“ผมเห็นสัตว์ประหลาดในทุกที่
มองลงไปในแม่น้ำเห็นสัตว์ประหลาดไหลลงมาจากท่อน้ำทิ้ง ลงสู่แม่น้ำ
มองไปที่ถนนผมเห็นสัตว์ประหลาดวิ่งเต็มไปหมดตามท้องถนน
มองไปบนท้องฟ้าผมเห็นสัตว์ประหลาดอยู่บนยอดตึกใหญ่ๆ ในเมืองหลวง
มองไปรอบตัวผมเห็นสัตว์ประหลาดในรูปแบบต่างๆ
มีทั้งแบบมีชุดเครื่องแบบ ทั้งแบบที่ดูน่ายกย่อง
แบบที่ดูน่าสะอิดสะเอียน แบบที่ดูน่ากลัว แบบที่ดูปกติ
สิ่งเหล่านี้เหมือนสัตว์ประหลาดรอบตัวผม
หรือบางทีผมต่างหากที่เป็นสัตว์ประหลาด แต่ผู้คนและสิ่งอื่นรอบตัวผมเป็นปกติ”
ART EYE VIEW—ความในใจฉบับย่อของ สมชาย วัชรสมบัติ ที่มีต่อ บทสนทนาในจิตใจฉัน (Dialogue in my mind) นิทรรศการ จิตรกรรมและวาดเส้นชุดล่าสุดของเขา
ก่อนจะมาเป็นสัตว์ประหลาดที่มีเห็นยั้วเยี้ยในภาพเขียนแต่ละชิ้นของเขา จุดเริ่มต้นมาจากการเดินทางไป จ.อุบลราชธานี เมื่อคราหนึ่ง หลังจากประทับใจเมื่อได้อ่าน งานวิจัยเกี่ยวกับแมลงของนายแพทย์ท่านหนึ่ง
“ใน 100 เปอร์เซ็นต์ ของแมลง มีประมาณแค่ 0.3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นแมลงมีพิษ นอกนั้นมีประโยชน์หมดเลย และเป็นอาหารที่โปรตีนอย่างมหาศาล พูดง่ายๆ ถ้าโลกนี้ไม่มีอะไรกิน ทุกคนกินแมลงได้ ไม่มีใครตาย เพียงแต่มนุษย์มองว่ามันน่ากลัว”
จึงทำให้ช่วงเวลาหนึ่งสมชายได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านที่มีวัฒนธรรมการกินแมลงเป็นอาหาร
“วัฒนธรรมของคนที่นั่นเขาจะออกไปหาแมลง เช่น แมงปออ่อน กุดจี่ ด้วงมะพร้าว ฯลฯ ซึ่งเราก็ได้ไปกับเขา ได้เห็นวัฒนธรรมการกินของเขา”
รูปร่างของแมลงและสัตว์บางชนิดที่ได้พบเห็น ทำให้สมชายนึกถึงเรื่องวัฐจักรของชีวิต อยากจะนำเสนออีกด้านหนึ่งของความงาม ที่อาจดูไม่สวยงามแต่ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง นั่นก็คือภาพของสัตว์เหล่านั้น ท่ามกลางซากแห้งๆของสิ่งมีชีวิตอื่น
อีกทั้งในช่วงเวลาที่สร้างสรรค์ผลงานชุดนี้ สมชายมีความรู้สึกว่าคนรอบๆตัวเขาคล้ายกลายร่างเป็นสัตว์ประหลาด
“สองปีให้หลังเป็นช่วงที่บ้านเมืองวุ่นวาย มีความขัดแย้งเรื่องความคิดทางการเมืองสูง และเราเองก็มีทั้งเพื่อนศิลปินที่เป็นทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงที่รู้จักกันมากมาย เพื่อนเสื้อเหลืองก็ชวนว่า มาช่วยเขียนรูปหน่อยที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย ส่วนเพื่อนทางเสื้อแดงก็ชวนว่า มาเขียนรูปให้หน่อยกำลังจัดกิจกรรมที่ราชประสงค์ แต่สุดท้ายผมก็ไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมกับเขาเลย
และเวลาที่ผมเข้ามาในเมือง คนรอบๆตัวผม มันเหมือนสัตว์ประหลาด ทุกคนจะพูดเรื่องประชาธิปไตย นั่งแทกซี่ แทกซี่ก็จะเปิดเพลงเปิดรายการวิทยุของคนเสื้อแดง ผมก็ถามเค้าว่า โห… พี่ เปิดดังลั่น ถ้าผู้โดยสารเขาไม่อยากฟังจะทำยังไง แทกซี่ตอบว่า ก็ลงไปสิ ผมไม่วอรี่หรอก ใครไม่ฟังก็ลงจากรถไปเลย
ในความรู้สึกผมมันเป็นช่วงเวลาที่คนมันก้าวร้าวมากไง หลายอย่างบีบคั้นเรา แม้แต่เพื่อนรอบๆตัว ที่เป็นเพื่อนกันใน facebook ก็ unfriend เรา เพราะว่าจุดยืนทางการเมืองของเราไม่ใช่ทั้งเหลืองและแดง เค้ามองว่าถ้าเราไม่เลือกเค้าคุณก็ต้องเป็นฝ่ายตรงข้าม แต่เค้าลืมไปว่าหน้าที่ของผู้สร้างสรรค์สำหรับผม เราต้องไม่เหลืองไม่แดง แต่หน้าที่เราคือทำในสิ่งทิ่คิดว่ามีประโยชน์ออกไป
แต่ถามว่าเรามีความคิดเรื่องความถูกต้องไหม ทุกคนมีแน่นอน แต่เราเอามาใช้ในงานศิลปะ ไม่ใช่เอาไปสู้รบปรบมือ”
ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงเวลาที่สมชายต้องหันมาตั้งคำถามกับตัวเองเช่นกันว่า หรือตัวเราเองที่เป็นสัตว์ประหลาด แต่คนอื่นๆไม่ใช่
“เพราะว่าเรามันแปลกแยก ศิลปินเป็นพวกแปลกแยก ไม่ยอมรับสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น ต่อต้านสิ่งที่ทำลายสภาพแวดล้อม ขณะเดียวกันอะไรที่เค้ายอมรับมากๆ ศิลปินก็มักจะขวางเค้าหมดแหล่ะ เพราะผู้สร้างสรรค์มันมีความเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้ามันขัดแย้งกัน เราเชื่อว่ามันจะเกิดสิ่งใหม่
ฐานของประเทศเราไม่สามารถรองรับสิ่งที่เป็นอารยได้ เพราะฉนั้นเราก็เหมือนกลุ่มคนที่คิดว่าอารยคืออะไร แต่ขณะเดียวกัน เราปรับตัวเข้าไปหามันไม่ถึง เราก็เลยต้องเถียงกันอยู่ทุกวันร่ำไป”
ความรู้สึกแปลกแยกและโดดเดี่ยว ผลักให้สมชายหันหน้าเข้าหาเฟรมผ้าใบ ลงมือทำงาน และถามตอบเรื่องต่างๆ กับตัวเอง จึงเป็นที่มาของ “บทสนทนาในจิตใจฉัน” ชื่อของนิทรรศการในครั้งนี้
“มันสื่อว่าเราโดดเดี่ยวในช่วงสองปีที่ผ่านมา ผมเหมือนอยู่คนเดียวและทำงานมาก ไม่ค่อยได้พูดกับใคร และเมื่อไปพูดกับใครก็มักจะขัดแย้งทางความคิดอยู่เรื่อย ไม่ขัดแย้งทางเรื่องการเมือง ก็ขัดแย้งเรื่องการรับรู้ที่แตกต่างกัน
โดดเดี่ยวกระทั่งเราบอกตัวเองว่า งั้นเราก็พูดกับตัวเองก็ได้ ถามเอง ตอบเอง ตั้งคำถามขึ้นมา บ้างครั้งไม่มีคำตอบก็ได้ไม่เป็นไร หรือบางทีเราก็ตอบโดยไม่มีคำถามก็ได้ มันก็เลยเป็นบทสนทนาที่เราพูดกับตัวเราเองตลอดเวลา”
ในด้านหนึ่งก็กลายเป็นข้อดีที่ทำให้สมชายสร้างสรรค์ผลงานได้มากชิ้น และหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น
“พอผมมีเวลากับการทำงานมากขึ้น เราเรียนรู้อย่างหนึ่งว่า ขณะที่เราทำงาน มีสมาธิให้กับการทำงาน สมองเรามันถามตอบกับตัวเราเอง บางคำถามเราก็ไม่มีคำตอบ บางคำถามเราก็สามารถตอบสิ่งที่เราคิดขึ้นมา
ในช่วงสองปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ผมทำงานได้เยอะที่สุด และ ดูแลสุขภาพตัวเอง ออกกำลังทุกวัน ไปปั่นจักรยาน แล้วก็กลับมาเขียนรูป รู้สึกว่าร่างกายเราแข็งแรงขึ้น เราอยู่กับตัวเองมากขึ้น เรามีกระบวนการคิดที่เป็นส่วนตัว
และเรารู้ว่าหน้าที่ศิลปินคือทำงานที่เกิดจากกระบวนการคิดออกมาเป็นรูปธรรมให้เยอะที่สุด เราเชื่อว่า ถ้าเรายิ่งทำมาก ยิ่งค้นคว้ามาก ที่จะเจอสิ่งสำคัญที่มันโผล่มาในงานแต่ละชิ้น แล้วเราก็หยิบมาออกมาพัฒนาเป็นงานชิ้นอื่นได้”
ภาพเขียนแต่ชิ้นนิทรรศการครั้งนี้ของสมชาย มีขนาดใหญ่ราว 2- 3 เมตร เหตุก็เพราะงานชิ้นเล็กๆไม่อาจรองรับพลังบางอย่างที่เขาจะถ่ายทอดออกมา
“ตอนหลังๆผมอยากทำงานชิ้นใหญ่ เพราะปะทะอารมณ์คนดูได้มากกว่า และผมรู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่ผมมีพลังมาก ทำชิ้นเล็กๆไม่พอ อย่างเช่น เขียนหนอน ให้เขียนสักห้าตัว ก็รู้สึกว่ามันยังไม่พอ ต้องเขียนสักร้อยตัว พันตัว หมื่นตัว”
สมชายได้ยกตัวอย่างที่มาของแรงบันดาลใจที่ทำให้เขียนภาพบางชิ้นในนิทรรศการ
ภาพตุ๊กแกกับบธรรมชาติ “ชิ้นนี้ผมไปเที่ยว จ. กาฬสินธิ์ เห็นโรงงานที่เขาทำตุ๊กแกตากแห้ง เอาตุ๊กแกมาผ่า กางปีกตาก รูปร่างของมันปะทะความรู้สึกเรา สะท้อนไปถึงชีวิตคน อุปมาอุปไมยไปกับชีวิตของมนุษย์เรา และชีวิตของมัน มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่ทำลายวงจรสภาพแวดล้อม ทำลายธรรมชาติ เราจับตุ๊กแกไป เอาไปขายให้เมืองจีน ไปดองเป็นยาโป๊ ปกติตุ๊กแกจะกินแมลงในธรรมชาติ แต่วงจรมันถูกตัด เพราะสังคมมีเรื่องเงิน เรื่องวัตถุเข้ามาเกี่ยว
ขณะเดียวกันเราหยิบมันขึ้นมาทำงาน เราก็รู้สึกว่ารูปร่างของมันเหมาะสมกับสิ่งที่มันแห้งมันตายไปแล้ว ผมก็เลยหยิบเอาสิ่งที่เป็นธรรมชาติแห้งๆมารวมอยู่ในภาพ เพื่อให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่จีรัง เปลี่ยนแปลงไปตามรูปสภาพ”
ภาพฟักทอง 1 และ2 “ผมหลงรูปทรง ของ ผลไม้ชนิดนี้ รู้สึกมันมี Power มันเติบโตเพื่อเป็นอาหารมนุษย์ แล้วมนุษย์ก็กิน แตในขณะเดียวกัน ตัวมันเองก็รองรับสิ่งที่เป็นธรรมชาติ ตายเป็นปุ๋ย และทำใหhตัวมันเติบโตขึ้นมาใหม่”
และภาพไฮไลท์อย่าง ภาพสัตว์ประหลาดในเมือง ที่ถูกเลือกมาเป็นปกสูจิบัตรด้วย
“ตัวตะกวด กิ่งก่า คางคก ไดโนเสาร์ ฯลฯ สิ่งเหล่านั้นมันเป็นสัตว์ประหลาดในสายตาผม สัตว์ประหลาดทั้งหลาย เปรียบเป็นพูดเรื่องประชาธิปไตยออกมาจากใต้ฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สิ่งนี้ มันกระทบใจเวลาผมมอง และเวลาผมเข้ามาในเมือง
ดอกบัวที่เห็นในภาพใช้เป็นสัญลักษณ์เมืองพุทธ เพื่อบอกว่าเรายังผูกพันกับสรรสิ่งรอบตัว แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีผลต่อสัตว์ประหลาด มันเกิดมาเพื่อที่แดกอย่างเดียว แดกทุกอย่างที่ขวางหน้า ยิ่งพูด ยิ่งทะเลาะ ยิ่งอธิบายยิ่งไม่เข้าใจกัน”
นอกจากนี้มุมหนึ่งของนิทรรศการ ยังจัดแสดงภาพวาดเส้นจากปากกา บนกระดาษ ซึ่งเป็นเสมือนบันทึกจากการเดินทางไปยังที่ต่างๆของสมชาย
“เป็นช่วงที่ผมเดินทางมาก เดินทางทุกอย่าง ทั้งไปเวิร์คชอป ไปงานนอกสถานที่ ไปปั่นจักรยาน แต่ใจยังจดจ่ออยู่กับศิลปะ เมื่อรับรู้อะไรก็จะมองเห็นอะไรเป็นหัวข้อที่จะหยิบมาทำงานไปหมด และขณะที่เดินทางผมจะมีสมุดขนาด A4 ไว้บันทึก”
ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้เกี่ยวกับเรื่อง ชายชุดดำ ,ทหารปฏิวัติ หรือ ขณะปั่นจักรยานไปเจอคางคกแบนติดถนน เป็นต้น
บทสนทนาในจิตใจฉัน (Dialogue in my mind) โดย สมชาย วัชรสมบัติ วันที่ 3-20 ตุลาคม พ.ศ.2557 ณ ห้องนิทรรศการชั้น 1 ห้อง 2 หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews