Celeb Online

“ภาพที่ดีที่สุดของผมคือ จังหวะชั่วพริบตา” นัท สุมนเตมีย์ นักถ่ายภาพใต้น้ำระดับแถวหน้าของเมืองไทย

ART EYE VIEW—แด่พ่อ..ผู้สอนให้ผมรู้จักและรักทะเล คือคำอุทิศใน โอเคียนอส (Okeanos) หนังสือภาพใต้น้ำ ซึ่งรวมผลงานภาพถ่ายที่คัดเลือกมาจากผลงานตลอด 20 ปี ของ นัท สุมนเตมีย์ นักถ่ายภาพใต้น้ำระดับแถวหน้าของเมืองไทย

หนังสือเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้ และภาพถ่ายบางส่วนที่ตีพิมพ์ไว้ในหนังสือ ถูกนำมาพิมพ์ลงบนผ้าใบ เพื่อจัดแสดงให้ผู้สนใจได้ชม ระหว่างวันนี้ – 29 มีนาคม พ.ศ.2559 ณ บริเวณผนังโค้ง ชั้น 3-4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ นัทหาทุนมาพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ซึ่งมีลักษณะเป็นหนังสือภาพปกแข็ง (Coffee Table Book) ด้วยการระดมทุนแบบ (Crowd funding ) ผ่านโซเชียลมีเดีย

กระทั่งสามารถระดมทุนได้ดังที่ตั้งเป้าไว้ และพลอยทำให้เขาได้รับรู้ด้วยว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีคนจำนวนไม่น้อย ที่ติดตามผลงานและให้กำลังใจเขามาโดยตลอด

ART EYE VIEW พาไปทำความรู้จัก เมื่อวานนี้ วันนี้ วันพรุ่งนี้ และหนังสือเล่มล่าสุดนี้ของ นัท สุมนเตมีย์ ให้มากขึ้น ผ่านบทสัมภาษณ์นี้



หนังสือโอเคียนอสของคุณเขียนคำอุทิศให้คุณพ่อ ท่านมีอิทธิพลต่อการเป็นนักถ่ายภาพใต้น้ำของคุณอย่างไรบ้าง

พ่อผม (สุมน สุมนเตมีย์) เป็นนักดำน้ำรุ่นแรกๆของเมืองไทย ผมได้มีโอกาสไปดำน้ำกับคุณพ่อตั้งแต่เด็ก ผมได้มีโอกาสเห็นเกาะหลายๆแห่ง ตั้งแต่ครั้งที่มันยังเป็นเกาะร้างอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเกาะสิมิลัน ที่เรารู้จักกันดีในปัจจุบัน ผมเห็นสิมิลัน ตั้งแต่ 30 ปีก่อน สมัยที่ยังไม่มีที่ทำการอุทยานไปตั้งอยู่ มีแต่ป้ายอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ผมไปกับพ่อ เพื่อนพ่อ และลูกของเพื่อนพ่อ ตอนนั้นผมอายุประมาณ 10 กว่าขวบครับ ไปกางเต็นท์นอนบนเกาะอยู่ 4 วัน

ผมถือว่าเป็นช่วงชีวิตที่ดีที่สุดช่วงนึงของตัวเอง เพราะว่าทุกวันนี้ ต่อให้มีเงินร้อยล้านพันล้านก็หาโอกาสอย่างผมไม่ได้อีกแล้ว เพราะว่าทุกวันนี้เกาะแทบทุกเกาะในเมืองไทย ถูกพัฒนาไปเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปหมดแล้ว

ผมยังเชื่อว่าการรักษาสภาพธรรมชาติ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการพยายามที่จะรักษาให้มันคงสภาพดั้งเดิมไว้ให้มากที่สุด แต่การพัฒนาส่วนใหญ่นำพามาซึ่งความเสื่อมโทรม ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกัน ไม่ควรเรียกว่าการพัฒนาด้วยซ้ำ

พ่อเป็นต้นแบบในการใช้ชีวิตของผม ผมรู้จักทะเลก็เพราะพ่อ ผมมีโอกาสใช้ชีวิตสมัยเด็ก ออกไปตกปลา ออกไปดำน้ำเพราะพ่อ

คุณเรียนจบมาทางด้านไหน

จริงๆผมใฝ่ฝันอยากจะเรียนด้านประมงนะครับ อยากเรียนวิทยาศาสตร์ทางทะเล มาตั้งแต่เด็ก แต่ผมเรียนสายศิลป์-ฝรั่งเศส ผมก็เลยเลือกเอนทรานซ์เข้าคณะวารสารศาสตร์(สาขาวิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

หลายคนรู้จักคุณผ่านผลงานที่ตีพิมพ์ใน อนุสาร อสท. (นิตยสารรายเดือนเพื่อการท่องเที่ยว และอนุรักษ์ธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) คุณเริ่มต้นทำงานที่นี่เป็นที่แรกเลยหรือเปล่า

ใช่ครับ ผมเริ่มฝึกงานครั้งแรกกับ อสท. ตอนเรียนอยู่ ปี 3 ไปฝึกงานครั้งแรกก็ออกไปดำน้ำกับพวกพี่ๆที่กองบรรณาธิการเลย เพราะเรามีพื้นฐานอยู่แล้ว มีอุปกรณ์ถ่ายภาพใต้น้ำของพ่ออยู่แล้ว

ตลอดหลายปี ผมเป็นฟรีแลนซ์ ทำงานส่งให้ อสท.เป็นชิ้นๆ ไม่ได้เป็นพนักงานประจำ ผมใช้เวลาอยู่ตั้งนาน กว่าจะได้ทำงานให้ที่นี่ เพราะ อสท.เป็นรัฐวิสาหกิจ การจะเข้าไปทำงานก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ผมโชคดีที่ว่า แม้ผมจะเรียนจบแล้ว ผมยังตามไปฝึกงานที่นี่ต่ออีกหลายเดือน

การที่เราจะทำงานสารคดี สำหรับผม ผมเชื่อว่า สิ่งสำคัญที่สุดต้อง สิ่งนั้นต้องเป็นสิ่งที่เรารู้จัก เรามีเรื่องราวที่จะเล่า ผมคิดว่าผมมีความรู้เรื่องทะเลพอสมควร สามารถเล่าเรื่องราวที่ผมรู้แบ่งปันให้กับคนอื่นได้

(นัทเป็นนักเขียนและช่างภาพฟลีแลนซ์ให้กับกองบรรณาธิการอนุสาร อสท ระหว่างปี 2537-2542 จากนั้นในปี 2543 ได้ร่วมก่อตั้งหนังสือ Nature explorer ร่วมกับ ดวงดาว สุวรรณรังษี และทำงานในฐานะบรรณาธิการภาพมาจนถึงปี พ.ศ. 2550 ก่อนจะออกมาทำงานเป็นนักเขียนและช่างภาพอิสระอย่างเต็มตัว)


ก่อนจะระดมทุนเพื่อตีพิมพ์หนังสือ โอเคียนอส คุณเคยมีผลงานรวมเล่มเป็นหนังสือมาก่อนหรือเปล่า และยังมีงานอะไรอีกบ้างที่คุณทำทั้งที่ผ่านมาและปัจจุบัน

ผมเคยมีหนังสือที่เป็นลักษณะไดอารี่ออกมาประมาณ 3- 4 เล่ม มีหนังสือที่ทำร่วมกับคนอื่น ชื่อ Andaman and Beyond โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และมีหนังสือ 50 ช่างภาพ ที่ก็ทำร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเหมือนกัน

นอกจากนี้ตอนปี พ.ศ. 2539 ผมเคยได้รับเชิญให้ไปถ่ายภาพให้กับหนังสือภาพถ่าย Thailand : 9 Days in the Kingdom (รวมผลงาน 50 ช่างภาพระดับแนวหน้าทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมพรรษา ครบ 80 พรรษา ในปี 2550)

เมื่อประมาณ 2—3 ปีที่แล้ว ผมเคยเป็น 1 ใน 30 ช่างภาพ ที่ไปถ่ายภาพให้กับโครงการ 7 days in Myanmar แต่งานหลักๆของผมที่ผ่านมาคืองานถ่ายภาพใต้น้ำ

ระยะหลังมานี้ผมมีงานถ่ายภาพวีดีโอใต้น้ำด้วย โดยผมใช้กล้องตัวเดียวกันกับกล้องที่ใช้ถ่ายถ่ายภาพนิ่ง คือกล้อง DSLR (Digital Single Lens Reflex หรือกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวระบบดิจิตอล)

ย้อนไปสมัยที่ใช้กล้องฟิล์ม ผมไม่ค่อยเปลี่ยนกล้อง ผมใช้กล้องมาประมาณ 2—3 ตัวเอง แต่พอถึงยุคดิจิตัล มันต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ไปตามเวลา ผมเปลี่ยนไป 3-4 ตัวแล้วครับ ปัจจุบันผมใช้กล้อง Canon 1d

เหตุที่ผมหันมาทำงานถ่ายวีดีโอใต้น้ำด้วย เพราะเป็นการว่าจ้างของทีมรายการสารคดีใต้น้ำทีมหนึ่งของคนไทย ชื่อรายการ “ใต้โลกโสภา” ผมเดินทางไปบันทึกภาพเพื่อทำสารคดี เก็บ footage (ฟิลม์หรือคลิปภาพยนตร์ ระยะยาวเป็นฟุตๆ) มา 5-6 ปีแล้วครับ แต่ว่าตอนนี้ยังไม่ได้ช่อง ยังไม่ได้เวลาออกอากาศ

หนังสือภาพใต้น้ำเล่มล่าสุดของคุณ แนวคิดหรือหัวใจหลักที่ต้องการนำเสนอคืออะไร

เพื่อที่จะเล่าถึงมหาสมุทร,ผู้ที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทร และเล่าว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทร ในมุมกว้างๆ ภาพถ่ายในหนังสือผมคัดเลือกมาจากผลงานของผมตลอด 20 ปี ภาพถูกแบ่งออกเป็นหมวดๆ ได้แก่ Home(บ้านหลังใหญ่),Servive (ชีพชนม์),Mysterious(เร้นลับ),Love(ความรัก) และMoment&Movement(ลีลา)

โอเคียนอส ชื่อหนังสือ มีที่มาอย่างไร

โอเคียนอส เป็นภาษากรีก หมายถึง เทพแห่งท้องทะเล หรือ โอเคียเนียอุส ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า โอเชี่ยน(Ocean) ในปัจจุบัน แต่หนังสือที่ใช่คำว่า Ocean เป็นชื่อหนังสือมีอยู่ 30-40 เล่มแล้วมั้งในโลกนี้ ผมเลยพยายามหาคำว่าโอเชี่ยนที่เป็นภาษาอื่นมาตั้งเป็นชื่อหนังสือ

ทำไมถึงเลือกใช้วิธีระดมทุน เพื่อพิมพ์หนังสือ

เพราะการทำหนังสือภาพแบบนี้ใช้เงินทุนเป็นล้านนะครับ ผมไม่มีเงินทุนเป็นล้าน ผมจึงเริ่มระดมทุนมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปีที่แล้ว (พ.ศ.2558) ผมตั้งเป้าไว้ว่าผมจะพิมพ์ 1,000 เล่ม โดยใช้เงินจากการระดมทุน 500 เล่ม(เล่มละ 2,500 บาท) หลังจาก 500 เล่มแจกจ่ายให้กับผู้ที่เราระดมไปหมดแล้ว ผมก็จะขายอีก 500 เล่มที่เหลือ ซึ่งส่วนนี้ก็จะเป็นเหมือนกับค่าตอบแทนของผมและทีมงานในการทำงาน

ไม่มีพิมพ์เพิ่มอีกแล้ว

คงไม่แล้วครับ เพราะว่ามันคือคำให้สัญญาระหว่างเรากับผู้ที่ร่วมระดมทุน และผมเคยบอกว่า ถ้าระดมทุนได้ไม่ถึง 500 เล่ม ผมก็จะไม่พิมพ์ แต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาเราระดมทุนได้ตามเป้าพอดี แต่ ณ วันนี้ผมก็และทีมงานทุกคนก็ยังไม่ได้ค่าตอบแทน เราจะได้ค่าตอบแทนต่อเมื่อ เราเริ่มขายเล่มที่ 501 ได้


ตลอด20 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ภาพถ่ายของ นัท สุมนเตมีย์ พยายามจะสื่อสารเรื่องอะไรกับผู้คนมากที่สุด

ผมเดินทางมาแล้วทั่วโลก ผมใช้เวลาเยอะมากในการทำงาน ผมเชื่อว่าภาพที่ดีที่สุดของผมคือ Moment คือ จังหวะชั่วพริบตาที่เกิดขึ้นนะครับ ผมชอบถ่ายภาพสัตว์ Moment ที่สัตว์มี Interaction(ปฏิสัมพันธ์) กับเรา ภาพถ่ายของผม มันจะส่งผ่านไปให้กับคนดูรู้สึกได้ว่า นี่แหล่ะคือชีวิต
คุณคำนึงถึงความสวยงามของภาพ หรือในแง่ศิลปะภาพถ่ายอย่างไรบ้าง

ตอบยากเนอะ เราไม่ได้เค้นมันออกมา อย่างที่ผมบอกครับ งานของผมถ่ายทอด Moment หรือจังหวะชั่วพริบตาของสิ่งที่ผมถ่าย ผมเชื่อในการเดินทางไปเห็น และมันมีสัญชาตญาณบอกว่านี่แหล่ะใช่ ของบางอย่างมันเล่ายากเหมือนกันว่ามันใช่แล้ว

แต่ผมรู้สึกว่าอีกสิ่งหนึ่งที่ผมพยายามจะทำคือ การนำคนที่อยู่ห่างไกลเหมือนได้ร่วมเดินทางไปกับผมอยู่ ณ ตรงนั้น ผ่านภาพถ่ายของผม

อะไรคือสิ่งที่คุณพยายามจะถ่ายทอดให้กับช่างภาพคนอื่นๆ ในเวลาที่ถูกเชิญไปเป็นวิทยากร

อย่างที่บอก ผมเชื่อใน Moment จังหวะที่เรามองเห็น เพราะจริงๆแล้วด้วยอุปกรณ์ที่พัฒนาไปไกลในทุกวันนี้ ผมว่าเรื่องของการกดชัตเตอร์ เด็กมัธยมก็กดได้ แต่ว่าการที่เราได้พาตัวเราไปอยู่ตรงนั้น ณ เวลานั้น มันอาจต้องใช้ความรู้จากการฝึกฝนและประสบการณ์

ต่อจากนี้ไป คุณวางแผนการทำงานของตัวเองไว้อย่างไร

ยังไม่ได้วางแผนอะไรเลยครับ แต่จะพยายามเดินทางเหมือนเดิมครับ

คุณเคยจัดทริปพาคนอื่นๆไปถ่ายภาพใต้น้ำด้วยกันหรือไม่

ผมยังไม่เคยจัดทริปพาใครไปดำน้ำหรือถ่ายภาพใต้น้ำ แต่วันหนึ่งจะเริ่ม เพื่อพาพวกเขาไปเห็นโลกที่ผมเคยไปเห็น หลายคนเคยไปทริปเดียวกับผม เพราะการไปดำน้ำหรือถ่ายภาพใต้น้ำของผมแต่ละครั้ง บางทีผมก็ไปร่วมกับคนอื่นบ้าง

เดินทางมาแล้วทั่วโลก มีท้องทะเลหรือมหาสมุทรไหนที่ประทับใจมากที่สุดไหม

ทุกที่มี Moment ที่ผมประทับใจ ตอบไม่ได้หรอกนะครับว่า “ตองกา” ดีกว่า “กาลาปากอส” หรือว่าดีกว่า “เมืองไทย” หรือเปล่า เพราะว่าถ้าที่ไหนดีกว่าที่อื่น ผมคงเลือกรูปที่นั่นลงที่เดียว ครับ ทุกที่มี Moment ที่ดี เหมือนทุกวันในชีวิตเราที่มี Moment ที่ดีโผล่เข้ามา


โลกใต้มหาสมุทรสอนอะไรให้กับชีวิตคุณมากที่สุด

(ยิ้มและคิดอยู่นานก่อนที่จะตอบ) นึกไม่ออก เป็นคำถามที่ยากมาก (นัทจึงหันไปถามน้องๆทีมงาน น้องผู้หญิงคนหนึ่งจึงตอบว่า …จังหวะที่ดี มันไม่ได้มีอยู่เสมอ)….ถูก….(แล้วหันไปถามน้องผู้ชายบ้าง ได้รับคำตอบว่า….ได้รู้ว่า…เราไม่น่าทำ) ถ้าเลือกทำอย่างอื่น เราคงจะรวยกว่านี้ (เราบังครับทุกอย่างในโลกนี้ไม่ได้ )…ถูก…เราเป็นส่วนหนึ่งของมัน เราเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์

ทุกวันนี้คุณมีความเป็นห่วงในท้องทะเลหรือมหาสมุทรอย่างไรบ้าง

บางทีเราเป็นห่วง เราก็ได้แต่เป็นห่วง แต่เราทำอะไรไม่ได้ สิ่งที่ผมพยายามจะพูดตลอด 20 ปี ก็คือว่า ทะเลไม่ใช่แค่น้ำเค็มๆที่ทำให้เราแสบตา ทะเลในความหมายของคนส่วนใหญ่ก็คือที่ๆมีให้เราไปเดินชายหาด แต่งตัวสวยๆไปถ่ายรูป แต่ความจริงแล้วเนี่ย ทุกๆอนูของน้ำทะเลมันคือชีวิต ตักน้ำขึ้นมาหนึ่งแก้ว ในนั้นมีชีวิตไม่รู้เท่าไหร่ ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งนะครับว่า ถ้าเราเคารพธรรมชาติแล้ว ธรรมชาติก็เคารพเรา

เวลานึกถึงตัวเอง นอกจาก “นักถ่ายภาพใต้น้ำ” คุณคิดว่าตัวเองเป็น “นักอนุรักษ์” ด้วยหรือไม่

ผมเป็นนักถ่ายภาพครับ ผมไม่ได้ทำงานด้านการอนุรักษ์ ผมคิดว่าในสังคมเราตอนนี้ ก่อนที่เราจะข้ามไปพูดถึงเรื่องการอนุรักษ์ สิ่งสำคัญที่เราต้องรู้คือ คนในสังคมยังมีความรู้เกี่ยวกับทะเลค่อนข้างน้อย …ไม่รู้ ก็เลยไม่รัก ไม่ห่วงใย.. การอนุรักษ์เนี่ย ถ้ามันเริ่มต้นจากความผูกพัน ผมเชื่อว่ามันเป็นไปตามกลไกของมันเอง โดยที่ไม่ต้องไปบอกว่า เราต้องอนุรักษ์กันนะ เพื่อนู่นเพื่อนี่ ความจริงแค่เราเข้าใจ มันไม่ต้องไปหว่านล้อมหรือไปบอกกันเลยว่าต้องอนุรักษ์ เพราะมันเป็น common sense ของคนทั่วไปที่จะหวงแหน

คำว่าของนักอนุรักษ์ในความหมายของคุณคืออะไร ต้องออกมาเดินประท้วง หรือ พยายามทำในสิ่งที่เราทำได้ ผมเชื่อว่าการเป็นนักอนุรักษ์มันมีหลายฟังก์ชั่น หลายมิตินะครับ ผมอาจจะไม่ใช่ฝ่ายบู้ ออกไปประท้วง ห้ามไม่ให้สร้างเขื่อน ไม่นู่น ไม่นี่ แต่ผมก็ไม่ใช่คนที่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน

ฟังก์ชั่นของผมอาจจะไม่ใช่การออกไปบู้ แต่ผมเชื่อในเรื่องของการให้ความรู้กับคน และเป็นความรู้ที่ถูกต้องด้วย

รายงานโดย : อ้อย ป้อมสุวรรณ ภาพโดย : ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย และ ART EYE VIEW











ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews