Celeb Online

3 งานศิลป์สำหรับคน “รักษ์” ทะเล


ART EYE VIEW —- ขณะที่หลายคนหนีอากาศร้อนเดือนเมษายน ไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเล

คนอีกจำนวนหลายกลุ่ม ก็อยู่ในช่วงการตระเตรียมงาน เพื่อถ่ายทอดเรื่องราว รวมถึงปัญหาของทะเล สู่สาธารณะชนในวงกว้าง

เนื่องใน วันคุ้มครองโลก (Earth Day) 22 เมษายน 2558 ต่อไปนี้คือตัวอย่างของ 3 นิทรรศการศิลปะ ว่าด้วยเรื่องทะเล ที่ ART EYE VIEW คัดสรรมาแนะนำ

ทั้ง 3 งาน กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ และที่สำคัญสามารถเดินทางไปชมทั้ง 3 งานได้ในวันเดียว เนื่องจากสถานที่จัดงานอยู่ไม่ไกลกันเกินไปนัก สามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส และเดินเท้าต่อด้วยระยะทางเพียงสั้นๆ


งานศิลป์จากวัสดุเหลือใช้ สะท้อนวิกฤตท้องทะเล ของศิลปินชาวลาว

งานแรกเป็นของศิลปินชาวลาวนามว่า Aligna (อลิญญะ) ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อสื่อให้ผู้คนเห็นว่า ขยะคือหนึ่งในปัญหาของท้องทะเลในปัจจุบัน

ความน่าสนใจในผลงานศิลปะของ Aligna คือการนำเอาวัสดุเหลือใช้ อาทิ ขวดน้ำ เศษพลาสติก หรือไม้แขวนเสื้อ มาสร้างเป็นงานศิลปะที่สวยงามอย่างดอกไม้ และเคยจัดแสดงผลงานในต่างแดนมาแล้วหลายประเทศ ได้แก่ อิตาลี ฝรั่งเศส และเม็กซิโก

เป็นที่น่าสนใจว่าศิลปินผู้เกิดมาในประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล แต่เหตุใดจึงสนใจที่ทำงานศิลปะที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับทะเล ไปหาคำตอบได้ใน
นิทรรศการ Art for the Ocean ระหว่างวันที่ 22-28 เมษายน พ.ศ.2558 เวลา 10.00 -19.00 น. ณ HOF ART Residency Bangkok (ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS พระโขนง)

โดยในนิทรรศการครั้งนี้นอกจากศิลปินจะรังสรรค์ผลงานชิ้นพิเศษเป็นรูปปลา มาจัดแสดง เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนตระหนักถึงวิกฤตของท้องทะเล

ยังจัดให้มี “Workshop การสร้างงานศิลป์จากขยะ” สำหรับผู้สนใจ ในทุกวันของการจัดนิทรรศการ ระหว่าง เวลา 16.00-19.00 น. ซึ่งจะทำให้ทุกคนได้ทราบว่า ขยะที่เราคิดจะทิ้งไปเพื่อทำลายโลก สามารถเปลี่ยนไปเป็นอะไรได้มากกว่าที่คิด

ก่อนจะไปชมผลงานศิลปะชิ้นจริงของ Aligna ในนิทรรศการ ระหว่างนี้สามารถเข้าไปชมตัวอย่างผลงาน ได้ที่ aligna.fr

ปากบารา-อันดามัน สวรรค์ทะเลใต้

“ปากบารา” คือชื่อเรียกของ “อ่าวปากบารา” ตั้งอยู่ ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล คนทั่วไปอาจเข้าใจว่าเป็นแค่ที่ตั้งท่าเรือที่เป็นประตูสู่แหล่งท่องเที่ยวระดับโลกในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา และอุทยานแห่งชาติหมุ่เกาะเภตรา ได้แก่ เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะหลีเป๊ะ และเกาะบูโหลน เท่านั้น

ทั้งที่จริงในทางนิเวศวิทยาอ่าวปากบาราเปรียบเหมือนห้องเครื่องชั้นในของท้องทะเลสตูล ที่มีองค์ประกอบทางธรรมชาติครบครัน เป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา

ในขณะที่หมู่เกาะตะรุเตา หมู่เกาะอาดัง – ราวี เกาะหลีเป๊ะ ฯลฯ รวมถึงร่องน้ำลึกต่าง ๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา เปรียบเหมือนห้องเครื่องมรดกทรัพยากรทางทะเลชั้นนอก ที่สำคัญทางนิเวศวิทยาของ “อันดามันใต้”

แหล่งธรรมชาติทางทะเลอันมหัศจรรย์ทั้งสองเปรียบเสมือนคู่แฝดกัน แข่งขันกัน พึ่งพากัน อ่อนโอนผ่อนตามกัน สร้างสรรค์ปะการังแข็งและปะการังอ่อนเจ็ดสีทั้งบริเวณน้ำตื้นและน้ำลึก มีกระแสน้ำสร้างหาดหินงาม หาดทรายขาว เกาะหินซ้อน และสร้างโลกใต้ทะเลให้เป็นสวรรค์ที่นักท่องทะเลใฝ่ฝันถึง อีกทั้งยังมีแนวแหล่งฟอสซิลที่ทอดยาวจากบนฝั่งไปถึงเกาะตะรุเตา ทำให้หน่วยงานทั้งท้องถิ่นและส่วนกลางเห็นถึงความสำคัญของพื้นที่นี้ด้วยการพิจารณาผลักดันให้อุทยานแห่งชาติฝั่งอันดามันเป็นมรดกโลก และผลักดันให้พื้นที่แหล่งฟอสซิลเป็นอุทยานธรณีวิทยามรดกของจังหวัดสตูล ของชาติ และของโลกด้วย

นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติทางทะเล อาณาจักรแห่งท้องทะเลทั้งสอง “ตั้งแต่ชายฝั่งจรดก้นสมุทร” ที่แวดล่้อมด้วยป่าชายเลน หาดทราย สันดอน และเกาะแก่งต่าง ๆ คือ พื้นที่ให้กำเนิดสัตว์น้ำที่จะเติบโตขึ้นเป็นแหล่งอาหารโปรตีนของมนุษย์ เป็นแรงดึงดูดผู้คนกลุ่มต่าง ๆ มาตั้งหลักแหล่งที่อยู่อาศัย จนสร้างอารยธรรมทางสังคมที่แตกต่างหลากหลายมาตั้งแต่โบราณกาล ทั้งชุมชนที่อยู่เฉพาะกับทะเล และชุมชนกึ่งเมืองในปัจจุบัน ดังนั้นการดำรงอยู่ของอ่าวปากบาราจึงเปี่ยมด้วยความหมายและความสำคัญอันยิ่งยวด

ร่ายยาวมาข้างต้น คือที่มาที่ไปส่วนหนึ่งของการจัดงาน ปากบารา-อันดามัน สวรรค์ทะเลใต้(Pakbara Paradiso) ระหว่างวันที่ 24 – 26 เมษายน พ.ศ.2558 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหาคร ในนาม เครือข่ายชุมชนรักอ่าวปากบาราและองค์กรร่วมจัดต่าง ๆ ที่ต้องการเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้สัมผัส รับรู้ และตระหนักได้ว่า “อ่าวปากบารา เป็นสวรรค์ที่ไม่ควรหลงลืม”

และถือเป็นการคัดค้าน โครงการท่าเรือน้ําลึกปากบารา ไปด้วยในตัว เนื่องจากมองว่าโครงการฯจะทำให้อ่าวปากบาราเปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด และกระทบต่อการดำเนินชีวิตคนสตูลในหลายด้าน

ตลอด 3 วันของการจัดงาน นอกจากจะมีกิจกรรมเสวนา “ปากบารา อันดามัน สวรรค์ทะเลใต้” โดยผู้ที่เคลื่อนไหวจากนักอนุรักษ์หลายท่าน อาทิ ศศิน เฉลิมลาภ,เอกพงษ์ เหมรา,บรรจง นะแส,ดร.นสินี ทองแถม,คณะทำงานปากน้ำน่าอยู่ ฯลฯ

ยังมีนิทรรศการศิลปะ ประเภทภาพถ่าย ภาพวาด ภาพยนตร์สารคดี และดนตรีสด จากศิลปินและนักดนตรีหลากหลายกลุ่มหลากหลายคน

อาทิ Reef Guardian Thailand,สห + ภาพ,Save The Earth Cinematography,เครือข่ายศิลปินรักษ์ทะเล,ศิลปินกลุ่ม Art Talk,มาโนช พุฒตาล,ไข่ มาลีฮวนน่า,โรเบร์โต๋,โก้ มิสเตอร์แซกแมน,วงกัวลาบารา,พจนาถ พจนาพิทักษ์ ,บางลำพูแบนด์ ฯลฯ

ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวและตารางเวลาของกิจกรรมต่างๆที่จะเกิดขึ้นในงานครั้งนี้ได้ทาง หน้าเพจเฟซบุ๊ค Pakbara Paradiso ปากบารา-อันดามัน สวรรค์ทะเลใต้

ศิลปะจากศิลปิน 2 ฝั่งทะเล

แก้วสุดา บุตรเผียร, เอกพงษ์ คงฉาง, กิตติ พิมเสน,วิษณุ เลิศบุรุษ, ศิริชัย พุ่มมาก, นิแอ นิแต, ศุภชัย ศรีขวัญแก้ว เหล่านี้คือรายชื่อของศิลปินกลุ่ม “ 2 เล” ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของศิลปินรุ่นพี่ รุ่นน้อง ผู้มีถิ่นเกิดอยู่ที่ฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย สมาชิกในกลุ่ม บ้างก็เป็นอาจารย์สอนศิลปะ บ้างก็เป็นบุคลากรทางด้านศิลปวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะมาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดเพื่อเป็นการสะท้อนว่า ภาคใต้ โดยเฉพาะสองฟากฝั่งทะเลที่พวกเขาเกิดและเติบโตมา มีเอกลักษณ์ของศิลปะที่หลากหลาย มีทั้งชาวไทยพุทธ ไทยจีน และไทยมุสลิม อาศัยอยู่ และเพื่อเผยแพร่ผลงานศิลปะสู่สาธารณชน ศิลปินกลุ่ม “2 เล” จึงได้รวมตัวนำผลงานศิลปะประเภทจิตรกรรมและวาดเส้น มาจัดแสดงร่วมกัน

นิทรรศการ SEE 2 SEA ระหว่างวันที่ 24 เมษายน – 17 พฤษภาคม พ.ศ.2558 ณ ห้องนิทรรศการชั้น 2 หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 0-2218-3709 และ085 -945 -7746

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews