Celeb Online

1 มอเตอร์ไซค์ 1 จักรยาน “ล่องใต้ สร้างภาพ” วธน กรีทอง & ประสาท นิรันดรประเสริฐ


ART EYE VIEW—ระยะนี้มีศิลปิน 2 ท่าน ออกเดินทาง “ล่องใต้ สร้างภาพ” ในเวลาไล่เลี่ยกัน

ไม่ใช่การกล่าวหา ว่าเป็นการเดินทางเพื่อ “สร้างภาพ” หรือทำพอได้หน้าอะไรเทือกนั้น แต่ เพราะการเดินทางของพวกเขาครั้งนี้ พกพาอุปกรณ์ไปวาดภาพเพื่อให้ได้ผลงานกลับมาด้วยนั่นเอง

ท่านหนึ่ง เน้นวาดไปเที่ยวไป ชิมไป พบปะมิตรสหาย และคล้ายจะมีเป้าหมายนำผลงานมาแสดงให้ชมในวันหนึ่ง ขณะที่อีกท่านเน้นทำกิจกรรมศิลปะร่วมกับเด็กๆ เรียนรู้วิถีชีวิต และธรรมชาติสองฝั่งทะเล

ท่านหนึ่งมี “มอเตอร์ไซค์” เป็นพาหนะ ส่วนอีกท่านเลือกปั่น “จักรยาน”




“แว้นไปตามราง” กับ ศิลปินสีน้ำ วธน กรีทอง

ท่านแรกนี้ ART EYE VIEW เคยสัมภาษณ์มาแล้วครั้งหนึ่ง ในฐานะผู้มี “การงานวันนี้” เป็นศิลปินวาดภาพสีน้ำ หลังจากโบกมืออาชีพ visualzer , Art Director และผู้กำกับหนังโฆษณา

และเคยเปรยว่า อยากจะออกเดินทางไปวาดภาพทั่วประเทศ เพราะนับตั้งแต่ลาออกจากงานมา วาดภาพละแวกบ้านย่านตลิ่งชันและในกรุงเทพฯ จนหนำใจแล้ว

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเขาได้เริ่มออกเดินทางล่องใต้เป็นทริปแรก ภายในระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ก่อนจะมีภาคอื่นๆเป็นเป้าหมายต่อๆไป

“อยู่สงขลาครับ อยู่ประมาณปลายๆของตารางทัวร์ในโปรแกรมภาคใต้ซึ่งเป็นโปรแกรมที่คิดว่าน่าจะยากที่สุด เพราะกลัวฝนจะเป็นอุปสรรค์ในการขี่มอเตอร์ไซค์ครับ”

วธน กรีทอง แจ้งพิกัดของตัวเอง ในวันที่เราถามไถ่ถึงเรื่องราวการเดินทางครั้งนี้ โดยก่อนหน้านี้ เขาเดินทางออกจากบ้านพร้อมมอเตอร์ไซค์ส่วนตัวและอุปกรณ์วาดภาพ ขึ้นรถไฟจากกรุงเทพฯ แล้วมาแวะวาดภาพที่ชุมพรเป็นที่แรก

จากนั้นจึงแว้นไปตามจุดท่องเที่ยวสำคัญๆในจังหวัดต่างๆ ที่บ้างเป็นที่หลงหูหลงตานักท่องเที่ยว สลับกับการโดยสารรถไฟสายใต้ ไปไกลถึงเขตประเทศมาเลเซีย

บ้างอาศัยโรงแรมเป็นที่พักค้างคืนและบ้างมีบ้านของมิตรสหายรับรอง แถมพวกเขาเหล่านั้นไม่เพียงจะเอื้ออารีด้วยการจัดที่พัก เลี้ยงกับข้าวกันปลาและซักรีดเสื้อผ้าให้ ยังร่วมสมทบทุนเล็กๆน้อยๆ เพื่อให้การเดินทางครั้งนี้ของเขาลุล่วง

ขณะที่เพื่อนๆคนอื่นที่แม้จะไม่ได้อยู่บนเส้นทางที่เขาผ่านไปพบ ก็ได้ติดตามความเคลื่อนไหวอยู่ทุกขณะ เพราะวธนจะเข้าอินเตอร์เน็ทโพสท์ภาพถ่ายและภาพวาดสีน้ำ ที่วาดในแต่ละวันอวดให้อิจฉาอย่างสม่ำเสมอ แถมยังรายงานค่าใช้จ่ายในแต่ละวันว่าหมดไปกับอะไรบ้าง

ซึ่งพอเอาเข้าจริงแล้ว ในวันที่โปรแกรมการเดินทางกำลังจะสิ้นสุด เขากลับคิดว่าสิ่งที่เป็นพาหนะที่สำคัญที่สุดทำให้การเดินทางวาดภาพครั้งนี้ราบรื่น คือสองเท้าของเขาเองต่างหาก

“ถ้าก่อนหน้านี้ผมอาจจะตอบว่ารถไฟ หรือ มอเตอร์ไซค์ แต่ตอนนี้มั่นใจว่าเท้าครับ เพราะมันเป็นสิ่งนี้แหละ อย่างอื่นเป็นแค่เครื่องมือของเท้าครับ”

และบอกเล่าว่า ธรรมชาติซึ่งแตกต่างจากรอบๆบ้านที่เขาคุ้นเคย เป็นแรงบันดาลใจให้เขาออกเดินทางครั้งนี้

“เรามักจะทำสิ่งใดๆเพราะอยากรู้ว่า ความต่างจากที่เราอยู่มันจะต่างหรือดีกว่าหรือเป็นอย่างไร ผมเคยปรารภไว้ครับว่าไม่อยากสร้างงานที่เกิดจากการปรุงแต่ง หรือคิดไปเองในห้องทำงานแบบที่เคยๆเป็น เคยๆทำครับ”

ผมตั้งใจที่จะวาดภาพวันละภาพ จังหวัดละภาพเป็นอย่างน้อยในช่วงปฏิบัติการ โดยจะเริ่มและไปให้ครบทั่วประเทศภายในปี 57 และที่เริ่มภาคใต้ก่อน เพราะช่วงเดือนนี้ ฝนยังไม่มา และจะเริ่มภาคอื่นๆต่อไปครับ”

เช่นกันอาวุธที่ดีที่สุดที่ทำให้เขาสามารถวาดภาพออกมาได้ในแต่ละวัน ไม่ใช่แค่อุปกรณ์ที่เตรียมไป บรรยากาศที่เป็นใจ หรือมุมมองที่ถูกใจ

“มันคือ อินทรีย์ทั้งหกของเราครับ เราสร้างศิลปะได้ด้วยสิ่งนี้ มันผลิตแบบอุตสาหกรรมไม่ได้มันต้องใช้ทุกอย่างเพื่อก่อให้เกิดการสร้างงานออกมาครับ และสื่อที่ผมเลือกคือสีน้ำบนกระดาษ ซึ่งเหมาะคือค่อยๆวาดและฉับพลันได้ ตามการเปลี่ยนของแสง และแรงพัดปลิวของลมในวัตถุที่เป็นแบบได้ครับ”




การได้พาตัวเองมาอยู่ในธรรมชาติที่แตกต่างกันในแต่ละวัน ปรับตัวและน้อมรับกับสิ่งที่ไม่อาจคาดเดาอย่างลอมชอม ได้เดินทางไปด้วย ได้วาดภาพไปด้วย ได้พบปะมิตรสหายที่ไม่ได้พบกันมานาน ทำให้เขารู้สึกประทับใจและได้รับรู้ว่า การเดินทางครั้งนี้ช่างมีความหมายมากกว่าที่คาดไว้ และชีวิตของตนเองมีกัลยาณมิตรอยู่รอบกายมากมายเหลือเกิน

“เราเอาความสัมพันธ์ที่ดีที่สุดในช่วงสั้นๆมาเป็นสิ่งที่ชูหากันนั่นเป็นสิ่งที่เราได้นำมันออกมาในการพบกันในครั้งนี้ เพราะรากฐานของทุกคนคือมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี สามารถประทับมันลงในความรู้สึกที่ดีต่อกัน นั่นเป็นสิ่งประทับใจครับ”

เมื่อการเดินทางเพื่อวาดภาพทั่วประเทศของวธนสิ้นสุดลง เป็นไปได้ว่าในอนาคตอาจจะมีนิทรรศการแสดงผลงานครั้งสำคัญของเขาติดตามมา แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนออกเดินทางไปทำในสิ่งที่ภายในของตนเองเรียกร้องลองดูบ้าง

“ทุกสิ่งที่ผมทำไม่มีสิ่งใหม่ เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้วทั้งสิ้น แต่มันจะนำไปสู่แรงบันดาลใจต่อไป นำไปสู่การเริ่มต้นต่อไป เราอย่าเป็นคนสุดท้ายในการเดินทางที่งดงามนี้ เปิดประตูไว้ให้ผู้จะมาคนต่อๆไปครับ”

หมายเหตุ: ขณะที่บทสัมภาษณ์นี้ออนไลน์ให้ได้อ่านกัน วธน กรีทอง กำลังปิดท้ายทริปการเดินทางล่องใต้ วาดภาพ ณ จุดสุดท้ายที่ “สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี”

“จักรยานเร่ วาดทะเลสองฝั่ง” กับ ศิลปินผู้ใช้ศิลปะปกป้องธรรมชาติ ประสาท นิรันดรประเสริฐ

ส่วนอีกท่านคือ ศิลปินผู้ใช้งานศิลปะเป็นเครื่องมือในการร่วมรณรงค์และปกป้องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานและเครือข่ายต่างๆมานาน รวมถึงการแสดงออกทางการเมือง

การเดินทางครั้งนี้ของเขาเกิดขึ้นภายใต้ จักรยานเร่ วาดทะเลสองฝั่ง ( Sea Journal : Art Record of The Motherland)

โครงการศิลปะเพื่อบันทึกเรื่องราวจากทะเล ด้วยการปั่นจักรยานลงพื้นที่ วาดภาพ สอนศิลปะเด็กในชุมชน ส่งโปสการ์ดศิลปะ ฯลฯ

“หลายปีก่อนหน้านี้ ผมเคยขี่จักรยานเสือภูเขาไปเที่ยวในระยะสั้นๆ เคยมีความใฝ่ฝันว่าจะเดินทางด้วยจักรยาน ท่องเที่ยว ไปตามสถานที่ต่างๆ แต่ก็ไม่ได้ทำเสียที จนทิ้งร้างไปนาน

ระยะหลังหลายปีมานี้ผมเดินทางลงมาใต้บ่อยๆ ประทับใจในธรรมชาติมากมาย โดยเฉพาะทะเลที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์

ธรรมชาติบ้านเรามีปัญหามากมายโดยการกระทำจากน้ำมือมนุษย์ จึงอยากจะบันทึกเรื่องราวของทะเล ด้วยการเดินทางไปอย่างช้าๆเพื่อได้มีเวลาซึมซับเรียนรู้ จักรยานจึงน่าจะเหมาะที่สุด”

ประสาท นิรันดรประเสริฐ บอกเล่าในวันที่เขาและจักรยานคันนั้น เร่ไปถึง จ.ภูเก็ต

แต่จุดเริ่มต้นของการเดินทางครั้งนี้ ตามที่วางแผนไว้คร่าวๆคือ เริ่มต้นเดินทางออกจาก อ.เมือง จ.กระบี่ ไปทาง จ.พังงา ภูเก็ต ระนอง แล้ววกเข้า จ.ชุมพร ย้อนลงมาทางใต้ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง จนไปสุดที่ อ.เทพา จ.สงขลา แล้วเลี้ยวไปทาง จ.สตูล ย้อนขึ้น จ.ตรัง กระทั่งจบเส้นทางที่ จ.กระบี่ รวมทั้งหมด 11 จังหวัด



โดยตลอดเส้นทางพี่แวะพัก นอกจากตัวเขาจะ วาดภาพสีน้ำ ภาพวาดเส้น ถ่ายภาพ วาดและเขียนโปสการ์ดเป็นผลงานศิลปะของตัวเอง

ยังมีกิจกรรมสร้างเสริมความสัมพันธ์ด้วยการทำกิจกรรมกับเด็กๆในชุมชน พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สอนศิลปะและให้เด็กๆวาดรูปลงแผ่นโปสการ์ด เพื่อให้พวกเขาได้สื่อสารความคิด ความรู้สึก ความผูกพันที่พวกเขามีต่อบ้านเกิด

ประสาทในฐานะคนทำงานศิลปะ ที่สนใจและรักในธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ยึดถือว่าธรรมชาติคือ “แม่แห่งชีวิต” ที่จำเป็นต้องใส่ใจเรียนรู้ และรู้สึกว่ามีความห่วงใยทั้งแผ่นดิน ท้องฟ้า ป่าเขา และทะเล ได้พรั่งพรูถึงปัญหาที่ศิลปินเช่นเขาเคยสัมผัสมาโดยตลอดว่า

“ปัญหาทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ส่วนใหญ่เกิดจากนโยบายการพัฒนาโดยรัฐเป็นผู้กำหนดแต่เพียงฝ่ายเดียว นายทุนใหญ่ผู้มีอำนาจบางกลุ่ม คอยตักตวงผลประโยชน์โดยไม่เคยคำนึงถึงผลกระทบเสียหายทางธรรมชาติ ด้วยโครงการขนาดใหญ่ การขุดเจาะน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ พัฒนานิคมอุตสาหกรรมชายฝั่ง ท่าเรือน้ำลึก อย่างเช่นที่มีการคัดค้านอยู่ที่ปากบารา สตูล ในขณะนี้ โรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งทั้ง กระบี่ ตรัง หัวไทร ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ท่าเรือแห่งที่สองที่หาดสวนกง จะนะ สงขลา และกรณีท่อก๊าซที่ลานหอยเสียบจะนะ สงขลา รวมไปถึงการประมงขนาดใหญ่ที่เห็นแก่ตัว และการท่องเที่ยวที่ขาดจิตสำนึก

ซึ่งในมุมมองของผมนั้น ทะเลคือแม่ที่ยิ่งใหญ่ คือแม่ที่อุ้มชูเลี้ยงดูหมู่พวกเรามวลมนุษย์เสมอมา ทะเลคือความหวัง คือแรงบันดาลใจสำคัญก่อเกิดกำเนิดแห่งชีวิตให้ดำเนินไปตามครรลองแห่งธรรมชาติ ก่อเกิดชุมชนและหล่อหลอมเป็นวัฒนธรรมอันดีงาม เป็นกระแสธารแห่งยุคสมัย

แต่แม่นี้ป่วยไข้ และกำลังตายอย่างช้าๆ เพราะผลกระทบจากการพัฒนาทางวัตถุอย่างเห็นแก่ตัว และขาดจิตสำนึก ผมจึงเกิดแรงบันดาลใจและมุ่งมั่นออกเดินทางเพื่อเรียนรู้ในชุมชนริมทะเลทุกแห่งที่เดินทางไปถึง และทำกิจกรรมเคลื่อนไหวกับเด็กๆ เก็บเกี่ยวเนื้อหาเรื่องราว ความเป็นจริงที่ประสบพบเจอ เพื่อนำเสนอในรูปแบบของศิลปะต่อไป”



การเดินทางด้วยจักรยานของประสาทได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากผู้คนที่เขาเดินทางผ่าน มีคนตะโกนทักทาย โบกมือให้ตลอดเส้นทาง

และทุกครั้งที่จอดพักหรือถามทาง ผู้คนจะสนใจสอบถามว่า มาจากไหน จะไปที่ไหน และเมื่อได้รับทราบเจตนา พวกเขามักจะชักชวนให้กางเต้นท์พักใกล้ๆบ้านและ ให้คำแนะนำต่างๆอย่างเป็นมิตร

“อย่างเช่นการเดินทางวันแรกที่เกาะยาวน้อย เพียงแวะทานอาหารเขาก็สอบถาม เมื่อรู้เขาก็ชักชวนให้กางเต้นท์พักนอนบริเวณร้านเขา ให้ที่อาบน้ำ และยังเลี้ยงอาหารอีกด้วย และที่เกาะหมากน้อยเมื่อขี่จักรยานผ่านไป ชาวบ้านทุกคนจะส่งยิ้มให้ หรือโบกไม้โบกมือทักทาย หรือบางบ้านเขาจับกลุ่มคุยกัน ก็จะตะโกนเรียกให้ผมแวะก่อน ชวนกินกาแฟ และบางคนชวนให้แวะกินข้าวบ้านเขา

ในการเดินทางครั้งนี้ทำให้มีโอกาสได้พบเจอ เพื่อนเก่าสมัยมัธยมที่ไม่ได้เจอกันมากว่า 20 ปี เมื่อเขารู้ว่าผมผ่านไปแถวถิ่นเขา เพื่อก็จะดูแลต้อนรับอย่างดี จัดหาโรงแรมให้พักผ่อนอย่างสบาย ก่อนที่จะเดินทางต่อ สร้างความอบอุ่นใจให้ผมมาก

มิตรภาพแบบนี้มีอยู่ตลอดเส้นทาง ทำให้ผมรู้สำนึกว่า สังคมทุกวันนี้ ผู้คน ชาวบ้าน ยังเปี่ยมมิตรไมตรี น้ำจิตน้ำใจต่อนักเดินทางแปลกหน้า”

ท้ายที่สุด เขาคิดว่าว่าโครงการนี้จะเป็นรอยทางเล็กๆที่พยายามบอกกล่าวให้ผู้คนเห็นถึงคุณค่าของธรรมชาติที่หลงลืมกันไป

“หวังให้พวกเราลูกๆของแม่ทุกคนที่ได้พึ่งพิงอาศัยอยู่กันมาเนิ่นนาน ได้เกิดสำนึกรัก ช่วยกันเอาใจใส่ดูแล แม่แห่งธรรมชาติให้อยู่ยั่งยืนต่อไป

ขบวนการขั้นตอนทั้งหมดนั้นคือการปฏิบัติการศิลปะ โดยอาศัยความเป็นไปทางธรรมชาติ ซึ่งถือว่าไม่ใช่ผลงานของผมโดยตรง ในสภาพความเป็นจริงที่ประสบ เด็กๆในชุมชนจะสื่อสารความคิดของเขา ผ่านแผ่นโปสการ์ด ภาพถ่ายและบันทึกการเดินทาง ผมถือว่าเป็นผลงานของแม่ธรรมชาติที่ให้ชีวิตผม มอบแรงบันดาลใจ เป็นผู้จัดสรรมอบให้โดยผ่านมือของเด็กๆ และผ่านผม

ผมเป็นเพียงผู้เดินทางผ่านมา มีหน้าที่เก็บเกี่ยวสิ่งที่มีอยู่แล้ว เพื่อเสนอต่อผู้คนทั้งหลาย ในที่สุดผมเป็นเพียงพยานผู้รู้เห็นคนหนึ่งเท่านั้น”

Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : วธน กรีทอง และประสาท นิรันดรประเสริฐ



ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews