Celeb Online

อย่าลืมฉัน (ตอนจบ) : องุ่น เกณิกา สุขเกษม

คอลัมน์ : เรื่องเล่าในเงาดิน โดย : องุ่น เกณิกา สุขเกษม


ฉันและพี่สาวท่านนั้น ต่างยืนมองหน้ากัน ต่างคนต่างเงียบ แล้วเราก็ยกมือพนมขึ้นพร้อมกัน โดยไม่ได้นัดหมาย ไหว้ไปยังรูปถ่ายของหญิงผู้สวยงามในรูป แล้วรีบพากันลงจากห้องเก็บของในบ้านหลังใหญ่นั้นทันที

“กินข้าวด้วยกันเถอะ” เสียงร้องเรียกของญาติๆ หลายต่อหลายคนที่กำลังนั่งล้อมวงกินข้าวกันอยู่ที่ใกล้ๆ ลานบ้าน

“ต้มผักกาดดองกับหมู ผักกาดดองของแม่ แม่ดองเองอร่อยมากๆ ธรรมชาติแท้ๆ ไม่มีสารกันเสียกันบูด นี่ๆ น้ำนี้ซดได้หมดชามเลย ลองซดน้ำอร่อย”

แล้วพี่สาวท่านนั้นก็ยกชามต้มผักกาดดอง ที่ตักใหม่ๆ ร้อนๆ มาให้ฉันเป็นพิเศษหนึ่งชาม ฉันนั่งกินไปจนหมด อืม..อร่อย ผักกาดดองกรอบและน้ำซุปนั้นก็หวานอรอ่ยจริงๆ

ในครอบครัวใหญ่ พวกเขานั่งล้อมวงกินข้าว ท่ามกลางญาติพี่น้อง ทุกคนต่างกินไปคุยไป พร้อมปรึกษาหารือกันในเรือ่งราวต่างๆ

“เดี๋ยวเย็นๆ เราค่อยกลับนะ” พี่สาวท่านนั้นกล่าวกับฉัน

“หลานชายของพี่ เค้ากำลังจะมาขอให้พี่สอนสูตรทำปลาร้าสับให้ เจ้าหลานพวกนี้น่ะ เคยกินปลาร้าสับฝีมือพี่กันมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่มีใครทำเป็นกันเลย แต่มีหลานชายเล็กคนนี้ที่คิดจะทำขาย เลยมาขอสูตรจากป้า อยู่สอนเค้าก่อน”

“ได้ซิคะ ก็อยากดูอยู่เหมือนกันค่ะ เคยแต่ทาน แต่ทำไม่เป็นเหมือนกันค่ะ”

ฉันตกปากรับคำ ทานข้าวกันเสร็จไม่นาน เสียงรถมอเตอร์ไซค์ก็แล่นเข้ามาจอดเทียบที่ชายครัวของบ้าน


หนุ่มน้อยรูปหล่อคนหนึ่ง จอดรถและลงจากรถมอเตอร์ไซค์ของเขา ปลดถุงสัมภาระวัตถุดิบต่างๆ ที่ได้ขนมาจากบ้าน ลงวางที่ข้างโต๊ะกับข้าว อันมีพริกขี้หนู กระชาย หัวหอม ตะไคร้ หมูสับและที่สำคัญที่สุดขาดไม่ได้นั่นคือปลาร้า

“ผมเตรียมเครื่องมาหมดแล้วครับป้า” ฉันมองดูหนุ่มน้อยผู้นี้อายุอานามก็ไม่น่าจะเกินยี่สิบห้าปีหรือราวนั้น หน้าตาหล่อเหลาหุ่นสะโอดสะองสมส่วน แต่งเนื้อแต่งตัวง่ายๆ ทันสมัยแบบชายหนุ่มวัยรุ่นทั่วไป แต่ช่างมีใจฝักใฝ่คิดทำมาหากิน พยายามสร้างสรรค์การงานอาชีพที่มาจากภูมิปัญญาอันเก่าแก่ที่กำลังจะสูญหาย อย่างที่คนในวัยเดียวกันน้อยคนพึงจะเป็น

หลังจากนั้นไม่นาน พวกเรารวมทั้งฉัน จึงโดนแจกเขียงและมีดกันคนละชุดและนั่งล้อมวงหันหน้าเข้าหากันโดยเท่าเทียม ตรงกลางมีกาละมังใบใหญ่ผสมเครืองที่จะทำปลาร้าสับ อย่างเรียบร้อยครบครันไปด้วยเนื้อปลาร้าปลากระดี่อย่างดีที่สุดในท้องถิ่นของภาคกลางแห่งนี้ ตะไคร้หั่นฝอย กระชายและหัวหอมหั่นฝอย ตบท้ายใบมะกรูดซอยเป็นเส้นบางเฉียบโรยไว้โดยทั่ว ไม่มีสารเจือปนจากผงชูรสและสารกันเสียใดๆ แม้แต่น้อยนิด

พวกเราทุกคน ตักมันมาวางลงบนเขียงแล้วก็สับๆๆ ฉันเองตั้งแต่เกิดมาก็ไม่เคยสับปลาร้ามาก่อน นี่เป็นโอกาสพิเศษในครั้งแรกของฉัน ที่ได้มาเรียนรู้ถึงภูมิปัญญาอันเก่าแก่ด้านอาหารอันเป็นมรดกตกทอด ที่บ่งบอกถึงความเป็นคนไทยเช่นเราๆ ได้อย่างชัดเจน

ฉันมองหนุ่มน้อยผู้นั้น ที่กำลังขมักขเม้นกับการสับ และการจดจำสูตรตามคำบอกสอนจากป้าของเขา ด้วยใจที่นึกชื่นชม

เขาเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ ที่แม้จะทำงานมีรายได้อยู่บ้างแล้วในหนทางหนึ่ง แต่ก็ยังกระตือรือล้นคิดหาวิธีสร้างเนื้อสร้างตัวจากการทำมาหากินอย่างสุจริต จากสิ่งอันเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ทางด้านอาหารของคนไทย ดังเช่น “ปลาร้าสับ” อย่างไม่เขินอาย

ฉันนึกถึงในหลายๆ ครั้งที่ฉันสังเกตุตามชนบทแม้แต่เขตจังหวัดอำเภอบ้านฉัน ฉันไม่ค่อยที่จะได้เห็นคนหนุ่มคนสาวตามหมู่บ้านหรือตลาดเลย เคยนึกถามตัวเองว่าคนหนุ่มสาวหายไปไหนกันหมด ทำไมมีแต่คนแก่และเด็กๆ ก็พบคำตอบว่า คนหนุ่มสาวต่างเรียนหนังสือและทะลักหายเข้าไปในโรงงานและเมืองใหญ่

สิ่งอันเป็นภูมิปัญญาที่ควรจะตกทอดจากคนเฒ่าคนแก่ ไปสู่หนุ่มสาวเหล่านั้นจึงได้สูญหายไปกับคนรุ่นก่อนเก่าที่ตายจากไป หลายต่อหลายสิ่งที่เป็นภูมิปัญญานั้นขาดคนสืบทอด คงมีแต่คนเฒ่าคนแก่ที่ทำกันเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยเท่านั้น

คนหนุ่มสาวถูกกลืนกลายไปในระบบโรงงาน พอๆ กับที่มรดกทางปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมได้สูญหายไปกับคนรุ่นก่อนเก่า

แต่ทว่าหนุ่มน้อยผู้นี้ เป็นตัวอย่างที่ดีงามที่ทำให้ฉันได้เห็นการตั้งใจจะสืบทอดวิชานี้เพื่อเอาไปใช้ทำมาหากินและกระจายรายได้ให้กับชุมชนในท้องถิ่น..ฉันนั่งฟังเขาสับปลาร้าไปและคิดวางแผนไป

“ผมว่างี้นะครับ เอาต้นมะขามมาผ่าครึ่งเป็นเขียงตามยาวเลยครับ แล้วมีคนสับสักสิบคน สลับกันครับ ยืนเรียงกันสับทีละห้าคน ผลัดเวรกัน คนในหมู่บ้านเรานี่แหละ ไม่ต้องหาไกลอื่น วัสดุสมุนไพรเครื่องผสมครบพร้อมใหม่สดอยู่แล้วจากพื้นดินถิ่นบ้านเรา ปลาร้าก็ของบ้านเรา ปลาร้าที่ดีที่สุด”

ท่ามกลางวงล้อมของเสียงแห่งการสับปลาร้าบ่ายนั้น ฉันพลันนึกถึงคำพูดของผู้หญิงที่มาคุยกับฉันในความฝันได้อย่างชัดเจน แม่นยำ “ขอให้ทำจริงจัง อย่าเปลี่ยนใจ อย่าโลภ และทำอย่างวิธีโบราณแท้ๆ จะร่ำรวย”

ฉันนั่งคิดถึงคำบอกของหญิงคนนั้นซ้ำมาซ้ำไป บางที..เธอคงเคยผูกพันธ์กับเด็กหนุ่มคนนี้มาก่อนกระมัง เธอจึงมาบอก
แล้วฉันก็ตัดสินใจเล่าเรื่องในความฝัน นั้นให้กับหนุ่มน้อยฟัง

ญาติๆ ทุกๆ คนที่กำลังร่วมสับปลาร้า ได้นั่งฟังอย่างใจจดใจจ่อไปด้วย และแล้วทุกคนก็ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า

“อย่าลืมฉัน” คือชื่อยี่ห้อปลาร้าสับโบราณสูตรนี้

“อย่าลืมฉัน” คือปลาร้าสับแสนอร่อยสูตรโบราณแท้ๆ จากเมืองเล็กๆ ที่เย็นสบายไปด้วยสายลมอันร่าเริงจากช่องเขาประจำเมืองนี้

“อย่าลืมฉัน” คือคำกล่าวที่ผู้หญิงในภาพถ่ายได้เอ่ยขึ้น

ในอีกสองวันต่อมา ขณะที่ฉันกลับมาบ้านแล้ว ก็ได้รับโทรศัพท์ พร้อมรับทราบข่าวดี จากผู้เป็นป้าของชายหนุ่มคนนั้น

“นี่!! พี่จะเล่าให้ฟัง..พอใครๆ ได้ยินว่าเราทำปลาร้าสับขาย ก็มีแต่คนบอกและสั่งย้ำนักย้ำหนาว่า “อย่าลืมฉันๆ ” กันทั้งนั้นเลยจ้ะ”

“หมดแล้วค่ะ กระทะแรกหมดเกลี้ยงตั้งแต่ผัดสุกไม่มีเหลือหลอเลยสิบสองกิโล”

ผู้เป็นป้าที่ได้ถ่ายทอดวิชาให้กับหลานชายกล่าวอย่างมีความสุขและภาคภูมิิใจ






รู้จัก… องุ่น เกณิกา สุขเกษม

จบการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยสยาม เคยทำงานเป็นสาวแบงค์ นาน 7 ปี

ปี 2540 เป็นต้นมา หันมาจับเศษดินปั้นเป็นหญิงสาวมากจริต จนได้รับการยอมรับ และรู้จักในฐานะประติมากรหญิงผู้ไม่เคยผ่านการเรียนศิลปะจากรั้วสถาบันใด

ขณะนี้องุ่นใช้ชีวิตและทำงานประติมากรรม อยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันร่มรื่นของบ้านริมแม่น้ำน้อย จ.สิงห์บุรี

เป็นชีวิตที่สมถะ เรียบง่าย สบายๆ แม้ไม่ได้สบายด้วยวัตถุ ดังที่เธอเคยให้สัมภาษณ์ ART EYE VIEW เมื่อหลายปีก่อนว่า

“สบายด้วยอากาศ ด้วยต้นไม้ และมีอิสระ ทุกวันนี้ทำงานปั้นดิน และเผาเองทุกชิ้น ส่วนชิ้นไหนที่เห็นเหมาะเห็นชอบ ก็จะนำไปหล่อที่โรงหล่อ

รู้สึกเป็นตัวของตัวเองมากเลย เวลาที่ทำงาน เพราะอะไรที่มันเป็นชีวิตเรา เป็นความรู้สึกนึกคิดของเรา พอได้ทำเป็นงานออกมาแล้วมีความสุข

ถ้าช่วงไหนไม่ได้ทำงานปั้น มันเหมือนชีวิตเราหมดคุณค่า และอัดอั้น เพราะเรามีความรู้สึกที่ต้องระบายออกมา”

ติดตาม คอลัมน์ : เรื่องเล่าในเงาดิน โดย : องุ่น เกณิกา สุขเกษม ได้ทุกอาทิตย์ ทาง ART EYE VIEW

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews