ART EYE VIEW— “งานของผมถ้าคนมาดูแล้วยิ้มได้ ผมก็มีความสุขมากแล้วครับ”
ศิลปินหนุ่ม เอ่ยปากบอกถึงความไม่คาดหวังอะไรจากผู้ชมไปมากกว่านี้
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังไม่ได้เห็นงานของเขา แค่เมื่อแรกทักทายกัน มองใบหน้าตลกๆที่กำลังเปื้อนยิ้มนั้น และทำให้นึกไปถึงใบหน้าของศิลปินรุ่นพี่ของเขาอีกคนหนึ่ง เมื่อเขาเฉลยออกมา เราก็พลันยิ้มออกแล้วล่ะ
เพราะหลายคนก็มักจะบอกกับเขาแบบนี้ นับตั้งแต่อาจารย์ที่คณะในช่วงที่เขายังเป็นนักศึกษา รวมถึงคนอื่นๆในปัจจุบัน
***ไม่ “มนุษย์” แต่ “มะนุด”
“เหมือนพี่คามิน (เลิศชัยประเสิรฐ) ใช่ไหมครับ” (ยิ้ม)
สกล เมธาคำ หรือ เฮียมาตาม เจ้าของภาพวาดเทคนิคดรออิ้ง ผสมการวาด ให้เกิดเป็นภาพตัวการ์ตูนหลากหลายบุคลิก อีกทั้งมีสีสันและรูปแบบ คล้ายงานป็อปอาร์ต เอ่ยถามเพื่อความแน่ใจ ทั้งที่รู้คำตอบดีอยู่แล้ว
ก่อนจะพูดถึงผลงานของตัวเอง ซึ่งนำมาจัดแสดง ณ ร้าน HOF EAT&ART ว่าภาพตัวการ์ตูนเหล่านี้ เป็นภาพยั่วล้อพฤติกรรมของคนหลากหลายประเภทที่ตนพบเจอมาในชีวิตจริง
ไม่แตกต่างไปจากผลงานสไตล์ป็อปอาร์ตของ แอนดี้ วาร์ฮอล์ ที่พยายามประชดประชันสังคมในบางแง่มุม
“แต่แทนที่จะเขียนเป็นภาพใบหน้าจริงๆของคนเหล่านั้น ผมออกแบบใบหน้าขึ้นมาใหม่ เหมือนเป็นการเซ็นเซอร์ใบหน้าของพวกเขาทิ้งไป แต่จับจังหวะของบุคลิก หน้าตา ของพวกเขาที่ผมได้สัมผัสมาใช้สร้างองค์ประกอบ แล้วเขียนเป็นภาพออกมา”
ตัวอย่างเช่น ภาพ “มนุษย์ป้า” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากป้าคนหนึ่งที่พบบนสะพานลอย “ป้าผู้ไม่สนใจไยดีว่าร่มกันแดดจะไปทิ่มลูกตาคนอื่น”
“ผมโดนเรื่องร่มบ่อยมาก ก็เลยนึกอยากจะเขียนออกมาสักหน่อย ว่ามนุษย์ป้าที่ผมเคยสัมผัสมาเป็นยังไง คนเราพออายุสูงขึ้น เหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง แต่ที่นำมาเขียน ไม่ใช่เพราะผมโกรธป้าหรอกนะครับ แค่คิดว่าหลายคนน่าจะเคยเจอคนแบบนี้ และต้องการให้คนมาดูภาพแล้วยิ้ม หรือหัวเราะเท่านั้น”
นอกจากนี้ยังมีมนุษย์แบบอื่นๆ อาทิ “มนุษย์มือปลาหมึก” ที่เวลาเมา ชอบเอามือไปยุ่มยามลวนลามผู้หญิง, “มนุษย์หัวหมอ” คนไม่รู้จักพอที่เวลาทำอะไรต้องได้มากกว่าคนอื่น, “มนุษย์พูดมาก” ชอบจับกลุ่มนินทา ที่เฮียฯ ออกแบบให้เป็นภาพตัวการ์ตูน ฟันชิด ฟันห่าง และดัดฟัน คละกันไป,”มนุษย์หน้าใหญ่”ที่ต้องลำบากกคอยแบกหน้าตัวเอง เมื่อไปเผลอใหญ่ใส่คนอื่น ก็จะถูกมือดัน
รวมไปถึง “มนุษย์อวดเบ่ง” คนประเภทที่เฮียฯบอกว่าไม่ชอบมากที่สุดเมื่อต้องพบเจอ “เพราะเราเป็นคนธรรมดาเหมือนกัน มีมือมีเท้าเหมือนกัน แค่คุณรวยกว่า ยศใหญ่กว่าแค่นั้นเหรอ ถึงต้องมาเบ่งใส่คนอื่น”
แต่เมื่อคนทุกประเภทเหล่านี้ มาอยู่ในภาพของเฮียฯ ที่ต้องการสื่อให้คนที่ดู รู้สึกขำๆมากกว่าเคร่งเครียด
“มนุษย์” จึงถูกเปลี่ยนเป็น “มะนุด” เฉกเช่นคำพูดแซวกันในหมู่เพื่อน “ไอ้…มะนุดดด”
***ก่นด่าทำไม วาดไว้ขำดีกว่า***
การนำเรื่องราวของคนที่ได้พบเจอ และเป็นประเภทที่เราไม่ค่อยชอบมานำเสนอผ่านงานศิลปะ เฮียฯบอกว่า เป็นทางออกทีดีกว่าการก่นด่า
“ถ้าเราไปมัวด่าเขา หรือแอบด่า มันไม่มีประโยชน์ เอามาทำเป็นงานให้คนได้ดูได้ยิ้มดีกว่า เวลาดูเขาจะได้ตั้งคำถามว่า ทำไมศิลปินสื่อออกมาเป็นภาพแบบนี้ พอรู้แล้ว เข้าใจแล้ว จะได้ยิ้ม ได้หัวเราะ เพราะคนส่วนใหญ่ที่ดูงานผมก็จะรู้สึกแบบนี้ทั้งนั้น”
นิสัยชอบสังเกตพฤติกรรมของผู้คน แล้วนำมาเขียนเป็นภาพแนวตลกร้าย เฮียฯ เป็นมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแล้ว
“แม้แต่เพื่อนที่นั่งอยู่ด้วยกัน พฤติกรรมบางอย่าง เขายังไม่ทันสังเกตเหมือนเรา เรามักจะเห็นก่อน
ผมเรียนเอกเพ้นท์ติ้ง โทดรออิ้ง งานที่ทำในวิชาเอก เป็นงานที่นำเสนอภาพลักษณ์แฝงของสภาวะความกลัว
เป็นภาพเขียนเทคนิคสีน้ำมัน ที่เป็นภาพของคนที่ดูตลก ออกท่าออกทาง ทั้งที่ภาพจริงที่ตาเราเห็นและนำมาเขียน คือภาพของคนที่กำลังกลัวสุดขีด
แต่ครั้งนี้ผมนำงานดรออิ้งมาแสดง เพราะผมชอบ มันเป็นอะไรที่เข้าใจง่ายและมีความมันส์ในตัว”
เฮียฯชื่นชอบผลงานของศิลปิน ชาวออสเตรียผู้ล่วงลับ นามว่า Oskar Kokoschka ซึ่งงานของเขามักจะเป็นงานภาพพอร์เทรตและแลนด์สเคป ที่มีฝีแปรงที่รุนแรง เป็นภาพในแนวสำแดงอารมณ์ หรือ แนวเอ็กเพรสชั่นนิสม์
ดังนั้นเทคเจอร์และอารมณ์ในงานศิลปะของเฮียฯ จึงได้รับอิทธิพลมาจากงานของ Kokoschka ด้วย
“เขาเป็นอาจารย์ของอาจารย์ที่สอนวาดภาพให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีครั้งหนึ่งที่เขาป่วยก่อนจะเสีย พระองค์ท่านก็เคยเสด็จไปเยี่ยม ผมเป็นที่เวลาชอบใครหรือชอบอะไรมากๆจะชอบค้นคว้า ก็เลยรู้ข้อมูลตรงนี้ครับ”
***มีโอกาสก็ต้องวิ่งเข้าหา***
หลังจากที่เรียนจบจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร ไปราว 3 ปี นิทรรศการศิลปะครั้งนี้ ถือเป็นการแสดงเดี่ยวครั้งแรกของเฮียฯ เป็นโอกาสที่ศิลปินรุ่นใหม่คนหนึ่งพยายามวิ่งเข้าหา และเป็นโอกาสสำหรับคนที่สนใจไปชม
“มะนุด” นิทรรศการศิลปะ โดย สกล เมธาคำ หรือ เฮียมาตาม ณ ร้าน HOF EAT&ART ชั้น 2 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
“คนเรียนศิลปะทุกคน ล้วนอยากแสดงออก เพื่อให้คนรับรู้ว่าเราคิดอะไร เราทำอะไร พอมีโอกาสก็ต้องวิ่งเข้าหา ผมเอางานมาให้พี่ณัฐดู (เจ้าของร้านอาหารกึ่งแกลเลอรี่ ซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่ช่างศิลป์) ถามว่า พี่ครับ ผมขอเอางานมาแสดงที่นี่ได้ไหม พี่ณัฐเค้าก็เลยบอกว่า ได้เลย เพราะพี่เค้าชอบที่งานของผมดูมันส์ดี”
วันเปิดนิทรรศการ นอกจากมีเพื่อนๆมาร่วมแสดงความยินดีมากมาย อาจารย์ของเขา อำฤทธิ์ ชูสุวรรณ คณบดี คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร ซึ่งถูกเชิญมาเป็นประธานเปิดนิทรรศการ ยังได้กล่าวแสดงความชื่นชม พร้อมให้กำลังใจด้วยอารมณ์ขันว่า
“อาจารย์ดีใจที่เธอยังทำงานศิลปะอยู่ นักศึกษาแต่ละรุ่น สมมุติว่ามี 100 คนที่จบออกมา มีสัก 1 คน ที่ยังทำงานศิลปะเหมือนเธอ ถือว่าเยี่ยมมากแล้ว
อย่างไรก็ตามเวลาทำงานศิลปะ อยากให้คำนึงถึงเรื่องการสร้างสรรค์เป็นหลัก อย่าเพิ่งไปคิดถึงเรื่องเงิน
เพราะอาจารย์ทำงานศิลปะมา จนตอนนี้จะอายุ 60 ปีแล้ว ก็ยังคิดไม่ออก”
ไม่ว่าจะพูดจริงหรือล้อเล่น แต่ลูกศิษย์ทุกคนที่ได้ฟัง ก็อดจะยิ้มและหัวเราะปนอารมณ์ขมขื่นไปไม่ได้
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews