Celeb Online

“ศิลปะในวิถีชีวิต” พันธุ์ “ชาติ กอบจิตติ”


ART EYE VIEW— “ชีวิตผม ตอนนี้คิดอยู่ 3 อย่าง หนึ่งเขียนหนังสือ สองท่องเที่ยว และสามถ่ายรูป”

ชาติ กอบจิตติ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ. 2547 และนักเขียน 2 รางวัลซีไรต์ จากนวนิยายเรื่อง “เวลา” และ “คำพิพากษา” บอกเล่าถึงสิ่งที่ชีวิตในวัย 61 ปี ของเขาให้เวลาและให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ

ทำไมต้องเป็น 3 อย่างที่ว่านี้ “ชาติ” หรือ “น้าชาติ” ที่แฟนหนังสือหลายคนเรียกติดปาก ให้คำตอบกลับมาเพียงสั้นๆว่า “อัลเลาะห์บอก

และทันทีที่คำถามประสาซื่อถูกถามออกไปว่า “น้าชาติเป็นมุสลิมหรือ” นักเขียนรุ่นใหญ่ตอบกลับมาพร้อมเสียงหัวเราะ “ไม่ทราบ”

ก่อนจะขยายความให้ฟังว่า “ ที่บอกว่าอัลเลาะห์บอก เพราะบางทีเราไม่รู้ถึงที่มาที่แท้จริงว่าอะไรทำให้เราชอบ อย่างทำไมเราชอบเขียนหนังสือ เราจะไปรู้ได้ไง (บางทีมันหาเหตุผลที่ชัดเจนไม่ได้) ถูกต้องๆ เช่น ทำไมเราชอบผู้ชายคนนี้ ทำไมเราชอบผู้หญิงคนนี้ บางทีเราอธิบายไม่ได้”


ถ่ายภาพสนองตัณหา

กล่าวถึงเรื่องการเขียนหนังสือในทุกวันนี้ ชาติบอกว่า สิ่งที่ตนสื่อสารกับทุกคน บนเฟซบุ๊ค Chart Korbjitti ก็นับรวมเป็นการเขียนหนังสือด้วยเช่นกัน

“เวลาผมเขียนลงเฟซฯ บางทีตีสามตีสี่ ลุกมาเข้าห้องน้ำ ผมก็จะมาดู มาแก้ไขในสิ่งที่โพสต์ไป เพราะผมรู้สึกว่าอันนี้ก็คือการทำงานเขียนของผม แล้วจะบอกด้วยว่า เดี๋ยวผมจะรวมเล่ม ผมจึงอยากให้คนที่รักจะเขียนหนังสือ ถามตัวเองด้วยว่า ทุกวันนี้ คุณใช้เฟซบุ๊ค อย่างเสียประโยชน์หรือเปล่า”

แต่ในเรื่องการอ่าน ทุกวันนี้ชาติอ่านหนังสือน้อยลง “ไม่ใช่ไม่มีเวลา แต่เพราะสายตาผมไม่ค่อยดี”

ดังนั้นเรื่องจะมามัวห่วงภาพลักษณ์ว่าเป็นนักเขียนใหญ่ ต้องอ่านหนังสือให้มากให้สม่ำเสมอ แต่ต้องฝืนสังขารตัวเองนั้น ไม่ใช่นักเขียนอย่าง ชาติ กอบจิตติ แน่นอน “ผมไม่ใช่คนบ้า”

อย่างไรก็ตาม ชาติได้บอกถึงงานเขียนเรื่องล่าสุดที่สนใจหยิบมาอ่านว่า เป็นงานเขียนด้านวิชาการเกี่ยวกับ “ศาสนาพุทธและสมองของคนเรา” งานเขียนของชาวต่างชาติ แปลโดยคนไทย ซึ่งเพื่อนให้มา

เช่นกันในเรื่องของการท่องเที่ยว ชาติบอกว่าพออายุมากขึ้น ทำให้ไม่อยากเที่ยวแบบที่ต้องบุกป่าฝ่าดงมากนัก

“อยากไปเที่ยวแบบสบาย ๆเมื่อก่อนเรายังหนุ่ม ก็แบกเป้ แบกอะไรไปได้ ตอนนี้มันแก่ลง ก็ตามสังขาร

เมื่อก่อน ถ้ามีสตางค์ก็เที่ยวเมืองนอก ตอนนี้ก็มีสตางค์ แต่รู้สึกว่าไม่ค่อยอยากไปเที่ยว

ค่อนข้างไปในทางไม่ค่อยอยากไปไหน อาจจะเพราะเคยไปมาเยอะหรือเปล่า ทำให้ทุกวันนี้ ไม่ค่อยกระตือรือร้น”

มาถึงเรื่องการถ่ายภาพ เป็นสิ่งที่ชาติชอบมานานมากแล้ว และถือเป็นเรื่องที่เจ้าตัวบอกว่าต้องการสนองตัณหาของตนเองล้วนๆ

“มันสนองตัณหา เราอยากถ่ายอะไรก็ถ่าย เราไม่ได้ถ่ายไปขายใครเขานี่
อย่างเวลานั่งกินเบียร์อยู่ เราก็ถ่ายรูปถ่ายอะไร ของเราไปเรื่อย”

บ่อยครั้งที่ชาติเลือกผลงานภาพถ่ายของช่างภาพหลายๆคน มาโพสต์ให้คนที่ติดตามเขาได้ชมผ่านเฟซบุ๊ค

“มันเป็นสิ่งที่เรามี และไม่ต้องเสียสตางค์ไง และเราอยากให้นะ ให้โอกาสเขา คนที่ติดตามเรา ก็จะมีโอกาสได้ดู เพราะผลงานของพวกเขาดีด้วยไง”

เพื่อนร่วมรุ่น “เพาะช่าง ของ “มณเฑียร บุญมา”

หลายคนอาจจะเคยทราบมาแล้วว่า แม้ชาติจะมีชื่อเสียงทางด้านวรรณศิลป์ แต่เขาเรียนจบมาทางด้านทัศนศิลป์จากรั้วเพาะช่าง

ซึ่งสิ่งที่ทำให้เด็กหนุ่มผู้เกิดและเติบโตมาละแวกคลองสุนัขหอน จ.สมุทรสาคร เลือกเรียนศิลปะ ไม่ได้แตกต่างไปจากหลายๆคน

“เราชอบวาดรูป ตั้งแต่เด็ก คิดว่าเออ อยากวาดรูปแค่นั้นเอง ไม่ได้คิดอะไรมาก
ผมเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2497 สมัยนู้น สถาบันศิลปะ ที่คนรู้จักก็คือเพาะช่าง

ผมเรียนศิลปะ 5 ปี ระหว่าง ปี 1-3 ผมเรียนวิจิตรศิลป์ เกี่ยวกับวาดรูป พอครบ 3 ปี เค้าก็ให้เลือกว่าจะเลือกเรียนอะไร ผมก็เลยเลือกเรียนภาพพิมพ์ เพราะเพื่อนเลือกเรียนเยอะ ก็เลยเลือกตามเพื่อน ไม่ค่อยได้วางแผนอะไรหรอก”

เมื่อให้ยกตัวอย่างเพื่อนที่เรียนเพาะช่างรุ่นเดียวกับเขา ชาติกล่าวติดตลกว่า “ดังทุกคน”

ทว่าไม่ใช่การกล่าวเกินจริงนัก เพราะ 3 รายชื่อต่อไปนี้ ต่างเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในวงการศิลปะและวงการโฆษณา ได้แก่ มณเฑียร บุญมา,โชคชัย ตักโพธิ์ และวณิช สุขศิริ

โดยเฉพาะ มณเฑียร บุญมา ศิลปินไทยที่มีผลงานเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) สมัยเรียนเคยเช่าบ้านอยู่ด้วยกันกับชาติ

ชาติกล่าวถึงมณเฑียรในความทรงจำ ในแง่ที่มีความชื่นชม ไม่แตกต่างจากที่หลายๆคนเคยพูดถึงมณเฑียรว่า

“เค้าดีจริงๆ เป็นคนสะอาด ทำงานศิลปะ อ่านหนังสือ ให้ความคิดคน เค้าจะพูดแทนตัวเองว่า ‘เรา’ ตลอด เค้าจะไม่มี ‘กู’ แต่ผมนี่กูตลอด….เพราะกูมีเราแล้วไง (หัวเราะ)”

ด้วยใจที่มีความรักในด้านการอ่านการเขียนหนังสือ มาตั้งแต่สมัยเรียน เมื่อเรียนจบชาติจึงไม่ได้มุ่งเอาดีทางด้านศิลปะ แต่มุ่งมาเอาดีทางด้านการเขียนหนังสือ และหาเลี้ยงชีพด้วยการช่วยภรรยา (รุจิรา เตชะศีลพิทักษ์ เพื่อนสาวที่เรียนจบเพาะช่างมาด้วยกัน เคยรับราชการอยู่กองโบราณคดี แผนกซ่อมจิตรกรรมฝาผนัง กรมศิลปากร ภายหลังลาออก) ทำกระเป๋าไปฝากขายตามห้าง เนื่องจากเวลานั้นยังไม่มีชื่อเสียงในด้านงานเขียนและงานเขียนหลายเล่มของเขาที่มีชื่อเสียงในทุกวันนี้ ยังไม่เริ่มต้นเขียน

“จบเพาะช่างเราต้องหาเมียก่อน (หัวเราะ) ไม่หรอก..ใจชอบเขียนหนังสือ ตอนเรียนก็ชอบอ่านชอบเขียน แต่ต้องรอเวลา เพราะช่วงหนึ่งไปเขียนเรื่องเกี่ยวกับเริงรมย์ เขียนเพื่อขายได้ ไม่ได้ดูถูกคนที่เขียนแนวนี้นะ เพราะทุกคนต่างมีอาชีพของตัวเอง แต่เราไม่ชอบไง มันไม่ถูกกับนิสัยเรา ก็เลยไปหาอาชีพทำก่อน ไปทำกระเป๋า เย็บประเป๋าขาย เป็นอาชีพที่มารองรับ ตอนที่อาชีพนักเขียนของเรายังไม่มั่นคง ชื่อเสียงก็ไม่มี”

ศิลปะในวิถีชีวิต

อย่างไรก็ตามชาติเชื่อว่าความรู้ที่เรียนมาทางศิลปะถูกนำมาใช้ในวิถีชีวิตนักเขียนของตนเองตลอดมา

“มันอยู่ในชีวิต เช่นการทำหนังสือ ผมก็จะรู้ว่าปกหนังสือเล่มนี้ ใช้ได้ไม๊ สวยไม๊ ขายได้ไม๊ วิจารณ์ได้ ถ้ายังใช้ไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยน

มันใช้ได้หมด หรือแม้แต่การแต่งเนื้อแต่งตัวเราก็จะรู้ว่า สีเราควรจะไปทางไหน เราควรจะทำอะไร มันใช้ได้หมด

แล้วไง จะให้ผมไปทำโบสถ์แบบไอ้เหลิมเหรอ (เพื่อนรุ่นเดียวกัน?) เขาเป็นรุ่นน้องผมปีนึง เค้าก็เก่ง ทำของเค้า แต่จะให้ผมไปทำโบสถ์เหรอ (คิดจะกลับไปทำไหม?)เดี๋ยวอายุ 80 จะไปทำ หมอดูเขาบอกอายุยืน(หัวเราะ) ไม่หรอก เรื่องแบบนี้บางทีมันอยู่ในวิถีชีวิตอยู่แล้ว”

ตัวอย่างโลโก้ สำนักพิมพ์หอน ซึ่งพิมพ์งานเขียนของชาติ และที่ปรากฎในนวนิยายเรื่อง พันธุ์หมาบ้า (ซึ่งเคยถูกทำเป็นภาพยนตร์ และว่ากันว่าเร็วๆนี้ อุ๋ย – นนท์ทรีย์ นิมิบุตร จะปัดฝุ่นนำมากลับมาทำเป็นภาพยนตร์ให้ชมกันอีกครั้ง อีกทั้งจะมีงานฉลองครบรอบ 27 ปี ของนวนิยายเล่มนี้ ในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2558 เวลา 14.00 -17.00 น. ณ หอศิลป์กรุงเทพมหานคร)

กระทั่งขยับมาเป็นลายบนเสื้อยืดในทุกวันนี้ นั่นก็ถือเป็น ไอเดียในด้านการออกแบบของชาติ ที่นำเอาความรู้เรื่องศิลปะมาปรับใช้กับงานเขียน

“มันเริ่มมาจากโลโก้ที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อพิมพ์ไว้ตอนจบบทของนวนิยายเรื่อง เรื่อง พันธุ์หมาบ้า ซึ่งใช้มาตั้งแต่พิมพ์ครั้งแรก บอกกับ ทองทัช เทพารักษ์ คนที่ออกแบบว่าเราอยากได้ภาพหมาไทยที่ยืนหอน ให้เค้าออกแบบมา เราแค่เป็นคนบอก”

ชาติบอกถึงแนวทางในการออกแบบหน้าตาของหนังสือในแต่ละเล่มของตนเองว่า

“ต้องดูว่ามันเข้ากับเรื่องเราหรือเปล่าล่ะ สมมุติ โอเคมันเข้ากับเรื่องได้ ต่อมามันน่าสนใจไม๊ ถ้ามันน่าสนใจ แล้วมันขาดอะไรหรือเปล่า เช่น แทนที่สีมันจะเป็นเขียว มันเป็นแดงดีไหม หรือจะเป็นเหลืองรึไม่ ลึก ..เรื่องนี้ลึก

(เป็นเรื่องขององค์ประกอบทางศิลปะ) เออ.. มันก็เหมือนกับตอนที่เราเรียนศิลปะนั่นแหล่ะ แต่ถ้าอันไหนเราไม่ถนัด ก็ไปให้คนอื่นเค้าไปทำ เรารู้แค่ว่า แค่นี้พอดี แค่นี้ได้ จะไม่ฟิกว่าต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น”

และเมื่อถูกถามว่ามีผลงานศิลปะของศิลปินคนไหนหรือแนวไหนที่ ชาติ กอบจิตติ ชอบมากเป็นพิเศษ ชาติตอบคำถามที่เหมือนทิ้งไว้ให้ไปคิดต่อว่า

“อย่างแวนโก๊ะกับปิกัสโซ่ เราไม่สามารถที่จะบอกว่างานของใครยิ่งใหญ่ กว่าใครได้

อย่ามาถามผมว่าชอบงานใคร แต่จะพูดให้ฟังว่า ถ้าบังเอิญผมได้เป็นศิลปิน ถ้าบังเอิญนะ ถ้าบังเอิญได้เป็น ชีวิตผมจะไม่อดอยาก

อันนี้คือคำตอบที่ต้องไปตีความเอง”

Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : พลภัทร วรรณดี และ เฟซบุ๊ค Chart Korbjitti


ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews