ART EYE VIEW—เพื่อให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ได้ร่วมบันทึกอารยธรรมสำคัญผ่านงานจิตรกรรม และออกแบบพระพุทธรูปให้มีความสมบูรณ์งดงาม เข้าถึงประชาชนมากขึ้น
โครงการประกวดงานจิตรกรรมเพชรยอดมงกุฎ ครั้งที่ 1 และประติมากรรมเพชรยอดมงกุฎ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2558 ซึ่งจัดโดย มูลนิธิร่มฉัตร ร่วมกับ มูลนิธิ คิง เพาเวอร์ และคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงมีขึ้น
วันนี้(13 ม.ค.59) พระพรหมมังคลาจารย์ ประธานมูลนิธิร่มฉัตร,ดร.อุบล เล่นวารี ประธานอำนวยการโครงการเพชรยอดมงกุฎ มูลนิธิร่มฉัตร,ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ ,อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ และอาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ คณบดี คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร ได้ร่วมกันแถลงข่าวการประกวด ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ
โดยมี ชุมพล พรหมจรรย์ และ ภาณุพัฒน์ วิบูลรุ่งเรือง สองนักศึกษาจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาสาธิตการวาดภาพจิตรกรรมไทยและตกแต่งประติมากรรมรูปพระพิฆเนศ สร้างสีสันภายในงานแถลงข่าวที่มีนักศึกษาและศิลปินให้ความสนใจเข้าร่วมฟัง
บันทึก “อารยธรรมเส้นทางสายไหมทางทะเล” จิตรกรรมเพชรยอดมงกุฎ ครั้งที่ 1
“อารยธรรมเส้นทางสายไหมทางทะเล” อันเป็นเส้นทางการค้า และการก่อเกิดอารยธรรมที่สำคัญในประวัติศาสตร์กว่า 2,000 ปีมาแล้ว คือหัวข้อที่ถูกใช้เป็นหัวข้อของการประกวด จิตรกรรมเพชรยอดมงกุฎ ครั้งที่ 1
โดยผลงานจิตรกรรมที่ส่งเข้าประกวด ต้องเป็นลักษณะ 2 มิติ ไม่จำกัดแนวคิด วัสดุมีความแข็งแรง ทนทาน ขนาดผลงานไม่เกิน 200 x 200 ซม. (ไม่รวมกรอบ) สามารถสร้างสรรค์ผลงานจากเทคนิคใดก็ได้ เช่น สีอะคริลิค สีน้ำ สีน้ำมัน ดินสอสี วัสดุหรือเทคนิคผสมอื่นๆ ไม่จำกัดแนวคิด
“การเกิดขึ้นของเส้นทางสายไหมนี้ ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์ มนุษยชาติเกิดการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางศิลปะ วิทยาการ วิทยาศาสตร์ ศาสนา รวมถึงการค้นพบสิ่งใหม่ๆ เช่น การทำแผนที่ เข็มทิศ และการพิมพ์ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนส่งผลให้มนุษย์มีความเจริญก้าวหน้าสืบต่อตราบจนปัจจุบันนี้”
ดร.อุบล เล่นวารี ประธานอำนวยการโครงการเพชรยอดมงกุฎได้อธิบายถึงความสำคัญของเส้นทางสายไหม
ขณะที่ อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ หนึ่งในคณะกรรมการจัดประกวดและตัดสิน แนะแนวทางในการสร้างสรรค์สำหรับผู้ที่ต้องการส่งผลงานจิตรกรรมเข้าประกวดซึ่งอาจรู้สึกหนักใจกับหัวข้อว่า
“อารยธรรมเส้นทางสายไหมทางทะเล เป็นโจทย์ที่ค่อนข้างกว้าง ถ้าเราไม่สนใจศึกษาเรื่องนี้มาก่อน ก่อนลงมือสร้างสรรค์ผลงาน เราอาจต้องย้อนกลับไปศึกษานิดนึง แล้วค่อยนำเสนอออกมาผ่านงานจิตรกรรม โดยที่ไม่ต้องเล่าเป็นประวัติศาสตร์ แต่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ที่ตัวเองไปศึกษาแล้วเกิดแรงบันดาลใจสร้างเป็นงานศิลปะ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ การเคลื่อยย้ายทางอารยธรรม การเมือง เศรษฐกิจ การค้า แม้กระทั่งเรื่องของอำนาจ ที่แน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้มันต้องมีอยู่แล้ว สะะท้อนออกมา ให้ผู้ชมห็นความงามในสิ่งนั้น ให้ได้ตระหนักว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
เพราะบางทีเวลาเราย้อนกลับไปศึกษาอดีต เราจะมองเห็นและคิดได้ว่า อนาคต มันจะเป็นไปแบบไหน”
ออกแบบ “พระพุทธรูปปางคันธารราฐ และ พระพิฆเนศ” ประติมากรรมเพชรยอดมงกุฎ ครั้งที่ 5
ในส่วนของการประกวด “ประติมากรรมเพชรยอดมงกุฎ” ครั้งที่ 5 อีกหนึ่งคณะกรรมการจัดประกวดและตัดสิน อาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ คณบดี คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร ได้ให้รายละเอียดว่า
การประกวดประติมากรรม แบ่งเป็น 2 หัวข้อ คือ หัวข้อที่ 1 เป็นผลงานสร้างสรรค์ “พระพุทธรูปปางคันธารราฐ” หรือ “พระพุทธรูปปางคันธาระ” ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นพุทธศิลปะที่งามที่สุด และเก่าแก่ที่สุด มีอายุราว 2,000 ปีเป็นพระพุทธรูปที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่าง กรีกโรมัน (อิทธิพล Grego-Roman) และอินเดีย
และหัวข้อที่ 2 เป็นผลงานสร้างสรรค์ “พระพิฆเนศ” เทพเจ้าแห่งความรู้ ผู้มีปัญญาเป็นเลิศ ปราดเปรื่องในศิลปะวิทยาการทุกแขนง จึงได้รับการสักการะในฐานะองค์บรมครูแห่งศิลปวิทยาการ 18 ประการ
โดยผลงานประติมากรรมต้นแบบที่ส่งประกวดทั้ง 2 หัวข้อ ต้องมีลักษณะเป็น 3 มิติ ทำจากวัสดุถาวร หรือกึ่งถาวร ความกว้างหน้าตัก 5-12 นิ้ว ความสูงไม่เกิน 100 เซนติเมตร รวมฐาน การส่งผลงานต้องส่งพร้อมแท่นประติมากรรมที่มีความเหมาะสม
รางวัลล่อใจ รวม1,860,000 บาท
ผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวด จิตรกรรมเพชรยอดมงกุฎ ครั้งที่ 1 และประติมากรรมเพชรยอดมงกุฎ ครั้งที่ 5 สามารถส่งใบสมัครตั้งแต่วันที่ 23-27 เมษายน พ.ศ.2559 เวลา 09.00 – 16.00 น. ณ อาคารศูนย์ปฏิบัติการทัศนศิลป์สิรินธร คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม
หลังจากที่คณะกรรมการได้ทำการตัดสิน จะมีการแจ้งให้ผู้ชนะการประกวดได้ทราบทางโทรศัพท์ ภายในวันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2559 และประกาศผลทางหน้า Facebook Fan Page โครงการประกวดงานจิตรกรรมเพชรยอดมงกุฎ และ Facebook Fan Page โครงการประกวดงานประติมากรรมเพชรยอดมงกุฎ
สำหรับเงินรางวัลทั้งหมดสำหรับผลงานจิตรกรรมและประติมากรรมที่ได้รับรางวัลมียอดรวมทั้งสิ้น 1,860,000บาท
รางวัลของงานจิตรกรรม ระดับนิสิตนักศึกษา (อายุไม่เกิน 25 ปี) รางวัลที่ 1 ได้รับรางวัล 100,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร, ระดับประชาชนทั่วไป (อายุ 25 ปีขึ้นไป) รางวัลที่ 1 ได้รับรางวัล 200,000 บาท พร้อมโล่รางวัล
รางวัลของงานประติมากรรม หัวข้อ “พระพุทธรูปปางคันธารราฐ” ระดับนิสิตนักศึกษา (อายุไม่เกิน 25 ปี) รางวัลที่ 1 ได้รับรางวัล 100,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร, ระดับประชาชนทั่วไป (อายุ 25 ปีขึ้นไป) รางวัลที่ 1 ได้รับรางวัล 200,000 บาท พร้อมโล่รางวัล
และรางวัลประติมากรรม หัวข้อ “พระพิฆเนศ” ระดับนิสิตนักศึกษา (อายุไม่เกิน 25 ปี) รางวัลที่ 1 ได้รับรางวัล 100,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร, ระดับประชาชนทั่วไป (อายุ 25 ปีขึ้นไป) รางวัลที่ 1 ได้รับรางวัล 200,000 บาท พร้อมโล่รางวัล
โดยพิธีมอบรางวัลและนิทรรศการแสดงผลงานที่ชนะการประกวด จะมีขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม พ.ศ.2559 ณ คิง พาวเวอร์
รางวัลไม่สำคัญเท่า ร่วมบันทึกประวัติศาสตร์
แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่า รางวัลเป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างแรงจูงใจให้กับผู้ส่งผลงานเข้าประกวด อย่างไรก็ตาม อาจารย์ปัญญา ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากให้ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทุกคน มุ่งความสำคัญไปที่การได้มีส่วนร่วมบันทึกประวัติศาสตร์
“เพราะประเด็นของสังคมและการบันทึกประวัติศาสตร์ เป็นหน้าที่ๆศิลปินทุกคน สมควรจะมีบทบาทในการช่วยกันคิดและถ่ายทอดออกมาผ่านงานศิลปะ
และผมถือว่าผลงานที่ไม่ได้รางวัลในครั้งนี้ ในวันข้างหน้า อาจจะมีความสำคัญมากกว่าผลงานชิ้นที่ถูกตัดสินให้ได้รางวัลก็ได้
เพราะยุคสมัยที่มันเปลี่ยนไปแล้วอาจมีคนไปเห็นว่าผลงานชิ้นนี้มีบทบาททางความคิด เป็นประเด็นทางสังคม เป็นประวัติศาสตร์
ดังนั้นผมอยากให้ทุกคนที่ส่งผลงานเข้าประกวดมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองคิด และถ่ายทอดออกมาให้ดีที่สุด”
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews