ART EYE VIEW—หลังจากที่ ศิลปินชาวเกาหลีกลุ่มหนึ่ง เคยเดินทางมาทำกิจกรรมด้านศิลปะร่วมกับศิลปินไทย ณ มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน จ.นครราชสีมา ภายใต้โครงการ Harmony Residence โดยการสนับสนุนของรัฐบาลเกาหลีและภาคเอกชน
มีผลต่อเนื่องให้ โครงการฯ เชิญศิลปินไทย 2 ท่าน ได้แก่ สมาน แสงทอน ศิลปินกลุ่ม “ด่านเกวียนร่วมสมัย” และ ธรรมรัตน์ นาคจรัส ศิลปินและอาจารย์สอนศิลปะ มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน ไปเป็นศิลปินในที่พำนัก (Artist Residency) ณ Ulsan Bukgu Art Studio เมืองอุลซัน ประเทศเกาหลีใต้
ระยะเวลาเวลา 2 เดือน (28 ก.ค.-5 ต.ค.58) ของการใช้ชีวิตและทำกิจกรรมด้านศิลปะ ร่วมกับเพื่อนศิลปินชาวเกาหลี โดยเฉพาะในเมืองอุลซัน หรือ มหานครอุลซัน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเมืองทางด้านอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ อาทิ เป็นที่ตั้งบริษัทประกอบรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ บริษัทฮุนไดมอเตอร์ , บริษัทต่อเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดำเนินการโดย กลุ่มอุตสาหกรรมหนักฮุนได และอุตสาหกรรมด้านการกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดำเนินการโดย เอสเคเอเนอร์จี ฯลฯ …ย่อมต้องมีประสบการณ์หลากหลายเรื่องราวที่ศิลปินไทยของเราเก็บเกี่ยวกลับมา
ต่อไปนี้คือบางส่วนของประสบการณ์ที่ สมาน แสงทอน 1 ใน 2 ศิลปินไทย เป็นตัวแทนบอกเล่าเพื่อแบ่งปัน โดยเฉพาะประสบการณ์ด้านศิลปะในประเทศที่เพิ่งมีโอกาสเดินทางไปเป็นครั้งแรก
กิจกรรมตลอด 2 เดือน ต้องทำอะไรบ้าง
“มีทุกอย่างครับ แม้แต่ทำกับข้าวด้วยกันก็เป็นกิจกรรม จะมีการแบ่งหน้าที่ว่า ใครจะทำอะไร วันไหนที่ผมมีหน้าที่ทำกับข้าว ผมก็จะถามเขาว่าคุณต้องการกินอะไร ถ้าเขาบอกว่าต้องการกินต้มยำกุ้ง เขาก็จะไปหาเครื่องมาให้ เรียนรู้วิธีทำจากเรา แล้วระหว่างกิน เราก็จะได้เรียนรู้วัฒนธรรมกัน
นอกจากทำอาหารเราก็ไปตามงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานวัฒนธรรมหน้ากาก หรือร่วมแสดงงานกับศิลปินคนอื่นๆ ที่อยู่ในเขตเมืองนั้น และในเขตเมืองอื่นๆ ไปนั่งพูดคุยกับกวี กับศิลปินคนอื่นๆ เพราะที่นั่นเขาจะชอบพูดคุยเรื่องศิลปะ ชอบแลกเปลี่ยน แล้วทั้งศิลปินและเจ้าหน้าที่โครงการเขาก็จะจดข้อมูลไว้ เหมือนทุกอย่างที่ทำ มันคือการเรียนรู้หมด
แม้แต่เวลาที่ผมไปนั่งสมาธิเขาก็จะถามเราว่า เราคิดยังไง เช่น ผมเคยไปนั่งสมาธิที่วัดๆหนึ่งตั้งแต่ตี 4 จนถึง 6 โมงเช้า เขาก็จะถามเราว่า เราคิดอย่างไร แล้วเวลากินอาหารเกาหลี รู้สึกยังไง ประเทศของคุณผลิตอาหารขึ้นมาเพื่อกินอย่างเดียวใช่ไหม เอาไปแปรรูปเป็นอย่างอื่นรึเปล่า คุยกันในลักษณะนี้
บางทีเราทำงานศิลปะเขาก็บอกว่า ผมให้คุณมาที่นี่ ไม่ใช่ให้คุณมานั่งก้มหน้าก้มตาวาดรูปอย่างเดียว คุณอยากจะทำอะไรคุณก็ทำ คุณอยากจะวิ่งขึ้นภูเขาคุณก็วิ่ง แต่วิ่งแล้วคุณได้รู้สึกอย่างไร คุณเอามาเล่าให้ผมฟัง เพื่อที่เขาจะได้ข้อมูลเหล่านี้จากเราเอาไปคิดต่อ
สมมุติเรากลับมาเล่าให้ฟังว่า เราขึ้นไปบนภูเขา เราไปยืน หายใจอยู่บนภูเขา เราได้รับรู้ได้ถึงกลิ่นของบรรพบุรุษคุณ อะไรอย่างนี้
ถ้าวันไหนที่อากาศดี เราจะได้กลิ่นทะเล จากบนภูเขา เพราะเมืองอุลซัน เป็นเมืองที่ขายเกลือทะเลมาวันไหนอากาศเมฆครึ้มๆลอยต่ำ เราจะได้กลิ่นควันโรงงานผสมกับกลิ่นเมืองใหม่ของคุณ
พอเราพูดอย่างนี้เขาก็จะได้รับรู้ แต่เขาจะเอาไปทำอะไร เราไม่รู้หรอก แต่เขาก็ได้รู้ว่า คนอื่นที่มาจากประเทศอื่นเขาคิดอย่างนี้นะ
เป็นการใช้ชีวิตร่วมกัน โดยใช้กิจกรรมด้านศิลปะมาเป็นสื่อ และสอดคล้องกับ Harmony ชื่อโครงการ”
โครงการให้อิสระในการแสดงออกผ่านงานศิลปะแค่ไหน
“ตอนที่เราไปอยู่ที่นั่น เขาพาเราไปดูเมืองที่มันมีปัญหา เมืองที่มันไม่หลับ เมืองที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ว่ามันก่อให้เกิดมลภาวะขึ้นยังไง เพื่อที่เราจะได้แนวคิดมาสร้างงานศิลปะ
โครงการนี้ เขาจะใจกว้างมากในเรื่องเสนอความคิด เขาสามารถให้เราวิพากวิจารณ์ได้ บางทีเขาเห็นผมเขียนรูป Good morning Andong เพราะเช้าวันนั้นของเมืองอันดง สวยงามมาก สงบมาก แต่พอหลังจากสองโมงเช้าเป็นต้นไป จะวุ่นวายมาก เพราะนักท่องเที่ยวจะเยอะมาก ผมเลือกเขียนตอนเช้า เขียนความสวยงาม แต่เขาก็ยังบอกว่าคุณมองภาพสวยเกินไป คุณควรจะเขียนด้านลบบ้าง แสดงว่าเขาใจกว้างพอสมควร”
Harmony Residence โครงการนี้ ริเริ่มขึ้นโดยใคร
เจเจคิม เขาเป็นศิลปินที่เดินทางไปทั่วโลกครับ ไปแอฟริกา ไปโน่นไปนี่ ไปทั่วทุกที่ เขาเขียนโครงการนี้ขึ้นมาขอเงินสนับสนุนจากรัฐบาลและเอกชน
ที่เกาหลีจะศิลปินหลายๆกลุ่มที่ทำกิจกรรมและขอทุนสนับสนุนในลักษณะนี้ เพราะประเทศเขาจะมีเอกชน ที่ทำด้านการค้าเยอะ บางทีก็เขียนโครงการขึ้นมาเพื่อขอทุนไปทำกิจกรรมกับศิลปินในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พม่า เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ฯลฯ
เกาหลีเขาพยายามที่จะเข้าไปสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ พูดตรงไปตรงมาคือการรุกทางวัฒนธรรม เหมือนเวลาประเทศไหนเขาไปทำการค้ากับประเทศไหน มันจะมีการรุกทางวัฒนธรรม”
ก่อนไปและหลังจากที่กลับมาแล้ว เกาหลีหรือคนเกาหลีที่คุณรู้จัก เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
“นิสัยของคนเกาหลี ลึกๆแล้วจะคล้ายคนไทยและเขาค่อนข้างจะเป็นมิตรกับคนไทยมาก เพราะว่าจากประวัติศาสตร์ ทหารไทยเคยไปช่วยคนเกาหลีรบช่วงสงครามโลก ไม่ใช่สงครามเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้นะ ดังนั้นเวลาที่เขาถามเราว่า คุณมาจากไหน แล้วเราบอกว่ามาจากเมืองไทย เขาก็จะโอ้..ไทยกุ๊กๆ(คนเกาหลีเรียกขานคนไทย) เพราะทหารไทยจะมีวีรกรรมทีดีมากๆในสายตาคนเกาหลี
เกาหลีเขาสร้างประเทศขึ้นมากจากการที่แข่งกับประเทศญี่ปุ่นและจีน เพื่อที่จะพัฒนาประเทศของตัวเอง เขามีการระดมเงินช่วยเหลือกันเพื่อพัฒนาประเทศ ก่อนไปผมก็คิดไว้ว่า เราคงจะได้เห็นสิ่งที่มันเป็นความเจริญเติบโต ซึ่งพอไปถึงมันก็ใช่อย่างที่เราคิด เขาเจริญกว่าประเทศเรา แต่เจริญอย่างไรเราได้เห็นรายละเอียด
แต่สิ่งที่เราไม่คิดว่าเขาจะมีปัญหามากก็คือว่า คนเกาหลีจะมีความเครียดค่อนข้างเยอะ มาตรฐานค่อนข้างสูง สังเกตง่ายๆ เวลาที่เขาจะถามอะไรเราที่เกี่ยวกับแนวคิดทางด้านศิลปะ บางทีถามจนเราเบื่อ ไปเลย จนเราคิดว่า จะให้ผมอธิบายอะไรมากมายนักหนา เพราะว่าผมก็ทำงานแค่นี้แหล่ะ แต่เขาก็ไม่ยอม จะถามจนได้
เยาวชนของเขาเนี่ย เป็นประเทศที่ฆ่าตัวตายมากที่สุดในโลก นำหน้าญี่ปุ่นไปแล้ว อาจเป็นเพราะเขาอาศัยบนตึกสูงๆ และเวลาที่จะเข้ามหาวิทยาลัย จะต้องได้เข้าเรียนในสถาบันที่มีระดับ เพราะไม่งั้น เหมือนแพ้เพื่อน เวลาเรียน เรียนหนัก ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนอาจจะไม่ได้ผ่อนคลายเหมือนเมืองไทยเรา
แต่พอเวลาเขาจะผ่อนคลาย เขาจะผ่อนคลายเต็มที่เลย ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ อย่างผู้หญิงเวลาเขาไปกินเบียร์กินเหล้ากินอะไรตามงานสังสรรค์ เขาจะเต็มที่เลย ออกร้านนั้นเข้าร้านนี้ สองสามที่ เวลาทำงาน ทำเต็มที่ ไม่ค่อยคุย แต่เวลาดื่มหรือสังสรรค์ เต็มที่ ไม่เลิก”
ศิลปินเกาหลีเป็นตัวอย่างที่ดีอย่างไร
“เขามีการนำเสนอที่ดี เท่าที่ผมดู เขาจะเน้นเรื่องการนำเสนอ ถ้าเรื่องฝีมือนะ ฝีมือเราดีกว่าเยอะ แต่ถ้าเรื่องการจัดการ เราเทียบเขาไม่ติดเลย เขาได้เปรียบเราตรงที่ว่า รู้จักการใช้วัสดุอุปกรณ์ มาเป็นสื่อในการนำเสนองานให้เข้าใจง่ายๆ
เวลาที่เราดูงานของเขา ดูแล้วมันจะคล้ายๆงานญี่ปุ่น ดูกุ๊กกิ๊ก สวย น่ารัก เรียบง่าย ดูดี พอเอาเข้าจริงๆ มันจะคล้ายๆงานประดับตกแต่งมากกว่า แต่ถ้าลงลึกในแง่ไอเดีย ความคิดที่ลึกซึ้งในแง่พุทธิปัญญา ปรัชญา ของเราจะดูดีกว่า
แต่ของเรามันจะไปติดตรงที่ว่า การนำเสนอตัวเอง มันจะด้อยกว่าเขาเยอะ ของเขาเนี่ย เวลานำเสนอจะนำเสนอแบบจริงจังมาก แล้วเวลาที่เราไปดูนิทรรศการที่เขาแสดงงาน แม้จะเป็นระดับสมัครเล่น แต่สูจิบัตรเขาจะดูดีมาก เขาอาจจะแสดงงานแค่สิบชิ้น แต่เวลาเขาทำสูจิบัตร เขาจะทำให้เห็นว่างานมีรายละเอียดเยอะแยะ น่าสนใจไปหมด
แล้วเวลาเขาเห็นงานเรา เขาจะบอกว่า โอ้…ฝีมือระดับคุณ คุณไม่นำเสนอตัวเองเลยเหรอ และเขาก็รู้ว่า ประเทศเราค่อนนำเสนอน้อย พอเราถามเขาว่า เพราะอะไรเขาต้องนำเสนอดีขนาดนั้น เขาบอกว่าต่อไปแม้การแสดงผลงานมันจะเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่ที่ยังอยู่คือสูจิบัตรตัวนี้ มันสามารถที่จะเป็นตัวยืนยัน คุณได้ผ่านการแสดงมาแล้ว แล้วถ้างานเราดี คนที่เขาสนใจ เขาสามารถตามไปหาศิลปินได้เลย
ซึ่งตรงนี้บ้านเราไม่ได้คิด หรือเราอาจจะคิด แต่เราให้ความสนใจมันน้อย แม้แต่การถ่ายรูปตัวเองลงสูจิบัตร เขาจะเน้นมากเลย ไม่ได้ถ่ายอย่างขอไปทีนะ จะต้องแต่งตัวดูดี ทั้งที่เวลาเราไปดูตัวจริงของเขา ไม่เท่าไหร่หรอก แต่เวลาออกสูจิบัตร จะดูดีเลย เขาเป็นอย่างนั้น
เขามีระบบการจัดการเพื่อที่จะให้ตัวเองดูดี จนมีคำพูดติดปาก เวลาเราแซวกันเล่นว่าแอร์โฮสเตสของเกาหลีหน้าตาคล้ายกันหมดเลย เขาก็จะพูดเองว่า รีแพร์ๆๆๆ เขาพูดอย่างนั้นจริงๆ เพื่อที่จะบอกว่าคุณอาจจะไม่ได้เจอของจริงนะ คุณกำลังเจอคนที่เขารีแพร์ มา เป็นลักษณะอย่างนั้น”
เพื่อก้าวไปสู่ระดับนานาชาติ ศิลปินเกาหลีผลักดันตัวเองในรูปแบบไหน
“ถ้าเรื่องไปโกอินเตอร์ของเขาไปได้ดีกว่าเรา เพราะเขาไปเป็นแพครับ แพในที่นี้คือผูกกันเป็นระบบ เหมือนเอาไม้ไผ่หลายๆท่อนมาผูก แล้วเวลาไป ไปพร้อมกัน แต่ของเรามันอาจจะไปท่อนเดี่ยว(หาทางไปกันเอง?)ใช่ครับ
ถ้าเขาจะไป เขาจะ มีระบบการจัดการมาก่อน จะไม่สะปะสะปะ เขาจะคิดเป็นระบบมาก และไปได้ดีกว่า แม้แต่งานศิลปะบางอย่างที่เราดูแล้วธรรมด๊าธรรมดา แต่เวลานำเสนอออกไป มันจะดูเหนือกว่าของเราที่เจ๋งๆเลย เป็นลักษณะอย่างนั้น
เหมือนเราดูละครแดจังกึม ที่เขาทำเกี่ยวกับอาหาร ทำนู่นทำนี่ มันก็คืออาหารธรรมดานี่แหล่ะ แต่เขาเอามานำเสนอผ่านละคร ผ่านอะไร จนทำให้เราอยากจะชิมอาหารนั้นเลย แต่พอเราไปชิมจริงๆมันก็ไม่เท่าไหร่หรอก”
และศิลปินของเขาเวลาที่เขาจะทำอะไรก็สามารถที่จะไปขอเงินมาทำโครงการได้ เขียนโครงการไป แล้วก็ทำ ซึ่งมันดีกว่าเราที่อย่างน้อยๆมันไม่โดดเดี่ยว แต่ถามว่า ดีกว่าเราไม๊ ในแง่ของผลงาน ไม่เท่าไหร่ แต่การจัดการและระบบของเขา มันดีกว่าเยอะ”
การให้ความสำคัญกับการนำผลงานศิลปะมาตกแต่งบ้านเมือง เป็นอย่างไร
“เทียบอย่างนี้ เวลาไปที่ไหน เมืองของเขา จะมีศิลปะให้ดูทุกที่ ศิลปะมาจากไหน ก็มาจากศิลปินที่ทำงานศิลปะ ประติมากรรมมีอยู่แทบทุกมุมเมือง แล้วศิลปะสามารถเอาไปติดตั้งได้อย่างไร ก็คือคนในเมืองที่มีอำนาจ เขารู้ว่าควรจะซับพอร์ตศิลปิน ควรจะเอาเงินไปซื้องานศิลปิน แล้วศิลปินคนไหนสมควรจะมีงานมีติดตั้งตรงนี้ แล้วควรเป็นรสนิยมแบบไหน
แต่บ้านเรา เราจะเห็นว่า โอกาสที่ผลงานของศิลปินคนไหน จะถูกซื้อไปติดตั้งไว้ตรงไหน มันขึ้นอยู่กับว่า เขาเป็นคนของใคร เป็นอย่างนั้น นักการเมืองคนนี้ถ้าเขาไม่ชอบคุณเขาก็ไม่ซื้องานของคุณ แต่ที่เกาหลีไม่ใช่ เพราะมันมีเครือข่ายมีระบบที่เขาวางไว้ดีแล้ว”
ก่อนกลับเมืองไทย ต้องแสดงผลงานศิลปะร่วมกับศิลปินเกาหลี เมืองอุลซัล และเกาหลีใต้ที่คุณสมานและคุณธรรมรัตน์ได้ไปสัมผัสแล้วนำเสนอผ่านงานศิลปะ มีหน้าตาและเรื่องราวอย่างไร
“ก่อนไปขอข้อมูลเราไปก่อน พอเราบอกว่าเป็นช่างปั้น เขาก็ถามว่าถ้าคุณมาที่นี่ แล้วมีดินให้ปั้น คุณจะปั้นไหม ผมบอกไปว่า ปั้นครับ พอไปถึงปุ๊บ ก็มีดินจริงๆ ผมปั้นดินเป็นหน้ากากเพื่อ สื่อความหมายสองด้าน คือด้านความสุขและความทุกข์ที่ปนอยู่ในที่เดียวกัน ตามชื่อโครงการฮาโมนี่ คือการผสมผสาน
และจากการที่ เขาพาเราไปดูมุมนู้นมุมนี้ของเมือง ไปดูสิ่งที่มันมีความขัดแย้งกัน ระหว่างโซนที่อยู่อาศัยและโซนโรงงาน แง่มุมอะไรต่างๆเหล่านี้ ผมเอามาเขียนเป็นภาพสีน้ำ แสดงออกถึงความแตกต่าง
เช่น ผมเขียนภาพเรือสินค้าที่มันจอดรอรับขนส่งรถยนต์ไปทั่วโลก แต่ขณะเดียวกันก็มีนกตัวเล็กๆ บินมาเกาะบนแท่นปูน ที่เขียนว่า ห้ามตกปลา ฮุนไดคาร์ เพื่อรอกินปลา เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงการรอคอยที่แตกต่างกัน เป็นฮาโมนี่ในความรู้สึกของเราที่มันมีทั้งมุมดีและไม่ดี มีบวกและลบ มีความขัดแย้ง ที่มันกลมกลืนอยู่
ส่วนงานของ อาจารย์ธรรมรัตน์ ด้วยความที่เมืองอุลซัน แต่ก่อนเป็นเมืองของปลาวาฬ มีปลาวาฬเยอะ และชุมชนดั้งเดิม ก่อนประวัติศาสตร์ในเขตนี้ เขาจะล่าปลาวาฬ แล้วพอมีโรงงาน เกิดเมืองใหม่ขึ้นมา มีสารพิษปล่อยลงไปในทะเล ทำให้ปลาวาฬหายไป อาจารย์ธรรมรัตน์ก็เลยเลือกทำงานเทคนิคภาพพิมพ์ที่ห้อยจากเพดานลงพื้น เป็นภาพพิมพ์ที่มีร่องรอยการพิมพ์ที่ชัดเจน แล้วค่อยๆเลือนไป เพื่อสื่อถึงที่มาของเมือง”
รายงานโดย : อ้อย ป้อมสุวรรณ
ข่าวและบทสัมภาษณ์ที่เกี่ยวข้อง….
ร่างกายเป็นเรือนของใจ “สมาน แสงทอน” จิตรกรและช่างปั้นแห่งด่านเกวียน
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews