ART EYE VIEW — หลากหลายความทรงจำของเขาและเธอ ช่างภาพและจิตรกร ผู้เคยไปเนปาล และโมงยามนี้อยากจะร่วม Pray for Nepal ประเทศอันเป็นที่ตั้งของ หุบเขาแห่งศรัทธา,พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต,ขุนเขายอดหลังคาโลก และมีรอยยิ้มแห่งความสุขให้พบเห็นได้ง่ายๆ
ทอม โพธิสิทธิ
นักถ่ายภาพเชิงแฟชั่นและศิลปะ
“ติดตามข่าวแผ่นดินไหวที่เนปาลมาตลอดสองวัน ยิ่งดูก็ยิ่งหดหู่ เนปาลที่ประเทศที่เราชอบเป็นอันดับต้นๆจากการเดินทางไปมาแล้วทั่วโลก เนปาลสอนอะไรเราหลายอย่างจนทำให้เราเป็นคนแบบนี้อย่างทุกวันนี้ หวังว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นคงจะไม่เลวร้ายไปกว่านี้แล้วนะ… ขอเอาใจช่วยครับ”
จิระนันท์ พิตรปรีชา
นักเขียนและนักถ่ายภาพผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม สห + ภาพ
“เนปาล เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่เราหลงใหลอยากกลับไปอีกหลายๆครั้ง ครั้งล่าสุดเพิ่งร่วมทีมไปกับกรรมการและผู้ชนะการแข่งขัน CANON PRO เมื่อเดือนมีนาคมนี้เอง ในทัศนะของเรา ประเทศนี้รวมสุดยอดของโลกสองด้านเข้าด้วยกัน นั่นคือ ธรรมชาติระดับขุนเขายอดหลังคาโลก กับ แหล่งโบราณสถานสองพันปีที่ยังมีชีวิต
แต่ระยะสิบกว่าปีมานี้ เกิดวิกฤตหลายๆอย่าง ทั้งความผันผวนทางการเมือง ภัยธรรมชาติ คอรัปชั่น และปัญหาความยากจนเรื้อรัง ฯลฯ จนรู้สึกสงสารเหมือนกับว่าเป็นประเทศที่ถูกสาปยังไงก็ไม่รู้
วันนี้ ต้องใจหายกับข่าวร้ายจากเนปาลอีกแล้ว.. ดินแดนสุดประทับใจที่เราเคยบอกใครๆว่า มันคือรสชาติสุดยอดของการเดินทางท่องโลก.. สวรรค์กับนรกอยู่ห่างกันแค่ระยะจากตาตุ่มถึงลูกกะตา = ถ้าตามองไกลออกไปเป็นต้องตื่นตะลึงกับทิวทัศน์เทือกเขาหิมะ ท้องทุ่ง สายน้ำ บ้านเรือนชุมชน โบราณสถานฯลฯ ซึ่งจะทำให้เราอาจก้าวพลาดไปเหยียบอะไรต่างๆที่ไม่พึงประสงค์จนรู้สึกเหมือนกำลังเดินลุยนรกเพื่อชมสวรรค์
ขอภาวนาให้ประชาชนคนเนปาลที่ยังไม่สรุปยอดรวมชะตากรรมจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว 7.8 แมกนิจูด ผ่านพ้นภัยพิบัติครั้งใหญ่สุดในรอบ 80 ปี อย่างมั่นคงและปลอดภัย เท่าที่จะเป็นไปได้มากที่สุด..”
ธีรภาพ โลหิตกุล
นักถ่ายภาพและนักเขียนสารคดี
“ผมเคยเรียกหุบเขากาฐมาณฑุว่า “ชุมชนมรดกโลกแออัด” เพราะเป็นหุบเขาเดียวในโลก ที่มีโบราณสถานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดย ยูเนสโก ชุมนุมกันหนาแน่นที่สุด 1.จัตุรัสพระราชวังกาฐมาณฑุ 2.จัตุรัสพระราชวังภักตะปูร์ 3.จัตุรัสพระราชวังลลิตปูร์ (ปาตัน) 4.เจดีย์พุทธนาถ (โพธนาถ) 5.เจดีย์สวยัมภูนาถ 6.วัดปศุปตินาถ
มรดกโลกแต่ละแห่งอาจจะตั้งอยู่ห่างกัน แต่ถ้ารวมพื้นที่กันชน (Buffer Zone) ด้วยแล้ว กล่าวได้ว่ากาฐมาณฑุเป็นมรดกโลกทั้งหุบเขา ยูเนสโกจึงขึ้นทะเบียนจำแนกไว้ 6 แห่งแล้ว ยังกำกับไว้เป็นแห่งที่ 7 คือ Kathmandu Valley
ซึ่งไม่ใช่เพียงโบราณสถาน แต่ยังรวมวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม เทศกาลงานประเพณีของชาว หุบเขานี้ไว้ด้วย เหมือนหลวงพระบางของลาว
จึงนอกจากเป็น “ชุมชนมรดกโลกแออัด” แล้ว ผมยังยกให้กาฐมาณฑุ เป็นหุบเขาแห่งศรัทธาอันมีคุณค่าดั่ง “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต” ประติมากรรมพระศิวะ พระนารายณ์ พระคเณศ ที่บ้านเราขัดสีฉวีวรรณแล้วตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ แต่ที่หุบเขานี้ เทวรูปเก่าแก่พบได้ตามถนนรนแคม แต่ละองค์ดู “เขรอะ” และมอมแมม แต่สุดขลัง เพราะผู้คนยังเซ่นไหว้ด้วยดอกไม้ ผงสี ทุกวี่วัน รายละเอียดอีกมากมายบรรยายไม่หมด
เพียงอยากบอกว่า นอกจากอินเดียแล้ว ผมเป็นหนี้บุญคุณหุบเขาแห่งเนปาลนี้ ที่สอนบทเรียนจริง ให้ผมได้เข้าใจศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธสายวัชรยาน และอีกมากมาย หลายลัทธิความเชื่อ ที่อยู่รวมกันอย่างสันติสุขในหุบเขานี้
จนเป็นเรื่องปกติ ที่ชาวฮินดูเนปาลคนหนึ่ง จะนับถือพระอวโลกิเตศวรของฝ่ายพุทธ และชาวพุทธเนปาลคนหนึ่ง จะกราบไหว้ศิวลึงค์บนฐานโยนีไปพร้อมกันด้วย ผมเพียงอยากบอกว่า ธรณีพิโรธที่เนปาลครั้งนี้ เป็นความสูญเสียร่วมกันของมนุษยชาติ อย่างน่าเศร้าใจที่สุด”
สมคิด ชัยจิตวนิช
นักถ่ายภาพ ผู้ริเริ่มโครงการ ART CARE
“เนปาลเป็นหนึ่งในประเทศที่ฉันชอบ และหลงใหลเมื่อได้ไปเยือนเมืองแห่งมรดกโลกมากมาย
เป็นประเทศที่สนุกในการมองหาสิ่งสวยงามสำหรับการถ่ายภาพ ถึงแม้วันนี้…เนปาลจะไม่เหมือนเดิมแล้ว แต่ฉันก็ยังรักเนปาลเหมือนเดิม
เพราะประเทศเนปาลเคยสอนให้ฉันเข้าใจถึงสัจธรรมที่ว่า… ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน ทุกสิ่งล้วนต้องเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรคงอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป…เมื่อครั้งที่ยืนถ่ายภาพอยู่ที่ พระราชวังกาฐมาณฑุ, พระราชวังภักตะปูร์, พระราชวังลลิตปูร์ (ปาตัน),เจดีย์พุทธนาถ (โพธินาถ) ฯลฯ
และมาวันนี้ วันที่เกิดเรื่องน่าเศร้า เนปาลก็ยังคงสอนให้เห็นถึงสัจธรรมข้อเดิมนั้น และเตือนให้เราตระหนักเตรียมพร้อมสำหรับความจริงข้อนี้”
เรียวรุ้ง ณ ปลายฟ้า
นักถ่ายภาพและนักเดินทาง
“ตื่นขึ้นมาเจอกับข่าวหัวใจสลายอีกครั้ง เมืองที่เราหลงรักที่สุดในเนปาลพังเสียหายไปมากกว่าครึ่งเมือง
กลับมาเปิดดูภาพเก่าๆที่เดินบันทึกช่วงเวลาต่างๆของผู้คนในเมืองบักตะปูร์ ก็ยิ่งชวนให้เศร้า ในฐานะช่างภาพ การบันทึกช่วงเวลาต่างๆของผู้คนไม่ใช่เพียงแค่การกดชัตเตอร์ แต่ละภาพที่ได้มาคือการสร้างความสัมพันธ์และความทรงจำร่วมกัน อย่างน้อยที่สุดเราก็ยิ้มให้กัน และผู้คนอันแสนน่ารักและใจดีที่นี่ก็มักจะยิ้มตอบกลับมาเสมอ
ยังจำความน่ารักของแม่ค้าคนนึงในตลาดเช้า ตอนที่เราสนุกกับการถ่ายลูกสาวตัวเล็กๆของเธอที่นั่งอยู่ในตะกร้าผัก จำได้ถึงสีหน้าและแววตาอันตื่นเต้นของเด็กๆที่ได้เห็นภาพตัวเองในกล้องถ่ายรูป และยังจำคำสัญญาลึกๆที่บอกกับตัวเองไว้ว่าสักวันต้องกลับไปเดินถ่ายรูปในเมืองนี้อีกครั้งให้ได้
เป็นเรื่องเศร้าอย่างที่สุดเมื่อกลับมามองภาพแต่ละภาพ และไม่อาจคาดเดาเลยได้ว่าผู้คนที่อยู่ในภาพนั้น ป่านนี้จะมีชะตากรรมเช่นใดบ้าง”
ฐอน – รัสรินทร์ กิจชัยสวัสดิ์
นักเดินทางและเจ้าของร้านหนังสือ “สุนทรภู่”
“4 เดือนที่แล้ว ยังนั่งดูผู้คนที่ปาทันแสควร์ ตอนนั้นคิดว่า… เคยมาเนปาลเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตรงนี้ก็ไม่ค่อยเปลี่ยนนะ …เดี๋ยวปีหน้าจะมาใหม่
พอเห็นภาพวันนี้ … ทุกอย่างล้วน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
ภาวนา ขอให้เนปาล ผ่านพ้นปลอดภัย อย่าบอบช้ำมากกว่านี้เลย ขอพระเจ้าอวยพระพร”
เสงี่ยม ยารังษี
จิตรกรแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ ชาวจ.เชียงราย
“ดินเเดนที่เคยไปเยือนเมื่อปี2550 ขอสิ่งศักดิ์สิทธ์คุ้มครองพี่น้องชาวเนปาลด้วย”
ผ้าป่าน สิริมา ไชยปรีชาวิทย์
ผู้จัดการ The Jam Factory Gallery
“เมื่อกลางเดือนกุมภาที่ผ่านมา ป่านไปเนปาลมาฮะ ตอนที่ป่านบอกว่าจะไปเนปาล หลายคนบอกว่า ป่านจะต้องหลงรักเนปาลแน่ๆ ใครไปมาแล้วก็มักจะอยากกลับไปอีกซักครั้ง
แล้วก็จริงฮะ ..ป่านหลงรักเนปาลเข้าอย่างจัง หลงใหลในเสน่ห์ของเมืองนี้ตั้งแต่วันแรกๆของทริป แว๊บแรกก็ติดใจสถาปัตยกรรมที่มองไปทางไหนก็ดูจะขลัง ดูมีจะเรื่องราว
แต่สิ่งที่ทำให้รู้สึกรักเมืองนี้ มันไม่ใช่แค่สิ่งที่ได้จากการมองแบบนั้น ป่านว่าป่านได้จากสัมผัส สัมผัสที่เกิดจากการสื่อสาร ชาวเมืองเนปาลน่ารักมากกกกกกฮะ ทุกคนมีความสุขและสงบในแบบของตัวเอง พวกเค้าต้อนรับเราอย่างดี ป่านได้รอยยิ้มจากคนในทุกๆวัน ไม่มีวันไหนขาดสิ่งนี้เลย
ตั้งแต่เดินวันแรก จนครบ 22 วัน หลายครั้งที่เข้าไปถ่ายรูปและได้มีโอกาสพูดคุยกับพวกเค้า ได้ช่วยหมาจิ๋วกับลุงๆชาวเนปาล ได้เดินหลงเข้าไปในงานเลี้ยงวันเกิดคุณยายอายุ 80 จนได้กินข้าวตามประเพณีกับบรรดาเครือญาติและชาวบ้าน ได้นั่งคุยนั่งโม้จนได้น้องสาวชาวเนปาลมา1คน ได้นั่งดื่มชานมกับหนุ่มสาวชาวเนปาล ได้เพื่อนใจดีที่มาเป็นไกด์พาเที่ยวปาตันที่ตอนนี้กลายเป็นเพื่อนที่คอยทักทายกันอยู่ตลอด ..เนปาลกับความประทับใจที่กลายเป็นเรื่องราวที่น่าจะยาวววววเป็นหางว่าว
ตอนที่เห็นข่าวแผ่นดินไหว ตกใจฮะ ..ตกใจเพราะภาพที่เนปาลในสำนึกนี่ยังชัดเจนอยู่มาก ยังจำอากาศ จำฝุ่น จำลักษณะของบ้านที่เค้าอยู่อาศัย จำความลำบากที่ต้องตัดไฟเพราะไฟฟ้าไม่เพียงพอ จำการทำมาหากินและการใช้ชีวิตของพวกเค้าได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญยังจำความรู้สึกของการหลงรักเมืองนี้ได้ชัดเจนมาก นอกจากจะคอยตามข่าวว่าเพื่อนที่นู้นเป็นยังไงบ้าง ป่านคิดว่าป่านน่าจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง..”
วชิระ ตราชู
นักถ่ายภาพ
pray for children
pray for nepali
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews