Celeb Online

เยือนบ้านศิลปินเซอร์เรียลลิสม์ “ประทีป คชบัว” กับเด็กๆ Art Learning สาธิตจุฬาฯ


ART EYE VIEW—ที่ผ่านมาไม่เพียงมีโอกาสเรียนรู้ศิลปะหลากหลายเทคนิคกับศิลปินมืออาชีพ ที่ถูกเชิญมาเป็นวิทยากรที่โรงเรียน ได้ออกไปทำงานศิลปะและชมงานศิลปะนอกสถานที่ ตามแกลเลอรี่ หอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ล่าสุด โอกาสที่เด็กๆ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ซึ่งอยู่ในโครงการเสริมศักยภาพทางด้านศิลปะ (Art Learning) ได้รับ ยังขยายขอบเขตออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ

เพราะโครงการฯ ได้เพิ่มกิจกรรม พบศิลปินเยือนถิ่นสร้างศิลป์ เข้าไปเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จะช่วยเสริมศักยภาพในการเรียนรู้ด้านศิลปะให้กับเด็กๆด้วย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่พาเด็กๆแวะไปเยือนบ้านและสถานที่ทำงานศิลปะของศิลปินที่มีชื่อเสียง


รู้จักตัวตนศิลปิน ที่บ้านและสถานที่ทำงาน

ตัวอย่างเช่นวันเสาร์ที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา เด็กๆได้มีโอกาสแวะไปเยือนบ้านและสถานที่ทำงานศิลปะของ ประทีป คชบัว ศิลปินชื่อดังคนหนึ่งของเมืองไทย ที่สนใจทำงานศิลปะแนวเหนือจริง หรือ surrealism (เซอร์เรียลลิสม์) ที่หมู่บ้านนภาวัลย์ ย่านสายไหม

หลังจากที่ก่อนหน้านี้เด็กๆ เคยแวะไปเยือนบ้านอีกหลังที่กรุงเทพฯของ ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ ชาวเชียงราย ผู้ล่วงลับ ณ หมู่บ้านนวธานี

สมใจ จงรักวิทย์ อาจารย์สอนศิลปะ และประธานโครงการเสริมศักยภาพทางด้านศิลปะ (Art Learning) กล่าวถึงที่มาของกิจกรรม “พบศิลปินเยือนถิ่นสร้างศิลป์” ว่า

“ที่ผ่านมาโครงการฯ เคยพาเด็กๆไปทำงานศิลปะนอกสถานที่และชมผลงานศิลปะที่จัดแสดงตามแกลเลอรี่ หอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ต่างๆ มาแล้วหลายครั้ง แต่สิ่งที่โครงการฯคิดว่ายังขาดไป คือการไปชมบ้านศิลปิน
เมื่อได้พูดคุยกับ อาจารย์ปกรณ์ (กล่อมเกลี้ยง)ซึ่งอาจารย์เป็นหนึ่งในวิทยากรของโครงการฯ และ เป็นผู้ทำหน้าที่ในด้านการบรรยายและนำชมผลงานศิลปะนอกสถานที่

อาจารย์ได้แนะนำว่า ลองพาเด็กๆไปบ้านศิลปินดีกว่า เพราะที่ผ่านมาเด็กๆจะได้พบกับศิลปินเฉพาะเวลาที่ไปชมนิทรรศการศิลปะตามหอศิลป์ หรือไม่ก็ได้ชมแต่ผลงานเท่านั้น ซึ่งยังไม่อาจทำให้เด็กๆ ได้สัมผัสกับตัวตนที่แท้จริงของศิลปิน

แต่ถ้าเด็กๆได้ไปบ้านศิลปิน พวกเขาจะได้สัมผัสกับชีวิตความเป็นอยู่ สถานที่ทำงานศิลปะหรือสตูดิโอ และได้ทราบถึงเบื้องหลังในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแต่ละชิ้น

เพราะเบื้องหลังของผลงานศิลปะแต่ละชิ้นมีเรื่องราวมากมาย ถ้าเด็กๆได้รับทราบจากการบอกเล่าของศิลปินผู้เป็นเจ้าของผลงาน จะทำให้เด็กๆ ได้เข้าใจและเข้าถึงคุณค่าของผลงานศิลปะอย่างแท้จริง

ห้องเรียนศิลปะของเด็กประถม ส่วนใหญ่จะสอนให้เด็กสร้างงานศิลปะ และเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะอยู่แต่ในห้องเรียน เด็กๆไม่ค่อยมีโอกาสไปชมงานศิลปะนอกสถานที่ หรือไปฟังเรื่องราวของผลงานศิลปะแต่ละชิ้นจากศิลปินเอง

การที่เด็กๆได้มีโอกาสไปเยี่ยมบ้านของศิลปิน โดยเฉพาะศิลปินที่มีอัตลักษณ์หรือตัวตนที่เด่นชัด มีความสำคัญมากสำหรับเด็กๆวัยนี้ เพราะมันจะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาตัวเขาในอนาคตและเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้เรื่องอื่นๆด้วย”


ศิลปะแนวเหนือจริง ยังมีรากจากความจริง

ก่อนจะออกเดินทางด้วยรถตู้ไปบ้านของศิลปินประทีป คชบัว เด็กๆได้มารวมตัวกันที่ห้องศิลปะของโรงเรียนก่อน เพื่อรับทราบถึงข้อควรปฏิบัติในการเยี่ยมชมบ้านศิลปิน

และเมื่อเด็กๆเดินทางไปถึง ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้เดินชมผลงานศิลปะที่ติดตั้งอยู่ตามจุดต่างๆของบ้าน ประทีปยังได้ทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายให้เด็กๆฟังเกี่ยวกับชีวิตการเป็นศิลปินและการทำงานศิลปะของตนเอง โดยมีอาจารย์ปกรณ์ทำหน้าที่เป็นผู้คอยตั้งคำถาม

ตัวอย่างคำแนะนำง่ายๆ เกี่ยวกับการทำงานศิลปะแนว surrealism ที่ประทีปมีให้กับเด็กๆ เช่น

“การทำงานศิลปะในแนว surrealism แม้จะเป็นงานศิลปะในแนวเหนือจริง หรือ จินตนาการ แต่ก็ยังมีรากมาจากความจริง เหมือนเราจะวาดรูปเพื่อนสักคนหนึ่ง เด็กๆต้องไม่ลืมว่ามันต้องมีคาแรคเตอร์หรือความเป็นเค้าอยู่ในรูปนั้นด้วย”

“เช่นถ้าเค้าเป็นคนขี้โมโห เราก็อาจต้องเติมเขี้ยวเข้าไปใช่ไหมครับ” เด็กชายคนหนึ่งตั้งคำถามหลังจากที่ตั้งใจฟังมาตลอด

“ใช่ๆ ถูกต้อง” ประทีปตอบด้วยสีหน้าที่พอใจ และยังได้ยกตัวอย่างภาพเขียนชิ้นหนึ่งที่ติดอยู่ที่ผนังให้ฟังด้วยว่า

“ภาพนี้มันมีที่มาจากโจทย์ที่เค้าให้อาจารย์และเพื่อนศิลปินมาว่า ลองพาภาพวาดโมนิซ่าของอิตาลีไปเที่ยวที่ไหนสักแห่ง แล้ววาดเป็นภาพขึ้นมา อาจารย์ก็เลยพาไปเที่ยวเขมร ดังนั้นเครื่องทรงบนหัวของโมนาลิซ่าในภาพของอาจารย์ จึงเหมือนเครื่องทรงของนางอัปสราของเขมร และถูกตั้งชื่อให้ใหม่ว่า นางอัปสราลิซ่า”

พอได้ยินชื่อเท่านั้น เด็กๆต่างพากันหัวเราะและยิ้มมีความสุข ขณะที่ประทีปเองก็ได้ชมเด็กๆด้วยว่า ค่อนข้างมีพื้นฐานความรู้เรื่องงานศิลปะในแนวเซอร์เรียลลิสม์ โดยเฉพาะเมื่ออาจารย์ปกรณ์ได้ถามเด็กๆว่า ตัวอย่างงานแนวเซอร์เรียลลิสม์ ที่ปรากฎอยู่ในงานศิลปะไทยมีอะไรบ้าง

ซึ่งเด็กๆแต่ละคนก็ต่างยกมือตอบด้วยความมั่นใจ ไม่ว่าจะเป็น สวรรค์,ครุฑ,นางเงือก,ม้านิลมังกร,มักกะลีผล ฯลฯ

  “แต่อาจารย์เป็นคนที่เขียนรูป โดยอ้างอิงจากเรื่องราวต่างๆที่ไม่ยาก ผู้ชมสามารถตีความได้อยู่แล้ว เช่น คำพังเพยต่างๆ แต่งานชิ้นที่อาจารย์ทำยากที่สุด คืองานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับตำนวนกวนเกษียรสมุทร ไม่รู้ว่าเด็กๆเคยไป MOCA (พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย) มาหรือยัง เคยเห็นรูปเขียนรูปหนึ่งของอาจารย์ไหม ที่เป็นงานชิ้นใหญ่ๆและมีลักษณะยาวๆ”

เด็กๆส่วนใหญ่ต่างตอบว่าเคยเห็น เพราะก่อนหน้านี้ทางโครงการฯ เคยพาไปชมมาแล้ว


ศิลปินที่ดีต้องมีวินัย

และเมื่ออาจารย์ปกรณ์ตั้งคำถามต่อไปว่า อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้ศิลปินคนหนึ่งประสบความสำเร็จ ประทีปตอบเป็นข้อคิดให้กับเด็กๆว่า

“ศิลปินต้องเป็นคนมีวินัย เช่นเวลาเขียนรูป ต้องเขียนให้เสร็จ อาจารย์เคยไปบ้านเพื่อนหลายคน ส่วนหนึ่งที่เขาไม่ประสบความสำเร็จคือ เขียนรูปไม่เสร็จ เขียนรูปแล้วเบื่อ ดังนั้นส่วนหนึ่งของการเป็นศิลปินที่ดีคือต้องเป็นคนที่ทำอะไรให้เสร็จ เหมือนเวลากินข้าวต้องกินให้หมดทุกเม็ด อาจารย์อยากจะตอบให้ละเอียดและลึกซึ้งกว่านี้ แต่กลัวว่าพวกเราจะอยู่ในวัยที่ยังไม่เข้าใจในสิ่งที่อาจารย์พูด”

นอกจากนี้ประทีปยังบอกเล่าให้เด็กๆฟังด้วยว่า ผลงานศิลปะยังเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงนิสัยของตัวเองด้วยว่าเป็นคนช่างสังเกต

“งานของอาจารย์มีรายละเอียดมาก เพราะอาจารย์เป็นคนช่างสังเกต เราเป็นอย่างไร งานของเราก็มักจะเป็นอย่างนั้น เพื่อนอาจารย์บางคนชอบเขียนภาพวิวทิวทัศน์ ชอบเดินทางไปตามที่ต่างๆ แต่อาจารย์ไม่ชอบ อาจารย์ชอบอยู่กับบ้าน บางทีสงสัยอะไรก็เปิดหนังสือ เปิดเวบไซต์ เปิด google หาข้อมูล ขณะที่เพื่อนของอาจารย์หลายคนเขียนรูปไม่ได้ ถ้าไม่ได้เดินทางหรือออกจากบ้าน”

ระหว่างเดินชมงานศิลปะตามจุดต่างๆของบ้าน เด็กๆยังมีโอกาสได้รับรู้ถึงช่วงเวลาที่ยากลำบากช่วงหนึ่งในชีวิตศิลปินของประทีปและเรื่องราวอื่นๆในสังคม ที่ถูกสะท้อนผ่านภาพเขียนที่มีชื่อว่า ปากกัดตีนถีบ ซึ่งเคยส่งไปประกวดที่ญี่ปุ่น และได้เข้ารอบ

“ภาพเขียนชิ้นนี้สะท้อนเรื่องราวเมื่อปี 2540 ซึ่งเป็นยุคที่เรียกว่า ยุคฟองสบู่ ผู้คนต่างมีปัญหากันหมดเลย มีหนี้สิน แม้แต่อาจารย์เองต้องกินแต่บะหมี่สำเร็จรูป ทำให้ท้องเสียบ่อย เพราะไม่มีเงินซื้ออาหารดีๆกิน ผู้คนในรัฐบาลก็ทะเลาะกัน คนรวยข่มเหงคนจน และภาพกล้วยในภาพที่เป็นสีแดงแทนที่จะเป็นสีเขียวหรือเหลือง เพราะอาจารย์ต้องการสื่อว่า แม้แต่เรื่องที่ดูเหมือนจะง่าย หรือเรื่องกล้วยๆ ในเวลานั้นก็ยังเป็นเรื่องยาก ทางออกของผู้คนเวลานั้นส่วนหนึ่งหันไปพึ่งการบนบานสานกล่าว พึ่งการซื้อหวย ดังนั้นขณะที่หลายอาชีพอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ แต่มีอาชีพหนึ่งที่ไปได้ดีคือ อาชีพคนทำไสยศาสตร์ อีกทั้งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เพศที่ 3 กล้าที่เปิดเผยตัวตนกับสังคมมากขึ้น”


ศิลปินเซอร์เรียลลิสม์ ชื่นชมเด็กๆ Art Learning กล้าพูดกล้าคิด

ก่อนจะลากลับ ประทีบยังได้กล่าวย้ำกับเด็กๆด้วยว่า “ถ้าไปพบอาจารย์ข้างนอก ไม่ต้องรีรอที่จะเข้ามาทักทาย เพราะพวกเรามีเยอะ อาจารย์อาจจะจำไม่ได้ทุกคน อาจารย์หน้าดุ แต่อาจารย์เป็นคนใจดี และอย่าลืมว่าเป็นศิลปินต้องมีวินัยให้มาก ทำให้เยอะแล้วเราจะเป็นที่รักของทุกคน”

  ขณะที่เด็กๆได้มอบภาพวาดเทคนิคปากกาหมึกดำ ผลงานของน้องกาโม่ หรือ ด.ช.นัทพล โกมลารชุน เป็นสิ่งตอบแทนที่ศิลปินเปิดโอกาสให้เด็กๆได้มาชมบ้านและสถานที่ทำงานในครั้งนี้ และตัวแทนของเด็กๆคนหนึ่งได้กล่าวคำแสดงความขอบคุณด้วยว่า

“ผลงานแต่ละชิ้นในบ้านของท่าน เป็นตัวอย่างของผลงานศิลปะที่พวกเราจะได้นำไปพัฒนาความสามารถทางด้านศิลปะของพวกเราต่อไป บ้านหลังนี้เป็นบ้านที่อบอุ่นอย่างยิ่ง และพวกเราก็ได้สัมผัสกับความเป็นครูที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตาของอาจารย์ประทีป”

ประทีบบอกเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาบ้านหลังนี้มีบุคคลหลายกลุ่มหลายคณะแวะเวียนมาเยี่ยมชมงานศิลปะอยู่เรื่อยๆ จากเดิมที่เป็นเพียงบ้านเดี่ยวชั้นเดียว ซึ่งประทีปใช้อยู่อาศัยและทำงานศิลปะมาตั้งแต่ปี 37 และซื้อไว้เมื่อครั้งที่ยังทำงานบริษัทโฆษณา ต่อมาประทีปได้ซื้อบ้านข้างเคียงที่ประกาศขายเพิ่มอีกสองหลัง แล้วทุบทิ้ง สร้างเป็นบ้านและสตูดิโอ ภายในพื้นที่เดิมของบ้าน 3 หลัง

“เราค่อนข้างยินดีเวลาที่มีคนอยากมาเยี่ยมชมบ้าน เพราะเราตั้งใจทำที่นี่เพื่อเป็น public ด้วยซ้ำ แต่บางครั้งเราเปิดให้คนเข้ามาเยี่ยมชมตลอดไม่ได้ เพราะเราต้องใช้เวลาในการเขียนรูป ยิ่งปัจจุบันนี้จะมีพวกงานการกุศลเข้ามาด้วย ทำให้เราแทบไม่มีเวลาได้ทำงานศิลปะของตนเอง ถ้าเป็นไปได้ผมอยากจะใช้เวลาในการเขียนรูปไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องมีใครมากดดัน

หลังน้ำท่วมกรุงเทพ ผมไปทำบ้านหลังที่สองไว้ที่ขอนแก่น ไปปลูกต้นไม้ไว้ แต่ไม่ค่อยได้บอกใคร ดังนั้นถ้าว่างจากการทำงานศิลปะก็อยากจะทำสวนมากกว่า

แต่เราไม่ค่อยกังวล เวลาที่คนมาเยี่ยมบ้าน แม้ว่ากลุ่มที่มาชมครั้งนี้จะเป็นเด็ก เพียงแต่ผมค่อนข้างประหลาดใจว่า เด็กกลุ่มนี้เขาค่อนข้างมีความคุ้นเคยกับงานศิลปะ มีความกล้าที่จะถาม เลยทำให้ผมซึ่งเป็นเจ้าของบ้านค่อนข้างผ่อนคลาย เพราะตอนที่ผมอายุเท่าพวกเขา ผมเป็นเด็กที่ค่อนข้างขี้อาย เกร็ง ไม่มีความมั่นใจ ผมจึงรู้สึกชื่นชมพวกเขา”


เยี่ยมบ้านศิลปินอาเซียน

จากการทีได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชมบ้านศิลปินร่วมกับเด็กๆในโครงการฯและผู้ปกครองมาแล้ว ครั้งหนึ่ง ที่บ้านของศิลปิน ถวัลย์ ดัชนี ทำให้ รศ.สุพร ชัยเดชสุริยะ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ได้ทราบว่าเด็กๆและผู้ปกครองค่อนข้างมีความประทับใจกับกิจกรรม และยังมีแนวความคิดที่จะส่งเสริมให้มีกิจกรรมนำเด็กๆไปเยี่ยมบ้านศิลปินในกลุ่มประเทศอาเซียน อีกด้วย

“ถ้าเป็นไปได้อยากจะมีโอกาสพาเด็กๆไปชมบ้านของศิลปินในกลุ่มอาเซียนบ้าง เพราะแต่ละประเทศก็ต่างมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป และมีส่วนหล่อหลอมความเป็นศิลปินแต่ละคน ที่เด็กๆจะสามารถเรียนรู้ได้
 
และเชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมให้การแลกเปลี่ยนด้านศิลปวัฒนธรรมระหว่างประเทศอาเซียนผ่านเด็กๆเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย

อย่างไรก็ตามเราอยากจะสำรวจความคิดเห็นก่อนว่า เด็กๆกลับไปคุยให้ผู้ปกครองฟังว่าอย่างไรบ้าง ถ้าเด็กๆประทับใจ กิจกรรมในโครงการฯของเราก็สามารถก้าวไปได้อีกขั้น”
 

น้องลิซซี่ หมูฉึกๆ “หนูอยากเป็นศิลปิน”

น้องลิซซี่ – ด.ญ. เฟลิซเซีย ณัฐษณา บุชเช่อร์ หลายคนคงพอจดจำเธอจากโฆษณาผงปรุงรสยี่ห้อหนึ่ง พร้อมกับคำพูดติดปากที่ว่า “หมูฉึกๆ”

เธอก็เป็นคนหนึ่งที่ไปร่วมกิจกรรม “พบศิลปินเยือนถิ่นสร้างศิลป์” ที่บ้านของศิลปินประทีบ คชบัว ในครั้งนี้ด้วย

เวลานี้เธอเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม และยังเข้าร่วมโครงการ Art Learning ของโรงเรียน

เด็กหญิงบอกถึงเหตุผลที่ทำให้สนใจที่เข้าร่วมโครงการฯ และอยากมาร่วมกิจกรรมกับเพื่อนๆในครั้งนี้ ด้วยรอยยิ้มที่สดใสเบิกบานไม่ต่างจากที่เราเคยเห็นเธอในโฆษณา ว่า

“เพราะหนูอยากเป็นศิลปิน แต่หนูวาดรูปไม่เก่ง คุณแม่ก็เลยส่งหนูมาเข้าโครงการนี้ฯ ”
 
แต่เมื่อถามความเห็นจากอาจารย์สมใจ อาจารย์กลับบอกว่า จริงๆแล้วเธอวาดรูปเก่งมากๆ แต่คงถ่อมตัวมากกว่า เพราะเด็กๆที่เข้าร่วมโครงการฯ จะเป็นเด็กที่ทางโรงเรียนได้คัดเลือกแล้วว่ามีศักยภาพทางด้านศิลปะ

ผู้สนใจสามารถเข้าไปติดตามชม กิจกรรมของนักเรียนในโครงการ Art Learning ได้ที่ http://www.facebook.com/artlearning.satitchula และผลงานศิลปะของนักเรียนในโครงการฯ ได้ที่ http://artlearning.satitchula .com

Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : ปัญญพัฒน์ เข็มราช










ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews