Celeb Online

จากภาพลายเส้นเจ้าแกละกับเพื่อน ถึงภาพถ่ายศิลปะเปลือยความคิดทางการเมือง


ART EYE VIEW—“แนวความคิดสันติธรรมและประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ของท่านอาจารย์ปรีดี -ท่านผู้หญิงพูนสุข พนมยงค์ คือจุดมุ่งหมายในการสร้างสรรค์งานศิลปะของฉัน”

สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย บอกกล่าวไว้ภายในนิทรรศการ “จากภาพลายเส้นเจ้าแกละกับเพื่อน ถึงภาพถ่ายศิลปะเปลือยความคิดทางการเมือง”

นิทรรศการแสดงเดี่ยวศิลปะครั้งที่ 10 ของตนเอง ซึ่งจัดโดย ฝ่ายศิลปกรรม สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับ มูลนิธิไชยวนา (ครูองุ่น มาลิก)

ภายในนิทรรศการมีผลงานศิลปะภาพลายเส้นและภาพถ่ายจำนวนมากกว่า 200 ชิ้น มาจัดแสดงให้ชมบริเวณโถงนิทรรศการ (เชื่อมต่อกับสะพาน) และห้องกระจกซ้าย-ขวา

โดยภาพลายเส้นของเจ้าแกละกับเพื่อนจำนวนมากและในหลากหลายอิริยาบถ รอต้อนรับผู้ชมอยู่ บริเวณโถงนิทรรศการ (เชื่อมต่อกับสะพาน)

ขณะที่ห้องกระจกซ้าย-ขวา เป็นส่วนของการจัดแสดงผลงานภาพถ่ายและแนวความคิดสันติธรรมและประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ของศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี -ท่านผู้หญิงพูนสุข พนมยงค์ รวมถึงภาพลายเส้นส่วนหนึ่งของสินธุ์สวัสดิ์ที่สื่อแทนความหมายของคำว่า “สันติธรรม”


เจ้าแกละคือใคร?

เจ้าแกละคือใคร? หลายคนอาจตั้งคำถาม… ภาพลายเส้นของเจ้าแกละได้ถือกำเนิดมานานแล้ว ก่อนที่สินธุ์สวัสดิ์จะหันมาสนใจการเมือง กระทั่งในเวลาต่อมาสินธุ์สวัสดิ์ ได้ใช้เจ้าแกละแทนตัวเองและตัวแทนคนไทยคนหนึ่งผู้ผ่านการรู้เห็นเหตุการณ์ทางการเมืองมาหลายช่วงเวลา รวมถึงปัจจุบัน

นิทรรศการส่วนแรกนี้จึงเป็นเสมือนการให้ข้อมูลกับผู้ชมว่า แต่ละเหตุการณ์ทางการเมืองที่ศิลปินรับรู้มา เกิดอะไรขึ้นบ้าง

“ในวัยรุ่งอรุณแห่งชีวิต พ.ศ.2502 ซินแสเนี้ยวได้เล่าเรื่อง ซำเหมาพเนจร การ์ตูนที่เขียนโดยจางเล่อผิง ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์จีนรายวัน เริ่มจำหน่ายที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ก่อน พ.ศ.2492 ให้ฉันฟัง แม้เวลานั้นจะไม่เคยเห็นภาพตัวการ์ตูนซำเหมา แต่เกิดความประทับใจตามประสาเด็กที่ฟังเรื่องเล่าจากผู้ใหญ่

พ.ศ.2510-2512 ฉันได้ดูภาพยนตร์จีนกำลังภายในเรื่อง THE ASSASSIN 1967 และเรื่อง HAVE SWORD WILL TRAVEL 1969 ตามลำดับ ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องมีอิทธิพลทางความรู้สึกนึกคิดของฉันซึ่งกำลังย่างเข้าสู่วัยรุ่น

ฉันได้เริ่มขีดเขียนภาพวาดลายเส้นเด็กไว้ผมจุก โก๊ะ แกละ โดยผสมผสานเข้ากับจินตนาการ และเมื่อได้เรียนรู้เรื่องราวทางสังคมการเมือง ก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั่นทำให้ฉันกำหนดเส้นทางชีวิตของเจ้าแกละชัดเจนยิ่งขึ้น

เรื่องราวของเจ้าแกละตลอดการเดินทางอันยาวนาน เป็นเรื่องราวของความรักความปรารถนาดีที่ต้องการให้มนุษย์ทุกชนเท่าเผ่าพันธุ์ มีความรัก ความเห็นอกเห็นใจต่อกัน

สิ่งเหล่านี้จะเป็นจริงไม่ได้เลย หากภายในจิตใจของผู้คนในสังคมยังขาดสันติภาพ ภราดรภาพ หรือความรักอันไพศาลต่อมวลมนุษย์ชาติ นี่เป็นสิ่งที่ฉันตระหนักและเห็นคุณค่าอันไพศาลจากแนวความคิดสันติธรรมและประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เชื่อมั่นและศรัทธาต่อแนวความคิดนี้

เจ้าแกละจึงหมายถึงตัวตนของผู้เขียนภาพลายเส้น ขณะเดียวกันมองจากบริบททางสังคม เจ้าแกละเปรียบเสมือนตัวแทนคนไทย ในมุมมองของผู้เขียนอีกด้วย”

ภาพถ่ายเปลือยความคิด “สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย”

ขณะที่ความคิดเกี่ยวกับการเมืองของศิลปินถูกนำเสนอผ่านภาพถ่ายพอร์เทรตที่ศิลปินใช้ตนเองเป็นแบบ และมี ยุทธนา จังอินทร์,นงลักษณ์ บัทเลอร์,สายฟ้า ตันธนา และชัยวัฒน์ คำดี ทำหน้าที่ช่างภาพและฝ่ายเทคนิค

ภาพถ่ายทุกภาพมีข้อความกำกับไว้ใต้ภาพและดูเหมือนจะมีความสำคัญไม่แพ้ภาพถ่าย เป็นต้นว่า “ประชาชนเป็นเพียงหมากตัวหนึ่งให้ผู้มีอำนาจใช้เป็นพาหนะไปสู่จุดหมาย เพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวก”

ศิลปินต้องการให้ภาพถ่ายและข้อความดึงให้ผู้ชมสนใจและลองหยุดคิดสักนิดเกี่ยวกับการเมือง

“คนเราแรกเกิดมาจากครรภ์มารดา ไม่ได้สวมใส่อาภรณ์ใดๆทั้งสิ้น มาห่อหุ้มปกปิดและปรุงแต่งร่างกาย การถอดเสื้อให้เห็นเนื้อหนังจริงที่ยังมีชีวิต ยังมีลมหายใจ เปรียบเสมือนการเปลือยความคิดบริสุทธิ์ เปลือยความจริงใจ ไม่มีเล่ห์กลเคลือบแฝงใดๆ เป็นรูปแบบหนึ่งของการแสดงออกในระบอบประชาธิปไตย ผ่านศิลปะเรือนร่างที่มีสิ่งของประกอบ เพื่อต้องการให้ผู้พบเห็นหยุดคิดตรึกตรองพิจารณา กล่าวให้ถึงที่สุดคือเพื่อให้เกิดปัญญา”

นิทรรศการ “จากภาพลายเส้นเจ้าแกละกับเพื่อน ถึงภาพถ่ายศิลปะเปลือยความคิดทางการเมือง”

วันนี้ – 14 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ สุขุมวิท 55 (ทองหล่อ) กรุงเทพฯ โทร.0-2381-3860-1

เชิญไปชม และรับฟัง ผลงานและความคิดของศิลปินไทยคนหนึ่ง…คนไทยคนหนึ่ง

##ขอเชิญร่วมงาน “ขับขานศิลป์” การแสดงสด-บรรเลงดนตรี-อ่านบทกวี-สนทนาประสามิ่งมิตร

วันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2557 เวลา 17.00 – 20.00 น.ณ ลานน้ำพุ สถาบันปรีดี พนมยงค์

ส่่วนหนึ่งของนิทรรศการศิลปะแสดงเดี่ยว ชุดที่ 10 ของ สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย (ร่วมงานฟรี)











ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews