ART EYE VIEW—มีคนในแวดวงศิลปะ ทั้งศิลปิน เจ้าของแกลเลอรี่ และพื้นที่ทางศิลปะ นักสะสม และผู้สนใจ ไปร่วมฟังหนาตาพอสมควร สำหรับกิจกรรมบรรยายพิเศษ เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2558 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในหัวข้อ “ความเป็นมาของหอศิลป์ Saatchi (ซัทซี่)” โดย นายไนเจล เฮิร์ท ผู้อำนวยการและกรรมการผู้จัดการ หอศิลป์ Saatchi กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ก่อนที่ผลงานเกือบ 100 ชิ้น ของ 25 ศิลปินไทย จะถูกนำไปจัดแสดงในนิทรรศการศิลปะร่วมไทย Thailand Eye presented by Prudential ณ หอศิลป์ Saatchi ระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2558 – เดือนมกราคม พ.ศ.2559 ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งและกิจกรรมสุดท้ายของ เทศกาลไทยในสหราชอาณาจักร
ตามโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 และเพื่อเฉลิมฉลอง 16 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหราชอาณาจักร
หลังจากที่ 2 กิจกรรมก่อนหน้านี้ คือ การแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอน นิ้วเพชร – ลักสีดา – ยกรบ – คืนนคร (วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2558) ณ Royal Albert Hall กรุงลอนดอน (โรงละครขนาดใหญ่ จุผู้ชมได้ประมาณ 3,981 คน และเป็นโรงละครที่ศิลปินไทยได้ไปไปบรรเลงเมื่อ 130 ปีที่แล้ว)
และเทศกาลภาพยนตร์ไทย (Thai Film Festival) ซึ่งมีการฉาย ภาพยนตร์ไทย 7 เรื่อง ระหว่างวันที่ 25 – 27 มิถุนายน พ.ศ.2558 ณ BAFTA กรุงลอนดอน
หอศิลป์ Saatchi ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2528 มีพื้นที่สำหรับจัดแสดง 7,000 ตารางเมตร โดยตลอดระยะเวลา 30ปี ที่ผ่านมา ได้รับความนิยมจากผู้คนในวงการศิลปะร่วมสมัยและผู้ที่สนใจเป็นอย่างมาก อ้างอิงจากสถิติผู้เข้าชมผลงานศิลปะในหอศิลป์ที่มากกว่า 1.5 ล้านคนต่อปี หรือประมาณ 4,250 คนต่อวัน โดยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนผู้เข้าชม อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 18 – 34 ปี แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของหอศิลป์ในการดึงดูดคนรุ่นใหม่และผู้ที่กำลังเริ่มทำงาน (young professionals) ให้มาเข้าชมและมีส่วนร่วมกับการนิทรรศการผลงานศิลปะร่วมสมัยอย่างต่อเนื่อง
และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หอศิลป์ร่วมสมัยแห่งนี้ ได้จัดนิทรรศการที่มีจำนวนผู้เข้าชมสูงสุดในกรุงลอนดอนถึง 15 ครั้ง จากการจัดนิทรรศการทั้งหมด 20 ครั้ง ตามการจัดลำดับความนิยมพิพิธภัณฑ์นานาชาติของวารสารด้านศิลปะ The Art Newspaper
นอกจากนี้ หอศิลป์ Saatchi ยังติดอันดับ 1 ใน 5 หอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ของโลกที่ได้รับการกด Like มากที่สุดทาง Facebook และ Twitter อีกด้วย
ด้านนายไนเจล ผู้จบการศึกษาจาก Goldsmith's Callege และ London University เคยทำงานเป็นภัณฑารักษ์ให้กับนิทรรศการระหว่างประเทศจำนวนมาก และเริ่มงานที่หอศิลป์ Saatchi ตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 เป็นต้นมา ปัจจุบันนอกจากมีตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการและกรรมการผู้จัดการหอศิลป์ ฯ ผลงานการจัดนิทรรศการในช่วงที่ผ่านมาของเขา จะเน้นไปที่ศิลปะร่วมสมัยในภูมิภาคเอเชียและยุโรปตะวันออก
นอกจากเขาจะบอกเล่าความเป็นมา และยกตัวอย่างผลงานศิลปะ ที่เคยจัดแสดง ณ หอศิลป์ Saatchi
นายไนเจล ยังบอกถึงภารกิจสำคัญของหอศิลป์ฯว่า คือการผลักดันให้ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัยชิ้นใหม่ๆออกมาเรื่อยๆ ไม่ว่ามันถูกสร้างสรรค์ขึ้น ณ มุมไหนของโลกก็ตาม
และเมื่อถูกถามว่าที่ผ่านมาอะไรที่ถือเป็นความสำเร็จของหอศิลป์ฯ นายไนเจลตอบว่า คือการกระตุ้นให้คนทั่วไปหันมาสนใจงานศิลปะร่วมสมัยมากขึ้น และมีการเปิดโลกทัศน์ในการชมและพูดคุยถึงงานศิลปะให้มากไปกว่าเรื่องของความงาม
นายไนเจล เผยว่า ผลงานศิลปะของศิลปินไทยทั้ง 25 คน ที่จะถูกนำไปจัดแสดง ณ หอศิลป์ Saatchi เป็นการคัดเลือกร่วมกันระหว่างนายไนเจล และผู้เชี่ยวด้านศิลปะของไทยและสหราชอาณาจักร
มีทั้งผลงานของศิลปินรุ่นใหญ่ของไทยที่มีชื่อเสียงและศิลปินไทยรุ่นใหม่ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่คนทั่วโลกที่แวะเวียนไปชมงานศิลปะที่หอศิลป์ Saatchi จะได้ทราบว่าผลงานศิลปะร่วมสมัยของศิลปินไทยมีลักษณะเช่นใด และถูกสร้างสรรค์ขึ้นในบรรยากาศแบบไหน
นายไนเจล ยังบอกอีกด้วยว่า ไม่ใช่แต่ผู้ทำหน้าที่คัดเลือกเท่านั้นที่ต้องคิดหนักว่าผลงานของศิลปินไทยคนใดสมควรจะถูกคัดเลือกไปจัดแสดงในนิทรรศการ
ศิลปินไทยทั้ง 25 คน ก็ต้องคิดหนักไม่แพ้กันว่า จะนำเสนอผลงานของตัวเองออกมาในลักษณะไหน เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกตื่นตาตื่นใจและยังพูดถึง ไม่ใช่เป็นผลงานศิลปะที่แค่ถูกเห็นและถูกลืมไปในที่สุด
ในช่วงท้ายของการบรรยาย นายไนเจลได้ทำการประกาศรายชื่อและแสดงความยินดีกับ 25 ศิลปินไทยที่ผลงานจำนวนรวมกันเกือบ 100 ชิ้น จะถูกนำไปจัดแสดง Thailand Eye presented by Prudential ณ หอศิลป์ Saatchi ได้แก่
1.บุษราพร ทองชัย
2.ชาติชาย ปุยเปีย
3.ชูศักดิ์ ศรีขวัญ
4.ดาว วาสิกศิริ
5.กมลพันธุ์ โชติวิชัย
6.กวิตา วัฒนางกูร
7.กรกฤต อรุณานนท์ชัย
8.โฆษิต จันทรทิพย์
9.กฤช งามสม
10.มานิต ศรีวานิชภูมิ
11.นที อุตฤทธิ์
12.นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล
13.นพไชย อังควัฒนะพงษ์
14.ปานพรรณ ยอดมณี
15.ปัญญา วิจินธนสาร
16.ปวีณา รักษ์ศาสนา
17.ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช
18.รอฟ วอน บูเรน
19.สาครินทร์ เครืออ่อน
20.สมบูรณ์ หอมเทียนทอง
21.ทรงไชย บัวชุม
22.สุรสีห์ กุศลวงศ์
23.ไตรรัตน์ ศรีบุรินทร์
24.อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ
25.วิริยะ โชติปัญญาวิสุทธิ์
นอกเหนือจากนิทรรศการจัดแสดงผลงานศิลปะของ 25 ศิลปินไทย หอศิลป์ Saatchi โดยความร่วมมือของสำนักพิมพ์ สคีรา (Skira) กรุงลอนดอนยังได้จัดพิมพ์หนังสือรวบรวมเรื่องราวและผลงานของศิลปินไทยร่วมสมัยกว่า 70 คน เพื่อเผยแพร่ในโอกาสเดียวกันด้วย
และภายหลังจากที่ นิทรรศการศิลปะร่วมไทย Thailand Eye presented by Prudential ระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2558 – เดือนมกราคม พ.ศ.2559 ณ หอศิลป์ Saatchi จบลง
ผลงานศิลปะของศิลปินไทยทั้ง 25 คน จะถูกนำมาจัดแสดงอีกครั้ง ระหว่างเดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน พ.ศ.2559 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
หมายเหตุ : เทศกาลไทยในสหราชอาณาจักร เกิดขึ้นโดยความร่วมมือของกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึง สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB) หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานภาคเอกชน อาทิ บริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต จำกัด ผู้สนับสนุนหลัก พร้อมด้วย Parallel Contemporary Art บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด มูลนิธิ จิม ทอมป์สัน เป็นต้น
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews