็นโลกจินตนาการของเด็กอยู่แล้ว เพียงแค่เราซึ่งเป็นผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ เข้าไม่ถึง ปิดกั้นเด็ก อาจารย์จึงตำหนิแม่ของเด็กคนนั้นมากเลยที่ดึงลูกกลับ
แล้วอีกวันนึงมาเจอแม่อีกคนนึงที่จะดึงลูกกลับอีก อาจารย์บอกไปว่า ลองปล่อยเค้าดูไม๊ครับ พอใช้เวลาสิบกว่านาที เด็กคนนั้นวาดภาพอย่างสนุกสนานเลย แล้วเราก็ถ่ายภาพให้เค้า มอบให้เค้า โอ.. แม่เค้าดีใจใหญ่เลย
แล้วประสบการณ์ของการพาเด็กๆมาเชียงคาน ที่ได้มากคือ เป็นพื้นที่ๆทำให้เจอคนหลากหลาย นักท่องเที่ยวเยอะมาก ทั้งต่างชาติทั้งคนไทย และถ้าเราโชคดีเจอพ่อแม่ที่รักศิลปะ โอ้โห วันนั้นเป็นวันที่มีความสุขมากเลย เค้าจะมานั่งคุยกับเรา คุยกับลูกเรา เด็กก็มีความสุข ถ่ายภาพคู่กัน นี่มันคือความสุขที่เราหาซื้อไม่ได้ในโลกความจริงที่ผ่านมา แต่พอเราจ่ายเงินเป็นค่าใช้จ่าย เดินทางไปกลับจากบ้านพักอาจารย์ที่ในตัวเมืองไปเชียงคาน รวม 90 กิโลเมตรเนี่ย เราได้ตรงนี้เลย ได้เพื่อนใหม่ ได้ญาติที่ไม่ใช่เป็นญาติกันเลยนะ แล้วจะคอยบอกว่า เมื่อไหร่อาจารย์ไปกรุงเทพฯ ไประยอง ไประนอง ให้โทรหา นี่เป็นผลพลอยได้ที่เยี่ยมมากเลย มันซื้อไม่ได้ด้วยเงิน”
คนในโลกนี้ไม่ได้ชอบศิลปะทั้งหมด
ไม่ใช่แค่ด้านที่สวยงามและพอใจหรอก ที่เด็กๆจะได้รับ ด้านที่ไม่ได้ดั่งใจไปเสียหมดและต้องรอคอย เด็กๆทั้งคู่ก็ได้เรียนรู้เช่นกัน
“การที่อาจารย์พาลูกไปส่วนหนึ่งคือ ให้เค้าได้รู้ความจริงว่า คนในโลกนี้ไม่ได้ชอบศิลปะทั้งหมด และให้เค้าได้รู้ว่ากว่าที่เขาจะขายงาน ขายโปสการ์ดใบละ 30 บาทได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องรอคอย บางวันไม่ได้ซักบาท บางวันได้ 50 บาท บางวันได้ 700 บาท และบางวันได้1,000 บาท โอ้ …เราขอบคุณพระเจ้า เนี่ย… เราฝึกเค้าผ่านประสบการณ์ตรงนี้ ว่านี่แหล่ะคือโลกความจริง
และมากกว่านั้นที่มันเจ็บปวดก็คือ เจ้าของโรงแรมและเกสต์เฮ้าส์บางที่ไม่ให้เราอยู่ บอกว่าไม่ได้หรอก เพราะว่าเป็นที่จอดรถของเค้า บางครั้งเราจึงต้องเอางานทั้งหมดใส่ลัง พาเขาเดินหาที่
หรือบางคนบอกไม่ได้หรอกเสียงมันดัง เวลามีคนมาคุยกับลูกเรา ทำให้ลูกเค้าไม่ได้นอน เราก็ต้องย้ายอีก
เพราะเราไม่ได้ทำเป็นธุรกิจหรือเป็นกิจลักษณะ ไม่มีพื้นที่ตายตัว บางทีไปนั่งข้างวัดก็ไป จนพระมาเดินดู
เด็กๆเค้ารู้แค่ว่าทุกเย็นวันศุกร์และเสาร์จะต้องไปเชียงคาน แต่ไปโชว์งานหรือนั่งวาดภาพตรงไหนไม่แน่นอน เสี่ยงไป ถ้าเจ้าของพื้นที่ไม่ให้เราก็ย้าย
น้องๆบางคนที่ทำเสื้อยืดแนะนำว่าอาจารย์ต้องเช่า อาจารย์ต้องมีเงินอย่างน้อย 18,000 บาท ในการวางมัดจำ 1 รอบปี อาจารย์เลยบอกว่า โอ้ อาจารย์ไม่เอาหรอก อาจารย์ไม่ได้มาทำธุรกิจ อาจารย์แค่อยากเอาลูกมาทำงานศิลปะเฉยๆ เพื่อสร้างกำลังใจให้คนที่มีลูกว่า ลูกเขาทำได้นะ อาจารย์เลี้ยงลูกมาเองกับมือ อาจารย์รู้ว่าเค้าทำได้ แต่ถ้าปล่อยเค้าอยู่โดยที่ไม่มีคนดูแลนะ เจอเกม เจอทีวี จบเลย เด็กเท่านี้ ถ้าปล่อยให้เล่นเกม 15 นาที จบนะ ไม่มีเวลามาทำอะไรพวกนี้แล้ว แล้วโลกจินตนาการก็จะถูกปิดไปเรื่อยๆ
มีแต่จะเอาชนะ เด็กทุกวันนี้เล่นเกม เพราะต้องการจะเอาชนะ เด็กถูกล่อลวงด้วยเกมมากมาย แต่ทุกวันนี้อาจารย์สอนลูกว่า น้องต้องเอาชนะตัวเอง ตัวอย่างถ้าวันนี้น้องวาดภาพเสร็จ แล้วลงชื่อ แต่ละวันน้องชนะมันแล้ว
และการแนะนำเรื่องการวาดภาพให้กับลูก อาจารย์ก็จะไม่ได้ไปบอกว่าเค้าว่าต้องเพิ่มนั่นเพิ่มนี้ แต่อาจารย์จะแนะนำเทคนิคบางอย่างให้เขา พยายามไม่ให้เค้าเป็นเรา ทุกชิ้นงานเหล่านี้ เขาเขียนของเค้าเองหมด”
นกฮูกและต้นมะพร้าว
ทั้งเมืองไทยและเมืองธีร์ ก่อนหน้านี้ชอบวาดภาพในหลากหลายเรื่องราวตามประสาเด็ก แต่ปัจจุบันเมืองไทยกำลังสนุกกับการวาด ‘นกฮูก’ เพราะได้ไปเห็นผลงานภาพนกฮูกของศิลปินหญิงรุ่นใหม่ชื่อ ‘พี่น้ำโซดา’ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของ MOCA ณ เขาใหญ่อาร์ตมิวเซียม
“มันสวยมาก ก็เลยอยากวาดนกฮูก ก็เลยคิดนกฮูกของตัวเองขึ้นมา พัฒนาเปลี่ยนลายของขนนกฮูกไปเรื่อยๆบางครั้งก็วาดด้วยสีอะคริลิก บางครั้งก็วาดด้วยสีโปสเตอร์ และนำทำเป็นลายเสื้อ ลายแก้วน้ำของตัวเอง” ด.ญ.เมืองไทยเล่า
ด้านคุณพ่อเสริมว่า “ชิ้นแรกที่เขาวาดนกฮูกเขาวาดนกฮูกที่มีครอบครัว ตอนที่ได้รับแรงบันดาลใจเขากลับมาเขาก็สเก็ตภาพนกฮูกตัวเล็กๆของเขาก่อน อาจารย์เลยบอกว่าทำเลยลูกไม่ต้องสเก็ตหรอก ทำเลย ก็ให้กระดาษร้อยปอนด์แผ่นใหญ่ไป เขาวาดภาพต้นไม้ที่มีนกฮูกพ่อ แม่ และลูก เกาะอยู่ตามกิ่งไม้
พอเห็นคนชอบ เขาเลยทำต่อ วาดนกฮูกตัวแม่ที่มีตัวลูกอยู่ข้างใน บนกระดาษที่ขนาดลดลงมาอีกครึ่งหนึ่ง และจากที่วาดด้วยสีโปสเตอร์ ต่อมาก็วาดด้วยสีเดียว เป็นภาพนกฮูกสีขาวดำ ดีไซน์ต้นไม้เอง ไล่น้ำหนักเอง วันหนึ่งเขาอยากทำเสื้อ เพราะเห็นตาม facebook ว่ามีศิลปินหลายคนที่เอาภาพผลงานของตัวเองไปทำลายเสื้อ และแก้ว จนวันนึงไปเชียงคานเราไปเจอน้องคนนึงขายเสื้อ อาจารย์จึงไปขอซื้อเสื้อมาให้เขาวาด ช่วงนั้นเขาตื่นเต้นจนไม่อยากวาดบนกระดาษเลย ต่อมาอาจารย์ก็เลยเอาไปทำแบบสกรีนให้เค้าบ้าง การที่เขาชอบวาดนกฮูกเป็นแค่ช่วงเวลานึงเท่านั้นเอง เพราะงานเค้าจะต้องพัฒนาไปอีกเยอะ”
ขณะที่เมืองธีร์ ชอบวาดภาพลายเส้นเป็นภาพบ้านและต้นไม้มะพร้าว เพราะได้รับอิทธิพลจากบรรยากาศรอบตัวที่คุ้นเคย
“ผมชอบนั่งวาดภาพบริเวณหน้าบ้าน มองไปเห็นต้นมะพร้าว แล้วชอบ ผมเลยวาดต้นมะพร้าวครับ พอพ่อบอกว่าลองคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมอื่นๆเพิ่มอีกนิดนึง ก็เลยเพิ่มโอ่งเข้ามา”
เด็กทั้งสองบอกว่าพวกเขายังมีภาพอย่างอื่นที่อยากฝึกวาดอีกแต่ตอนนี้ยังไม่ได้วาดคือ เมืองไทยอยากวาดภาพ ‘บ้านเก่าในเชียงคาน’ และเมืองธีร์อยากวาดภาพ ‘แม่น้ำโขง’
“เพราะอาจารย์เคยพาเขาไปนั่งโชว์งานและวาดภาพในจุดที่เห็นแม่น้ำโขง พอเราต้องย้ายที่ปั๊บก็เลยยังไม่ได้วาด”
เรียนเป็นกิจกรรมเสริม วิถีชีวิตเป็นกิจกรรมหลัก
การไปนั่งวาดภาพ ณ ถนนคนเดินที่เชียงคาน เป็นแค่ส่วนหนึ่งของกิจกรรมด้านศิลปะทั้งหมดของเด็กทั้งคู่ เพราะที่ผ่านมาเคยไปร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมศิลปะหลากหลายรูปแบบ
“ในวันที่อาจารย์นั่งทำงานศิลปะอยู่ที่บ้านพักอาจารย์ เขาก็ทำเป็นเพื่อนเราไปด้วย และเวลาอาจารย์ถูกเชิญไปแสดงงาน หรือมีงานที่ไหนเราก็พาลูกไป และบางครั้งก็เอางานเขาไปวาง โชว์และให้เขานั่งวาดเหมือนที่เชียงคาน เวลาส่งงานประกวด ผลการแข่งขัน ไม่ใช่เรื่องที่อาจารย์สนใจมาก
เพราะเราอยากส่งต่อเรื่องนี้ว่า เด็กทุกคนมีจินตนาการ ทำงานศิลปะได้หมด แต่ที่วันนี้เราไม่เห็นลูก ไม่เห็นหลานของเราทำ เพราะว่าเขาถูกสังคมดึงไปจากเรื่องเกม เรื่องการเรียนพิเศษ
ลูกของอาจารย์ทั้งสองคนไม่เคยเรียนพิเศษ อาจารย์ไม่ส่งเสริมเรื่องนี้ เพราะอาจารย์ว่ามันเสียเวลาเฉยๆ อาจารย์มีบทเรียนจากหลานสาวซึ่งเป็นลูกพี่ชายของอาจารย์ ที่เรียนพิเศษตั้งแต่เล็กจนโต จนถึงวันนี้ ป. 6 แล้ว ก็ยังเรียนอยู่ มีบางเรื่องที่เขาจะดีขึ้น แต่สังคมเขาจะเล็กลง เด็กเรียนพิเศษมันแค่กลุ่มเล็กๆ อาจารย์เชื่อว่าสิ่งที่อาจารย์พาลูกทำ สังคมเขากว้างมาก เขาพัฒนาไปได้เร็ว โลกของเขาไม่แคบ ไปที่ไหนเราก็สร้างบรรยากาศ พาเขาไปนั่งทำ
ไปเมืองไหนที่มีศิลปิน เราก็ชวนเขาไปเยี่ยมศิลปิน ไปดูหอศิลป์ แล้วบอกลูกว่า ถ้าน้องทำงานสม่ำเสมอ น้องก็จะประสบความสำเร็จแบบนี้
อาจารย์สอนเขาเสมอว่าเรื่องเรียนเป็นกิจกรรมเสริม เรื่องวิถีชีวิตเป็นกิจกรรมหลัก เด็กสองคนขาดเรียนเป็นว่าเล่น แต่พวกเขาไม่ได้เกเร ขาดเรียนไปเพราะสิ่งที่มีประโยชน์ เมื่อพ่อแม่ไม่อยู่บ้านก็ต้องเอาลูกไปด้วย แล้วเราจะบอกครูเสมอว่าพวกเขาไม่ได้เป็นคนเกเรนะ และเราก็ไม่ได้เป็นคนหยิ่งว่าเราเก่ง มันไม่ใช่
ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา น้องเขาได้เรียนรู้เรื่องการหาเงินเองตั้งแต่เล็กๆเลย แม้ไม่ใช่เป็นเงินก้อนใหญ่แต่อาจารย์ก็จะบอกเขาว่าค่อยๆสะสมไปลูก
สำหรับวัยเค้ามันหนักและเหนื่อยนะ เลิกเรียน 4 โมงเย็นแล้วไปแวะกินข้าวระหว่างทาง ไปถึงสถานที่ประมาณ 5 โมงเย็น จัดสถานที่นั่งอยู่ที่ถนนคนเดินวันละ 2-3 ชั่วโมง แล้วกลับบ้านประมาณ 3 ทุ่ม กว่าจะถึงบ้านก็ประมาณ 3 ทุ่มกว่า ซึ่งมันดึก เพราะอาจารย์ต้องขับรถกลับบ้านอีก 45 นาที พวกเขาก็เลยต้องหลับในรถ”
เรื่องการขายงาน ขายโปสการ์ด ไม่ใช่เป้าหมายว่า เพราะเราอยากได้เงิน แต่อาจารย์อยากสอนลูกผ่านกิจกรรมตรงนี้ว่า พ่อเองก็ต้องทำงานหนักกับย่ามา จนวันนึงต้องดิ้นออกไปหาเส้นทางของตัวเอง วันนี้พ่อเตรียมเส้นทางไว้ให้น้องแล้ว บอกได้เลยว่าถ้าทำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆนะ คำว่าศิลปินมันไม่ไกลเลย”
กดไลค์ Muangthai & Muangtee
ดังนั้นหากใครที่ผ่านไปพบเด็กทั้งคู่บนถนนคนเดิน นอกจากจะพบพวกเขานั่งทำงานศิลปะท่ามกลางสายตาที่ชื่นชมของบรรดานักท่องเที่ยว จะพบว่ามีเสียงจากคุณพ่อ คอยเชิญชวนให้ทุกคนที่ผ่านไปมา เข้าไปกดไลค์เป็นแฟนเพจ Muangthai & Muangtee เป็นระยะๆ เพราะคุณพ่ออยากให้แต่ละไลค์ของทุกคนได้เป็นกำลังใจให้กับการทำงานศิลปะของลูกๆอีกทางนั่นเอง
“คนที่ได้คุยกับอาจารย์มักจะบอกว่า น้องๆ โชคดีจังเลยที่มีพ่อแบบนี้ อาจารย์บอกกลับไปว่า สิ่งนี้เป็นกำลังใจให้มากเลย แต่อยากให้คุณรู้ว่าสิ่งที่เราพูดไป ไม่ใช่เพราะว่าเราอวดอ้าว่างลูกเราเก่ง แต่เราต้องการสอนผ่านสิ่งนี้ว่า เด็กทุกคนสามารถมีพื้นที่แบบนี้ได้ ถ้าคุณให้โอกาสกับเด็ก และเมื่อโตขึ้นเขาจะมีพื้นที่ของเขา ไม่ไปโกงคนอื่น แอบดูข้อสอบ ขโมยของเพื่อน เพราะเค้ามีพื้นที่ของเค้าไง”
เวลานี้คุณพ่อยังไม่ได้วางแผนอะไรให้ลูกเพิ่มมากไปกว่า อยากหาพื้นที่จัดแสดงผลงานให้และหากมีเด็กคนอื่นๆมาร่วมด้วยยิ่งเป็นเรื่องน่ายินดี
“ใครมีลูกเอามาร่วมกัน เราไม่อยากให้คนว่าเราดันแต่ลูกเราเอง อยากให้ลูกดังไม่ใช่ แม้แต่ที่โรงเรียนสาธิตที่เขาเรียน และอาจารย์ต้องไปสอนเด็กๆในบางครั้ง
ตอนเรียนในห้องทุกคนสนุกมากเลย แต่พอเราตัดกระดาษแจกไปให้ทุกคนเอากลับไปทำที่บ้าน ไม่ได้อะไรกลับมาเลย โอ้โห มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจ เพราะไปที่บ้านทุกคนวางหมดเลย เจอเกม เจอทีวี เจอสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้เค้าทำงานศิลปะ ถ้าอาจารย์ปล่อยลูกแบบนี้เสร็จเลย
หรือเวลาแข่งขันศิลปะเป็นทีมอาจารย์ก็พาลูกคนอื่นไปด้วยนะ พ่อแม่เขาบอกดีใจมากอาจารย์ แต่พอกลับมาลูกเจอเรียนพิเศษวิชาอื่น หมดเลย ไม่มีใครได้ใช้เวลากับศิลปะเลย จนลูกเราไม่มีเพื่อนเลย”
ด.ญ.เมืองไทย ผู้ฝันว่าวันหนึ่งจะเป็นดีไซเนอร์ บอกว่า อยากให้ผู้ใหญ่ให้โอกาสเด็กในด้านศิลปะ เพื่อให้ศิลปะไปมีส่วนช่วยพัฒนาพัฒนาการของเด็กๆ เหมือนเช่นที่เด็กหญิงวัย 11 ขวบได้พบกับตัวเองว่าศิลปะช่วยให้ผลการเรียนวิชาอื่นดีขึ้น และ เธอเชื่อว่าศิลปะเกี่ยวข้องกับทุกวิชา
ขณะที่ ด.ช.เมืองธีร์ วัย 8 ขวบ ผู้ยังไม่แน่ใจว่าโตขึ้นอยากทำอาชีพอะไร เพียงแค่อยากวาดภาพชิ้นใหญ่ให้เสร็จ เพื่อที่จะได้เริ่มต้นทำงานชิ้นต่อไป บอกถึงข้อดีของการทำงานศิลปะว่า
“ศิลปะให้ความสามัคคี เวลาไปแข่งขันศิลปะเป็นทีม ผมและเพื่อนเคยได้ที่หนึ่ง 3 ปีซ้อน พอปีที่ 4 ได้ที่ 2 ก็ไม่ได้เสียใจอะไร และก็ยังดีใจ”
รักเพื่อนบ้าน เหมือนรักตัวเอง
เนื่องจากครอบครัว พิทักษ์ศฤงคาร เป็นครอบครัวของผู้นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโปรเตสแตนต์ ดังนั้นนอกจากชีวิตของเด็กทั้งสองจะถูกบ่มเพาะด้วยศิลปะมาโดยตลอด ขณะเดียวกันก็จะถูกเลี้ยงดูในกรอบของศาสนาที่พ่อและแม่มีความศรัทธาด้วย
“พวกเขามีประสบการณ์จากหลักการที่ว่า ให้เรารักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง เราเป็นเพื่อนกับทุกคน เรารักทุกคนได้ แม้คนนั้นจะเป็นคนที่เคยทำผิดมาแล้ว เราสอนเค้าเสมอว่าการที่เรามีอะไรที่จะเป็นพรให้กับคนได้ ทำอะไรให้คนอื่นได้ เราต้องหยิบยื่นให้คนอื่น วันนี้เราจะไม่ตั้งตนว่าต้องขอจากคนอื่น แต่เราตั้งต้นว่าเราจะให้ก่อน แล้วพระเจ้าจะดูแลเรา
เมื่อเราอยากได้สิ่งไหน ให้เราทำสิ่งนั้นกับคนอื่น อยากได้รอยยิ้มให้เรายิ้มให้คนอื่นก่อน อยากได้การดูแล เราต้องดูแลคนอื่นก่อน เด็กทั้งสองมีชีวิตอยู่ในบริบทเดียวกันกับพี่น้องคริสเตียนทั่วประเทศไทย ที่ต้องจัดเวลาในการทำสิ่งต่างๆให้ชัดเจน และไปสามัคคีธรรมกับพี่น้องคริสเตียนทุกวันอาทิตย์
ในด้านหนึ่งน้องธีร์จะมีหน้าที่ตีกลองคาฮอง น้องไทยจะมีหน้าที่ร้องเพลงและคีย์เพลง มือซ้ายถือไมค์ร้องคอรัส มือขวาคีย์เพลงบนคอมพิวเตอร์ เพื่อส่งเพลงให้พี่น้องในโบสถ์ร้องตาม
ชีวิตเราได้ให้พระเจ้าใช้ตั้งแต่เล็กๆ เป็นพรกับคนอื่น ตีกลองร้องเพลง และก็แบ่งปันพระพรทุกสัปดาห์ว่า เราดำเนินชีวิตตามแนวทางของพระเจ้า เราได้อะไรบ้าง
หลักการของพระเจ้าฝึกเราให้เป็นคนกล้าพูดกล้าแสดงความคิดเห็น ทำให้เด็กพวกนี้มีความมั่นใจที่จะตอบ เด็กในวัยเดียวกันบางคน หวาดกลัวเรื่องนี้ เวลาอยู่ต่อหน้าคน ต้องพูดกับคนที่ไม่รู้จัก เค้าจะไม่คุยด้วย”
ที่ผ่านมาเด็กทั้งคู่จึงได้มีโอกาสทำงานศิลปะเพื่อหาเงินไปช่วยกิจกรรมทางด้านศาสนาด้วย อีกทั้งถูกสอนรักการอ่าน และใช้จ่ายอย่างประหยัด แม้กระทั่งกระดาษที่ใช้วาดภาพ
“เรื่องนี้เราอยากหนุนใจเค้า เพราะว่าครอบครัวเราเป็นครอบครัวผู้รับใช้ เราไม่ได้มีเงินมากมาย แม้ฐานะเงินเดือนเท่าที่พ่อมีสามารถดูแลลูกได้ แต่ว่าเราต้องดูแลคนอื่น พระเจ้าสอนให้เราดูแลคนอื่น เพราะเราเชื่อว่าพระเจ้ารักเรา เราก็ต้องรักคนอื่นได้
ในวัยเค้าความเรียกร้องในสิ่งอื่นมันมีอยู่แล้ว แต่เราสอนเค้าว่าน้องเคยเห็นไม๊ เด็กที่ร้องงอแง พอขอของไม่ได้ แล้วนอนดิ้น ถามว่าน้องลองคิดซิว่า ถ้าน้องเป็นอย่างนั้น น้องจะได้อะไร ไม่ได้ของ เสียน้ำตา และเหนื่อย
เราเชื่อว่าพระเจ้าอวยพรในทุกสิ่ง พอเราไปทำอะไรด้วยความเชื่อแม้มีอุปสรรคปัญหา เหตุการณ์ต่างๆเข้ามาแทรกแซง เราก็ผ่านได้ เพราะพระเจ้าจะทำให้เรามีทางออกได้
และสิ่งที่เด็กสองคนนี้ถูกหล่อหลอมจากสังคมคริสเตียนคือ เราต้องฝึกให้ลูกเราเป็นคนที่รักการอ่าน รักการเขียน เด็กสองคนนี้ถูกฝึกให้เขียนภาษาไทย จากพระคัมภีร์ทุกวัน วันละ 1 ข้อ จนทำให้เขามีสมาธิและอ่านหนังสือได้ตั้งแต่สามขวบ คนอื่นทำไม่ได้เลย แต่อาจารย์พิสูจน์ได้จากลูกของอาจารย์แล้ว ตั้งแต่อนุบาลเขาเขียนหนังสือได้สวย เพราะเราฝึกเขาให้เขียนจากพระคัมภีร์วันละ 1 ข้อ
บางครั้งเค้าไม่รู้ความหมายว่าคืออะไร อาจารย์ก็จะอธิบายให้เค้าฟัง ว่าหลักการพระเจ้าข้อนี้พูดเรื่องอะไร ก่อนที่เค้าจะขึ้นข้อใหม่
สิ่งหนึ่งที่อาจารย์ขอบคุณพระเจ้าก็คือว่าเรามีลูกชายลูกหญิงอายุไล่เลี่ยกัน พอพี่อยากทำงานศิลปะน้องก็จะทำตาม พอน้องทำพี่ก็ทำตาม มันเป็นอัตโนมัติเลย ไม่ต้องเรียกตะโกนให้มาทำ ถ้าพี่มีงานน้องก็อยากมีงาน ไอ้ความเป็นคู่กันนี่แหล่ะ เรารู้สึกว่ามันเป็นจุดเด่นมากเลย ไปที่ไหนจะมีงานกลับมาทั้งคู่
และอาจารย์จะสอนเค้าทุกอย่างต้องใช้เงินซื้อหมดเลย แม้จะมีพี่ที่จุฬาฯ ส่งกระดาษมาให้เค้า เราต้องคอยบอกเค้าว่าแม้เราไม่ได้ซื้อนะลูก แต่เราต้องรู้คุณค่านะว่า มันไม่ได้มาฟรีๆ คนที่ให้เรามาต้องซื้อมา เราสอนเค้าเรื่องการเก็บกระดาษ และ ใช้อย่างประหยัด
หรือเวลาไปกินอาหารนอกบ้าน ไปกินเคเอฟซี เราสอนเค้าว่าวันนี้เรากินชิ้นนึงก่อนนะลูกเพื่อวันหน้าเราจะได้กินอีก ถ้าเราตามใจตัวเองวันนี้ วันหน้าเราจะลำบาก
น้องไปเขียนโปสการ์ดขายที่เชียงคาน น้องก็ได้เห็นว่าการได้เงินมามันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ มันไม่ใช่ว่าคนจะซื้อของๆเราเหมือนซื้ออาหารกิน มันไม่ใช่ ศิลปะในการรับรู้ของคนมันอีกแบบนึง
อาจารย์อยากให้เค้าเรียนรู้ไงว่า กว่าเราจะได้เงิน 30 บาทมา กว่าที่คนจะมาซื้องานให้เค้าเซ็นชื่อ บางทีสองชั่วโมงไม่ได้เซ็นเลย
เราสอนเค้าในทุกบทเรียนว่าคืออะไร ไม่ใช่ว่าเรากดขี่ลูกจนไม่ได้กินอะไรเลยนะ แต่เราเลี้ยงเค้าแบบไม่ได้ฟุ้งเฟ้อ
วันนี้เขาอาจจะรู้สึกในบางครั้งว่าทำไมเค้าไม่ได้อะไรเหมือนคนอื่น เช่น ทำไมวันเกิดเค้า ไม่สามารถซื้อเค้กไปให้เพื่อนๆในห้องได้ เราบอกเค้าว่า วันเกิด แล้วเอาของไปแจกเพื่อนดีมากลูก แต่วันนี้เรายังไม่สามารถทำได้แบบนั้น ไว้น้องมีนะ น้องทำได้หมดแหล่ะ และสิ่งนี้มันสอดคล้องกับตอนที่เค้าไปร่วมกิจกรรมกับพี่น้องคริสเตียนที่เชียงราย หารายได้ช่วยเด็กชาวเขาด้วยการขายโปสการ์ด
เค้าได้ดูรายการคนค้นคน ตอน คุณแม่ลาวัลย์ มูลนิธินิมิตใหม่เพื่อชีวิต ที่ต้องดูแลเด็กชาวเขาร้อยกว่าคน มันซึ้งเลย เด็กชาวเขาไม่มีกิน แม่คนนึงที่ห่วงใยเด็ก เซ็นค่าข้าวให้เด็กเดือนละหลายหมื่น
เราสอนเค้าว่าถ้าเราเอาเงินสองพันที่ขายโปสการ์ดได้ไปกินเคเอฟซีเค้าสามารถกิน ได้เยอะแยะเลย แต่วันนี้เราสอนเค้าให้เรียนรู้เรื่องการให้คนอื่นก่อน และวันหนึ่งเขาจะได้กลับมามากมาย”
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของพี่น้องสองเมือง ณ เมืองดอกฝ้ายบาน จ.เลย
ซึ่งเป็นดอกไม้ศิลปะดอกเล็กๆที่กำลังเบ่งบานให้ชมบนถนนคนเดินที่เชียงคาน
ใครแวะผ่านไปเห็นอย่าลืมเด็ดแซมผม หรือกล่าวชื่นชมให้ดอกไม้ชื่นบาน
Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : ธีระพงษ์ พิทักษ์ศฤงคาร และ Aoy P.
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews