Celeb Online

ปลายพู่กันนี้ แด่ “คนไร้บ้าน” ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินไทยในนิวยอร์ก


พี่วันเพ็ญมาจากขอนแก่น
เค้าทำงานร้องเพลงข้างถนน และขายล็อตเตอรี่
ที่เพลินจิตรและหัวลำโพง

ART EYE VIEW—ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล จรดปลายพู่กันเขียนข้อความลงบนภาพวาดพอร์แทรต ที่เขาใช้เวลาวาดอยู่ร่วมหลาย ชั่วโมง บริเวณริมทางเดินเท้าของปากซอยต้นสน ย่านเพลินจิตร ก่อนจะส่งมอบให้ “วันเพ็ญ” วนิกพกและคนขายล็อตเตอรี่หญิงเร่ร่อน ผู้เต็มใจเป็นแบบให้เขาวาด รวมถึง เงิน อาหาร และน้ำ ที่มีผู้บริจาคให้มากกว่าปกติ

คือส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่ไพโรจน์เลือกจะทำ ในช่วงเวลาของการกลับมาเมืองไทยครั้งแรกเพื่อเยี่ยมครอบครัว หลังจากที่ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา นานถึง 6 ปี


นอกจากไปเรียนภาษา เรียนต่อในระดับปริญญาโท ตระเวนดูงานศิลปะ ทำงานศิลปะ และทำงานในร้านอาหาร

การตระเวนไปตามที่ต่างๆเพื่อวาดภาพคนไร้บ้าน เพื่อกระตุ้นให้คนที่ผ่านไปมา บริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มนี้มากขึ้น ก็คือสิ่งที่ศิลปินหนุ่มคนนี้ทำมาตลอดหลายปีที่ไปใช้ชีวิตในต่างแดน

“ผมไปสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ.2010 ไปเรียนภาษา และหาประสบการณ์ดูงานศิลปะ พอปีที่ 2 จึงสมัครเข้ามหาวิทยาลัยในเมืองซานฟรานซิสโก เรียนอยู่ 1 ปี แล้วตัดสินใจลาออก เพราะเงินไม่พอ และส่วนหนึ่งเป็นเพราะความรู้สึกของเราเองที่รู้สึกว่า มหาวิทายาลัยเน้นสอนให้เราเป็นคนทำงานศิลปะแบบที่เอางานไปเสนอตามแกลเลอรี่ ตามมิวเซียม อย่างเดียว แต่เราอยากให้งานเราอยู่อย่างนี้ ข้างถนนหรือสาธารณะมากกว่า ก็เลยลาออกมาเขียนภาพข้างถนนแจกคนไร้บ้าน

ทำที่ซานฟรานซิสโกก่อน จากนั้นย้ายมานิวยอร์ก ซึ่งเป็นเมืองของเศรษฐกิจโลก ผมคิดว่าในเมืองใหญ่ๆน่าจะมีคนไร้บ้านที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่ และอีกอย่างเวลาคนที่เราทำงานมากๆ ทำแต่งาน เขาก็ลืมมองคนข้างถนน คนที่ต้องการความช่วยเหลือ ดังนั้นการทำงานศิลปะของผมก็เหมือนไปนั่งวาดรูปขวางถนนไว้ให้คนมาบริจาคเงิน อาหาร น้ำ”


3 ปี ของการตระเวนวาดภาพ มีคนไร้บ้านทั้งที่ซานฟรานซิสโกและนิวยอร์ก เคยเป็นแบบให้ไพโรจน์วาดภาพ มากกว่า 300 คน และทุกครั้งที่วาดเสร็จไพโรจน์จะมอบภาพที่วาดให้คนไร้บ้านไปด้วย มีบางส่วนที่เต็มใจรับภาพไป ขณะที่บางส่วนปฏิเสธ

“เวลานี้ภาพคนไร้บ้าน จะมีอยู่ที่ผม 70 กว่าชิ้น เขาบอกไม่มีประโยชน์ เป็นภาระเขา เขาไม่มีบ้านอยู่ จะมาเก็บภาพวาดของคุณทำไม ฉันขอเป็นข้าวแทนได้ไหม หรือคุณซื้อพิซซ่าให้ฉันแทนได้ไหม ฉันไม่เอาภาพวาด คุณเก็บไว้แล้วกัน… แต่ถ้าวันหนึ่งมีโอกาสได้แสดงงาน ผมก็จะเอาผลงานภาพวาดพวกนี้ไปแสดง เพื่อเอาเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการขายภาพไปบริจาคให้สังคม

(ไม่เสียดายผลงานหรือ?) ไม่เสียดายครับ เพราะงานของผมมันเป็นแค่สัญลักษณ์ เป็นแค่กระดาษใบเดียว เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ผมทำ สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างนั่งวาดภาพข้างถนน 5 ชั่วโมงบ้าง 3 ชั่วโมงบ้าง แล้วทำให้มีคนมาคุยมาบริจาคเงินให้คนไร้บ้าน หรือมานั่งวาดภาพกับเรา ผมว่างานมันจบแค่ตรงนั้นแล้วครับผม”

แม้สิ่งที่ไพโรจน์ทำจะไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ก็มีส่วนทำให้เกิดภาพในแบบที่หาพบได้น้อยมากในมหานครใหญ่อย่างนิวยอร์ก ขณะที่ตัวเขาเองในเวลาต่อมาก็ได้รับความไว้วางใจจากบรรดาคนไร้บ้านจำนวนไม่น้อย

“ทุกวันนี้เวลาผ่านไปย่านดาวน์ทาวน์ ก็จะมีคนไร้บ้านคอยทักทาย ถามว่า เป็นยังไงบ้าง กินข้าวหรือยัง ผมกลายเป็นเพื่อนกันกับเขา ไปนั่งกินข้าวกับเขา ได้รับความไว้วางใจจากเขา แตกต่างจากตอนแรกที่เขาจะไม่ค่อยเปิดใจให้คนภายนอก และคนผิวดำ เขายังมองว่าเราเป็นคนชั้น 3 ฉันรวยกว่าคุณ ฉันดีกว่าคุณ ฉันเป็นชนชั้น 2 ชั้น 1

พอเราทำไปเรื่อยๆ เขาก็เริ่มหันกลับมามองว่า ไอ้นี่มันทำอะไรดีๆนะ เพราะเราทำให้มีคนมาบริจาคเงินให้เขา มีคนมานั่งคุยกับเขา เดิมที่ภาพของสังคมที่นิวยอร์กจะไม่มีให้เห็นเลย คนที่เป็นไฮโซมานั่งคุยกับคนไร้บ้าน พอผมทำกิจกรรมนี้ขึ้นมาปุ๊บ มีไฮโซก็มานั่งคุยนั่งวาดรูปกับคนไร้บ้าน”

หลายคนอาจคิดว่า ไพโรจน์เติบโตในครอบครัวที่มีฐานะดี ไม่ต้องดิ้นรนเรื่องการหารายได้เลี้ยงดูตัวเองแล้ว จึงสามารถหาเวลาไปทำกิจกรรมในลักษณะนี้ ตรงกันข้ามชีวิตเขาก็ไม่ได้แตกต่างไปจากคนไทยหลายๆคน ที่ต้องต่อสู้และดิ้นรนอยู่ให้ได้ในต่างแดน ต้องทำงาน ต้องบริหารจัดการเรื่องค่าใช้จ่าย

“เราเป็นคนที่ฐานะปานกลาง ไม่ได้มีเงินมากขนาดนั้น พอไปอยู่ในเมืองที่เป็นเมืองใหญ่ เราต้องอดทน ต้องบริหารจัดการเรื่องค่าใช้จ่าย เรื่องการอยู่กิน จะกินของแพงก็ไม่ได้ ค่าเช่าบ้านก็แพง แล้วเราต้องแบ่งเงินส่วนหนึ่งเพื่อไปซื้อข้าวให้กับคนไร้บ้าน เพราะทุกครั้งที่เราไปวาดภาพเขา เราต้องมีข้าวมีน้ำ ไปให้คนไร้บ้าน

ผมไปทำงานที่ร้านอาหารชื่อร้านชาลลอตต์ ทำมาหลายปีแล้ว บางทีทางร้านเขาก็ให้เราเอาข้าวไปให้คนไร้บ้านบ้าง บางทีผมก็ซื้อจากทางร้านไปให้บ้าง ผมทำงานที่ร้านอาหารเพื่อเอาเงินไปจ่ายค่าบ้าน ค่าอาหารให้คนไร้บ้าน ค่าสี ค่ากระดาษ”

ถึงเวลานี้ในวันที่กลับมาเมืองไทย ไพโรจน์ก็ยังมีอีกสถานะเป็นพนักงานประจำร้านอาหารอยู่


เมื่อถามเขาว่า อะไรคือเหตุผลสำคัญของการเดินทางกลับมาเมืองไทยครั้งนี้ และอะไรทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ต่างแดนได้นาน โดยไม่มีแม้แต่เวลาจะกลับมาเยี่ยมบ้านในระหว่าง 6 ปีนั้น ศิลปินหนุ่ม ชาว อ.สำโรง จ.สมุทรปราการ ศิษย์เก่าคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร ตอบว่า

“ผมตั้งใจกลับมาเยี่ยมบ้าน เพราะคิดถึงบ้าน ที่ผ่านมาผมอยากทำความฝันของตัวเองให้สำเร็จก่อน ผมถึงจะกลับบ้าน พอผมได้มีโอกาสแสดงงานศิลปะที่ The New Museum of Contemporary Arts ที่นิวยอร์ก 2 ครั้ง ผมก็เลยตัดสินใจกลับบ้านดีกว่า น่าจะทำให้ป๊ากับแม่ผมภูมิใจแล้วล่ะ เพราะว่าตอนที่ผมตัดใจลาออกจากมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโก เราเรียนไม่จบ เขาก็ผิดหวังในตัวเรา”

ไพโรจน์วางแผนไว้ว่า หลังกลับไปใช้ชีวิตที่นิวยอร์กต่อ อีก 2 ปี เพื่อทำโครงการด้านศิลปะที่ยังทำค้างอยู่ให้เสร็จ จากนั้นเขาจะกลับมาปักหลักอยู่ที่มืองไทย

“เพราะผมโปรเจกต์ชื่อ The Positivity Scorlls วาดภาพวาดคนไร้บ้านทั่วทั้งนิวยอร์กลง ม้วนกระดาษขนาดยาว 50 เมตร น่าจะประมาณป้ายชิดลมไปเพลินจิต หนักประมาณ 80 กิโลกรัม ม้วนกระดาษใหญ่กว่าต้นไม้ ผมโอบ ผมแบกม้วนกระดาษนี้ พร้อมกับ ข้าว 2 กล่อง,น้ำ,ถังสี,พู่กัน ไปวาดรูปคนไร้บ้านทุกวัน”

เแต่ครั้งนี้ป็นความตั้งใจของศิลปินหนุ่มอยู่แล้วว่า เมื่อกลับมาเยี่ยมบ้าน ก็อยากจะใช้เวลาส่วนหนึ่งไปกับการช่วยเหลือบรรดาคนไร้บ้านในเมืองไทยด้วย

ซึ่งเขาพบว่า การออกไปวาดภาพคนไร้บ้านในเมืองไทยของตนเอง ไม่ลำบากเท่าที่เมืองนอก แม้ว่าบางเวลาจะถูกตำรวจไล่บ้าง หรือมีคนไม่เข้าใจในสิ่งที่ทำบ้าง

“ทำที่เมืองนอกจะอากาศหนาว มีหิมะตก อากาศลบ 16 องศา ก็ยังวาดภาพอยู่ข้างถนน แต่ที่เมืองไทยไม่ทรมานขนาดนั้น แล้วการที่เราเป็นไทยเหมือนกัน เวลาเราเห็นคนไทย เราอยากช่วยเหลือคนไทยมากกว่า เพราะเราโตมากับวัฒนธรรมไทยแบบนี้ และที่สำคัญการช่วยเหลือคนไร้บ้านของเอกชนและรัฐบาลไทยก็ยังไม่พร้อม ขณะที่นิวยอร์กเมื่อเปรียบเทียบกับบ้านเราแล้ว เขาพร้อมมากๆ เขามีอาหารให้คนไร้บ้านกิน มีที่อยู่ …บ้านเราลำบากกว่าเยอะครับ”



ในวันที่ ART EYE VIEW ไปพบไพโรจน์ขณะวาดภาพ “วันเพ็ญ” วนิกพกและคนขายล็อตเตอรี่หญิงเร่ร่อน ที่ย่านเพลินจิตร ศิลปินหนุ่มได้ผ่านการไปตระเวนวาดภาพทั่วกรุงเทพมาแล้วหลายจุด และบางเวลาก็จะมี เด็ก,คนหนุ่มสาวที่รักในศิลปะ และศิลปินรุ่นใหญ่ สนใจไปนั่งวาดภาพเป็นเพื่อนเขาด้วย

“ผมตั้งใจเลือกจุดที่เป็นกลางเมือง เพราะผมอยากให้คนที่ผ่านไปผ่านมาข้างถนนเขาเห็น ว่ามีคนต้องการความช่วยเหลืออยู่นะ คุณจะช่วยไหม คุณไม่ช่วยวันนี้ คุณช่วยวันพรุ่งนี้ก็ได้ การทำกิจกรรมของเรา เหมือนเป็นการกระตุ้นให้เขาตั้งคำถามกับตัวเองด้วยว่า ช่วยดีไหม หรือว่าเราจะเดินผ่านดี ครับผม”

แม้จะเป็นคนไทยด้วยกัน แต่ใช่ว่าคนไร้บ้านทุกคนจะเข้าใจและให้ความร่วมมือด้วยดีทุกครั้ง

“เราจะคุยกับเขาก่อนทุกครั้งครับว่าเราจะทำอะไร ครึ่งนึงให้วาด ครึ่งนึงปฏิเสธ เพราะเค้าคิดว่าเรามาหาผลประโยชน์ คิดว่าเงินในกระเป๋าเค้าเราจะเอาไป ทั้งที่ในความเป็นจริง ทุกครั้งเราให้เขาไปหมด และทุกครั้งที่เราไปทำกิจกรรม เขาจะได้เงินบริจาคมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ และมีคนมาสนใจเขา มาถ่ายรูปเขา มานั่งคุยกับเขา”

ดังนั้นในการออกไปวาดภาพคนไร้บ้านในแต่ละครั้ง ไพโรจน์จึงไม่สามารถคาดเดาอะไรล่วงหน้าได้ทั้งหมด และขณะวาดภาพต้องบริหารเวลาและต้องควบคุมสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา

“เราต้องบริหารเวลา ตัวอย่างเช่น พี่วันเพ็ญ เขาต้องกลับบ้านบ่าย 3 โมงเรา ต้องคิดให้ได้ว่าเราจะเอาเรื่องราวชีวิตเขามาใส่ไว้ในภาพได้ยังไง ต้องคุยกับเขา ภาพจะเป็นยังไงแนวตั้งหรือแนวนอน เต็มตัวหรือครึ่งตัว อะไรอย่างนี้ครับผม ถ้าเราวาดภาพอยู่ในสตูดิโอ เราอาจจะแบบว่าเดี๋ยวเย็นค่อยวาดต่อก็ได้ หรือพรุ่งนี้เช้าก็ได้ แต่นี่เขาบอกว่านั่งได้แค่ 3 ชั่วโมงเราก็ต้องทำให้เสร็จภายใน 3 ชั่วโมงให้ได้”

บางสถานการณ์ทำให้ไพโรจน์ได้ทบทวนในสิ่งที่ตนเองกำลังทำอยู่ รวมไปถึงความสำคัญของศิลปะที่มีต่อผู้คนในสังคม

“ครั้งแรกที่วาดที่เมืองไทย ผมวาดรูปเสร็จปุ๊บ ผมเอารูปให้เขาไป เขาบอกว่า เขามองไม่เห็น เขาตาบอดสองข้าง เขาไม่รู้จะเอาไปทำไม เพราะทุกวันนี้ แค่เขาถือไมโครโฟนร้องเพลงข้างถนน ก็หนักอยู่แล้ว เขาไม่รู้จะเอารูปวาดไปทำไม

มันก็เลยทำให้เราได้คิดว่า บางทีศิลปะมันก็ไม่ได้มีประโยชน์เสมอไป ศิลปะเป็นของคนชั้นสูง แต่ว่าสำหรับคนที่เป็นรากหญ้า เขาต้องการแค่อาหาร ต้องการแค่น้ำ เอาเงินไปประทังชีวิตต่อไปในวันพรุ่งนี้ ศิลปะมันเป็นปัจจัยที่ 6 ในความคิดผมนะครับ”

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้เป็นเหตุผลที่จะทำให้ไพโรจน์คิดล้มเลิกความตั้งใจในสิ่งที่คิดอยากจะทำ ในอนาคต

“หลังเสร็จโปรเจกต์ที่อเมริกา พอกลับมาเมืองไทย ผมอยากจะไปสอนคนไร้บ้านวาดรูป หรือ สอนวาดรูปให้คนตามมูลนิธิต่างๆ อะไรแบบนี้ครับผม”

ไพโรจน์บอกเล่าถึงความตั้งใจก่อนที่จะสะพายเป้ขึ้นไหล่ และหอบหิ้วอุปกรณ์เพื่อไปวาดรูป “คนไร้บ้าน” ยังจุดต่อไป ระหว่างเดินผ่านบรรดาพี่สุชาติ ที่ประจำการรอคนซ้อนท้ายอยู่ ณ วินมอเตอร์ไซด์ของปากซอยต้นสน ซึ่งเป็นจุดที่เราไปพบเขาในครั้งนี้ ทุกคนต่างยิ้ม ยกนิ้วให้ และกล่าวคำชื่นชมเขาสั้นๆว่า “เยี่ยมมาก”

รายงานโดย : อ้อย ป้อมสุวรรณ

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews