ART EYE VIEW—วันนี้เป็นวันที่ นิทรรศการ “สยาม ผ่านมุมกล้อง จอห์น ทอมสัน ๒๔๐๘-๒๔๐๙” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถ.เจ้าฟ้า เปิดให้เข้าชมเป็นวันแรก
หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ ประธานคณะกรรมการจัดนิทรรศการครั้งนี้ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง CEO สำนักพิมพ์ River Book กล่าวถึงที่มาของการจัดนิทรรศการภาพถ่าย ซึ่งได้มาจากต้นฉบับฟิลม์กระจกเดิมที่มาจากสถาบัน เวลคัมแห่งกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ว่า
“เพราะว่ามีเพื่อนชื่อนาง Betty Wall เค้าเคยจัดนิทรรศการเกี่ยวกับประเทศจีนผ่านมุมกล้อง จอห์น ทอมป์สัน และสำนักพิมพ์ก็เคยพิมพ์หนังสือให้เค้า
เธอบอกว่า “เนี่ยเธอรู้หรือเปล่า ที่หอจดหมายเหตุเวลคัมที่ลอนดอน มีแผ่นกระจกที่เกี่ยวกับประเทศไทยด้วย เธอน่าจะมาดู น่าจะนำไปจัดนิทรรศการที่เมืองไทย” ก็เลยได้ไอเดียว่า ถ้าเป็นไปได้ น่าจะจัดนิทรรศการ
และต่อมาเมื่อได้ทราบว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยเสด็จทอดพระเนตรแผ่นกระจกเหล่านี้ และมีความสนพระทัยมาก
เมื่อหอศิลปมีพื้นที่ว่างพอดี ทุกอย่างลงตัว จึงต้องการให้เป็นหนึ่งนิทรรศการที่เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ ครบ 5 รอบ
และถ้ามีภาพถ่ายมาจัดแสดงให้ชม 60 ภาพ ตรงกับพระชนมายุด้วยน่าจะดีมาก”
ดังนั้นภาพถ่ายในนิทรรศการครั้งนี้จึงประกอบไปด้วย ภาพถ่ายที่เกี่ยวกับประเทศไทย 43 ภาพ,ประเทศกัมพูชา 6 ภาพ และเกี่ยวกับเมืองทางชายฝั่งของประเทศจีน11 ภาพ
ม.ร.ว.นริศรา กล่าวถึงประโยชน์ที่ผู้ชมจะได้รับจากการชมนิทรรศการครั้งนี้ว่า
“หลายๆ แง่ แง่หนึ่งถือเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ เมื่อ 150 ปีมาแล้วของประเทศไทย ผู้ชมจะได้เห็นวัฒนธรรมประเพณี การแต่งกาย เห็นว่าชีวิตในวังเป็นอย่างไร และเป็นยุคเดียวกันกับยุคที่เริ่มมีการถ่ายภาพ
เพราะฉนั้นมันน่าสนใจมาก ที่จอห์น ทอมป์สัน ได้ตัดสินใจมาเมืองไทย และ รัชกาลที่ 4 โปรดให้เข้าถ่ายภาพในวังหลวง ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน เสร็จแล้วยังได้ใบเบิกทางให้เดินทางไปประเทศกัมพูชาด้วย
จอห์น ทอมป์สัน เป็นช่างภาพคนแรกที่ถ่ายภาพนครวัด และเป็นครั้งแรกที่ภาพถ่ายทั้งหมดที่เขาเคยถ่ายที่เมืองไทยได้มารวมอยู่ที่เดียวกัน ในนิทรรศการครั้งนี้
เราจะได้เห็นจุดที่เขาถ่ายภาพในเมืองไทย เมื่อ 150 ปี ก่อน ได้แก่ ในพระบรมมหาราชวัง, วัดโพธิ์ และและมุมมองจากยอดพระปรางค์วัดอรุณ ที่ทำให้เห็นทิวทัศน์ของแม่น้ำ”
ม.ร.ว.นริศรา ผู้เรียนจบมาทางด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ เผยว่า โดยส่วนตัวชอบทั้งงานศิลปะสมัยโบราณและศิลปะร่วมสมัย
“ชอบไปวัด ชอบไปดูจิตรกรรมฝาผนัง ชอบไปเขมร ดูปราสาท งานประติมการรม สถาปัตยกรรม และก็เรียนจบมาทางนี้โดยตรง คือ ประวัติศาสตร์ศิลป์ จากมหาวิทยาลัยลอนดอน
หลังจากนั้นเมื่อมาอยู่เมืองไทย ก็สนใจศิลปะไทย เคยเข้าเรียนกับอาจารย์ พิริยะ ไกรฤกษ์ เลยค่อนข้างชอบศิลปะสมัยโบราณ แต่ศิลปะร่วมสมัยก็ชอบ”
กล่าวด้วยว่าส่วนตัวประทับใจผลงานของสองศิลปินไทย คือ จักรกาย ศิริบุตร และฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช
“ตอนนี้กำลังชอบงานของคุณจักรกาย ศิริบุตร ชอบมาก รู้สึกว่าเขามีมุมมองที่สะท้อนเรื่องการเมืองและสังคมที่น่าสนใจ แหวกแนวและโดนมากๆ ชอบงานของเค้ามาก ชอบหลายอย่าง
โดยเฉพาะงานเทคนิคปักผ้า และเคยไปดูนิทรรศการของเค้าที่นิวยอร์ก ประทับใจมาก
แต่งานของศิลปินต่างชาติไม่ค่อยมีใครที่ชอบมากๆ และมีงานศิลปินไทยอีกคนที่ชอบมากๆ คือ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ชอบความคิดของเค้า และเคยทำหนังสือให้เค้าเล่มหนึ่ง เกี่ยวกับการทำกับข้าว ชอบวิธีที่เค้าเอาการทำกับข้าว มาเป็นสิ่งสะท้อนมุมมองด้านการเมืองและสังคม
เค้าอาจจะไม่ใช่ตัวอย่างของคนที่ทุกคนคิดว่าควรจะเป็น เหมือนดิฉันพูดไทยได้ มีชื่อไทย แต่หน้าตาไม่ใช่ คุณฤกษ์ฤทธิ์ก็เช่นกัน”
ก่อนจะกล่าวทิ้งท้ายว่า อยากเชิญชวนให้ทุกคนไปชม นิทรรศการ “สยาม ผ่านมุมกล้อง จอห์น ทอมสัน ๒๔๐๘-๒๔๐๙” และหวังว่าจะเป็นหนึ่งนิทรรศการดีๆที่มาช่วยเติมเต็มและขับเคลื่อนให้กับกิจกรรมด้านศิลปะของเมืองไทย
“อยากให้ประเทศเราหรือกรุงเทพฯ มีนิทรรศการดีๆให้คนได้ชมเยอะๆ เมืองหลวงของเราจะได้นิทรรศการศิลปะเต็มเมือง เหมือนประเทศอื่นๆ”
นิทรรศการ “สยาม ผ่านมุมกล้อง จอห์น ทอมสัน ๒๔๐๘-๒๔๐๙” วันที่ 10 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2558
ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถ.เจ้าฟ้า
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews