Celeb Online

"ผมหวังจะได้พบคุณอีก" อาจหมายความว่า “ผมอาจจะไม่ได้เจอคุณอีกก็ได้” …แพทริค บราวน์


ART EYE VIEW—ภาพถ่ายจากการลั่นชัตเตอร์ของช่างภาพชาติอังกฤษ แพทริค บราวน์ สะท้อนประเด็นทางสังคมที่น่าสนใจเสมอ

และตลอดระยะเวลาที่เขาได้เดินทางไปตามที่ต่างๆ ทั่วโลก ภาพถ่ายของเขาสะท้อนทั้ง การใช้ชีวิตของผู้คน ความหวังและความท้อแท้


เช่นเดียวกับ Hope (ความหวัง) นิทรรศการภาพถ่ายชุดล่าสุดของเขา ณ เดอะ แจม แฟคตอรี่ เขาต้องการสะท้อนถึงความเปราะบางของการคงอยู่ของมนุษยชาติบนโลก โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะบันทึกสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมสำหรับการดำรงชีพ สถานที่ที่จะทำให้เราเห็นความงามในความโหดร้าย เป็นสภาพแวดล้อมที่ความหวังและการมองโลกในแง่ดีถูกผสมกลมกลืนกับความคลางแคลงใจและความไม่มั่นคง ภาพถ่ายชุดนี้ไม่มีมนุษย์อยู่ร่วมในภาพ เพื่อเป็นการสื่อสาร และเน้นย้ำให้เห็นถึงความอ่อนแอของมนุษย์อย่างพวกเราทั้งหลายนั่นเอง

แพทริคนำเสนอภาพถ่ายของเขาจากภูมิทัศน์ที่เวิ้งว้าง กว้างใหญ่ และห่างไกลแถบตะวันตกของออสเตรเลีย สำหรับเขาคือสถานที่ซึ่ง “ความหวัง” และ “ความคลางแคลง” มาปะทะกัน เป็นภูมิทัศน์ที่มนุษย์ทอดทิ้ง และถึงแม้จะโดนทอดทิ้ง พื้นที่ว่างนั้นก็ยังมีรายละเอียด มีอารมณ์ มีชีวิต

แพทริคกล่าวว่า สำหรับเขาคำว่า “ความหวัง” เป็นคำที่มีได้สองความหมาย ให้ทั้งความเป็นบวกและลบ เช่น ผมพูดว่า “ผมหวังว่าจะได้พบคุณอีก” นั่นย่อมหมายความว่า “ผมอาจจะได้เจอหรือไม่ได้เจอคุณอีกก็ได้” เพราะฉะนั้นที่แห่งนี้จึงเปรียบเสมือนกับความหวังหรือไร้ซึ่งความหวังก็ได้

แต่นัยสำคัญคือ ผลงานภาพชุดนี้แสดงให้เห็นว่ามนุษย์นั้นเปราะบางยิ่งนัก โลกของเราก็เช่นกัน หลายร้อยล้านปีก่อนในอดีตเคยมียุคของไดโนเสาร์ อนาคตอีกหลายร้อยล้านปีข้างหน้าก็อาจมีสิ่งมีชีวิตอื่นย่อมได้ แต่มนุษย์จะมีอยู่บนโลกหรือไม่นั่นคือความหวัง เพราะฉะนั้นหากเรายืนอยู่ ณ ที่แห่งนี้ ปัจจุบันขณะนี้มนุษย์จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องดูแลโลกของเรา

แพทริคเลือกใช้ฟิล์มโพลารอยด์ 665 ในการบันทึกภาพซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะสื่อสารเรื่องราวของความเปราะบางนี้ ทั้งการเลิกผลิตฟิล์มโพลารอยด์ 665 จนเรียกได้ว่าฟิล์มชนิดนี้กำลังจะสูญหายไป การใช้ฟิล์มโพราลอยด์ชนิดนี้ในการบันทึกภาพผลงานที่ได้ จึงเป็นเพียงภาพเดียวในโลกไม่มีการทำซ้ำ ซึ่งอาจจะให้ภาพที่สมบูรณ์หรือไม่ก็ได้ ในกระบวนการนี้เอง ที่ทำให้เราเกิด “ความหวัง” เช่นกัน

นอกจากนี้ความพิเศษของนิทรรศการภาพถ่ายชุดนี้คือ การนำเสนอเรื่องราวทั้งจากภาพนิ่งและเสียงจากสถานที่จริง โดยในนิทรรศการมีการกำหนดจุดให้ผู้เข้าชมได้ยืนรับฟังเสียงบรรยายในแต่ละภาพ ซึ่งเป็นเสียงที่ศิลปินบันทึกมาจากสถานที่ที่เขาได้ไปถ่ายภาพนั้นๆ มานั่นเอง


แพทริค บราวน์ ใช้ชีวิตวัยเด็กในแถบตะวันออกกลางของประเทศแคนาดา ถัดมาเป็นประเทศแอฟริกา ก่อนที่ครอบครัวของเขาจะลงหลักปักฐานที่เมืองเพิร์ท ประเทศออสเตรเลีย ทั้งนี้เขาได้รับอิทธิพลทางความคิดจากงานภาพถ่ายจากสงคราม และเรื่องการต่อสู้ของผู้คนในยุคช่วงปี 80-90 ซึ่งนั้นทำให้เขาได้อุทิศตัวเองเพื่อถ่ายภาพงานสารคดีที่ประเด็นเกี่ยวกับวิกฤติการณ์ทั่วภูมิภาคเอเชีย

ผลงานของเขาได้รับรางวัลจากเวทีประกวดมากมาย อาทิ 3P Photographer Award, World Press Award, Days Japan Award, Picture Of The Year Award, New York Photographic Book Award และ NPPA’s Best of Photojournalism Award รวมทั้งได้รับเกียรติจากแกลเลอรี่และพิพิธภัณฑ์ระดับโลกเพื่อแสดงผลงานของเขา ได้แก่ International Centre of Photography ที่นิวยอร์ค, The Metropolitan Museum of Photography ที่โตเกียว และเทศกาลสำคัญระดับโลกอีกแห่งคือ Visa pour l’Image ในประเทศฝรั่งเศส

ปัจจุบันแพทริคได้รับเกียรติให้เป็นช่างภาพของ Panos Pictures ตั้งแต่ปี 2003 และยังคงมุ่งมั่นทำงานสารคดีที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมที่สื่อกระแสหลักมักมองข้าม และไม่ได้รับความสนใจ

นิทรรศการ Hope (ความหวัง) เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลโฟโต้บางกอก 2015 ผู้สนใจสามารถไปชมได้ ตั้งแต่วันนี้ – 17 ตุลาคม พ.ศ.2558 (ไม่เสียค่าเข้าชม) ณ เดอะ แจม แฟคตอรี่ ย่านคลองสาน


ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews