ART EYE VIEW—มันคือภาพอะไร? ภาพของอสุจิหรือไม่ ? ผู้ชมบางท่านถามออกไปตรงๆ เช่นนั้น เมื่อมองไปที่ภาพวาดของ นฤพนธ์ ชุติวรรณโสภน
แต่เมื่อเดินเข้าไปชมในระยะประชิด แม้ยังไม่แน่ใจอยู่ดีว่ามันคือภาพอะไร แต่พวกเขาก็สัมผัสได้ถึงลายเส้นอันประณีต ที่ก่อร่างสร้างเป็นภาพขึ้นมาแต่ละภาพ
เมื่อได้พูดคุยกับเขา จึงได้ทราบว่ามันคือผลงานที่สะท้อนสภาวะจิตใจของตัวศิลปินเอง ตามสภาวะที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นสภาวะที่เป็นความสุข ความทุกข์ ความเย็น ความร้อน
โดยส่วนหนึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากรูปทรงของธรรมชาติที่ศิลปินมองว่างดงามและมีพลัง
และอีกส่วนหนึ่งได้รับแรงบันดาลใจมากจาก ปรัชญาของลัทธิเซน
นฤพนธ์ ยกตัวอย่างภาพวาดภาพหนึ่ง ซึ่งเป็นลายเส้นพื้นสีแดง และส่วนหนึ่งของภาพปรากฎคล้ายรูปร่างของตัวอสุจิสี่ตัวขนาดเล็กและใหญ่วิ่งตามกันไป
“ถ้ามองไกลๆ ก็จะดูคล้าย กับตัวอสุจิที่ทุกๆคนมอง แต่พอมองในระยะใกล้ก็จะพบว่างานของผมมีความประณีตและละเอียด และจะสามารถมองเห็นอย่างชัดเจนว่า เป็นลักษณะของมวลของสายน้ำ ที่เคลื่อนหรือไหลมาปะทะกับก้อนหินซึ่งอยู่นิ่งๆ ดังนั้นมันจึงคือภาพการปฏิสัมพันธ์ของความเคลื่อนไหวกับความนิ่ง
และส่วนหนึ่งผมได้รับแรงบันดาลใจ เรื่องของความละวาง ตามปรัชญาของลัทธิเซน ที่กล่าวว่า จิตที่เป็นอิสระจะเพียงรับรู้ สัมผัส แล้วปล่อยผ่านไป ไม่ยึดเหนี่ยวสิ่งใดไว้เลย
เปรียบดังเช่นก้อนหินรับรู้ถึงการมาของสายน้ำ สัมผัสแล้วก็ปล่อยผ่านไป สายน้ำก็เช่นกัน รับรู้ถึงการมีอยู่จริงของก้อนหิน สัมผัสแล้วก็ผ่านไปเช่นกัน ซึ่งตามปรัชญาของทางเซน หมายถึงการละวาง ไม่ยึดติดอะไรไว้เลย ทำให้จิตบริสุทธิ์ และเป็นอิสระโดยแท้”
ภาพวาดภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานศิลปะในนิทรรศการ “เส้น สี…วิถีแห่งจิต” นิทรรศการแสดงเดี่ยวผลงานครั้งล่าสุดของนฤพนธ์
“ส่วนใหญ่จะเป็นภาพวาดเทคนิควาดเส้นบนกระดาษ และมีเทคนิคเดิมที่ผมชอบใช้ผสมอยู่บ้างนั่นคือ ภาพวาดเทคนิคสีหมึกบนกระดาษ และยังมีผลงานประติมากรรมจำนวน 3 ชิ้น”
ถ้าใครที่เคยชมผลงานและรับรู้เรื่องราวของนฤพนธ์มาก่อน จะทราบดีว่า เขาป่วยเป็นโรคเนื้องอกในไขสันหลัง ตั้งแต่อายุ 16 ปี ส่งผลให้ร่างกายอัมพาตท่อนร่างแบบเฉียบ และต้องนั่งรถเข็นอย่างที่เห็น
เมื่อทำการรักษาด้วยวิธีการฉายแสง และดูเหมือนว่าเนื้องอกที่มีอยู่ไม่โตเพิ่มขึ้น เขาจึงหันมาเยียวยาจิตใจตัวเองด้วยการทำงานศิลปะ โดยศึกษาศิลปะเบื้องต้นกับ อ.ชำนาญ ทองอุปการ พัฒนาฝีมือเรื่อยมา กระทั่ง ได้รับรางวัล “ศิลปินดีเด่น จ.ชลบุรี” สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี พ.ศ.2552 จากศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดชลบุรี ,รับพระราชทานเหรียญกาชาดสมมนาคุณ ชั้นที่ 3 จากสภากาชาดไทย และรางวัลยอดเยี่ยม การประกวดภาพโฆษณาประจำปี จังหวัดชลบุรี
ที่ผ่านมา นฤพนธ์เคยจัดแสดงผลงานศิลปะมาแล้วหลายครั้ง ทั้งนิทรรศการแสดงเดี่ยว และนิทรรศการกลุ่ม โดยเฉพาะในนามศิลปิน “กลุ่มธรรม” ที่มีศิลปินแห่งชาติ ประเทือง เอมเจริญ เป็นผู้ก่อตั้ง
และผลงานที่นำมาจัดแสดงในแต่ละครั้ง ส่วนใหญ่จะเป็นภาพวาดเทคนิควาดเส้น ที่มีลักษณะเป็นสีขาวดำ
ผู้ชมจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า เหตุใดในนิทรรศการครั้งล่าสุดนี้ ภาพวาดของเขาจึงมีสีอื่นๆมาปรากฎบนภาพ อาทิ สีแดง และสีน้ำเงิน
“เพราะว่าผมต้องการนำเสนอเรื่องสภาวะทางอารมณ์และความรู้สึกของตนเองในช่วงที่ผ่านมาเมื่อไม่นาน ซึ่งเป็นสภาวะที่ไม่นิ่ง ไม่เหมือนกับช่วงที่สร้างงานชุดก่อนๆ
เนื่องจากชีวิตมีเรื่องของการเจ็บไข้ได้ป่วยเข้ามา ทำให้อารมณ์และความรู้สึกมันเหวี่ยงพอสมควร เดี๋ยวดีเ ดี๋ยวร้าย เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวเย็น
ผมจึงบันทึกสภาวะทางความรู้สึกต่างๆของตัวเองที่เกิดขึ้นออกมาเป็นผลงาน ถ้าช่วงไหนดูแย่หน่อย เป็นทุกข์หน่อย งานก็จะเป็นสีแดงๆ แต่ถ้าสงบหน่อย สบายหน่อยก็จะเป็นสีน้ำเงิน ดูแล้วรู้สึกนิ่งๆ ประมาณนั้นครับ”
นฤพนธ์บอกเล่าว่า เนื้องอกในไขสันหลัง ที่เขาเคยคิดว่ามันได้สงบนิ่งไม่ก่อกวนเขาแล้ว ตั้งแต่การฉายแสงเมื่อคราวโน้น ไม่นานมานี้ มันได้โตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนส่งผลต่อทั้งร่างกายและสภาวะจิตใจของเขา จนบันทึกออกมาเป็นภาพวาดอย่างที่เห็น
ก็คิดว่ามันหายไปแล้ว ก็ไม่ได้ติดตามอะไรมันเลย จนสัก 3 – 4 ปีนี้ มันมีอาการแปลกๆ ก้อนเดิมที่เคยฉายแสง ช่วงที่ผ่านมามันโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายรู้สึกเจ็บปวด เพราะมันไปทำลายระบบต่างของร่างกายและเกิดการกดทับ ต้องอยู่กับการรักษาตลอดเวลา จนต้องไปให้คุณหมอฉายแสง พอมันหยุดงอก จึงรู้สึกสบายขึ้นหน่อย”
เราจึงพลอยรู้สึกโล่งใจไปด้วย ที่ขณะพูดคุยกับเขาในนิทรรศการครั้งล่าสุด อาการของเขาได้ดีขึ้นแล้ว จะมีก็แต่ภาพวาดที่จัดแสดงในนิทรรศการเท่านั้น ที่เป็นหลักฐานยืนยันถึงสภาวะต่างๆ ที่ร่างกายและจิตใจต้องเผชิญ กระทั่งผ่านมาได้
“ที่ผ่านมามันทำให้ผมจิตใจแข็งแรงขึ้น พอเป็นอะไรก็ไม่ได้ไปฟูมฟายกับมันมาก รักษาก็รักษาไป พอดีขึ้นก็รู้สึกสบาย สดใส มีพลังขึ้น ทำงานได้ ตัวอย่างลายเส้นที่ปรากฎในภาพบางภาพ ผมก็ยังแปลกใจว่าตัวเองทำออกมาได้อย่างไร ทั้งที่ในสภาวะนั้นเนื้องอกมันทรมานร่างกายมากพอสมควร”
หงิกงอ งมงาย
เมื่อถามถึงผลงานประติมากรรมชิ้นเล็กๆ 3 ชิ้น ที่มีรูปร่างคล้ายเทียนหลายเล่มรวมกันอยู่ในสภาพที่หงิกงอ
นฤพนธ์บอกว่า ต้องการเปรียบเทียบถึงความศรัทธาของมนุษย์ และเป็นผลงานที่มีชื่อว่า “หงิกงอ งมงาย”
“ความงมงาย ก็คือความศรัทธาอย่างหนึ่งของมนุษย์ แต่ความงามงายคือความศรัทธาที่ขาดสติ อย่างเช่นการที่ผู้คนไปกราบไหว้ บูชาอะไรต่างๆ หรือไปขูดเลข ขอหวยต่างๆ เหล่านี้
ขณะที่ความศรัทธาที่มีสติ จะเกิดปัญญาและเกิดพลัง ถึงขนาดสร้างสิ่งมหัศจรรย์ของโลกได้เลยทีเดียว
เปรียบกับเทียนก็เป็นเช่นเทียนที่ตั้งลำตรง ผลาญไส้ ละลายตัวตน เพื่อให้เกิดแสงสว่างแก่โลก
แต่ว่าถ้าเทียนนั้นเกิดหงิกงอไม่เป็นรูป ไม่ตั้งลำตรง น้ำตาเทียนก็จะหยดใส่ ดับเปลวเทียน จุดไปสักพัก จึงดับ ไม่เกิดสว่างให้แก่โลกได้
ดังเช่นความศรัทธาที่ขาดสติ จะไม่เกิดปัญญา ให้ความสว่างแก่มนุษย์ได้”
นฤพนธ์สร้างงานประติมากรรม3 ชิ้นนี้ขึ้นมา ด้วยเทคนิคที่อาศัยความร้อนมาช่วยทำให้เทียนอ่อนตัว จากนั้นจึงบิดงอให้เกิดเป็นรูปร่างดังที่ปรากฎ ก่อนจะ นำไปหล่อบรอนซ์อีกครั้ง
นิทรรศการศิลปะชุด ”เส้น สี…วิถีแห่งจิต”( Colored Line…the Way of Mind) โดย นฤพนธ์ ชุติวรรณโสภณ
วันนี้ – 15 มีนาคม พ.ศ.2558 ณ หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews