Celeb Online

“ภูมินันท์ ปิยทัศน์นันท์” เจ้าของภาพถ่าย “พลุวันพ่อ” ที่หลายคนยังประทับใจ และ “อ.เผ่าทอง ทองเจือ” ร่วมแชร์


ART EYE VIEW—1 ในจำนวนภาพถ่ายที่ถ่ายทอดบรรยากาศของค่ำคืน ที่มีการจุดพลุและดอกไม้ไฟ เพื่อเฉลิมฉลอง “วันพ่อแห่งชาติ” วันที่ 5 ธันวาคม 2557 ณ ท้องสนามหลวง ซึ่งถูกแชร์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คเป็นจำนวนมากและหลายคนยังประทับใจไม่หาย แม้จะผ่านค่ำคืนนั้นมาหลายคืนแล้วก็ตาม

คือ “ภาพถ่ายพลุ” ท่ามกลางบรรยากาศที่มีโฟร์กราวน์และแบล็คกราวน์ เป็นภาพ..ป้อมพระสุเมรุ ชุมชนบนถนนพระอาทิตย์ ค่อยๆไล่ไปจนถึง ท้องสนามหลวง และพระบรมมหาราชวัง


นักศึกษาปริญญาเอก ด้านการตลาด ถ่ายภาพ Landscape

ภูมินันท์ ปิยทัศน์นันท์ ช่างภาพวัย 39 ปี ชาว จ.ศรีสะเกษ คือเจ้าของภาพถ่ายนี้ และมันคือภาพถ่ายพลุวันพ่อ ภาพแรกในชีวิตของเขา

ช่างภาพผู้ไม่ได้เรียนจบมาทางด้านถ่ายภาพ แต่จบปริญญาเอก ด้านการตลาด จาก University of New South Wales เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนด้านการตลาดในรั้วมหาวิทยาลัย ควบคู่ไปกับการเปิดเวิร์คชอปด้านการถ่ายภาพ

“การถ่ายภาพ เป็นเหมือนงานอดิเรกมากกว่า ตอนเรียน ป.ตรี เคยเรียนพื้นฐานด้านการถ่ายภาพมา 1 ตัว หลังจากนั้นก็ฝึกฝีมือมาเรื่อยๆ ด้วยการใช้กล้องดิจิตอล ถ่ายภาพสมาชิกภายในครอบครัว

แล้วมาเริ่มจริงจังกับการถ่ายภาพ เมื่อประมาณ 4 – 5 ปีที่ผ่านมา ตอนไปอยู่ออสเตรเลีย โดยเฉพาะภาพในแนว Landscape จำพวกภาพวิวทิวทัศน์ของทะเล, ,ภาพภูเขาและน้ำตก และภาพเมือง ของเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และประเทศนิวซีแลนด์”

โดยก่อนที่จะไปเรียนต่อปริญญาเอกที่แดนจิงโจ้ ก่อนหน้านี้ ภูมินันท์เรียนจบปริญญาตรี เอกโฆษณา โทการตลาด จากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน และปริญญาโท ด้านการตลาด(ภาคภาษาอังกฤษ) โครงการ MIM มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อจบมา ทำงานเป็นนักวิจัย และนักการตลาด อยู่ในแวดวงเอเจนซี่ กระทั่งได้ทุนจาก รั้ว มธ. ไปเรียนต่อปริญญาเอก ที่ออสเตรเลีย ในสาขาและสถาบันดังที่กล่าวมา

เครื่องมือบันทึกความทรงจำ

ภูมินันท์บอกเล่าว่าสิ่งที่ทำให้ในช่วงที่ไปเรียนต่อในต่างแดน เริ่มจริงจังกับการถ่ายภาพมากขึ้น

นอกจากมองว่ากล้องถ่ายภาพเป็นเสมือน “เครื่องมือบันทึกความทรงจำ” ดังเช่นที่เขาเคยใช้มันบันทึกภาพครอบครัว ในช่วงเริ่มต้นของการฝึกฝนถ่ายภาพ ส่วนหนึ่งเพราะต้องการผ่อนคลายตัวเองจากการเรียนด้วย

“กล้องถ่ายภาพมันเป็นเครื่องมือบันทึกความทรงจำ ช่วยให้เราย้อนรำลึกถึงความหลังที่สวยงาม

แรกๆ ผมถ่ายภาพครอบครัวเป็นหลัก จากนั้นพอไปอยู่ที่ออสเตรเลีย วิวทิวทัศน์ของที่นั่นก็สวยแปลกตา คิดว่าถ้าบันทึกภาพเก็บไว้ เวลากลับมาดูคงจะมีความสุข จึงเริ่มต้นถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ของที่นั่นด้วย

ประกอบกับเรียนหนัก ค่อนข้างเครียด ก็เลยเลือกการถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกที่ช่วยผ่อนคลายตัวเองจากความเครียด และอยากใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์”


จาก www.500px.com สู่ นิตยสาร 16 ปก

แม้ภูมินันท์จะยังไม่เคยนำผลงานไปจัดแสดงที่ไหน แต่ในช่วง 2- 3 ปี ที่ผ่านมา ผลงานของเขาเคยถูกตีพิมพ์เป็นปกนิตยสารมาแล้ว 16 ครั้ง โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษและอเมริกา

โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากนิตยสารเหล่านั้นได้ไปเห็นผลงานของเขาที่โพสต์ไว้ให้ชมบนเวบไซต์ www.500px.com

“เพราะช่วงปีที่ 2 ของการถ่ายภาพ ผมเริ่มอยากจะรู้ว่าคนอื่นจะมองภาพที่เราถ่ายอย่างไร โดยใช้ชื่อ Account ว่า AtomicZen (ชื่อที่เขาเคยเอาไว้ใช้ตอนเล่นเกมส์ TS Online หรือ สามก๊กออนไลน์)

ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จนนิตยสารด้านการถ่ายภาพด้วยกล้อง Nikon ขอซื้อภาพไปลงหน้าปก หลังจากนั้นจึงมีฉบับอื่นๆติดต่อมาเรื่อยๆ รวมทั้งหมดประมาณ 16 ครั้ง ครับ”

ดังนั้นเมื่อเรียนจบ และกลับมาเมืองไทย ทำให้ภูมินันท์มั่นใจที่จะแนะนำตัวเองให้คนไทยด้วยกันรู้จัก ในฐานะ “ช่างภาพ” ด้วย

“อยากให้คนไทยได้รู้จักเรามากขึ้น เพราะเรารู้สึกเสมอว่าเราก็เป็นคนไทยคนหนึ่งนะ และไม่แพ้ชาติอื่นใดในโลก”

อาจารย์สอนด้านการตลาด และติวเตอร์ด้านการถ่ายภาพและแต่งภาพ ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์

ถึงเวลานี้ภูมินันท์กลับมาอยู่เมืองไทยได้ราวครึ่งปีแล้ว ขณะที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเป็นอาจารย์สอนด้านการตลาด อยู่ที่ คณะพณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เขายังแบ่งเวลาส่วนหนึ่งจัดเวิร์คชอปด้านการถ่ายภาพ

“งานในอาชีพหลักค่อนข้างยุ่ง ดังนั้นหลักๆก็จะทำงานก่อน แล้วเวลาว่างเสาร์และอาทิตย์ จึงจัดเวิร์คชอปด้านการถ่ายภาพ น้องๆในวงการ จะรู้จักผมดีในฐานะ ติวเตอร์ด้านการถ่ายภาพและแต่งภาพ ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์

เพราะคนที่มาติวด้วย เขาติดตามผลงานและอยากรู้ว่าผมมีวิธีการถ่ายภาพอย่างไร และการสร้างสรรค์งานภาพถ่ายในยุคดิจิตอลเนี่ย นอกจากวิธีการถ่ายภาพของเราแล้ว เรายังมีวิธีการนำภาพที่ถ่ายมาผ่านกระบวนการอื่นๆอีกยังไงบ้าง

ดังนั้นผมก็เลยคิดว่า จัดเวิร์คชอปแล้วกัน ตอนที่คิดจัดครั้งแรก ผมยังอยู่ที่ซิดนีย์ พอกลับมาเยี่ยมบ้านจึงเปิดอบรม รุ่นที่ 1 ซึ่งมีผู้สนใจ จองเต็มเร็วมาก

ถึงตอนนี้กลับมาอยู่เมืองไทยถาวรแล้ว และยังคงจัดต่อเนื่อง ประมาณ 3 เดือน ต่อ 1 รุ่น รวมถึงเป็นวิทยากรให้กับ Nikon Sales (Thailand) ด้านการถ่ายภาพ Landscape จึงทำให้มีคนรู้จักเรามากขึ้น”

กว่าจะได้ “ภาพถ่ายพลุวันพ่อ”

สำหรับ ความประทับใจล่าสุด ที่คนไทยมีต่อผลงานของเขา เจ้าตัวบอกถึงแรงบันดาลใจ ที่ทำให้แบกอุปกรณ์ถ่ายภาพออกจากบ้าน ในวันที่การจราจรติดขัดแสนสาหัส แล้วกระโดดซ้อนท้ายมอเตอร์ไซด์ ยิงยาวจากย่านรามคำแหง มายังคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่าน ถ.สามเสน เพื่อหามุมเหมาะๆสำหรับตั้งกล้องถ่ายภาพพลุและบรรยากาศของการเฉลิมฉลอง ณ ท้องสนามหลวง พร้อมกับเพื่อนช่างภาพคนอื่นๆว่า

“อยากจะมีส่วนร่วมกับการเฉลิมฉลองเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นปีแรกที่ผมกลับมาอยู่เมืองไทยด้วย พอเพื่อนๆบอกว่าจะมีการจุดพลุที่สนามหลวงอย่างยิ่งใหญ่ ผมก็เลยอยากจะมีส่วนร่วม ทั้งที่ผมเองไม่เคยถ่ายภาพพลุมาก่อน จึงอยากจะลองดู เลยนัดเพื่อนๆ ไปถ่ายภาพที่คอนโดฯส่วนตัว แถวสามเสน ในช่วงประมาณ 4 โมงเย็น ของวันที่ 5 ธันวาคม มีการทำหนังสือขออนุญาตขึ้นไป”

หลายชั่วโมงกับการไปตั้งกล้องบนตึกสูงเพื่อรอถ่ายภาพ “พลุวันพ่อ” ภาพแรกในชีวิต ภูมินันท์บอกเล่าให้ฟังถึงวิธีการทำงาน กว่าจะได้มาซึ่งภาพที่หลายคนประทับใจว่า

“เราขึ้นไปตั้งกล้องรออยู่ 3 ชั่วโมง รอว่าเมื่อไหร่พลุถึงจะเริ่มถูกจุด ถึงจะได้เริ่มถ่าย อุปกรณ์ถ่ายภาพ ทุกอย่างเป็นแมนนวลหมด

ตอนแรกคิดว่าจะเอาเลนส์เทเล 80-200 มาเจาะถ่ายปะรำพิธีตรงท้องสนามหลวง ท่ามกลางบรรยากาศของพลุและดอกไม้ไฟสวยๆ

แต่ในสถานการณ์จริงสิ่งที่อยากจะถ่ายมันมากกว่านั้น ผมไม่รู้ว่าป้อมตรงนั้นคือป้อมอะไร(ป้อมพระสุเมรุ) สวยมากเลย เพื่อนก็ชี้บอกว่ามุมนี้ปกติที่เค้าถ่ายกัน เอาเลนส์ไวด์มาเก็บป้อมตรงนี้ได้ แต่ถ้าใช้เลนส์ไวด์ถ่ายปั๊บ ปัญหาก็คือพอเก็บป้อมได้

บรรยากาศตรงท้องสนามหลวงที่ไกลออกไปจะเก็บได้เล็กมาก เพราะเลนส์ไวด์ที่ผมเตรียมไป มันค่อนข้างแคบเกิน ก็พยายามคิดว่าจะทำยังไงดี

ผมเลยใช้เทคนิคถ่ายภาพพาโนรามา โดยใช้เลนเทเล ในระยะประมาณ 100 เจาะเก็บเฉพาะตัวป้อมก่อน แล้วค่อยๆเขยิบกล้องขึ้นไปเรื่อยๆ

การใช้เลนส์เทเล ดึงขึ้นมาจะทำให้เก็บป้อมได้ใหญ่ และด้านหลังที่เป็นท้องสนามหลวง มันก็จะใหญ่ขึ้นมาในเฟรม

และในวิธีการเก็บภาพของผมคือ อย่างภาพป้อมอย่างเดียว เก็บ 3 ช็อต หรือ 3 ภาพ แล้วก็ค่อยเก็บขยับขึ้นไปอีกที่ละ 3 ภาพ”

ภูมินันท์บอกเล่าเพื่อที่จะบอกว่า ภาพถ่ายอันงดงาม 1 ภาพ ผลงานของเขา ที่ผู้คนเห็นผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค ไม่ใช่ภาพที่ถ่ายจบในช็อตเดียว แต่เป็นการเก็บภาพบรรยากาศอื่นๆรอไว้ก่อน ทั้งโฟร์กราวน์และแบรค์กราวน์รวม 15 ช็อต ก่อนจะนำไปรวมกับภาพพลุที่จะถ่ายได้ในตอนหลัง

“หลังจากที่เก็บโฟร์กราวน์และแบรค์กราวน์เสร็จ จากนั้นก็รอจังหวะการจุดพลุ เพื่อนๆบอกว่าประมาณหนึ่งทุ่มสิบห้านาทีพลุจะเริ่มจุด แต่ในสถานการณ์จริงวันนั้น ปรากฎว่าในเวลาหนึ่งทุ่มสิบห้านาที สถานที่ โดยรอบจุดที่เราตั้งกล้อง เขาเริ่มจุดพลุกันแล้ว ขณะที่สนามหลวงยังไม่จุด กระทั่ง หนึ่งทุ่มครึ่งก็แล้ว หนึ่งทุ่มสี่สิบก็แล้ว จนเราเริ่มสงสัยกันว่าทำไมจุดช้าจัง กระทั่งหนึ่งทุ่มสี่สิบห้า รายการโทรทัศน์เริ่มมีการถ่ายทอดการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ตอนนั้นก็คิดว่าต้องเริ่มจุดแล้วแน่ๆ จึงได้เริ่มต้นบันทึกภาพกัน

ภาพแรกๆที่บันทึกได้ ได้ภาพพลุเล็กมากๆ จุดมาตู้มเดียว เห็นควันเต็มปะรำพิธีตรงท้องสนาม เพื่อนๆก็บอกว่า ตายแล้วควันเต็มไปหมดเลย ความหวังที่จะได้ภาพดอกไม้ไฟสวยๆคงลำบากแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม หน้าที่เรา ต้องบันทึกความทรงจำ ณ สถานการณ์ตรงนั้นเอาไว้ก่อน”

พลุสีธงชาติ

“จากนั้นผ่านไปประมาณ 5-10 นาที จึงมีพลุลูกใหญ่ปรากฎขึ้นตามมา ด้านซ้ายมือบนของท้องสนามหลวง ซึ่งสวยงามมาก และเป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้ผมเริ่มรู้แล้วว่า เลนส์ไวด์ที่ผมเตรียมไปมันไม่พอ เพราะแคบ แต่บรรยากาศตรงนั้นมันกว้างมากจนผมต้องรีบปรับการถ่ายจากการใช้เลนส์เทเลถ่ายแนวนอนมาเป็นแนวตั้ง เพื่อจะเก็บภาพพลุตรงจุดนั้นให้ได้ก่อน พลุเนี่ยเขาจุดประมาณ 4-5 ชุดก็จบแล้ว ซึ่งภาพพลุที่เก็บได้ เป็นพลุสีธงชาติ ขาว แดง น้ำเงิน ถือว่าโชคดีมากที่เก็บได้พอดี พอถ่ายเสร็จผมเลยได้แต่หวังว่า ขอให้ถ่ายภาพพลุสีธงชชาติติดและขอให้สีและแสงไม่ล้น

พอกลับถึงบ้านมาเช็คดู เรียกว่าเป็นโชคดีที่ได้ภาพพลุในแบบที่ผมอยากได้พอดีเลย แสง สี ความคมชัด ไม่หลุดเลย หลังจากนั้นผมก็นำภาพที่ถ่ายทั้งหมดมาผ่านกระบวนการ โดยการนำภาพที่ผมถ่ายโฟร์กราวน์ และแบรคกราวน์ 15 ภาพในตอนแรก มารวมกับภาพพลุที่ถ่ายได้ ในกระบวนการตกแต่งภาพในคอมพิวเตอร์”

ภาพที่ใกล้เคียงสิ่งที่สายตาช่างภาพมองเห็น

ใครที่เคยคาดเดาว่าภาพถ่ายที่ได้ชม เป็นภาพที่ถ่ายจบในภาพเดียว หรือด้วยความไม่รู้ว่าการได้มาซึ่งผลลัพธ์ของผลงานศิลปะภาพถ่ายของช่างภาพแต่ละคน มีหลายวิธีการสร้างสรรค์ อย่าได้ผิดหวัง

เพราะภาพ 1 ภาพที่ทุกคนได้ชม ภูมินันท์บอกว่า มันคือผลลัพธ์ของสิ่งที่เขาพยายามนำเสนอให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่ตนเองประทับใจในค่ำคืนนั้นมากที่สุด ท่ามกลางอุปกรณ์ที่ไม่เอื้ออำนวย

“ภาพนี้เนื่องจากมันมีเทคนิคพิเศษที่ว่า ถ้าเราใช้เลนส์ไวด์ในการถ่ายภาพ เลนส์ไวด์อาจจะเก็บภาพป้อมพระสุเมรุได้ แต่อย่างที่บอกไป ท้องสนามหลวง และพระบรมหาราชวัง ในเฟรมเดียวกันจะเก็บได้เล็กมาก จึงต้องใช้เลนส์เทเลถ่ายภาพป้อมสุเมรุไล่ขึ้นไปที่ท้องสนามหลวงและพระบรมมหาราชวัง รวม 15 ช็อต แล้วจึงนำถ่ายภาพพลุในวันเดียวกัน เอามารวมเพื่อจัดองค์ประกอบภาพให้สมจริง อย่างที่ตาของผมมองเห็นบรรยากาศต่างๆในวันนั้น”

และมันก็เป็นภาพที่เกิดจากการนำภาพถ่ายหลายๆภาพ ที่ถ่ายได้ทั้งหมดในวันและสถานที่เดียวกันมานำเสนอ แตกต่างจากภาพถ่ายพลุ ภาพอื่นๆ ที่หลายคนอาจเคยเห็นมาก่อนหน้านี้ ซึ่งภาพเหล่านั้นเป็นการนำภาพที่ถ่ายได้จากต่างสถานที่ ต่างเหตุการณ์ และอาจจะคนละวันด้วย มารวมกัน เพื่อมุ่งเน้นให้ได้ภาพที่มีความสวยงามเป็นหลัก มากกว่าถ่ายทอดความประทับใจของช่างภาพ

“แต่ตัวผมเองอยากได้บรรยากาศจากสถานที่เดียวกัน วันเดียวกัน มารวมกันให้ได้บรรยากาศที่สมจริงที่สุด เพียงแต่ในแง่ของการถ่ายภาพ เราไม่สามารถถ่ายจบในภาพเดียวได้ เนื่องจากข้อจำกัดในด้านอุปกรณ์”

“อ.เผ่าทอง ทองเจือ” ร่วมแชร์

ทันทีที่นำภาพถ่ายที่ได้ไปผ่านกระบวนการในคอมพิวเตอร์จนกระทั่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว กลางดึกของคืนวันเดียวกัน ภูมินันท์ตัดสินใจอัปโหลดภาพให้คนบนโลกโซเชียลเน็ตเวิร์คได้ชมทันที

“ประมาณซักเที่ยงคืน เพราะตอนที่ผมกลับบ้านรถติดมากๆ วันนั้น หลังจากถ่ายภาพเสร็จ ผมมีความประทับใจมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่เราได้บันทึกภาพบรรยากาศของงานเฉลิมฉลอง และส่วนตัวผมรักในหลวงมาก อยากจะนำภาพที่ได้ในวันนั้นมาแชร์ให้คนอื่นๆได้เห็น ได้ชมความสวยงาม จากมุมมองที่เรายืนอยู่

ตอนแรกผมก็ตั้งใจจะเก็บไว้ก่อน แต่สุดท้ายก็บอกตัวเองว่าไม่ดีกว่า เพราะทุกคนต่างกำลังมีความสุขกับการเฉลิมฉลองงานวันพ่อ ผมอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุกคนมีความสุขด้วย กลับถึงบ้าน หิวข้าวมาก ก็เลยกินข้าวไปด้วย ทำภาพไปด้วย และรีบอัปโหลดภาพให้คนได้ชมในคืนนั้นเลย”

จากที่ไม่ได้คาดหวังเอาไว้ว่าจะมีคนชื่นชอบจำนวนมาก อีกวันต่อมาภูมินันท์ก็ต้องตกใจกับจำนวนผู้ที่กดไลค์และแชร์ไปจาก facebook ของเขา รวมไปถึง facebook ของอาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ หนึ่งในผู้ที่ประทับใจภาพนี้มาก

“แรกที่ตื่นมา ตกใจ เพราะมีคนแชร์ไปเยอะมาก ผมไม่ได้คาดหวังไว้ว่า คนจะชอบขนาดนี้

หน้าวอลล์ผมเองมีคนกดไลค์เกือบหนึ่งพัน และแชร์ไปอีกประมาณครึ่งร้อย นอกจากนี้ยังมีในส่วนของคุณ เผ่าทอง ทองเจือ ที่แชร์ไป ซึ่งมีคนกดไลค์อีกเป็นหมื่น และแชร์ไปอีกเป็นพัน ก็เลยทำให้รู้สึกดีใจที่มีคนชื่นชอบภาพของเรา”

1 ใน 15 ภาพถ่ายในดวงใจ

ขณะที่ส่วนตัวภูมินันท์เองหตุผลที่ทำให้ชอบภาพถ่าย ผลงานของตัวเองภาพนี้มากๆ ถึงขนาดจัดให้เป็นภาพถ่ายในดวง นอกจากเป็นครั้งแรกที่ถ่ายภาพพลุวันพ่อ ยังเป็นภาพถ่ายทีมีหลายสิ่งที่เขาประทับใจมารวมอยู่ในภาพๆเดียว

“ผมเห็นความเป็นไทยในภาพถ่ายนี้พอสมควร ถ้าเทียบกับภาพอื่นๆที่ผมเคยไปถ่าย เห็นความเป็นไทย เห็นการเฉลิมฉลอง ความรื่นเริงที่มันเกิดขึ้น ภาพนี้จึงจัดได้ว่าเป็นหนึ่งในบรรดาภาพที่ผมชอบ และเป็นภาพที่ผมจัดให้เป็น 1 ใน 15 ภาพถ่ายในดวงใจ ในบรรดาภาพถ่ายในเมืองไทยที่ผมเคยถ่าย และภาพนี้ติดอันดับต้นๆ”

ดังนั้น ภูมินันท์จึงเตรียมที่จะปริ๊นภาพถ่ายนี้ใส่กรอบเพื่อติดไว้ชมเองภายในห้องนั่งเล่น

และถ้ามีโอกาส เช่น มีการจัดนิทรรศการที่ใครก็ตามอยากจะชวนให้เขาไปร่วม เขาอยากจะนำภาพนี้ไปร่วมแสดงด้วย แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าภาพของเขาจะเหมาะสมกับตรีมของนิทรรศการนั้นๆ ด้วยหรือไม่

ขณะที่เวลานี้ได้มีผู้ติดต่อเข้ามาหลังไมค์เพื่อขอซื้อภาพไปปริ๊นใช้เพื่อการต่างๆ

“ก็มีคนติดต่อมาเหมือนกัน เช่นว่าอยากจะขอซื้อภาพเพื่อไปปริ๊นติดในร้านอาหาร หรือบ้านส่วนตัว แต่เนื่องจากผมเกรงเรื่องลิขสิทธิ์ ถ้าเราปล่อยไฟล์ออกไปให้คนนำไปปริ๊น

ผมเลยขอพิจารณาเป็นกรณีไป ถ้าผมสนใจ ผมขอปริ๊นเอง แล้วให้คนที่อยากได้ภาพจ่ายค่าปริ๊นให้ผมจะดีกว่า ผมจะปริ๊นลงกระดาษอย่างดีแบบงานภาพถ่ายดีๆที่โชว์ในแกลเลอรี่ จากนั้นผมนำภาพไปส่งมอบให้เอง

ถ้าใครยินดีจะขอซื้อภาพ ผมยินดีจะปริ๊นให้ แต่ถ้าจะซื้อไฟล์ภาพไปปริ๊นเองผมคงไม่สะดวก”

 www.atomiczen.net

ส่วนใครที่ต้องการติดตามชมผลงานภาพถ่ายของภูมินันท์ แนะนำให้คลิกไปเยี่ยมชมที่ www.atomiczen.net

เพราะนอกจากภาพถ่ายในเมืองไทย เขายังรวบรวมผลงานภาพถ่ายที่ถ่ายจากประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ มาไว้ให้ชมด้วย และได้มีการอัปเดทภาพและข้อมูลอยู่เรื่อยๆ ทั้งข้อมูลเกี่ยวกับเทคนิคการถ่ายภาพ อื่นๆ และล่าสุดเทคนิคการถ่ายภาพ พลุวันพ่อ

“ผมตั้งใจนำภาพถ่าย ตลอดจนเทคนิคการถ่ายภาพของผมมาแชร์ให้กับผู้สนใจตรงนี้

เพราะผมเชื่อว่าในวันหนึ่ง facebook อาจจะต้องหายไปเหมือน Hi 5 , Multiply ฯลฯ ถ้าเป็นเช่นนั้นผมเสียดายข้อมูล จึงนำมาเก็บรวบรวมไว้ในเวบไซต์ของตนเองดีกว่า”

ภูมินันท์ หรือ AtomicZen ชื่อที่ไม่ได้ถูกใช้แต่ในภาคของการเป็นคนเล่นเกมส์ สามก๊กออนไลน์ แต่ยังรวมถึงในภาคของการเป็น “ช่างภาพ” กล่าวเชิญชวนทุกคนให้แวะไปเยี่ยมชมเวบไซต์ของเขา
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews