ART EYE VIEW—ถ้ายังคงทำงานในบริษัทด้านไฟแนนซ์ที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ ชีวิตของ เอเลน เชีย (Ellen Chia) อาจจะมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีเงินใช้จ่ายมากมายกว่าปัจจุบันที่เป็นอยู่หลายเท่า
เพราะก่อนที่จะลาออกมา หน้าที่การงานของเธอกำลังเติบโตก้าวหน้าตามลำดับ
เธอไม่ได้ต่อต้านชีวิตคนทำงานประจำอะไร มิหนำซ้ำเธอน่าจะเป็นคนหนึ่งที่มีความเข้าใจในระบบธุรกิจ มากๆด้วยซ้ำ
แต่เมื่อช่วงเวลาหนึ่ง เธอได้หยุดคิดและตั้งคำถามกับตัวเองว่า ชีวิตแบบนี้ใช่ชีวิตในแบบที่เธอปรารถนาจริงๆหรือไม่
ชีวิตที่ต้องทำงานหนัก หมดเวลาไปกับการติดต่อผู้คนมากมาย ชอปปิ้ง สังสรรค์ พอใกล้จะหมดวันก็ค้นพบว่าภายในของตัวเองช่างว่างเปล่า
เมื่อพบคำตอบว่า “ไม่ใช่” เอเลน เชีย จึงเลือกที่จะหันหลังให้กับงานประจำ และเลือกที่จะทำงานศิลปะ เพื่อเติมเต็มความว่างเปล่าที่เคยมีอยู่ก่อนหน้านี้ ส่วนหนึ่งเพราะเธอมีใจให้มันมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมาถูกผลักให้เป็นเพียงแค่งานอดิเรก เพราะชีวิตของเธอก็ไม่แตกต่างจากหลายครอบครัวในแดนลอดช่อง ที่เติบโตมาในครอบครัวและสังคมซึ่งทุกคนต่างมุ่งหาเงินให้ได้มากๆ
เวลาผ่านไปเกือบ 9 ปี นับตั้งแต่ที่ตัดสินใจลาออก เธอค้บพบว่าตัวเองตัดสินใจถูก ไม่ใช่ว่าชีวิตของคนทำงานศิลปะเช่นเธอราบเรียบไร้อุปสรรค หลายอย่างยังคงเหมือนชีวิตของคนทั่วไป ต้องบริหารจัดการและแก้ไขไปตามสถานการณ์
เพียงแต่เธอไม่ต้องตั้งคำถามตัวเองซ้ำๆอีกแล้วว่า “ใช่ชีวิตในแบบที่ต้องการหรือไม่”
หลายปีแล้วที่ เอเลน เชีย เลือกมาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย (หลังจากที่ก่อนหน้าเคยเทียวไปเทียวมาอยู่บ่อยครั้ง ทั้งด้วยเหตุผลเรื่องงานและมาท่องเที่ยวส่วนตัว)
นอกจากเป็นเพราะเธอแต่งงานกับคนไทย มนตรี สามฉิมโฉม ซึ่งเป็นคนทำงานศิลปะด้วยกัน และสภาพแวดล้อมเอื้อให้ชีวิตในแบบที่อยากจะใช้และได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากกว่า
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า ด้วยค่าครองชีพที่สูง การใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเกิดอย่างประเทศสิงคโปร์ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนทำงานสร้างสรรค์ในระยะเริ่มต้น
ยิ่งเป็นคนทำงานสร้างสรรค์ที่ไม่จบมาทางด้านศิลปะโดยตรง เช่นเธอ การจะหาพื้นที่เพื่อจัดแสดงงานศิลปะแต่ละครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อย่าว่าแต่พื้นที่ภายในแกลเลอรี่ แค่มุมหนึ่งภายในคาเฟ่สักแห่งก็ดูจะเป็นเรื่องยาก
มีเพื่อนช่างภาพของเธอบางคน จากที่ก่อนหน้านี้มีอาชีพรับถ่ายภาพทั่วไป พอตอนหลัง มุ่งมาทำงานสร้างสรรค์ ทำงานภาพถ่ายศิลปะ ก็ต้องประสบปัญหาไม่แตกต่างกัน
แต่ตลอดหลายปีที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย มีหลายพื้นที่เปิดโอกาสให้ศิลปินโนเนมเช่นเธอได้แสดงงานศิลปะ ครั้งแรกที่โรงแรมแลนด์มาร์ค ครั้งต่อมาที่ห้องสมุดเนลสันเฮย์ และครั้งล่าสุด นิทรรศการศิลปะชุด The Wandering Tree House ที่หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเปรียบเสมือน คนที่มุ่งมั่น เชื่อในวิถีที่ตนเลือก มีความฝัน ชอบค้นหาในสิ่งใหม่ๆแนวคิดดีๆที่เป็นมิตรกับทุกชีวิตบนโลก เป็นมิตรและชื่นชมผู้ก่อการดีทางความคิดทุกคน แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรไกลถึงขนาดที่จะเปลี่ยนโลก และไม่ลืมที่จะเว้นพื้นที่ไว้ให้โลกในอุดมคติเสมอ ประกอบไปด้วยผลงานศิลปะหลากหลายเทคนิค ได้แก่
ภาพวาดเส้นด้วยหมึกบนกระดาษ สะท้อนชีวิตที่เป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ,ภาพวาดเทคนิคสีอะคริลิคและสีเทียน สะท้อนชีวิตที่พยายามรักษาจิตวิญญาณวัยเยาว์เอาไว้ แม้วัยจะเปลี่ยนไป,ภาพวาดและสื่อผสม (อาทิ อุปกรณ์ทำงาน craft )บนภาพถ่ายโบราณ เพื่อสร้างเรื่องราวใหม่ให้กับภาพถ่าย เปรียบเหมือนกับการสร้างชีวิตใหม่กับตัวเองเอง แต่ก็ไม่ปฏิเสธอดีตของตัวเอง
และหุ่นตุ๊กตา ที่ร่างกายและศีรษะถูกตกแต่งใหม่ เพื่อสะท้อนว่าแต่ละคนต่างมีโลกของตัวเอง มีความพิเศษในแบบของตัวเอง ไม่ใช่ตุ๊กตาที่หน้าตาคล้ายๆกัน ผลิตจากโรงงานเดียวกัน
แม้การทำงานศิลปะหลายชิ้นจะมีการนำเอาวัสดุในธรรมชาติและสะสมไว้ในยามผ่านไปพบ มาทำงาน แต่การทำงานศิลปะหลายชิ้น เอเลน เชีย ยอมรับว่า มีความจำเป็นต้องสั่งซื้อวัสดุบางอย่างจากในอินเตอร์เน็ทและต่างประเทศ บ้างก็หาซื้อง่ายและบ้างก็หาซื้อได้ยาก แถมยังต้องจ่ายเงินแพงกว่าการซื้อสีและแคนวาสหลายเท่า เพื่อให้สิ่งที่ตัวเองคิดฝันจินตนาการไว้ปรากฎเป็นรูปธรรม
บางเวลาเธอต้องต่อสู้กับบางคำถามของบางคน แต่สุดท้ายเธอก็เลือกที่จะทำงานศิลปะในแบบที่อยากเห็น
“แน่ใจหรือทำแบบนี้ คนดูอาจจะไม่รู้สึกว่าเป็นศิลปะก็ได้นะ… เอเลนต่อสู้กับตรงนี้มาก เพราะขณะเดียวกันตัวเราเองก็อยากถ่ายทอดสิ่งที่เรารู้สึกกับมันมากๆ อยากจะแบ่งปัน อาจจะเป็นงานที่ขายไม่ได้ คนดูอาจจะไม่ชอบหรือเกลียดไปเลยก็ได้
ตอนแรกจะทำแค่ชิ้นเดียว ทำอย่างที่ตัวเองอยากเห็น เพื่อเป็นกำลังใจให้ตัวเอง แต่พอทำเสร็จความรู้สึกมันบอกว่ามันยังไม่พอ ทำชุดหนึ่งไปเลยดีกว่า(ยิ้ม)”
ดังนั้นการนำผลงานศิลปะออกมาจัดแสดงให้คนทั่วไปได้ชมในแต่ละครั้ง การได้พบกับผู้ชมที่เข้าใจและมีความรู้สึกร่วมกับสิ่งที่เธอต้องการถ่ายทอดจึงทำให้คนทำงานศิลปะเช่นเธอรู้สึกมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองทำมากขึ้น
“เพราะบางครั้งคนทำงานศิลปะก็รู้สึกเหงา โดดเดี่ยว พอมีคนมาชม เข้าใจและบอกว่าคิดบางเรื่องคล้ายๆกันกับเรา มันทำให้เรามีความสุขและไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเกินไป”
นิทรรศการ The Wandering Tree House วันที่ 7 – 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ณ หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews