Celeb Online

บันทึกความสุขไว้ในผล “สตรอว์เบอร์รี” ชินมิษ บุนนาค


 ART EYE VIEW—เป็นความสุขและความภาคภูมิใจ เมื่องานอดิเรกที่รักจะทำ ถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับหน้าที่การงานซึ่งได้รับมอบหมายควบคู่กันไปด้วย

เพราะหลายปีที่ทำงานในฐานะข้าราชการพลเรือนประจำ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ชินมิษ บุนนาค (ทายาทของ พลเอกกรีเมศร์ และคุณหญิงสุนิดา บุนนาค) ผู้ที่เราเคยคุ้นหน้าเขาในฐานะนักแสดง สังกัดช่อง 7 การถ่ายภาพที่เขาชื่นชอบมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเรียนในโรงเรียนประจำ ที่ประเทศอังกฤษ ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์บ่อยครั้ง         

  ข้าราชการพลเรือน รักการถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก

“ส่วนตัวผมเป็นคนที่ชอบทั้งการถ่ายภาพและวาดภาพ เคยเลือกเรียนวิชาถ่ายภาพตั้งแต่อายุ 14-15 ปี ตอนที่ไปเรียนโรงเรียนประจำที่อังกฤษ จากนั้นผมก็จะมีกล้องนู่น กล้องนี่ของผมเก็บเอาไว้ถ่ายภาพส่วนตัว ฝึกถ่ายมาเรื่อยๆ แ ต่ผมเป็นคนชอบถ่ายด้วยกล้องฟิล์มมากกว่า ไม่ค่อยได้ใช้กล้องดิจิตอลเท่าไหร่

และไม่ได้เรียนจบมาทางด้านอาร์ตเลยครับ เพราะผมเรียนจบปริญญาตรี ด้านบริหารธุรกิจ และปริญญาโท ด้านการตลาด

ผมมีญาติสนิทที่ก็ชอบถ่ายภาพเหมือนกัน มีรุ่นพี่เคยทำงานกับช่างภาพเก่งๆหลายคน จึงได้เรียนรู้และขอคำแนะนำจากคนเหล่านี้ ว่าเขาถ่ายกันอย่างไร หรือมีมุมมองในการถ่ายภาพอย่างไร

ซึ่งบางครั้งบางทีพวกเขาก็จะแนะนำว่าให้ ดึงความรู้สึกของตัวเองผ่านเข้าไปในกล้อง ดึงความรู้สึกของคนที่เราถ่ายหรือสิ่งที่เราถ่าย มาสร้างความรู้สึกให้ได้มากที่สุด จากนั้นผมก็พยายามนำมาปรับใช้ให้มันเป็นทิศทางของผม สื่อให้ภาพมันมีชีวิต ถ่ายทอดความรู้สึกที่ผมอยากจะถ่ายทอดให้มากที่สุด”

 สตรอว์เบอร์รี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ความสุขและความภาคภูมิใจล่าสุดของชินมิษ คือการได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน ทำหนังสือ “สตรอว์เบอร์รี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” หนังสือซึ่ง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จัดทำขึ้น เพื่อเป็นคู่มือการปลูกสตรอว์เบอร์รี ให้กับเกษตกร ( ผลไม้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นคนแรกที่มีพระราชดำริส่งเสริมให้เกษตรทางภาคเหนือของประเทศไทยทดลองปลูก มีการพัฒนาคุณภาพให้เทียบเท่าสากล จนกลายเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้เกษตรกรมีรายได้พอเพียงเลี้ยงตนเอง)

แต่เนื่องจากไม่ต้องการให้หนังสือดูเป็นวิชาการมากนัก ภาพถ่ายซึ่งใช้ประกอบจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง และแน่นอนว่าชินมิษได้รับหน้าที่เป็น 1 ใน3 ช่างภาพ ผู้บันทึกภาพ

“หัวหน้าผมคือคุณ พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นหัวหน้าฝ่ายพิเศษ สำนักงานส่วนทรัพย์สินพระมหากษัติย์ ดูแลโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1ฝาง ซึ่งป็นโรงงานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งขึ้น เพื่อช่วยชาวเขา หรือเกษตรกรในพื้นที่ ที่ไม่มีงานทำ โดยที่ผ่านมาก็จะให้ทีมส่งเสริมเข้าไปส่งเสริมเกษตรกร โดยการหาพืชทางเลือกให้ไปปลูก อย่างเช่น สตรอว์เบอร์รี แล้วโรงงานหลวงก็รับซื้อ และแปรรูปออกมาเป็น สตรอว์เบอร์รีอบแห้ง หรือน้ำสตรอว์เบอร์รีพร้อมดื่ม ภายใต้แบรนด์ ดอยคำ

เกษตรกรก็ปลูกมาเรื่อยๆ แต่เพราะไม่มีความรู้ ใช้ยาฆ่าแมลง ทำให้ดินเสีย พอสตรอว์เบอร์รีทีได้ผลผลิตไม่ดี ก็เลยจะเลิกปลูกกันไป

และพอปีที่โรงงานหลวงถูกน้ำป่าทำลาย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงอยากจะให้ทำโรงงานขึ้นมาใหม่ เพราะพื้นที่ตรงนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นว่าเป็นเส้นทางการค้ายาเสพติด ทรงซื้อที่สร้างโรงงานหลวงขึ้นมา ส่วนหนึ่งก็เพื่อจะปิดเส้นทางการค้ายาเสพติด แล้วให้ชาวบ้านหันมาปลูกผลไม้ทดแทน ซึ่งสตรอว์เบอร์รี ค่าตอบแทนมันสูง เทียบกับฝิ่นในสมัยก่อนได้ อย่างน้อยการปลูกสตรอว์เบอร์รีก็จะได้ค่าตอบแทนที่สูงมากขึ้นกว่าการปลูกผักทั่วไป แต่พืชเมืองหนาวอื่นๆ มูลนิธิโครงการหลวงก็ส่งเสริมเช่นกัน

เมื่อสมเด็จพระเทพฯ ทรงให้เพิ่มทุน ขยายโรงงาน สำนักงานทรัพย์สินฯ ก็ต้องสนับสนุนอยู่แล้ว มีการสร้างโรงงานขึ้นมาใหม่ เมื่อสมเด็จพระเทพฯ เสด็จทอดพระเนตร ทรงเห็นว่าน่าจะมีการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นราบ ปลูกสตรอว์เบอร์รี เพราะเมื่อก่อนปลูกแต่ในที่สูง

เริ่มมีการพัฒนาสายพันธ์ที่ปลูกบนพื้นราบได้ และ จัดตั้งกลุ่มเกษตรกรชุดที่ 1ขึ้นมา และสมเด็จพระเทพฯ ทรงตั้ง “โครงการส่งเสริมสตรอว์เบอร์รีในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่งอน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” และจากนั้นหัวหน้าผม คุณพิพัฒน์พงศ์ ท่านก็อยากจะทำหนังสือเพื่อส่งเสริมวิธีการปลูกสตรอว์เบอร์รีอย่างแท้จริง ว่าต้องปลูกอย่างไร โดยใช้ปุ๋ยชีวภาพทดแทนการใช้สารเคมี พวกยาฆ่าแมลง เพราะตอนนี้ผลผลิตสตอรอส์เบอรีต้องผ่านมาตฐาน GAP ด้วย เราจึงทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา เพื่อที่จะแจกให้กับกษตรกร ให้สามารถแม้กระทั่งถือลงไปในแปลง แล้วเริ่มปลูก ที่ผ่านมาทีมงานทำหนังสือ จึงได้มีการเก็บข้อมูล ถ่ายภาพ แล้วก็ทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา

และผมซึ่งทำงานที่สำนักงานทรัพย์สินฯ และเป็นคนชอบถ่ายภาพอยู่แล้ว จึงต้องถ่ายภาพเพื่อมาใช้ในการทำหนังสือ

เราไม่อยากให้เป็นหนังสือที่เป็นวิชาการเกินไป แบบที่เปิดดูแล้ว เกษตรกรเขาไม่อยากอ่าน คือสิ่งที่ทีมงานทั้งหมดคุยกัน และนอกจากภาพถ่ายก็ยังมีภาพวาดประกอบ เพื่อให้ข้อมูลว่าสตอรอส์เบอรี แต่ละสายพันธุ์แตกต่างกันอย่างไร

แล้วตอนไปไปลงพื้นที่เก็บภาพเพื่อมาทำหนังสือ ผมและช่างภาพอีก 2 คน ซึ่งได้มีโอกาสเข้าไปคลุกคลีอยู่กับชาวบ้าน ซึ่งเป็นชาวเขาเผ่ามูเซอร์บ้าง เผ่าปะหล่องบ้าง และถ่ายภาพกันตลอด จึงทำให้ภาพที่ถ่ายเก็บไว้มีเยอะมาก ก็เลยนำภาพส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถนำไปลงหนังสือได้ เพราะพื้นที่จำกัด นำมาร้อยเรื่องราวเป็นนิทรรศการ”

ชินมิษหมายถึง นิทรรศการ “สตรอว์เบอร์รี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ที่จะเปิดแสดงให้ผู้สนใจได้ชมวันแรก วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2558 ณ ห้องร้อยนิทรรศน์ ยลรัตนโกสินทร์ อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ถ.ราชดำเนิน ที่นอกจากจะทำให้รับรู้เรื่องราวการปลูกสตรอว์เบอร์รี ในประเทศไทย นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ ส่งเสริมให้ปลูก ยังทำให้รับรู้ถึงเบื้องหลังการทำงานของทีมงาน ก่อนจะมาเป็นหนังสือ“สตรอว์เบอร์รี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” และผลงานภาพถ่ายหลายๆภาพของชินมิษและเพื่อนที่ไม่ได้ปรากฎในหนังสือ


บันทึกความสุขไว้ในผล “สตรอว์เบอร์รี”

ชินมิษบอกถึงสิ่งที่พยายามถ่ายทอดผ่านภาพถ่ายแต่ละภาพ นอกจากเรื่องราวที่ต้องสอดคล้องกับเนื้อหาของหนังสือ

“อยากจะถ่ายทอดให้คนรู้ถึงพระราชกรณียกิจของทั้งสองพระองค์ ทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่าทรงงานหนักแค่ไหน เพราะทรงอยากจะให้คนไทยได้มีการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีทางเลือกในการปลูกผลไม้ทดแทน มีชีวิตที่ดีขึ้น โรคภัยไข้เจ็บน้อยลง เพราะยังทรงนำการศึกษา นำหน่วยแพทย์เข้าไป ชาวบ้านจึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พัฒนาขึ้นจากเมื่อก่อน

นั่นคือมีรายได้มากขึ้น มีการศึกษา มากขึ้น และมีความสุขมากขึ้น ผมพยายามถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ลงไปในภาพที่ผมเล่า”

นอกจากนี้ยังบอกถึงความประทับใจส่วนตัว ระหว่างการลงพื้นที่บันทึกภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งเป็นที่อาศัยของชาวเขาเผ่ามูเซอดำ

“ ผมมีเพื่อนอีกคนเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องสตรอว์เบอร์รี แล้วตอนนี้ไปเรียนปริญญาเอกอยู่ที่ญี่ปุ่น ตอนนั้นยังทำงานอยู่ด้วยกัน เขาเป็นคนพาผมเข้าไปในหมู่บ้าน ไปรู้จักชาวเขากลุ่มนี้ เล่าให้ฟังว่าเขาส่งเสริมคนเหล่านี้อย่างไร ตั้งแต่ไม่รู้เรื่องเลย จนเดี๋ยวนี้คนพวกนี้เก่งมากเรื่องการปลูกสตรอว์เบอร์รี เก่งในสิ่งที่เขาเรียนรู้ แม้ว่าเขาจะไม่มีตำราอะไรเลย แต่เขาจดจำจากสิ่งที่เราไปสอนแล้วทดลองทำ

เขาชวนเราไปกินข้าวด้วย ในบ้านซึ่งเป็นกระต๊อบ ทำจากไม้ไผ่ อากาศหนาว แต่เขาจะก่อไฟเอาไว้ให้ไฟมันคุ ทำให้ภายในบ้านอุ่น แต่ด้วยความที่มันมีเขม่า ผนังข้างในบ้านก็จะเคลือบไปด้วยน้ำมัน เขาตำน้ำพริก มีผัก มีแกง ให้กินกับข้าวเหนียว เชือดหมูป่ามาทำอะไรให้กิน คุยสนุกสนาน เฮฮา ขณะที่เราเองก็มีความรู้สึกว่าดีเนอะ ชาวเขาคุณภาพชีวิตเขาเปลี่ยนจากเมื่อก่อนเยอะ ซึ่งเราก็ไม่ถึงกับเคยสัมผัส แต่เคยดูในสารคดีบ้าง อ่านในหนังสือบ้าง

และเมื่อก่อนเขาก็ปลูกแต่ฝิ่น ไม่ได้ทำอะไร หากินผักกินอะไรก็ไม่รู้ แต่เดี๋ยวนี้ เลี้ยงหมูเลี้ยงไก่เอาไว้กิน ขายสตรอว์เบอร์รีได้เขาก็มีรถมอเตอร์ไซด์เข้าเมืองไปซื้อนู่นซื้อนี่ ทอผ้าถักผ้าเอง คุณภาพชีวิตเปลี่ยนไปเยอะ”

 อยากทำงานให้พระมหากษัตริย์

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชินมิษมีความสุขกับหน้าที่การงานที่ทำอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างมาก และรู้สึกว่าตัวเองคิดไม่ผิดจากที่ตั้งใจไว้ในตอนแรก ที่ตัดสินใจมาทำงานที่ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

“เพราะเป็นงานที่ทำให้พระมหากษัตริย์ ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะได้มีส่วนทำความดี ช่วยเหลือสังคม หลายๆอย่าง ไปทำอย่างอื่นก็ทำได้ แต่ถ้าทำตรงนี้เราไ ด้มีส่วนช่วยเหลือพระมหากษัตริย์ด้วย

ต่อเนื่องจากการถ่ายภาพสำหรับหนังสือ เร็วๆนี้ ชินมิษกำลังจะได้ทุ่มเทแรงกายและแรงใจให้กับงานใหม่ที่วางแผนเอาไว้แล้ว

“คุยกับหัวหน้าว่า อยากจะทำนิทรรศการให้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สำหรับ วันแม่ 12 สิงหาคมปีนี้ เป็นงานภาพถ่ายเช่นกัน ดูเอาไว้ว่า อยากจะถ่ายทอดเรื่องที่ทรงส่งเสริมผ้าไหมในภาคอีสาน และตั้งใจว่าจะทำเรื่องของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วย เพราะว่าตลอดมา ทั้งสองพระองค์มักจะทรงงานคู่กันเสมอ ก็เลยอาจจะทำงานภาพถ่ายที่เกี่ยวข้องกับทั้งสองพระองค์ไปพร้อมกัน ”







ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews